เมื่อพูดถึงวงร็อกชั้นแนวหน้าของไทยรุ่นใหม่ เชื่อเลยว่าหนึ่งในนั้นต้องมีวง Lomosonic อยู่ด้วย ถึงแม้เราอาจจะตอบได้ไม่เต็มมากว่าวงนี้แมสหรือว่าอินดี้ แต่ทีแน่ ๆ คือวงดนตรีนี้เป็นวงคุณภาพอย่างแน่นอน จากผลงานและตัวตนของวงที่ได้พิสูจน์ตนเองมาอย่างเข้มข้นแล้ว

บอย Lomosonic หรือ บอย อริย์ธัช พลตาล คือหนึ่งในพลังงานที่ขับเคลื่อนให้วงก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง บทเพลงของ Lomosonic น่าสนใจแค่ไหน ตัวตนและความคิดของบอยก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เรื่องราวชีวิต และตัวตนของเด็กชายในจังหวัดลำปาง ผู้ฝันอยากเป็นศิลปินระดับโลกสู่การเป็นศิลปินอินดี้ แห่งค่าย Smallroom  ผ่านการดีดดิ้นเพื่อเป็นที่รู้จัก ผ่านคำครหาและกระแสต่อต้าน ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจนกลายมาเป็นหนึ่งในวงดนตรีชั้นนำของ Genie Records  เรื่องราวของบอย Lomosonic ได้รออยู่ตรงหน้าให้ทุกคนได้สัมผัสแล้วครับ

[บทความนี้เรียบเรียงจาก ป๋าเต็ดทอล์ก EP.34 บอย โลโมโซนิก | BOY LOMOSONIC]

บอยเคยบอกว่าความฝันแรกและความฝันเดียว คือการได้เป็น “นักร้องระดับโลก” ตั้งแต่จำความได้มีความสุขมากและรู้สึกดีเวลาที่ได้ร้องเพลง ความฝันนั้นเริ่มขึ้นเมื่อครั้ง ไมเคิล แจ็กสัน มาเปิดแสดงคอนเสิร์ตที่สนามศุภชลาศัย ถึงแม้บอยจะไม่มีโอกาสได้ไปชมการแสดงที่นั่นและได้เห็นเรื่องราวจากภาพข่าวเท่านั้น แต่มันก็ทำให้บอยฝันอยากมีชีวิตอย่างนั้น  “มันดูแล้วใจเต้น มันดูเท่”

The Beginning จุดเริ่มต้นของบอย

บอย Lomosonic หรือ บอย อริย์ธัช พลตาล เกิดที่ รพ. ศูนย์ลำปาง คุณพ่อเป็นพนักงานการไฟฟ้า แต่เดิมเป็นคนชัยภูมิ ส่วนคุณแม่เป็นคนอยุธยา แต่ย้ายมาใช้ชีวิตที่ลำปาง บอยอยู่ที่นี่จนเป็นวัยรุ่น เป็นเด็กหลังเขาอำเภอแม่เมาะ ต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 ขึ้นรสบัสข้ามเขามาเรียนในเมือง เป็นเด็กเรียนดีมากและซนมาก โตมากับบ้านที่เป็นร้านขายของชำ เลยไม่ขาดขนมนมเนย หยิบกินได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังไม่ขาดประทัดเวลามีงานเทศกาล เช่น ลอยกระทง มีให้เล่นทุกประเภท แบบไม่มีลิมิต เลยเป็นเด็กที่ไม่เคยรู้สึกไม่สะดวกเลยที่จะเชิญใครมาเล่นด้วย ทำให้บอยกลายเป็นเด็กที่เป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน

ตอนเด็ก ๆ แม่เอาบอยไปฝากให้เป็นลูกบุญธรรมของพญานาค (ถ้าสังเกตรอยสักก็จะรู้ว่าบอยนับถือพญานาค) เพราะบอยไม่ค่อยแข็งแรง ป่วยบ่อย มีเหตุให้เจ็บตัวอยู่บ่อย ๆ เช่นในวันหนึ่งซึ่งเป็นวันเกิดหลวงพ่อเกษมเกจิคู่บ้านของคนลำปาง คนมักจะเข้าเมืองกัน แต่วันนั้นบอยไม่ได้เข้า เพราะรถขายปลาหมึกมาจอดตรงข้ามบ้านแล้วมันเป็นถนนที่ใช้สัญจรเข้าโรงไฟฟ้าทำให้มีการจราจรที่ขับเร็ว บอยเอาผ้าเช็ดตัวมาผูกคอเป็นซูเปอร์แมน เหาะไปทั่วบ้าน พอรถปลาหมึกมาเหาะข้ามไปไม่เป็นไร เหาะกลับโดนมอเตอร์ไซค์ชน ผ้าเช็ดตัวไปติดในล้อ ตัวบอยควงเป็นสว่านร่างกายเต็มไปด้วยเลือด บอยจำเหตุครั้งนั้นได้ลาง ๆ เวลานึกจะเห็นภาพเป็นไฟส่องมา หมอกำลังเย็บแผล และพ่อที่กำลังอุ้มบอยอยู่

ต่อมาก็มีเหตุให้เจ็บตัวอีก ในตอนนั้นเป็นช่วงหน้าหนาว บอยก่อไฟเล่น ตอนนั้นน้องเพิ่งเกิด ที่บ้านจึงมีกระป๋องนมเรียงเต็มไปหมด บอยมองมันเป็นเตาหลอมก่อไฟ จึงหยิบนู่นนี่ใส่ ๆ จนไม่รู้ว่าหยิบเชื้อระเบิดที่ใช้ในเหมืองใส่เข้าไปด้วย จนเกิดเสียงดัง ‘ตู้ม’ หูวิ้งไปสองสามวัน กระป๋องนมฉีกออก สะเก็ดกระเด็นเข้าหลายส่วนของร่างกาย เลือดไหลนอง ตอนที่พี่ชายเช็ดเลือดใช้ทิชชู่เต็มบ้าน ในตอนนั้นเสียงเพลง ‘โหยหาความรักความเมตตา’ (เพลง ‘แบ่งปันรอยยิ้ม’) ดังขึ้นมาในหัว ถึงแม้จะเลือดตกยางออก แต่ก็เป็นวัยเด็กที่สนุกสำหรับบอย

ที่บ้านเลี้ยงบอยมาแบบร็อกมาก เวลาบอยอยากได้อะไรแล้วถ้าได้แล้วกินหรือใช้ไม่หมดจะต้องโดนทำโทษ เช่น ถ้างอแงอยากกินเค้ก อยากกินก้อนใหญ่ ถ้ากินไม่หมด จะโดนยีหัวด้วยเค้ก ถ้าปลาทูมี 5 ตัว ญาตินั่งล้อมกัน แล้วบอยไม่แบ่ง พ่อแม่ก็จะบอกว่าได้ บอยก็จะเอาเข้าไปแอบกินคนเดียว แต่ถ้ากินไม่หมดจะโดนตี มันทำให้บอยเป็นคนแกร่งจนทุกวันนี้ และทำให้บอยเป็นคนอยู่ง่ายกินง่าย อยู่ป่ามีมีดไปด้ามเดียวก็อยู่ได้ สามารถคาบคบไฟไปเอารังต่อลงได้  บอยชอบความรู้สึกที่ได้เอาชนะ ได้แสดงอาณาเขต แสดงพื้นที่ เป็นคนรักษาคำพูด พูดคำไหนคำนั้น ต้องกินให้หมดไม่งั้นโดนตี โดนเค้กยีหัว ทำให้เห็นคุณค่าของทุกอย่าง เพราะทุกอย่างมีราคาค่างวดหมด ผ้าห่มที่เคยห่มตอนเด็ก ๆ ข้าวที่เคยกิน ทุเรียนที่แม่เคยซื้อ

“ผมไม่อายใครถ้าผมจะบอกว่าผมเป็นลูกแม่ค้า เป็นลูกชาวนา ผมไม่อายใครที่จะบอกว่าแม่ผมจบป. 4 พ่อผมไม่ได้จบปริญญา แต่เค้าสอนให้ผมเป็นคนดีครับ”

ต่อมาครอบครัวเกิดเหตุการณ์ล้มละลาย แม่เข็นของขาย พ่อออกมาทำเหมือง จากที่บ้านเคยมีกินมีใช้ ก็ต้องโดนยึดข้าวของ จากเด็กที่อยากได้อะไรก็ได้ อยากดูอะไรก็ได้ดู ไปไหนก็ได้ไป จนทุกอย่างมันหาย บอยจำได้ว่าในช่วงเปิดเทอม ป. 3 วันแรกต้องไปอาบน้ำในลำธารเย็น ๆ แม่ต้องลำบากขึ้นโรงขึ้นศาล มีช่วงที่พ่อหายไป มันเป็นช่วงวัยเด็กที่คงรู้สึกงง แต่ไม่รู้สึกว่าจะต้องเป็นเด็กมีปัญหา บอยยังสามารถเรียนได้เหมือนเดิม

เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องความฝันในช่วงเวลาที่บ้านยังประสบปัญหาทางการเงินอยู่ แทนที่จะคิดเรื่องการช่วยเหลือที่บ้านให้เดินต่อได้ บอยมองว่ามันก็เหมือนเป็นการเห็นแก่ตัว แต่ตอนนั้นยังคิดไม่ได้มารู้สึกได้ทีหลัง แต่ถึงอย่างนั้นบอยก็เชื่อว่าที่บ้านก็คงอยากให้เขาเห็นแก่ตัว มีสิ่งหนึ่งที่บอยนึกขอบคุณเสมอ คือการที่ครอบครัวไปดูดวงให้แล้วหมอดูบอกว่า ‘ปล่อยมันไปเถอะ เดี๋ยวมันก็มา’

Chasing The Dream มุ่งสู่…การไล่ล่าความฝัน

ถึงแม้ว่าบอยจะมีความฝันที่มุ่งมั่นในการเป็นศิลปินระดับโลก แต่ก็ไม่ได้เลือกที่จะศึกษาทางด้านดนตรี นั่นก็อาจเป็นเพราะตนเองต้องการหาข้ออ้างกับครอบครัวเพื่อที่จะให้ตัวเองไปต่อ บอยเป็นคนที่ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เป็นมือวาดเขียนของโรงเรียน แข่งปัญหาวิชาการก็ไปหมด เป็นคนชอบแข่งขัน ก็เลยเลือกที่จะเรียนต่อสถาปนิก เพราะเป็นศิลปะที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ ถ้าวิจิตรศิลป์ที่บ้านค่อนข้าง conservative ก็อาจรู้สึกไม่เห็นด้วย ไม่อยากให้เรียนด้านนี้ บอยจึงตัดสินใจสอบโควตาและติดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ( หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า เทคโนฯ บางมด) เป็นคนแรกในโรงเรียนที่ติดมหาวิทยาลัย พอรอดแล้ว ก็เล่นเริ่มเล่นดนตรีกลางคืน

พอมาอยู่บางมด บอยก็เริ่มต้นตั้งวง Lomosonic จริง ๆ แล้วเริ่มเล่นดนตรีจริงจังตั้งแต่ ม.ปลาย เคยสมัครประกวด Hotwave Music Award ตลอด ช่วงนั้นเป็นช่วงที่วง Ultra Chuadz กำลังออกเทป ประกวดหลายครั้งแต่ไม่เข้ารอบเลยสักครั้ง  บอยจำได้ว่าตอนนั้นเทป Spicy kids เป็นเทปที่เพื่อนเอามาให้ฟัง บอยรู้สึกว่ามันเท่จัง (ในนั้นมีเพลงที่แหลม 25 hours ได้ร้องเอาไว้ตอนประกวดฮอตเวฟในนามวง ‘ลังเล’ ในบทเพลง ‘อยากตบปากตัวเอง’ ของวง Fly ) ช่วงนั้นได้ฟัง X-japan และรู้สึกตื่นเต้นว่าเพลงมีแบบนี้ด้วยหรอ สองกระเดื่องมันเป็นแบบนี้หรอ เลยได้เปิดโลกทัศน์ทางดนตรีมาเรื่อย ๆ  ถึงแม้จะสนใจด้านดนตรีแต่บอยก็ยังไม่ทิ้งการเรียน ได้เกรดเฉลี่ย 3.50 เป็นอย่างต่ำตลอด เพราเป็นคนที่ชอบการแข่งขัน ชอบที่จะเป็นเลิศอยู่เสมอ

ในจุดเริ่มต้นของ Lomosonic ตอนนั้นบอยเป็นรุ่นน้องของสมาชิกวงคนอื่น ๆ ซึ่งมีวงกันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นป้อม อ็อตโต้ ที่สนใจดนตรีในทางอิเล็กทรอนิกศ์ งานเพลงของค่าย SO :: ON Dry Flower เช่น goose เลยได้เปิดโลกทางดนตรีอีก ตอนนั้นบอยเล่นดนตรีอยู่ฟอร์มวงกับเพื่อนที่เป่าฟลูต ส่วนบอยเล่นกีตาร์ร้องเพลง และไปประกวดดนตรีกัน จนได้ที่สอง พอรู้ว่ารุ่นพี่มีวงก็เลยเกิดความสนใจ และฟังเพลงตามที่รุ่นพี่ฟัง จนมีงานดนตรีในคณะ นักร้องในวงของรุ่นพี่ไม่มาเพราะกำลังอกหัก บอยจึงเดินเข้าไปถามว่า “พี่แจมกันป่ะ” จากนั้นบอยก็ทำการยึดอำนาจ ยึดตำแหน่งนักร้องนำของวงตั้งแต่นั้นมา โดยไม่รู้ว่าจริง ๆ แล้วรุ่นพี่ก็กำลังจับตามองบอยอยู่เหมือนกัน

พอรวมตัวเป็น Lomosonic เริ่มมีความรู้สึกคับพอง รู้สึกว่าตัวเองโก้ ยุคนั้นจะมีการจัดงานของแต่ละมหาลัย โดยเฉพาะคณะที่ศึกษาด้านศิลปะ ของบางมดจัดที่ตึก Bangkok Code บนถนนสาทรใต้ ก็มีวงดนตรีไปเล่น Lomosonicก็ขอไปเล่นด้วย ตอนนั้นมีเครือข่ายของวงใต้ดินก็ขอไปเล่น และมาเข้มข้นขึ้นตอนที่ได้ยื่นเดโมและได้รับการตอบรับจากค่ายสมอลล์รูม ในช่วงนั้นวง Lomosonic ทำเพลงเพื่อเล่นกันในงานมหาวิทยาลัยเท่านั้น และบอยก็ไม่ได้คิดกับวงว่าจะมาส่งเดโมที่งานแฟต แค่มาเดินเที่ยวและมาเจอกันในงาน วันแรกไปแบบไม่รู้เรื่องเจอกันที่งานแล้วคุยกันว่า มันมีค่ายเพลงเต็มไปหมดเลยคิดขึ้นมาว่านี่เป็นโอกาสดี หนึ่งคือไม่ต้องนั่งรถไปส่งเดโมตามที่ต่าง ๆ เพราะที่นี่รวมค่ายเพลงน้อยใหญ่มาไว้ในที่เดียวกันแล้ว เลยกลับไปพรินต์ปก ไรต์แผ่น และวันต่อมาก็มายื่นเดโมไป 20 กว่าค่าย ด้วยความงงของทุกค่ายที่อยู่ดี ๆ ก็มีคนมาเสนอเดโมในงานนี้ จนสุดท้ายก็มีหนึ่งค่ายที่ติดต่อกลับมา ยื่นวันอาทิตย์ วันอังคารก็ติดต่อกลับมาเลยนั่นก็คือ ค่ายสมอลล์รูม นั่นเอง

On The Right Track เข้าสู่…เส้นทางของตัวเอง

ภาพที่บอยยังคงจำได้ไม่มีวันลืมก็ คือวันที่ได้ยื่นงานกับพี่รุ่งแล้วพี่รุ่งบอกว่า “เดี๋ยวพี่จะฟัง”

ในตอนนั้นไม่ได้มีการบอกกล่าวว่า Lomosonic เป็นศิลปินของที่นี่แล้ว ไม่ได้มีการเซ็นสัญญา อยู่ที่ตัวของวงเองว่าจะเข้าไปส่งงานหรือไม่ เข้าไปพูดคุยกันรึเปล่า ได้ลองผิดลองถูกกันหลายต่อหลายครั้ง ระหว่างที่ไปส่งแล้วโดน reject กลับมา บอยก็ได้มีโอกาสเห็นศิลปินดัง ๆ ของค่าย ไม่ว่าจะเป็น Armchair, slur,  Tattoo  Colour หรือว่า The Richman Toy ตอนนั้นบอยไม่รู้หรอกว่าตนเองเป็นคนนอกหรือคนในแล้ว แต่วงก็ตั้งใจทำงานด้วยจุดมุ่งหมายว่าจะออกอัลบั้มกับทางสมอลล์รูม

ออกอัลบั้มแรก ‘Fireworks’ ใช้เวลา 4 ปี  ไม่ประสบความสำเร็จเลย แต่สำหรับบอยถ้ามองมันในแง่ของการได้ออกผลงานมันคือการได้รับการเติมเต็มอย่างแท้จริง

“มันเหมือนเป็นการได้เติมเต็มชีวิต เติมเต็มทุกอย่าง เติมเต็มการเรียนรู้  เป็นสิ่งที่ดีในชีวิตมาก  ๆ สิ่งหนึ่งในชีวิตผมเลย มันทำให้เราเข้าใกล้ความฝัน ตอนนั้นเรารู้สึกเป็น outsider ด้วยซ้ำ วงร็อกก็ไม่ใช่ อีโมก็ไม่ใช่ อินดี้ก็ไม่ใช่ มันเป็นกิ้งก่ามากอ่ะครับ ไม่ได้ถูกรวมอยู่กับอะไรเลย แต่ตอนนั้นเรารักมันมาก”

“ต้องขอบคุณพี่รุ่ง พี่เชาว์ สมอลล์รูมทุกครั้ง ที่ทำให้ผมเข้าใกล้ความฝัน ตอนนั้นทำทุกอย่างเพื่อเอาตัวรอด ดีดดิ้นให้มากที่สุด แต่สมอลล์รูมก็ผลักดันให้เราได้ไปต่อ”

เพลง ‘ดอกไม้ไฟ’ เป็นเพลงที่โดดเด่นจากอัลบั้ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เพลงที่คนจะร้องกันตามได้มากมาย หรือกลายเป็นเพลงฮิตได้ ตอนนั้นความรู้สึกคับพองที่มีจึงค่อย ๆ ลดน้อยถอยลงจนอีโก้เริ่มหดฝ่อและต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่รออยู่ตรงหน้า

Facing Reality เผชิญกับความจริง

ถึงแม้จะต้องพบเจอกับปัญหาที่เข้ามา เหมือนว่าจะเจอทางตัน แต่ถึงอย่างนั้นบอยก็ไม่เคยท้อถอยแต่กลับมองว่านี่คือโจทย์ปัญหาที่ท้าทายและรอคอยการแก้ไข

“ด้วยพื้นฐานของความเป็นดีไซเนอร์ พอเจอปัญหาเราต้องแก้ปัญหา พอเราเจอโจทย์เราต้องไป ผมไม่ค่อยมองในแง่กำลังใจถดถอย มันก็มีบ้างเรื่องการเสียใจ การลดลงของพลังใจ แต่ถ้าพรุ่งนี้ต้องทำ คือต้องทำ พรุ่งนี้ต้องไปวิ่ง โดยที่มีแต่คนถามในชุดแรกว่า บอยมึงจะวิ่งไปทำไม มึงจะแข็งแรงไปเพื่ออะไร มึงบ้าพลังหรอ จริงจังไปป่าว งานเล่นก็ไม่มี ผมก็ไม่ค่อยได้ตอบ แต่เมื่อมีโอกาสมาเมื่อไหร่ ผมจะไม่พลาด ความโอนอ่อนหรือการใช้สล็อตเวลานั้นเปล่าประโยชน์ เตรียมตัวให้พร้อมเสมอ เพราะโอกาสมันมาแบบไม่เลือกเวลา”

“มันอาจเป็นโชคดีของผมก็ได้ครับพี่ผมจริงจัง”

บอยเป็นคนที่จริงจังมาตั้งแต่เด็ก ทำบอร์ดหลังห้อง วาดรูปประกอบงานคริสต์มาส ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่หรือเล็กน้อยแค่ไหนก็ทำเต็มที่ตลอด จนคนมักถามว่า​ ”จริงจังไปรึเปล่า”  ซึ่งก็แอบน้อยใจตามประสาเด็ก แต่สุดท้ายก็ทำมันอย่างเต็มที่แบบนั้นต่อไป และก็ชนะในทุกเรื่องได้ในที่สุดและมักจะไม่พลาดโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต

“สมมติมันมีโอกาสมางานนึงแต่เราไม่พร้อม สิ่งที่น่ากลัวก็คือ เราต้องพูดด้วยชุดประโยคเดิม ๆ ทำไมตอนนั้นกูไม่ ประโยคแบบนี้จะไม่ค่อยเกิดในชีวิตผมอ่ะครับ”

บอยคือคนเดียวในวงที่เล่นดนตรีทำเพลงอย่างเดียวไม่ทำอาชีพอื่นเลย เปรียบเหมือนตอนที่พระเจ้าตากสินทุบหม้อข้าวเข้าตีเมืองจันทน์  แต่ถึงอย่างนั้นบอยก็ไม่เคยรู้สึกว่าคนอื่นไม่เต็มที่กับงานนี้เลย ตรงกันข้ามกลับรู้สึกว่าคนอื่นหนักกว่าเขาอีก เพราะนอกจากจะต้องทำงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว และยังต้องทุ่มเททำงานเพลงอย่างเต็มที่อีกด้วย

“ข้อดีของ Lomosonic คือ มันเนิร์ด มันขาดใครไม่ได้ จริง ๆ คนอื่นทำหนักกว่าผมเสียด้วยซ้ำ เค้าหนักกว่าผมด้วยซ้ำ มีภาระมากมาย แต่พอมาทำดนตรีทุกคนก็เต็มที่เท่ากัน “

ด้วยเหตุนี้บอยเลยไม่มีรายได้เสริม บางวันเหลือตังค์ 6 บาท มาม่า 5 บาทน้ำเปล่าบาทนึง ทุบหม้อข้าวแล้วก็ไปเล่นกลางคืน ใช้เงินหลัก 10 ในมื้อหนึ่ง ๆ จนทางบ้านโทรมาให้หางานประจำทำ เพลง ‘ถึงเวลา’ ถูกเขียนขึ้นจากความรู้สึกนี้  “ฉันถูกสั่งให้ปล่อยมือจากโลกที่เรียกว่าความฝัน”

สำหรับความฝันตั้งแต่เด็กในการเป็นศิลปินระดับโลกของบอย เมื่อเติบโตขึ้นมาและได้มองดูมันอีกครั้ง

บอยมีความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเกินตัวอยู่เหมือนกัน แต่อย่างน้อยสิ่งนี้ก็ทำให้เขาได้ออกเดินทางมาจากเด็กคนนั้นมาสู่การเป็นศิลปินในวันนี้

หลังจากนั้นบอยและวงได้พบกับจุดเปลี่ยนที่สำคัญคืออัลบั้มที่สอง Echo & Silence ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดที่วงประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะ เพลง ‘ขอ’ ที่ได้สร้างปราฏการณ์ความนิยมอย่างสูงและกลายเป็นเพลงฮิตอันโด่งดังในที่สุด

ซึ่งสิ่งที่ Lomosonic ได้ทำแตกต่างไปจากการทำงานในอัลบั้มแรกก็คือ “การแก้ปัญหา”ในตัวเพลง ตั้งใจทำงานเพลงเพื่อให้คนอื่นฟังมากขึ้น มากกว่าที่จะใช้การแสดงเพื่อกลบปัญหาเรื่องเพลง

“อัลบั้มแรกเราไม่ได้สนใจว่าใครจะมาร้องเพลงเรามั้ย เราแค่โชว์และก็มองฉันสิ ปีนป่าย ทาหน้า การดิ้นเหมือนไม่มีวันพรุ่งนี้ ตัดผมบนเวที ทำอะไรก็ได้ให้เค้าจดจำเรา เพราะว่าเพลงเรามันไม่ฮิต เค้าเลยจดจำสิ่งที่เราเสนอบนเวที ขอให้จำเหอะ หน้าด้าน อยากเล่น อยากอยู่ มันเป็นการดิ้นรน ไอ้การพูดมากมันก็เริ่มมาตั้งแต่อัลบั้มแรกนี่ล่ะ”

“อัลบั้มที่สองเริ่มแต่งเพลงให้คนฟังและร้องตามได้ ด้วยการเป็นนักฟัง ทำให้เริ่มเข้าใจในโครงสร้างของเพลง เริ่มเข้าใจวิทยาศาสตร์ของเพลง รู้ว่า bpm นี้คนจะโดด คนจะซึ้งตรง bpm นี้ เพลงที่ฮิตอันดับหนึ่งคือ Spice Girls โดนเลย พอเรามาศึกษามันก็ทำให้เรารู้ เริ่มเห็นลายแทงลาง ๆ แล้ว”

จากนั้น Lomosonic ก็เข้าสู่ยุควง talk show วงที่หากใครหลุดมาได้เห็นโชว์ของวงแล้วอาจจะงงว่า นี่มันวงอะไรกันมันแทบไม่ได้เล่น มีดนตรีเล่นแล้วคนก็กรี๊ด ๆ ซึ่งเป็นการออกแบบของบอยและวงเพื่อแก้ปัญหาให้กับเพลงในช่วงอัลบั้มแรกที่ไม่เชื่อมโยงกับฟัง ไม่ได้มีรูปแบบที่คนฟังสามารถจะอิน ร้องตาม หรือกลายเป็นเพลงฮิตได้

“มันเริ่มมาจากช่วงท้ายดอกไม้ไฟ ที่เราเริ่มหาวิธีการแก้ปัญหาให้กับเพลง เพลงเรามันไม่มีเรื่องของเค้า วิธีการก็คือ เราจะทำยังไงให้มันเป็นเพลงของเค้า มันเกิดการขยายความ ขยายท่อนขึ้น เกิดการเปิดมิติของเพลงมากขึ้น เราเลยรอด คนจะร้อง ฮา​ฮาฮา เราต้องสร้างเรื่องราว บริหารเวลายังไง เริ่มสร้างเรื่องราว ต่อจากนั้น  เราจะรีดศักยภาพของเพลงให้ออกมามากที่สุดได้อย่างไร”

ส่วนการพูดเกรี้ยวกราดซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของบอยนั้นก็มีเหตุผลเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการสร้าง ‘ศัตรูในจินตนาการ’ ขึ้นมา เพื่อสร้างอารมณ์ร่วมและความเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างวงและแฟนเพลง

“การพูดเกรี้ยวกราด จริง ๆ แล้วผมพูดแทนพวกเค้า โชว์จะไม่มีทางประสบความสำเร็จเลย ถ้าเราไปด่าเค้า เราทำร้ายเค้า พอทำร้ายเราก็จะโดนต่อต้าน แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าเราตั้งโจทย์ว่าแฮนด์สแตนด์คือสิ่งที่พีคที่สุดของโชว์ การจะไปถึงนั่นเราต้องทำให้เค้าเห็นด้วย การจะเห็นด้วยเราต้องสร้าง enemy of the state ต้องสร้างศัตรูร่วมกัน เพื่อสร้างอารมณ์ร่วม”

อัลบั้มสองทำให้วงเห็นว่าต้องเล่นดนตรีเพื่อคนอื่น การเล่นดนตรีมันมีการให้การรับ จึงเริ่มพูดมาก เพราะต้องสร้างเรื่องให้คนฟังรู้สึก ซึ่งก็ถือว่าเป็นดาบสองคม เรื่องดีคือสร้างอารมณ์ร่วมและช่วยให้ประสิทธิภาพของโชว์ออกมามากที่สุด ให้คนฟังรู้สึกกับมันมากที่สุด แต่ข้อเสียก็คือ ถ้าดูด้วยอคติ หรือดูแค่เป็นช่วง ๆ ภาพลักษณ์ของวงก็จะเป็นแค่วงพูดมากวงหนึ่งเท่านั้น แต่สิ่งนี้ก็ถือว่าสำคัญสำหรับวงเพราะถึงแม้ในงานเพลงชุดสองจะออกแบบมาเพื่อให้เข้าถึงคนฟังได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีเพลงฮิตขนาดทุกคนฟูขึ้น เฮตาม ร้องตาม กระโดดตามได้ตั้งแต่เพลงแรกจนเพลงสุดท้าย มันยังมีช่องโหว่ตรงกลาง ว่าวงจะถมยังไงเวลาโชว์ สุดท้ายบอยพบว่าประสบความสำเร็จ ยิ่งสำหรับเพลง ‘ความรู้สึกของวันนี้’ ที่ได้รับความนิยม ยิ่งรู้ว่ามาถูกทางแล้ว

“ ‘ความรู้สึกของวันนี้’ จะไม่ดังขนาดนี้ ถ้าไม่มีบทพูดในวันนั้น กุศโลบายของเราสำเร็จแล้ว ในวันที่ ‘ความรู้สึกของวันนี้’ ทำงานได้มากที่สุด เกิน 100 ล้านวิว ในโชว์คนไม่แผ่ว แล้วเราถึงค่อยถอดวิธีนั้นออกไป จึงเริ่มพูดน้อยลงแล้ว เพราะเป็นความตั้งใจอยู่แล้ว ไม่ใช่แผ่วเพราะโดนด่า นโยบายของ Lomosonic เราจะพูดเรื่องจริง เราจะพูดแทนเค้า เราจะอนุมานศัตรูขึ้นมาหนึ่งคน โน้มน้าว อยู่ฝั่งเดียวกับเค้า  นำหน้า ฆ่ามัน แล้วจบมันด้วยกัน”           

The Decision การตัดสินใจครั้งสำคัญ

หลังจากประสบความสำเร็จกับสมอลล์รูมในอัลบั้มชุดที่สอง ทั้ง ๆ ที่อัลบั้มแรกไม่ประสบความสำเร็จแต่สมอลล์รูมก็ให้โอกาสจนประสบความสำเร็จกับชุดที่สอง แต่ถึงอย่างนั้นสุดท้าย Lomosonic กลับย้ายออกจาสมอลล์รูมไปอยู่กับแกรมมี่ บอยพบว่าช่วงเวลานั้นถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่ทำให้รู้สึกลำบากใจมาจนทุกวันนี้

“ผมมักยกตัวอย่าง การออกจากสโมสรฟุตบอลเสมอ สิ่งหนึ่งที่ผมไม่ค่อยได้พูดคือ ความสำเร็จทั้งหมดของ Lomosonic ผมให้เครดิตกับทางสมอลล์รูมเสมอ ถ้ามีคนถาม ผมรู้สึกพี่รุ่งเหมือนครู วันสุดท้ายผมเอาพวงมาลัยไปไหว้แก ถึงแม้ว่าเราจะหมดสัญญาตามกระดาษ วงก็ตกลงกันว่าไม่ว่าเราจะเดินหน้าต่อไปในทางไหน เราก็เสียใจและยังระลึกถึงเสมอ ถึงแม้ว่ามันจะมีเหตุการณ์ลักษณะที่เรา อยากเป็นนักเตะคนนึงที่กลับไปสโมสรแล้วทุกคนยัง standing ovation ให้เราอยู่ วงค่อนข้างมีความทะเยอทะยานตรงนั้น และสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ผมเรียนรู้เหมือนกัน ผม…..ผม….ผมเข้าใจอ่ะครับ วงผมทำให้พี่รุ่งเสียใจ”

บอยพบว่าสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจแบบนั้นในวันนั้นก็คือ “ความทะเยอทะยาน” มันเป็นเรื่องของจังหวะและช่วงเวลา ซึ่งหากสมอลล์รูมต้องการให้วงกลับไปช่วยเล่นในงานไหนหรือได้ทำอะไรร่วมกันอีก วงก็พร้อมเสมออย่างไม่มีเงื่อนไขหรือลังเลใจเลย และในทุกวันนี้ความสำเร็จที่ Lomosonic มีก็ขอยกให้กับสมอลล์รูมเสมอ

“ผมอาจจะขายวิญญาณให้กับปีศาจจริง ๆ [ และหากย้อนเวลากลับไปได้] ผมก็จะย้อนกลับไปทำ ดอกไม้ไฟแบบเดิม ทำแบบเดิม ผมไม่เสียดายอ่ะครับ ผมแค่มีความหวังเล็ก ๆ ว่าจะกลับไปเล่นงานฉลองของสมอลล์รูมแล้วเราได้ยิ้มในแบบนั้น”

Being Boy ความเป็น บอย อริย์ธัช พลตาล

ในเรื่องตัวตนของ Lomosonic บอยพบว่ามันไม่ได้สำคัญว่าจะมองว่าตนเองเป็นวงแมสหรือไม่แมส แต่สำคัญอยู่ที่การทำเพลงออกมาให้ดีที่สุดและให้คนหมู่มากได้ฟัง

“เอาจริงสารบบผมกับวง เพลงมีอยู่สองอย่าง คือชอบกับไม่ชอบ มันก็จะสะท้อนกลับว่าดีหรือไม่ดี ถ้าเราสามารถทำเพลงให้ดีออกมาได้ เดี๋ยวมันจะถูกจัดเข้าไปในส่วนไหนเอง วงไม่ได้ปฏิเสธถ้าจะแมส หรืออินดี้แล้วไปถึงคนหมู่มาก แกนคอนเซ็ปต์ของชุดความคิดตอนนี้คือเล่นดนตรีให้คนหมู่มากฟัง”

และระหว่างเพลงที่กับการแสดงสดที่ดี (ซึ่งบางครั้งมันไม่ได้ไปด้วยกัน) Lomosonic เลือกที่จะทำเพลงที่ดีมากกว่า

“จริง ๆ ถ้าเป็นวิธีการทำงานของวง วงจะเลือกเพลงดี เราจะตอบว่าเพลงดี เดี๋ยวเราจะหาวิธีเล่นที่ดีได้เอง ผมเชื่อในเพลงที่ดีมากกว่า”

สำหรับฝันที่จะเป็นศิลปินระดับโลก หากการไปถึงจุดนั้นคือ เบอร์ 10 บอยมองว่าตัวเองยังอยู่ที่เบอร์ 1 อยู่เลย และคิดว่าอาจจะไม่มีโอกาสที่จะไปถึงตรงจุดนั้น แต่ถึงอย่างนั้นบอยก็ไม่เคยย่อหย่อนที่จะใช้เวลาที่มีในชีวิตให้คุ้มค่ามากที่สุด

“[เรื่องของความฝันที่จะเป็นศิลปินระดับโลก] ไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ถ้ามีโอกาสก็ไม่ปฏิเสธ ไม่ได้ท้อครับ คือยังใช้ประสิทธิภาพเวลาอย่างเต็มที่อยู่ ถ้ามันจะไม่ถึง ก็ไม่ได้อยู่จุดเริ่มต้น อย่างน้อยอยู่ระหว่างทางก็… มันมีสิทธิที่จะฝันอ่ะครับ ผมจะปฏิเสธคำว่าสำเร็จมาตลอด ยังคิดว่าตัวเองยังไม่สำเร็จ ทำเช็คลิสต์ตลอด เล่นที่นี่ มีคอนเสิร์ตนี้ ได้เล่นที่นี่แล้วนะ ได้เล่น บิ๊ก เมาน์เท่นแล้วนะ และยังมีอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะด้านการใช้ชีวิต ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเวลาดูแลครอบครัวแล้วนะ มีเงินให้พ่อแม่ใช้ น้องเรียนจบแล้ว พ่อแม่เข้าสู่วัยชรา แล้วดูแลได้แล้ว”

บอยมองว่าการไปสู่ระดับโลกนั้นนอกจากเรื่องของความสามารถแล้วยังมีเรื่องของโอกาสและปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วย

“ก็เหมือนเค้ามีนักเตะอังกฤษ ถ้าเราสกิลเท่าเค้า เค้าก็เลือกนักเตะชาติเค้าดีกว่า ตอนไปปูซาน ไต้หวัน มันก็เป็นโอกาสที่ดี ก็ไม่คิดว่ามันจะไปถึง เราตั้งเพดานไว้ที่เดิม ส่วนเราจะไปถึงที่ไหน มันก็ไม่ใช่เรื่องน่าอายที่มันไปไม่ถึง”

สำหรับเรื่องของการใช้เวลาในแต่ละวัน ถือได้ว่าบอยเป็นคนที่มีวินัยที่เข้มข้น ในวันไหนที่ไม่มีโชว์เขาจะออกกำลังกายถึง 6 ชั่วโมง และซ้อมร้องเพลง 3 ชั่วโมงต่อวัน หลายคนอาจมองว่ามันเป็นสิ่งที่หนักและตึงจนเกินไป ทำไมถึงต้องหนักหน่วงขนาดนั้น บอยให้คำตอบว่า “เผื่อเหลือดีกว่าเผื่อขาด”

และในที่สุดถ้าไม่ได้เป็นดั่งฝัน  แล้วบอยจะเลือกทำอาชีพนี้เพียงอย่างเดียวต่อไปหรือไม่ และจะยังเชื่อมั่นที่จะเดินตามความฝันต่อไปรึเปล่า บอยได้ตอบทิ้งท้ายไว้อย่างหนักแน่นและเปี่ยมไปด้วยพลังของความเชื่อมั่นว่า

“ผมตอบให้คนด่าเลยครับ ผมว่าผมไปได้ ผมอยากไปด้วย ผมซ้อมหนักไม่น้อยกว่าคนอื่น ผมอยากไป มันเกินตัวมาก ไม่ใช่ผมไม่รู้ แต่ผมยังมีแรง ผมว่าผมอยากไป ด่าผมเหอะ ถ้าผมไปถึงวันนั้นได้อ่ะ ก็คงดีอ่ะครับ มันอาจไม่ได้มีคำตอบตามแบบว่า เหมือนปลายทางมันไม่มีอะไรเลย ขอให้กูไปเห็นก่อน ขอให้รู้ว่าเรายังทำงานเต็มประสิทธิภาพเวลาอยู่นะ เพื่อที่จะไปตรงนั้นให้ได้ ผมเกลียดการสำออย in doubt สปอยล์ โดนเอาใจ ถ้าผมตอบว่าผมไปไม่ได้หรอก แต่สุดท้ายผมก็จะกลับบ้านทำทุกอย่างตามเวลาอยู่ดี ผมอยากไปครับ ผมไม่รู้ว่าผมไปถึงรึเปล่า แต่ผมไปแน่ครับ”

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส