“ไอ้แดงมันเป็นนักสู้

ที่ดูคล่องแคล่วปราดเปรียว

และไอ้เขียวมันเป็นนักซิ่ง

มันมีรถเครื่องที่คอยวิ่งแซงทุกคันไป

มีในจังหวะนึงไอ้แดงปะทะวาจา

กับไอ้เขียวเรื่องผู้หญิง

จึงต้องดวลว่าใครของจริง”

‘แดงกับเขียว’ เป็นบทเพลงสะท้อนชีวิตวัยรุ่นคึกคะนองในท่วงทำนองเร้าใจของงานดนตรีฮาร์ดร็อก ให้ภาพปัญหาของวัยรุ่นในสมัยนี้ที่ชอบใช้กำลังในการแก้ปัญหานำพามาซึ่งการสูญเสียและความเสียใจของคนที่อยู่ข้างหลัง ผลงานแจ้งเกิดจากวงดนตรี 6 คนในนาม ‘ไททศมิตร’ ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น วงดนตรี ‘เพื่อชีวิตยุคใหม่’

ไททศมิตร (เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Taitosmith )  ประกอบไปด้วยสมาชิก 6 คนได้แก่ จ๋าย – อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี (ร้องนำ, กีตาร์) , โมส – ตฤณสิษฐ์ สิริพัชญาษานต์ (ร้องนำ, กีตาร์) , เจ – ธนกฤต สองเมือง (คีย์บอร์ด) , มีน -ปัณณสิทธิ์ สุขโหตุ (กีตาร์โซโล่) . เจต – เจษฎา ปัญญา (เบส) และ ตุ๊ก – พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง) ชื่อวงนั้นมีที่มาจากคำว่า ไท (อิสระ) ทศ (สิบ) มิตร (มิตรภาพ) หรือแปลว่า กลุ่มคนที่รักอิสระนับสิบคนที่เริ่มต้นทุกอย่างและดำเนินทุกอย่างด้วยมิตรภาพ ส่วนสาเหตุที่ใช้คำว่า ‘ทศ’ ที่แปลว่า สิบ ทั้ง ๆ ที่วงมีกัน 6 คนนั้นก็เพราะเบื้องหลังความสำเร็จทุกก้าวของวง ไม่ได้เกิดขึ้นได้จากกำลังของคนแค่ 6 คน แต่ผ่านน้ำพักน้ำแรงของทีมงานนั่นเอง รูปโลโก้ของวงดูคล้ายเสาชิงช้าหรือศาลเจ้ามาจากการผสมกันของตัว T  2 ตัว ตัวแรกคือคำว่า ‘ไท’  T  อีกตัวคือคำว่า ‘ทศ’ ส่วนคำว่า Smith แทนด้วยตัว H นั่นเอง

‘ไททศมิตร’ เริ่มต้นก้าวเดินจากการเป็นวงอินดี้ ‘จ๋าย’ หนึ่งในนักร้องนำของวง บัณฑิตหนุ่มจากสาขาวิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้พกพาเอาวิชาความรู้ทางด้านการแสดงผสมกับความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักดนตรีจากการที่ได้เห็นวง ‘โมเดิร์นด็อก’ เล่นบนเวทีที่ Big Mountain และได้เห็นคนดูตกอยู่ในมนต์ขลังจากเสียงดนตรีและการแสดงของวง

“ผมรู้สึกว่าผมสามารถขึ้นไปบนบนเวทีนั้นแล้วก็ทำหน้าที่นั้นได้เลย”

จ๋ายได้เล่าความรู้สึกของเขาไว้ในรายการ ‘ป๋าเต็ดทอล์ก’ และหลังจากประสบการณ์ที่หน้าเวทีวันนั้นเพียงไม่นานจ๋ายก็ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกและทำวงดนตรีขึ้นมาในนาม ‘ไททศมิตร’ และใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็มีผลงานออกมาเป็นที่ยอมรับ ‘Pattaya Lover’ และ ‘เป็นตะลิโตน’ คือซิงเกิลแรก ๆ ที่ทำให้วงเริ่มมีพื้นที่ในวงการดนตรีอินดี้ของไทย ด้วยลูกเล่นลีลาที่แปลกใหม่น่าสนใจ การเล่าเรื่องอันเป็นเอกลักษณ์ และการใช้ภาษาถิ่นเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้ผลงานของพวกเขาเป็นที่จับตามอง จนในที่สุดก็ได้มาเซ็นสัญญากับค่ายใหญ่ของวงการดนตรีไทย อย่าง Gene Lab ซึ่งมี ปัณฑพล ประสารราชกิจ หรือ โอม Cocktail เป็นผู้บริหารนั่นเอง

เป็นเรื่องดีที่ Gene Lab เป็นค่ายที่มีระบบในแบบเดียวกับค่ายแม่อย่าง Genie หรือ Grammy แต่มีทิศทางในการพัฒนาวงการดนตรีอินดี้ให้เข้มแข็ง ไททศมิตร จึงได้พัฒนาวงและรูปแบบงานเพลงให้ออกมามีทิศทางที่ชัดเจน แข็งแรง และเข้มข้น และหลังจากความสำเร็จของซิงเกิล ‘แดงกับเขียว’ แล้วนั้น ทางวงจึงได้มุ่งหน้าทำงานจนมีผลงานออกมาเป็นอัลบั้มเต็มชุดแรกที่ใช้ชื่อเดียวกันกับชื่อวงว่า ‘ไททศมิตร’ ในที่สุด

ในภาคดนตรีนั้น ‘ไททศมิตร’ เป็นงานดนตรีร็อกเข้มข้นที่แสดงให้เห็นถึงฝีมือและทักษะที่เชี่ยวชาญของสมาชิกแต่ละคนในวงที่ผสมผสานและวางจังหวะจะโคนกันได้อย่างงดงาม ส่วนในด้านเนื้อหานั้น ไททศมิตร ได้เดินตามเจตนารมณ์ที่ได้วางไว้ตั้งแต่เริ่มต้นนั่นก็คือ การเป็นโทรโข่งใบใหญ่ที่ถ่ายทอดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และสะท้อนมิติของสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนในยุคนี้ บวกกับภาพลักษณ์ของวงในชุดหนัง แจ็กเก็ตยีนส์ และผ้าขาวม้าที่เอามาโพกหัว ยิ่งตอกย้ำอย่างหนักแน่นว่าพวกเขากำลังจะกลายเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิต เฉกเช่นเดียวกับวงรุ่นพี่ อย่างคาราวาน หรือ คาราบาว ที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญของวง

เพลงเพื่อชีวิตสำหรับผมมันไม่ใช่แนวดนตรี สำหรับผมมันคือวิถี มันคือการเล่าเรื่อง

คำว่า ‘เพื่อชีวิต’ สำหรับไททศมิตรนั้น พวกเขามองว่ามันอยู่ที่ ‘เนื้อหาและการเล่าเรื่อง’ หากมองจากมุมนี้ก็สามารถสรุปได้อย่างไม่เก้อเขินว่า ไททศมิตร เป็นวงเพื่อชีวิตแน่ ๆ เพราะเพื่อชีวิตนั้นไม่ใช่คำที่ใช้กำหนดแนวดนตรีหากแต่เป็นคำที่ใช้ครอบคลุมงานดนตรีที่มีเนื้อหาสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมนั่นเอง เป็นเนื้อหาที่กว้างไกลไปกว่าเรื่องราวของความรักที่มักพบในบทเพลงกระแสหลัก หรือแม้แต่เรื่องของความรักหากมองในแง่มุมที่สัมพันธ์กับชีวิต เพลงรักเหล่านั้นก็เป็นเพลงเพื่อชีวิตเช่นกัน

ตัวละครในงานเพลงของไททศมิตรนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่คนต่างจังหวัดหรือคนชั้นแรงงาน แต่ผสมผสานปะปนกันไปจนให้ภาพวิถีชีวิตของคนร่วมสมัยและเป็นเพลงเพื่อชีวิตสำหรับคนรุ่นใหม่  เนื้อหาของเพลงเกิดจากการผสมผสานมุมมองของสองนักร้องนำ จ๋าย ที่ได้มาจากประสบการณ์การเป็นนักแสดง การสวมบทบาทเป็นคนอื่น ใช้ความรู้สึกของตัวละครที่เคยรับบทบาทมา ลองคิดแทนตัวละครเหล่านั้นแล้วเขียนมันออกมา ส่วนโฟร์โมสนั้นมาจากเรื่องส่วนตัวของตัวเอง เป็นความรู้สึกส่วนตัวหรือสิ่งที่พบแล้วนำเอามาเขียน จึงเกิดเป็นการเติมเต็มกันที่พอดีทั้งเรื่องจากประสบการณ์ส่วนตัวและเรื่องของคนอื่น อย่างในเพลง ‘บังขายถั่ว’ งานดนตรีในสไตล์ละตินร็อก ดนตรีรสชาติละติน กับเมโลดี้ ลีลาและภาษาแบบไทย ชวนให้คิดถึงงานเพลงของราชาละตินร็อกอย่าง ‘คาร์ลอส ซานตาน่า’ และตำนานเพลงเพื่อชีวิตไทย ‘คาราบาว’ ท่วงทำนองมีความสนุกสนาน ไลน์โซโลกีตาร์ก็เร้าใจ ตัดกับเนื้อหาที่มีความดาร์ก ชวนสะอึกและชวนให้คิดนึกนึกไปถึงความรู้สึกของ ‘บังขายถั่ว’ ที่เราพบเห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็เกิดขึ้นจากการใช้วิธีการเขียนเพลงแบบจ๋ายคือการเอาตัวเองไปสวมวิญญาณเป็นบังขายถั่ว

หรือ ‘แดงกับเขียว’ บทเพลงสุดเข้มข้นที่ผสานไว้ด้วยลวดลายลีลาทางดนตรีและเนื้อหาที่เข้มข้นอันเป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของวงไททศมิตร ก็เป็นบทเพลงที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของโมสเล่าเรื่องของ ‘นักสู้/นักซิ่ง’ ที่ทะเลาะกันด้วยเรื่องความยิ่งใหญ่และผู้หญิงจนลืมคิดไปว่าการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะจบลงอย่างไรสิ่งที่มันยังเหลือไว้ก็ย่อมเป็นความเสียใจของพ่อแม่และคนที่อยู่ข้างหลังพวกเขานั่นเอง โดยการสร้างตัวละคร ‘แดง’ กับ ‘เขียว’ ขึ้นมาเพื่อหนีปัญหาของการใช้คำเรียก ‘เขา’ ซึ่งไม่สามารถใช้คำเดียวกันนี้เรียกคนสองคนได้ นอกจากนี้การใช้ชื่อ ‘แดง’ กับ ‘เขียว’ ยังทำให้คิดถึงชื่อของคนในสมัยก่อนที่ใช้คำง่าย ๆ ในการตั้งชื่อ อีกทั้งยังทำให้เกิดการแบ่งฝ่ายที่เห็นได้ชัดเจน เป็นฝ่ายแดงฝ่ายเขียวที่เป็นสีคู่ตรงข้ามกัน (อีกทั้งยังชวนให้คิดไปถึงยักษ์เขียวจากวัดแจ้งและยักษ์แดงจากวัดโพธิ์ที่มาสู้กันที่ท่าเตียนอีกด้วย) และมีนัยแฝงที่สามารถเอาความหมายในเพลงนี้ไปสวมครอบในบริบทอื่นได้อีกว่า แดงกับเขียวสามารถถูกแทนค่าเป็นอะไรหรือใครก็ได้ ผู้หญิงกับปืนในเพลงก็อาจจะแทนค่าเป็นอะไรก็ได้ ซึ่งทุกบริบทจะมีผลกระทบต่อสิ่งที่ในเพลงแทนค่าด้วยคำว่า ‘พ่อแม่มึง’

‘Hello Mama’ ก็เป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่ถ่ายทอดภาพชีวิตของคนที่ต้องจากบ้านมาไกลหางานทำในเมืองหรือต่างแดนเพื่อเอาชนะความยากจนลำบากลำบนในชีวิต  เพลงนี้มีจุดที่น่าสนใจและสร้างความโดดเด่นออกมานั่นคือการใช้ ‘ภาษาอังกฤษ’ และ ‘ภาษาถิ่น’ ซึ่งในที่นี้ก็คือ ภาษาอีสาน เข้ามาผสมผสานกันได้อย่างน่าทึ่ง ซึ่งจ๋ายมองว่าการใช้ภาษาถิ่นในการแต่งเพลงนั้นแต่งได้ง่ายกว่าภาษากลาง เพราะสามารถผันวรรณยุกต์ได้คล้ายภาษาสากล ผันแล้วคำยังเป็นคำนั้นอยู่ หากเป็นภาษากลาง ถ้าผันวรรณยุกต์บางทีความหมายจะเปลี่ยน กลายเป็นว่าการที่ไททศมิตรใช้ภาษาถิ่นในการแต่งเพลงนั้นนอกจากประโยชน์ทางด้านเสียงวรรณยุกต์กับเมโลดี้แล้ว ยังทำให้เกิดเป็นเอกลักษณ์ของวง อีกทั้งหากใช้ได้ถูกที่ ถูกจังหวะก็จะสร้างความประทับใจได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นที่เกิดขึ้นกับเพลง ‘Hello Mama’ ที่เปิดมาด้วยท่อนร้องภาษาอังกฤษเล่าไปด้วยน้ำเสียงเจือความเหงา จนมาเจอภาษาถิ่นตรงท่อนฮุคทำเอาคนฟังขนลุกน้ำตารื้นขึ้นมา ตรงจุดนี้ก่อให้เกิดมิติกับบทเพลงที่ว่าลูก ๆ อาจจากบ้านไปไกลอาจจะไปถึงต่างประเทศ ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารแต่พอเวลาโทรกลับมาบ้าน ภาษาที่เราใช้ก็คือภาษาถิ่นจากบ้านเกิดที่เราจากมานั่นเอง มันทำให้เกิดความรู้สึกของความคิดถึง โหยหา และความอบอุ่นที่ได้คุยกับคนที่รอเราอยู่ที่บ้าน อีกทั้งยังมี ‘ภาษาถิ่น’ หนึ่งที่ถูกใส่ลงมาในบทเพลงอีกด้วย นั่นก็คือ ‘ภาษาถิ่นจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน’ เสียงพิณ เสียงแคนจาก เป้—ณัฐพงษ์ นาพงษ์ แห่งวง ‘จุลโหฬาร’ ซึ่งช่วยตบตีความคิดถึงให้ขยายตัวขึ้นมาในความรู้สึกของเราจนแน่นล้นเต็มอก

นอกจากความเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตและภาพลักษณ์ของวงแล้ว มีหลายองค์ประกอบในงานเพลงของ ‘ไททศมิตร’ ที่มีความเป็นสัมพันธบท (Intertexuality) กับวงดนตรีเพื่อชีวิตระดับตำนานอย่าง ‘คาราบาว’ ซึ่งทางวงคงตั้งใจทำเพื่อเป็นการคารวะ ไม่ว่าจะเป็นในบทเพลง ‘ยุติ-ธรรม’ บทเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง ‘คืนยุติ-ธรรม’ ที่เห็นได้เด่นชัดทั้งในส่วนของเนื้อร้องและท่วงทำนอง ที่มีการหยิบยืมเอางานของวงคาราบาวเข้ามาผสมผสาน  อย่างในท่อน ‘เงินมากองเป็นกอบเป็นกำ’ ก็ทำให้นึกถึงเมโลดี้ในเพลง ‘เมดอินไทยแลนด์’ ส่วนเนื้อร้องในท่อน “โธ่เอ๋ย เมื่อโลกใบนี้ไม่สมประกอบ / เพราะว่ามีบางคนชอบ / เอาปร่งเอาเปรียบคนจน” ก็เป็นการนำเอาเนื้อร้องจากท่อน “โลกนี้ ไม่สมประกอบ / เพราะบางคนชอบ / เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน” จากเพลง ‘บัวลอย’ มาดัดแปลงใช้นั่นเอง เป็นการ ‘สืบทอด’ และ ‘ส่งต่อ’ ความหมายจากคาราบาวมาสู่ไททศมิตร หรือในเพลง ‘บังขายถั่ว’ ที่ทั้งดนตรีในสไตล์สามช่าละตินร็อกกับบางส่วนเสี้ยวของไลน์กีตาร์ก็ทำให้นึกไปถึงเพลง ‘วณิพก’ ของคาราบาวขึ้นมา

อีกองค์ประกอบหนึ่งที่ชวนให้คิดถึงวงคาราบาวและถือว่าเป็นจุดเด่นจุดแข็งของไททศมิตรเลยก็คือการมีนักร้องนำ 2 คน ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ตัวเพลงมีลูกเล่นที่น่าสนใจ ได้ฟังน้ำเสียงของนักร้องถึง 2 คนแล้ว ยังมีประโยชน์ในการเล่าเรื่องอีกด้วย ดังจะเห็นได้ชัดจากในเพลง ‘บังขายถั่ว’ ที่มีการแบ่งเนื้อหากันร้องโดยจ๋ายจะทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้สึกจากมุมมองของบัง ส่วนโมสก็จะเป็นตัวแทนของคนไทยที่เป็นลูกค้าของบัง ทั้ง 2 ต่างรับบทบาทและถ่ายทอดอารมณ์ของตัวละครที่ตัวเองสวมบทบาทได้อย่างถึงอารมณ์ ซึ่งการที่วงมีนักร้อง 2 คนนั้นจ๋ายมองว่าทำให้มีเสน่ห์ในการเล่าเรื่อง และทำให้ไม่น่าเบื่อ สามารถทำเพลงตอบโต้กันได้ สามารถสื่อสารผ่านหลายมุมมองได้ จ๋ายคิดว่าวงฟิกซ์แบนด์ (หมายถึงวงที่มีนักร้องคนเดียวและต้องเล่นอยู่กับที่) ทำให้ไม่สามารถดึงโฟกัสคนดูได้ แต่การที่มีนักร้อง 2 คนทำให้สลับร้อง สลับเล่น หรือเน้นเสริมส่ง อีกทั้งยังสามารถออกแบบการแสดงให้ดึงดูดผู้ชมได้ ‘อย่างไม่ละสายตา’ และใช้พลังที่คนดูส่งมาให้บนเวทีเปลี่ยนเป็นพลังในการบรรเลงดนตรีอย่างเต็มที่

จุดเด่นประการหนึ่งที่ไม่พูดไม่ได้เลยก็คือ การนำเอาความเก่ามาผสมกับความใหม่หรือการใช้สัมพันธบท อย่างการสืบสานวิญญาณงานดนตรีเพื่อชีวิตนี่ก็เป็นจุดหนึ่ง อีกจุดก็คือในบทเพลงของไททศมิตรมักมีการนำเอาเรื่องเล่าไม่ว่าจะเป็นจากตำนาน เรื่องเล่าขาน วรรณกรรมในอดีต หรือจากภาพยนตร์เข้ามาผสมผสานกับบริบทที่ร่วมสมัย อันเราจะพบได้ในบทเพลง ‘รจนา’ ที่มีการนำเอาตัวละคร ‘รจนา’ จากเรื่องสังข์ทอง และเรื่องของการเลือกคู่เข้ามาเปรียบเปรยกับเรื่องราวความรักของตัวละครในเพลงได้อย่างคมคาย เพราะในเรื่องสังข์ทองนั้นรจนาเลือก ‘เงาะ’ ทั้ง ๆ ที่มี ‘รูปชั่วตัวดำ’ เพราะเห็นถึง ‘รูปทอง’ ที่อยู่ข้างใน

แต่ในเพลงนี้ที่เล่าล้อไปกับวรรณคดีเปิดมาด้วยประโยคว่า ‘ในวรรณคดีมันยังมีความเป็นธรรม คนอย่างฉันยังมีโอกาสอย่างใครเขา’ บอกถึงความเชื่อของชายหนุ่มเจ้าของเรื่องว่าถึง ‘รูปพรรณไม่งาม แต่จะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างให้เธอได้รู้’ ก็น่าจะเอาชนะใจสาวเจ้าได้เหมือนในวรรณคดีที่เรียนมาตั้งแต่เด็กแต่สุดท้ายรจนาก็เลือก ‘เจ้าชายรูปงาม’ ที่ย่างกรายเข้ามาในชีวิตแทน และได้บทเรียนว่าชีวิตจริงนั้นคงไม่เป็นเหมือนในตำนานหรือนิทานเสมอไป  

หรือใน ‘ฮาคูน่า มาทาท่า’ ที่มีการนำเอาวลีเด็ดจากภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Lion King ที่ทีโมนกับพุมบ้าใช้สอนซิมบ้าในตอนที่ซิมบ้าเจอเรื่องเลวร้ายที่สุดในชีวิตอันมาจาก ภาษาสวาฮีลีมีความหมายว่า “ไม่ต้องกังวล” โดยในเรื่อง The Lion King ทีโมนกับพุมบ้าจะร้องออกมาเป็นเพลงมีใจความว่า “ไม่เห็นต้องกังวล ปล่อยมันไปนะดีแล้ว เรื่องร้ายไม่เคยมี ท่องไว้ให้ดี ฮาคูน่า มาทาท่า” ไททศมิตรได้นำเอาแนวคิดนี้มาใช้เป็นแก่นของบทเพลงที่เล่าเรื่องความทุกข์ความกังวลในชีวิตของคนผ่านตัวละครเด็กขายพวงมาลัยที่ทำงานหาเงิน ‘ด้วยความหวังว่าเมื่อกลับไปจะมีเงินพอให้พ่อพอใจและไม่ถูกทำร้าย โดยคนใจร้าย’ และชายชราที่ออกตามหาลูกชายที่หายไป 7-8 ปี เป็นการสร้างสรรค์บทเพลงด้วยการใช้ ‘สัมพันธบท’ กับเรื่องเล่าต่างยุคหรือต่างสื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของงานสร้างสรรค์ในแบบโพสต์โมเดิร์น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ ‘ไททศมิตร’ งานเพลงเพื่อชีวิตในยุคโควิดเป็นผลงานที่เราประทับใจและรู้สึกว่านี่คือหนึ่งในความหวังของวงการเพลงไทยและเชื่อได้ว่าในอนาคตข้างหน้าพวกเขาจะมีเรื่องราวที่สะท้อนโลกในทุกวันนี้มาเล่าผ่านบทเพลงอีกมากมาย สวมทับ รับรู้ และสืบสานความเป็นมาจากอดีตส่งผ่านมาสู่ปัจจุบันเพื่อชวนคนฟังตั้งคำถามและทำความเข้าใจความเป็นไปในโลกปัจจุบัน เพื่อหาหนทางที่จะมีชีวิตอย่างงดงามต่อไปในอนาคต.

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส