หลังจากที่ตะลอนฉายในเทศกาลต่าง ๆ ในที่สุด Hope Frozen สารคดีว่าด้วยเรื่องของครอบครัว เนาวรัตน์พงษ์ ผู้ตัดสินใจใช้เทคโนโลยีไครออนิกส์ (cryonics) แช่แข็งร่างที่ไร้ลมหายใจของลูกสาววัย 2 ขวบอย่าง ‘น้องไอนส์’ ด.ญ.เมทรินทร์ เนาวรัตน์พงษ์ ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งสมองระดับรุนแรง เพื่อหวังว่าจะยืดอายุร่างของลูกสาว รอวันที่จะมีโอกาสรักษาให้ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง ฝีมือการกำกับโดย ไพลิน วีเด็ล นักข่าวอิสระหญิงลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ก็ได้มีโอกาสฉายทาง Netflix อย่างที่เราได้ชมกันไปแล้ว

ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์ (ภาพจาก Netflix)

นอกจากเรื่องราวการแช่แข็งมนุษย์ที่ทั้งเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ความรัก ความหวัง และความเชื่อที่ขัดแย้งกันแล้ว เรื่องราวเบื้องหลังการทำสารคดีของเธอก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทั้งน่าเจ็บปวดจากการขอทุน และด้านที่สวยงามมากมายหลากหลาย ที่เธอกำลังจะเล่าให้เราได้ฟังในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

ทั้งหมดที่เธอเล่า คือเบื้องหลังของการ “แช่แข็ง” ความรักและความหวังเอาไว้ในรูปแบบสารคดี ที่หวังว่าสักวัน

น้องไอนส์อาจจะได้มีโอกาสดู…


หลายคนทราบแล้วว่าคุณเป็นนักข่าวมาก่อน แต่จริง ๆ แล้วคุณไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง

จริง ๆ เราเรียนจบชีวะค่ะ (หัวเราะ) ระหว่างที่เราจบชีวะ เราก็ได้มีโอกาสทำ Thesis ทำงานค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับต้นไม้ เพราะว่าเรามีความฝันว่าเราอยากอยู่กับธรรมชาติ อยากจะศึกษาเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งพืชและสัตว์ แต่พอไปทำปั๊บ เราก็ต้องอยู่ป่าคนเดียว นั่งนับต้นไม้ รู้สึกว่ามันเหงามาก (หัวเราะ) เรามีความฝันโรแมนติกว่าการอยู่กับธรรมชาติคงจะมีความสุข แต่พอไปอยู่จริง ๆ ก็เจอยุงกัดบ้าง (หัวเราะ) แล้วก็ต้องมานั่งคิดตัวเลข ทำ Algorithm เพื่อที่จะวิจัยว่าพืชชนิดนี้จะสูญพันธ์ภายในกี่ปี ต้องนั่งคำนวณคนเดียวอยู่ในห้องอีกปีหนึ่ง พอปีสาม เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว เราเริ่มรู้จักตัวเองว่าไอ้สิ่งที่เราอยากจะเป็นมันไม่ใช่

จุดเริ่มต้นการเป็นนักข่าวของคุณเริ่มที่ตรงไหน

เราเองก็ยังชอบเรียนรู้วิทยาศาสตร์นะคะ แต่ว่าขั้นตอนการปฏิบัติจริง ๆ คงไม่ใช่ตัวเราแล้ว เราก็เลยคิดถึงกล้องที่เราชอบพกพาไปด้วยทุกหนแห่ง เอาไปถ่ายรูปทุกอย่างเลย ไปงานวิจัยก็ถ่าย ไปท่องเที่ยวก็ถ่าย ก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเราเองชอบเล่าเรื่องมากกว่า พอกลับมาจากวิจัยก็ชอบเล่าว่า ไปเจองู เจออะไรก็แล้วแต่ พอกลับมาก็ใช้รูปภาพในการเล่าเรื่องให้คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวฟัง คุณพ่อก็เป็นนักข่าวอยู่แล้ว ส่วนคุณแม่เป็นอาจารย์ เราเองก็ได้เห็นพ่อทำงานมาตลอด พอเรียนจบ เราก็เลยไปฝึกงานกับหนังสือพิมพ์ที่อเมริกา เป็นช่างภาพนิ่ง ถ่ายข่าวทั่วไป ใช้เวลาอยู่ประมาณ 3-4 ปี

มีวันหนึ่งที่เราไปถ่ายภาพข่าวกลับมา แล้วก็ได้เห็นข่าวบนจอทีวี เป็นข่าวเมืองไทยจาก CNN เห็นข่าวรถถังออกมาวิ่งในกรุงเทพฯ เราก็คิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกลับบ้าน เพราะข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่นี่แล้วแหละ เราก็กลับมาเป็นฟรีแลนซ์ ทำงานให้กับสำนักข่าว AP ทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ดูแลการรายงานข่าวในอินเทอร์เน็ตทั้งทวีปเอเชีย ทำงานอยู่ 4 ปีก็คิดถึงการลงสนาม คิดถึงการจับกล้อง ได้ไปเจอกับแหล่งข่าว กับผู้คนมาก ๆ ก็เลยออกมาทำฟรีแลนซ์ใหม่ แต่เปลี่ยนมาเป็นการถ่ายวีดิโอ ตอนแรกก็ถ่ายวิดิโอสั้น 3-4 นาทีให้กับ National Geographic, New York Times, Wall Street Journal ประเด็นที่เราทำก็มีตั้งแต่ประเด็นสิทธิสตรีที่เกาหลี จนถึงการค้ายาบ้าระหว่างไทย-พม่า

ทุก ๆ ครั้งที่เราถ่ายภาพข่าว หรือทำคลิปข่าว เราจะรู้สึกอึดอัดว่า เอ๊ะ เรามีเวลาแค่ 90 วินาทีในการที่จะเล่าประเด็นที่เราอยากจะนำเสนอให้เราเข้าใจ ซึ่งจริง ๆ มันมีมากกว่านี้เยอะ เพราะฉะนั้น ชิ้นข่าวที่เราส่งไปก็จะเริ่มยาวขึ้น ๆ (หัวเราะ) จนเราเริ่มทำสารคดีให้กับสำนักข่าว Al Jazeera ซึ่งเป็นสารคดีข่าวเจาะลึก เราก็ทำอยู่ที่ความยาว 25 นาที

อะไรคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณอยากทำสารคดี Hope Frozen

วันหนึ่งสามีเราที่ก็เป็นนักข่าวเหมือนกัน ชวนเราไปทำข่าวเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่ง ที่กำลังเป็นเรื่องไวรัลในตอนนั้น เป็นเรื่องที่ได้ออกรายการในไทยหลายรายการเยอะแยะมากมาย ซึ่งครอบครัวนี้ได้ไปทำการ Cryopreservation เป็นวิธีการเก็บรักษาร่างที่เสียชีวิตด้วยการแช่แข็ง ซึ่งครอบครัวนี้ได้เอาลูกสาวของเขาที่เสียชีวิตเพราะมะเร็งสมอง สามีที่เป็นชาวอเมริกันก็เลยชวนเราไปเป็นล่าม

ตอนแรกเราคิดว่าจะทำข่าวแค่สั้น ๆ แต่ว่าตอนนั้นเรานั่งคุยกันยาวเลยค่ะ ตอนนั้นเราคุยกันอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเรื่องของความรักที่เขามีให้กับลูกสาวของเขา เรื่องของปรัชญา อะไรคือความตาย ความหมายของความตายกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปกับเทคโนโลยีอย่างไร มันเป็นประเด็นที่เรารู้สึกว่าสะกิดทั้งสมองและหัวใจของเราไปด้วยพร้อมกัน แล้วเราก็มีคำถามมากมายเต็มไปหมด จนเราใช้เวลา 2 ปีครึ่งกว่าที่จะถามได้ทั้งหมด

แล้วคุณตัดสินใจเปลี่ยนจากสารคดีข่าวสั้น กลายเป็นหนังสารคดีขนาดยาวได้อย่างไร

จริง ๆ แล้ว บอกตรง ๆ ว่า เรายังไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับเรื่องนี้เลยค่ะ (หัวเราะ) ตอนแรกอย่างที่บอกว่า เราอยากจะทำคลิปข่าว แต่ถ้าจะทำคลิปข่าว เราว่ามันก็สั้นเกินไป คนก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมครอบครัวนี้ถึงได้ตัดสินใจทำสิ่งนี้ ตอนแรกคิดแค่ว่าจะทำเป็นสารคดีข่าวสั้นส่งให้ National Geographic หรือลูกค้าของเราตามปกติ แต่พอทำไปแล้ว ปรากฏว่ามันก็ยังมีคำถามเพิ่มอีก

จนผ่านไปหนึ่งปี เราก็รู้สึกว่านี่มันเป็นหนังยาวแล้วแหละ เราก็เลยเริ่มขอทุน ซึ่งเราก็ไม่รู้เลยว่าต้องทำยังไง ถึงขั้นต้อง Google เอาเลยว่า Feature length Film ขอทุนยังไง ทุนอยู่ที่ไหนบ้าง (หัวเราะ) ซึ่งเราก็สมัครไปหลายทุนมาก ใช้เวลาอยู่เกือบสองปีกว่าจะได้ทุน

พอจะเล่าให้ฟังได้ไหมว่า สารคดีเรื่องนี้มีความลำบากในการขอทุนอย่างไรบ้าง

การขอทุนเป็นสิ่งที่ยากลำบากที่สุดของสารคดีเรื่องนี้เลยค่ะ เพราะว่าในเมืองไทย ทุนจากรัฐบาลหรือเอกชนมีน้อยมาก ๆ เลย ถ้าเทียบกับเกาหลีหรือญี่ปุ่น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องหาทุนที่อยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่อเมริกา อังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี นอร์เวย์ ก็ไม่ได้ทุนเลย จนกระทั่งได้ทุนจากอังกฤษมา ซึ่งตลอดเวลาที่ขอทุน 2 ปี เราก็ทำงานเป็นนักข่าวครึ่งหนึ่ง แล้วก็ทำอีกงานคือการเขียนโครงการเพื่อจะขอทุน

ระหว่างที่เรารอทุน เราก็ถ่ายทำไปก่อน เราโชคดีตรงที่มีทีมงานที่ทำงานกับเรามาหลายปี ซึ่งเขาก็ไว้ใจว่าเรื่องที่เราทำสักวันหนึ่งจะมีทุนเข้ามา (หัวเราะ) ก็จะเป็นเพื่อน ๆ ที่ทำงานให้กับเราฟรี ๆ รวมถึงคนในครอบครัวเราด้วย อย่างเช่นน้องสาวก็มาช่วยคัดฟุตเตจให้ หรือคุณพ่อคุณแม่ก็มาช่วยทำซับไตเติลให้ฟรี ๆ

ครอบครัวเนาวรัตน์พงษ์ (ภาพจาก Netflix)

ตอนแรกที่คุณบอกกับพวกเขาว่าจะขอเข้าไปถ่ายทำสารคดี พวกเขาพูดถึงอย่างไรบ้าง

ต้องบอกว่า ครอบครัวนี้เปิดกว้าง เปิดให้เราทำงานตั้งแต่วินาทีแรกที่เราเจอกันเลยค่ะ เพราะว่าด้วยความที่ตัวของคุณพ่อ (ดร.สหธรณ์ เนาวรัตน์พงษ์) และคุณแม่ (ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์) เองก็เป็นนักวิชาการ ทุกครั้งที่เราเอาหนังไปประกวดในเทศกาล หรือแม้แต่ลงใน Netflix เราก็จะถามพวกเขาว่าโอเคไหม เพราะว่าเราเองก็กลัวเหมือนกันว่า จะมีผลกระทบกับครอบครัวอย่างไรบ้าง ทุกครั้งที่ถาม ครอบครัวเองก็จะตอบว่า “ดีนะ ที่มีคนออกความคิดเห็นได้”

เพราะแม้ว่าจะไม่เห็นด้วย แต่ว่าการให้ข้อมูลกับสังคม การเปิดเผยเรื่องราวให้กับสังคม สามารถทำให้สังคมพัฒนาได้

แม้ว่าเราจะเล่าเรื่องราวที่มีความเจ็บปวดอย่างมาก เขาก็ยินยอมที่จะเปิดเผยความรู้สึกเจ็บปวดของเขา เพื่อที่จะให้สังคมพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ

มีสิ่งไหนไหมที่คุณไม่คาดว่าจะได้เจอในการทำสารคดีเรื่องนี้

เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์ (ภาพจาก Netflix)

สิ่งที่เราไม่ได้คาดหวังก็คือ น้องเมทริกซ์ (เมทริกซ์ เนาวรัตน์พงษ์) ที่เป็นพี่ชายของน้องไอนส์ ตอนแรกที่เราเจอกับน้องเมทริกซ์ ตอนนั้นน้องอายุประมาณ 13-14 ขวบ ยังเป็นเด็กอยู่ ก็ยังไม่ได้พูดคุยอะไรมาก แต่พอถ่ายไปเรื่อย ๆ เราเริ่มรู้จักน้อง และน้องก็เริ่มเป็นหนุ่ม อายุ 15-16 และเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งเราเห็นเลยว่าเขาเป็นเด็กอัจฉริยะ จากที่เราคาดคิดว่าตัวเอกของสารคดีเรื่องนี้จะเป็นคุณพ่อ ที่จริงตัวเอกของหนังคือน้องเมทริกซ์ต่างหาก

มีซีนไหนในในสารคดีเรื่องนี้ที่คุณประทับใจที่สุดบ้างไหม

ซีนที่เราว่าน่ารักที่สุด จริง ๆ ไม่ใช่ซีนที่เราถ่าย แต่เป็นซีนฟุตเตจของเมทริกซ์ที่กำลังสร้างเครื่อง Jet Engine ตอนนั้นเขาอายุแค่ 8 ขวบเอง พอเขาลองสตาร์ตเครื่องก็ไม่ติดสักที แล้วพ่อเขาก็จะถ่ายเก็บไว้ทุกครั้งที่เขาพยายามจะสตาร์ตเครื่อง สตาร์ตแล้วก็ระเบิดบ้างอะไรบ้าง จนถึง 50 ครั้งเขาก็ประสบความสำเร็จ เราคิดว่าฉากนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าเขาเป็นครอบครัววิทยาศาสตร์จริง ๆ และมีความเพียรพยายามอย่างสูง ฉากนั้นบอกถึงความน่ารัก และความพยายามของเมทริกซ์ได้มากเลย

ส่วนฉากที่กระทบจิตใจเรามากที่สุดก็คือ ตอนที่คุณแม่ได้นำเอาของของน้องไอนส์มาดู และเล่าเรื่องราวชีวิตของน้องให้เราฟัง ว่าตอนน้องเขามีชีวิตอยู่ เขาใช้สิ่งนี้นะ คือเราไม่ได้เป็นแม่ แต่ว่าฉากนั้น ใครก็ตามที่เคยสูญเสียคนที่เรารักไป ก็คงต้องเข้าใจว่า แม้ว่าคนที่เรารักจะจากไป แต่สิ่งของที่เขาทิ้งไว้ก็ยังเป็นสิ่งที่มีความหมายมาก ๆ สำหรับคนที่ยังมีชีวิตอยู่

ในฐานะที่คุณเองเป็นนักทำสารคดี ในประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหว คุณเองมีอารมณ์อ่อนไหวไปกับเรื่องราวของครอบครัวบ้างไหม หรือว่าต้องวางท่าทีในฐานะตัวกลาง

ด้วยความที่แบ็กกราวด์ของเราเป็นนักข่าว เราก็จะชินกับการวางตัวเป็นกลาง แล้วเราก็ต้องคิดถึงคนดูด้วย เพราะเราไม่ได้ทำหนังเพื่อที่จะให้ครอบครัวดูอย่างเดียว เพราะฉะนั้นหน้าที่ของผู้กำกับคือการคิดว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ เขาอยากจะเห็นฉากไหนต่อ เขาสงสัยเรื่องไหนบ้าง ฉะนั้น เราก็จะพยายามจะวางตัวให้เป็นกลางมากที่สุด แต่ว่าพอหลังจากฉายไปแล้ว เราก็เริ่มสนิทกับครอบครัวมากขึ้น โดยเฉพาะกับน้องเมทริกซ์ เพราะว่าเราได้ใช้เวลากับเขาอยู่ 2-3 ปี หลังจากฉายเราก็ยังพูดคุยกัยอยู่ ได้เจอกันเกือบทุกเดือน

ตัวคุณเองเชื่อในกระบวนการไครออนิกส์แค่ไหน เพราะในสารคดีเองก็มีการให้ข้อมูลว่า แม้ว่ามันจะมีความเป็นไปได้ แต่มันก็อาจจะเป็นไปไม่ได้เลยก็ได้

เท่าที่เราได้สัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์มา หลาย ๆ คนก็ต่างบอกว่าความเป็นไปได้มันน้อยมาก ๆ เลย ซึ่งก็จะมีคนอีกกลุ่มที่บอกว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่จะบอกกันว่าเป็นไปได้น้อยมาก อีกพันปี ใครจะไปรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น

ดร.สหธรณ์ ทุก ๆ คน รวมถึงคุณ เชื่อมั่นในสิ่งนี้มากแค่ไหน

ทุกคนรวมทั้ง ดร.สหธรณ์ เอง หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ ALCOR (The Alcor Life Extension Foundation) เองก็สงสัยค่ะ ว่ามันเป็นไปได้แค่ไหน แต่เมื่อเรายังไม่รู้คำตอบในตอนนี้ เราก็ได้แต่ดูผลวิจัยที่ออกมา และตอนนี้ก็ยังไม่มีผลวิจัยที่มากพอที่จะตอบคำถามนี้ได้ เพราฉะนั้นเราก็ได้แค่รอน่ะค่ะ

เราเองสัมภาษณ์ ดร.สหธรณ์ ประมาณ 14 ครั้ง ซึ่งในการสัมภาษณ์ทุกครั้ง คำตอบของเขาก็เหมือนเดิมทุกครั้ง คือเขาค่อนข้างที่จะมั่นใจว่ามันจะเกิดขึ้นจริง เราว่าการที่เขาคิดว่ามันจะเกิดขึ้นจริง มันคือวิธีที่ ดร.สหธรณ์แสดงความรักต่อลูกสาว เขาคิดว่ามันเป็นไปได้จริงเพราะว่าเขาคิดเพื่อลูก

ได้ยินมาว่า ตัวหนังสารคดีเรื่องนี้จะมีการเก็บไว้ที่ Alcor เพื่อที่จะเก็บเอาไว้ให้น้องไอนส์ดู ในกรณีที่น้องไอนส์ได้ฟื้นขึ้นมาจริง ๆ พอเล่าเบื้องหลังได้ไหมว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง

ดร. สหธรณ์ หน้าแทงก์ที่บรรจุน้องไอนส์ (ภาพจาก Netflix)

ตอนนี้เรามี Harddisk ที่มีฟุตเตจหนังเรื่องนี้อยู่ รวมทั้งฟุตเตจที่เขาชอบที่สุดก็คือฟุคเตจที่สมาชิกครอบครัวทุกคนเป็นคนถ่ายนั่นแหละ (หัวเราะ) มันเป็นสิ่งที่มีความหมายของเรามาก ๆ ซึ่งก็อยู่ที่เราทั้งหมดเลย ซึ่งประมาณปลายปีนี้ ครอบครัวก็จะเอา Harddisk นี้ไปเก็บไว้ที่ ALCOR

ซึ่งที่ ALCOR จะมีห้องใต้ตินอยู่ ซึ่งจะเป็นเหมืองเกลือที่มีความชื้นต่ำ ซึ่งก็จะมีหนังฮอลลีวูดที่ยังเป็นฟิล์มที่ยังคงเก็บไว้ในเหมืองเกลือ ซึ่งปกติที่ ALCOR ก็จะมีการเก็บสิ่งของของคนที่ถูกแช่แข็ง เมื่อไหร่ที่เขาฟื้นคืนชีพชึ้นมา ก็จะมีสิ่งของที่เก็บไว้ที่ห้องนี้ เราก็หวังว่า Harddisk ที่เรามอบไว้ให้ครอบครัวก็จะอยู่ในนั้นด้วย

ส่วนตัวหนังก็จะอยู่ใน Netflix ตลอด ถ้าอีกร้อยปีพันปีข้างหน้า Netflix ยังไม่ล้มละลายนะ (หัวเราะ)

(อ่านบทสัมภาษณ์ต่อหน้า 2)

ในหนังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของศาสนา ปรัชญา ความเชื่อ ผสมกับเรื่องวิทยาศาสตร์ วิชาการหนัก ๆ ผสมรวมกันอยู่พอสมควร คุณรักษาสมดุลประเด็นของทั้งสองฟากฝั่งอย่างไรบ้าง

สิ่งที่เราทำคือ เราจะปักธงตรงความจริง เราจะพยายามเล่าเรื่องที่เป็นความจริงที่สุดที่จะเล่าเรืองที่เป็นความจริงที่สุดที่เราจะเล่าได้ แต่แน่นอนว่า ทุกวันนี้ที่เรานอนไม่หลับตอนกลางคืนเพราะว่าเราห่วง (หัวเราะ) ห่วงครอบครัว ห่วงว่าจะมีผลกระทบอย่างไรหลังหนังฉายไปแล้ว สำหรับเรา มันต้องมีการบาลานซ์กัน 3 อย่างในการเล่าเรื่อง

หนึ่งคือความจริง สอง หลักจรรยาบรรณในการทำงาน ทั้งกับตัวของครอบครัว และผู้ชม และสามก็คือคนดู เพราะว่าถ้าเราเล่าไปแล้วคนไม่ดูเลย มันก็คงไม่ค่อยดี เราก็เลยต้องบาลานซ์ระหว่าง 3 อย่างนี้ ในระหว่างที่ทำ เราไม่เคยคิดว่าจะมีเรื่องไหนที่เราเล่าไม่ได้เลยค่ะ ตอนที่เราตัดต่อ เราก็คิดว่าเราเล่าทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมามาก ๆ

แล้วสารคดีเรื่องนี้มีโอกาสฉายใน Netflix ได้อย่างไร เขาสนใจอะไรในสารคดีเรื่องนี้

คิดว่าเขาสนใจในสิ่งเดียวที่เราสนใจ คือเป็นหนังที่มี Theme ที่ทุกคนเข้าใจได้หมด ไม่ว่าเราจะมาจากประเทศไหน มันคือหนังที่ถามคำถามกับปะระเด็นใหม่ ๆ ที่มนุษย์ก็มีคำถามและมีความสงสัย เช่นคำถามว่าอะไรคือชีวิต อะไรคือความตาย อะไรคือหน้าที่ของคนเป็นพ่อแม่ รวมถึงธีมของความรักที่ทุกคนเข้าใจได้ ถึงแม้ว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวคนไทย แต่ก็ยังมีประเด็นที่สามารถที่สื่อสารได้กับคนทุกคน ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน

หลังจากที่ถ่ายทำเสร็จ มันทำให้มุมมองหรือแนวคิดเกี่ยวกับความตายของคุณเปลี่ยนไปบ้างไหม

ต้องบอกว่าไม่เปลี่ยนไปค่ะ หลายคนอาจจะคิดว่าเราทำหนังเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง เพื่อที่จะบรรลุอะไรบางอย่าง (หัวเราะ) แต่ว่าสาเหตุที่เราทำหนังเรื่องนี้ก็คือ มันเป็นประสบการณ์ที่เราจะแชร์มากกว่า สไตล์หรือวิธีการของการเล่าเรื่องของเราก็คือ การนำความจริงที่บริสุทธิ์ที่สุดที่เราทำได้ ความจริงที่เรารู้สึกว่า นี่แหละคือความจริงเอามาให้คนดู แล้วให้คนดูคิดเอง เราจะไม่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ใส่ความคิดของตัวเราเองลงไปเราอยากจะเอาประสบการณ์ของการได้ไปเจอกับครอบครัวนี้ และการที่และเรื่องราวของเขา ได้สะกิดใจ ได้สะกิดความคิดของเรา ได้เอามาแชร์ให้กับคนดูค่ะ

ดร.นารีรัตน์ เนาวรัตน์พงษ์ (ภาพจาก Netflix)

ฟีดแบ็กหลังจากที่หนังเข้าฉายใน Netflix เป็นอย่างไรบ้าง

ส่วนใหญ่จะดีหมดเลยค่ะ เกือบทุกวันเราจะได้รับอีเมลและ Facebook Message จากคนดูทั้งคนไทยและคนต่างประเทศ รวมทั้งคนที่ได้สูญเสียคนที่รักมาเล่าความรู้สึกให้ฟัง บางคนเขียนมาบอกว่า ผมไม่เห็นด้วย แต่เมื่อผมดูหนังแล้ว ผมเข้าใจ และนี่คือสิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจมากที่สุด คือเราเน้นของความเป็นมนุษย์

โดยเฉพาะในช่วงนี้ ไม่ว่าจะประเทศไหน ก็จะมีความแตกแยกเยอะแยะมากมาย ไม่ว่าเราจะอยู่ด้านไหนก็แล้วแต่ เวลาเราคิดถึงอีกฝ่าย เราก็จะรู้สึกว่ามันเลว มันแย่ ถ้ามีความคิดไม่เหมือนเราแสดงว่าไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนเรา แ่ต่ว่าหนังเรื่องนี้เน้นเรื่องของความเป็นมนุษย์

ถึงแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วย เราอาจจะคิดไม่เหมือนกัน แต่ความเป็นมนุษย์ ความรัก ความหวัง นี่คือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ด้วยกัน

เพราะฉะนั้น ฟีดแบ็กที่ได้มา เหมือนว่าทุกคนได้รู้สึกเหมือนกับครอบครัว ๆ นี้เหมือนกันหมดทุกคนค่ะ

คำถามนี้อาจจะดู Sci-Fi หน่อย แต่ถ้าสมมติว่าวันหนึ่ง วิทยาการในอนาคตสามารถทำให้คุณและพวกเราสามารถที่จะมีอายุยืนยาวจนทันช่วงเวลาที่น้องไอนส์ฟื้นขึ้นมาพอดี ถึงเวลานั้น คุณคิดว่าอยากจะทำภาคต่อของสารคดีเรื่องนี้ไหม

(หัวเราะ) ถ้าเป็นภาคสองของสารคดีเรื่องนี้ คงต้องเป็น Fiction แล้วล่ะค่ะ (ภาพยนตร์ที่แต่งเรื่องราวขึ้นและใช้คนแสดง) ถ้าวิทยาการทำให้เราสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้ …ก็มีความคิดว่าอยากจะทำต่อค่ะ แต่ว่าตอนนี้เราขอหายเหนื่อยก่อน (หัวเราะ)


พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส