เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียมือกีตาร์ระดับตำนานไปอีกหนึ่งท่านนั่นคือ ‘เอ็ดดี แวน ฮาเลน’ (Eddie Van Halen) มือกีตาร์ร็อกระดับพระกาฬผู้คิดค้นเทคนิคการจิ้มสาย หรือ Tapping บนกีตาร์ไฟฟ้าด้วยมือทั้งคู่ และเจ้าของกีตาร์คาดลายอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้เราจดจำเขาได้เป็นอย่างดี เอ็ดดีได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบด้วยวัย 65 ปีหลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งลำคอมาเป็นเวลากว่า 10 ปี

เอ็ดดี แวน ฮาเลน ได้ฝากผลงานอันน่าประทับใจเอาไว้มากมาย และ ยังมีเรื่องราวอีกมากที่น่าสนใจเกี่ยวกับตำนานแห่งวงการดนตรีคนนี้

ชื่อกลางของเอ็ดดี แวน ฮาเลน ตั้งตามนักดนตรีคลาสสิกชื่อดัง

 เอ็ดดี แวน ฮาเลน ผู้มีเชื่อสายดัตช์นั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า เอ็ดวาร์ด ลุดวิก แวน ฮาเลน (Edward Lodewijk van Halen) ซึ่งชื่อ ‘ลุดวิก’ นั้นเป็นการตั้งเพื่อคารวะต่อนักดนตรีคลาสสิกระดับตำนานนั่นก็คือ ‘ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน’ (Ludwig Van Beethoven) นั่นเอง นอกจากนี้เอ็ดดียังตั้งชื่อลูกชายว่า วูล์ฟกัง แวน ฮาเลน ตามนักดนตรีคลาสสิกระดับตำนานอีกท่านหนึ่งนั่นก็คือ วูล์ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต นั่นเอง ซึ่งดนตรีคลาสสิกนั้นมีอิทธิพลต่อเอ็ดดีมาก ไม่เพียงแต่การนำมาตั้งชื่อ แต่ทว่ายังมีอิทธิพลต่อการเล่นดนตรีและการเขียนเพลงของเขาเป็นอย่างยิ่ง

ก่อนที่จะมาเป็นมือกีตาร์ เอ็ดดีเริ่มต้นการเล่นดนตรีจากเปียโนและกลอง

ถึงแม้ว่าเอ็ดดีจะเป็นที่จดจำในฐานะมือกีตาร์ระดับตำนาน แต่รู้หรือไม่ว่าเขาเริ่มเล่นดนตรีจากเครื่องดนตรีอื่น นั่นคือ เปียโนและกลอง เอ็ดดีและพี่ชายของเขาอเล็กซ์ (มือกลองของวง Van Halen ) ได้เริ่มเรียนเปียโนด้วยกันตั้งแต่ยังตัวน้อย ๆ เอ็ดดีใช้เวลาเพียงสามปีก็สามารถชนะเลิศการแข่งขันเปียโนประจำปีในแคลิฟอร์เนีย

 หลังจากนั้นอเล็กซ์ก็เปลี่ยนไปเล่นกีตาร์ เอ็ดดีก็เลยซื้อกลองชุดมาเล่น แต่พอเอ็ดดีเห็นพี่เล่นก็เลยหยิบกีตาร์มาจับ ๆ เล่นบ้าง ก็เลยค้นพบว่าเครื่องดนตรีชิ้นนี้มันมีเสน่ห์เกินห้ามใจและหลงใหลกลายเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจมาจวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

เอ็ดดี แวน ฮาเลน อ่านโน้ตไม่ออก

ถึงแม้ว่าเอ็ดดีจะเริ่มเล่นเปียโนตั้งแต่ 6 ขวบ แต่ว่าเขาก็ไม่สามารถอ่านโน้ตดนตรีออกได้ แต่เอ็ดดีใช้วิธีการจดจำการเคลื่อนไหวของนิ้วมือของครูและพัฒนาทักษะการฟังของเขาจนถึงขั้นเอกอุแทน จนถึงขั้นที่เขาสามารถฟังเสียงต่าง ๆ เพียงครั้งเดียวและเล่นตามได้อย่างแม่นยำ ถูกเป๊ะทุกตัวโน้ต

วง ‘Van Halen’ ของเขาได้ถูกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊ก

ในช่วงฤดูใบ้ไม้ผลิปี 1983 แวน ฮาเลน ได้พาวง ‘Van Halen’ ของเขาไปร่วมแสดงในงานเทศกาลดนตรี ‘US Festival’ โดยได้รับค่าจ้างกว่า 1.5 ล้านเหรียญ ทำให้วง Van Halen ทำลายสถิติการทำรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์จากการแสดงเพียงครั้งเดียว

เอ็ดดี แวน ฮาเลน เคยใช้สว่านไฟฟ้าในการเล่นกีตาร์มาแล้ว !!

การเป็นนักดนตรีนั้นต้องครีเอทีฟ แต่เหมือนเอ็ดดีจะล้ำไปไกลมากจนถึงขนาดใช้ ‘สว่านไฟฟ้า’ ซึ่งน่าจะเอาไปใช้ซ่อมบ้านมากกว่าไม่น่าจะมายุ่งเกี่ยวกับการเล่นดนตรีเลย แต่เอ็ดดีก็ใช้มันในเพลง ‘Poundcake’ ซึ่งเราจะได้ยินท่อนกีตาร์อันเร้าใจจากเจ้าสว่านได้ในท่อนอินโทรและกีตาร์โซโลของเพลงนี้ ซึ่งไอเดียบรรเจิดนี้ก็เกิดจากการที่เอ็ดดีได้ยิน Matt Bruck ช่างเทคนิคกีตาร์ของเขากำลังใช้สว่านไฟฟ้าในการซ่อมแซมกีตาร์อยู่ในขณะที่เอ็ดดีกำลังคิดงาน ทันใดนั้นเขาก็สังเกตว่าเสียงสว่านที่มันพุ่งผ่านพิกอัพนั้นมันมีเอกลักษณ์เสียเหลือเกินก็เลยลองเอามาใช้ในเพลง ‘Poundcake’ ในที่สุด

https://www.youtube.com/watch?v=F9h57Cdt2Lg

ที่มาของกีตาร์ระดับตำนานนามว่า ‘Frankenstrat

เอ็ดดีเป็นคนที่ชอบปรับแต่งกีตาร์มาโดยตลอด แรกเริ่มเดิมทีตัวเลือกแรกที่เขาใช้ก็คือกีตาร์ Gibson Les Paul ซึ่งเขาได้ทำการเปลี่ยนพิกอัพ P90 ตรงบริดจ์เป็น humbucker เพื่อให้ได้เสียงเหมือนกับ อีริก แคลปตัน กีตาร์ที่เอ็ดดีปรับแต่งจนเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่จดจำของแฟน ๆ นั่นคือ เจ้ากีตาร์ที่มีชื่อว่า ‘Frankenstrat’ ซึ่งเอ็ดดีทำการประกอบมันด้วยตัวเองจากชิ้นส่วนต่าง ๆ เหมือนกับ ดร. แฟรงเกนสไตน์ ที่สร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาจากชิ้นส่วนซากศพมนุษย์ก็เลยเป็นที่มาของชื่อกีตาร์ตัวนี้นั่นเอง เจ้า ‘Frankenstrat’ มีตัวบอดี้เป็นรูปทรง Strat ใช้ไม้แอชส่วนคอเป็นเมเปิ้ลสนนราคา 130 เหรียญ ซึ่งตัวบอดี้นั้นเอ็ดดีซื้อมาในราคา 50 เหรียญตั้งแต่ยังเป็นไม้ท่อน ๆ ที่มีตะปูตอกอยู่ด้วยซ้ำ ส่วนคันโยกกีตาร์นั้นถอดเอามาจาก Fender Stratocaster ปี 1958 ซึ่งต่อมาถูกเปลี่ยนเป็นแบบ Floyd Rose และใช้บริดจ์พิกอัพ Gibson PAF จาก Gibson ES-335 ซึ่งเอ็ดดีเอาขี้ผึ้งพาราฟินเคลือบไว้กันเสียงฟีดแบค แรกเริ่มเดิมทีเจ้า Frankenstrat ตัวนี้นั้นมีสีดำ ก่อนจะถูกพ่นด้วยสีแดงจากสีพ่นจักรยานของแบรนด์ Schwinn ในปี 1979 และออกแบบลวดลายแถบคาดโฉบเฉี่ยวแบบที่เราได้เห็นกัน จนกลายเป็นกีตาร์สุดเท่ที่มีตัวเดียวในโลก

เอ็ดดีกับเจ้า Frankenstrat

เทคนิค Tapping ระดับพระกาฬ

ท่อนโซโล่ในเพลง ‘Eruption’ ผลงานจากปี 1978 ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นอันดับที่ 2 ของ ‘ 100 ท่อนโซโล่ที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล’ ของนิตยสาร Guitar World คือตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งที่ทำให้เราได้รู้จักกับเทคนิคการจิ้มกีตาร์หรือที่เรียกว่า Tapping ซึ่งเอ็ดดีใช้มื่อทั้งสองข้างจิ้มลงไปบนคออย่างรวดเร็วเร้าใจไร้เทียมทาน ซึ่งเทคนิคที่ว่านี้เอ็ดดีได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเล่นกีตาร์ฟลาเมนโก และอิทธิพลของงานดนตรีคลาสสิกรวมไปถึงบทเรียนจากการเรียนเปียโนในวัยเด็ก เทคนิคนี้ได้ส่งอิทธิพลต่อท่อนโซโลด้วยกีตาร์ในช่วงปลายยุค 70s – 80s

‘Brown Sound’

ถึงแม้เสียงกีตาร์ของเอ็ดดีจะมีความดังและแตกพร่าแต่ทว่าก็มีความคมชัดเฉียบในเวลาเดียวกัน สุ้มเสียงกีตาร์อันเป็นเอกลักษณ์ของเอ็ดดีจึงถูกนิยามว่า ‘Brown Sound’ ด้วยเสียงที่อุ่นอันเป็นเอกลักษณ์ของมัน

ต่อมาในช่วงยุค 80s สุ้มเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของเอ็ดดีก็ถูกผสานเข้ากับอิทธิพลทางดนตรีจากคีย์บอร์ด ที่เอ็ดดีใช้ในการเขียนเพลงและบันทึกเสียง ซึ่งเราจะเริ่มพบได้ในอัลบั้ม ‘1984’ ที่เป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จด้านยอดขายมากที่สุดของวง อย่างในซิงเกิล ‘Jump’ งานเพลงเฮฟวีซินธ์พอปที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่และได้อยู่ในลิสต์ 1 ใน 500 บทเพลงที่มีอิทธิพลต่อดนตรีร็อกแอนด์โรลจาก The Rock and Roll hall of Fame เราจะได้ยินการผสมผสานท่วงทำนองจากกีตาร์อันอุ่นอิ่มของเอ็ดดีและเสียงซินธ์อันเปี่ยมสีสันและการเล่นที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเพลงคลาสสิกของบาค

เขานี่ล่ะคนโซโล่เพลง ‘Beat It’ ของไมเคิล แจ็กสัน !!

ท่อนโซโล 32 วินาทีในเพลง ‘Beat It’ ของราชาเพลงพอปไมเคิล แจ็กสันนั้นคือสิ่งที่ควรค่าแก่การจดจำ และมันคือส่วนผสมสำคัญที่ทำให้บทเพลงนี้เป็นหนึ่งในตำนานของแจ็กสัน

ควินซี โจนส์ โปรดิวเซอร์ของอัลบั้ม ‘Thriller’  เป็นคนชักชวนเอ็ดดีให้มาเล่นด้วยกัน วันหนึ่งควินซี โจนส์ ได้โทรหาเขาเพื่อชักชวนเขาให้มาเล่นดนตรีด้วยกันแต่ในตอนนั้นเขากำลังสับสนว่าควินซีไหน ก่อนจะพบว่าชายที่โทรหาเขาคือควินซี โจนส์ โปรดิวเซอร์ระดับเซียนแห่งวงการดนตรี เอ็ดดีจึงตัดสินใจมาร่วมงานด้วย

ตอนแรกเอ็ดดีก็กังวลใจว่าฉันมาทำอะไรที่นี่ เพราะเขาคิดว่าการเล่นกีตาร์ของเขาจะเข้ามาอยู่ในเพลงของไมเคิล แจ็กสันได้ยังไง แต่สุดท้ายเมื่อได้ฟังเขาก็พบว่าเพลง ‘Beat It’ นั้นมันร็อกสุด ๆ ไปเลย ด้วยลีลากีตาร์อันเร้าใจจากสตีฟ ลูคาเธอร์ ควินซีบอกเอ็ดดีว่าเขาสามารถอิมโพรไวซ์ไปได้เลย แต่เอ็ดดีคิดไปไกลกว่านั้น เขาถามควินซีว่าเขาสามารถเรียบเรียงเพลงนี้ใหม่หรือใส่ท่อนโซโลลงไปสักสองสามครั้งในเพลงได้หรือไม่ และเอ็ดดีก็ได้จัดการกับเพลงนี้จนแล้วเสร็จ ในตอนนั้นแจ็กสันได้เดินเข้ามาหาเขา เอ็ดดีได้เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลานั้นว่า

“ผมไม่รู้ว่าเขา (แจ็กสัน) จะมีปฏิกิริยากับมันยังไง ดังนั้นผมก็เลยเตือนเขาก่อนที่จะฟังมัน ผมบอกว่า ‘ดูนี่สิผมเปลี่ยนท่อนกลางของเพลงคุณไปด้วย’ ตอนนั้นในหัวผมคิดไปแล้วว่าเขาจะต้องเอาบอดี้การ์ดมาเตะตูดผมโด่งออกไปเพราะว่าผมไปชำแหละเพลงเขาแน่เลย หรือไม่แน่เขาอาจจะชอบมันก็ได้นะ จากนั้นแจ็กสันก็ฟังเพลงนี้และหันมาที่ผมและพูดว่า ‘ว้าว ขอบคุณมากเลยนะที่มีแพสชันในการทำงานชิ้นนี้ ที่ไม่ใช่แค่มาโซโลเฉย ๆ แล้วก็จากไป แต่คุณกลับให้ความใส่ใจมันจริง ๆ แถมยังทำมันให้ดีขึ้นอีกต่างหาก”

ถึงแม้ว่าเอ็ดดีจะทำงานนี้ให้แบบฟรี ๆ แถมไม่ให้ใส่เครดิตลงไปในเพลงอีก แต่แฟน ๆ ของเขาก็จดจำลีลาและเสียงกีตาร์ของเขาได้เป็นอย่างดี ในวันหนึ่งขณะเอ็ดดีกำลังเดินอยู่ในร้าน Tower Records ในร้านได้เปิดเพลง ‘Beat It’ ขึ้นมาและเขาก็ได้ยินเด็ก ๆ ที่เดินอยู่ในร้านพูดถึงเพลงนี้ เอ็ดดีได้เล่าถึงเหตุการณ์ฮา ๆ ครั้งนี้ว่า

“แล้วท่อนโซโลก็ดังขึ้นมา ผมได้ยินไอ้หนูที่ยินอยู่ข้างหน้าผมพูดกับเพื่อนว่า ‘เฮ้ย ฟังไอ้นี่มันพยายามเล่นกีตาร์เลียนแบบเอ็ดดี แวน ฮาเลนดิ’ ผมก็เลยเอานิ้วจิ้มไปที่ไหลของเจ้าหนูแล้วบอกกับเขาว่า ‘นี่มันฝีมือตรูว่ะพวก !!” มันฮามากเลยล่ะครับ”

R.I.P. ‘Eddie Van Halen’ (1955-2020)

Source

The Sound

APnews

The Conversation

15 facts

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส