เมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2545 ‘ซิลลี่ ฟูลส์ (Silly Fools)’ วงร็อกไทยที่มีเสียงร้องเนื้อร้องและซาวด์ดนตรีโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ได้ปล่อยอัลบั้มเต็มชุดที่ 4 ที่มีชื่อว่า “Juicy” ออกมา อัลบั้มชุดนี้ได้มีการเปลี่ยนแนวทางจากอัลบั้มุชดก่อนคือ “Mint” ไปพอสมควร กลับมาคราวนี้ทั้ง 4 สมาชิก โต-ณัฐพล พุทธภาวนา, หรั่ง-เทวฤทธิ์ ศรีสุข, ต่อ-ต่อตะกูล ใบเงิน และ ต้น-ทรงพล จูประเสริฐ ได้มาพร้อมกับความสดใหม่ เปรี้ยว ๆ  มันส์ ๆ สมชื่ออัลบั้มโดยมีการลดซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ลงและเพิ่มความหนักแน่นของดนตรีขึ้น ส่วนในเนื้อหาใช้ภาษาที่สื่อแล้วเข้าใจง่ายแต่มีความคมคาย มีลูกเล่นลีลาและออกแนวประชดประชันนิด ๆ พอแสบ ๆ คัน ๆ

สำหรับเพลงของ Silly Fools นั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกชุด โดยในอัลบั้มชุด Juicy นี้จะเพิ่มดีกรีความมันส์ขึ้นกว่า Mint ที่โทนอัลบั้มโดยรวมจะมีความนวล ๆ  นุ่ม ๆ ผสมความคูลสมกับชื่ออัลบั้ม แต่ใน Juicy จะมีความเปรี้ยวจัดจ้านทางดนตรีที่ดิบและเข้มข้นขึ้นมา ที่มีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางนี้ก็เพราะแฟน ๆ เรียกร้องอยากให้กลับไปดุเดือดเหมือนงานเพลงในชุด IQ 180 อัลบั้มชุดนี้จึงมีความจงใจให้ดนตรีชัดเจนขึ้นถึงแม้จะไม่เดือดเท่า IQ 180 แต่ก็มีเมโลดี้ที่กลมกล่อมและทำนองที่ติดหูคนฟังได้เป็นอย่างดีทำให้มีเพลงฮิตเกือบทั้งอัลบั้ม อาทิ  “บ้าบอ” “ผิดที่ไว้ใจ” “แกล้ง” “ขี้หึง” “น้ำนิ่งไหลลึก” และ “วัดใจ”

Silly Fools ยุคอัลบั้ม Juicy
Silly Fools ยุคอัลบั้ม Mint

ที่มาของชื่ออัลบั้ม “Juicy” นั้นมาจากการที่วงต้องการอารมณ์ที่แรง ๆ มันส์ ๆ เปรี้ยว ๆ เพราะดนตรีของอัลบั้มชุดนี้ให้ความรู้สึกที่รุนแรงเฉี่ยว ๆ เปรี้ยวๆ เลยทำให้นึกถึงส้ม (ซึ่งแตกต่างจากอัลบั้มชุด Mint ที่มีความเย็น ๆ คูล ๆ โทนสีของงานอาร์ตเวิร์กก็จะออกไปทางโทนขาว ฟ้า ความเย็น น้ำแข็ง ลามไปจนถึง MV อย่างในเพลง “คิดถึง” เป็นต้น)

“เพราะมันเป็นผลไม้เปลือกแข็ง แต่เวลาผ่ามันจะมีน้ำพุ่งออกมา แบบว่าแรงซ่อนเปรี้ยว ส่วนปกอัลบั้ม เราก็เอาชื่ออัลบั้มเป็นตัวหลัก ก็เลยเลือกส้มมาและเอาหน้าพวกเราไปใส่ เพราะหน้าเรามันฮาร์ดคอร์ดอยู่แล้ว” Silly Fools เล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่ออัลบั้มและอาร์ตเวิร์กปก

ปกอัลบั้ม Juicy

หลังจากจบทัวร์จากงานเพลงชุดก่อน Silly Fools เริ่มรู้สึกเครียดและคิดไม่ออกว่าทิศทางของงานเพลงอัลบั้มต่อไปควรจะเป็นเช่นไร จึงเป็นเหตุผลที่อัลบั้มชุดนี้ทิ้งห่างจากอัลบั้มก่อนพอสมควร พี่ป้อม-อัสนี  โชติกุล ผู้บริหารค่ายมอร์มิวสิคจึงแนะนำให้วงหยุดพักผ่อนและไปเที่ยวผ่อนคลายสมองเผื่อจะคิดอะไรออก หลังจากได้ไปชิลล์กันแล้ววงก็เลยกลับมาทำงานกันต่อ ด้วยความ flow อัลบั้มชุดนี้จึงใช้เวลาทำประมาณ 6 เดือนก็เป็นอันเสร็จสิ้น

อัลบั้มชุดนี้ยังได้ ไซมอน เฮนเดอร์สัน (Simon Henderson) เป็นโปรดิวเซอร์เช่นเคย โดยรูปแบบของการทำงานจะเป็นวงเองที่ทำเพลงเองทั้งหมด ส่วนไซม่อนจะเป็นเพียงคนคอยชี้แนะ ใช้หูของโปรดิวเซอร์เป็นตัวช่วยวงทำงานเอง 80% และไซม่อนจะช่วยดูที่เหลือ

“บ้าบอ” เป็นซิงเกิลแรกของอัลบั้มที่ถูกปล่อยออกมาโชว์ความเปรี้ยวให้เราเสียวฟันเล่น ๆ  เพลงนี้ต้นเป็นคนทำดนตรีขึ้นมาก่อนโดยเริ่มจากเสียงซินธิไซเซอร์และกลายมาเป็นลิคกีตาร์ในที่สุด

“ตอนนั้นมันมีอารมณ์ในการทำสูง คือในตอนนั้น มันเหมือนว่าเราเซ็งกับอะไรมาเยอะ มันเหมือนกับว่าเราต้องเอ่อ ทำอะไรขึ้นมาซักอย่างหนึ่ง ตอนแรกมันเริ่มจากเสียงซินธิไซเซอร์ แหน่ว ๆ ๆ อะไรยังนี้ มันก็ยังไม่เป็นเพลงหรอก ผลสุดท้ายมันได้ลิคกีต้าร์มา ท่อนอินโทรนั่นแหล่ะ มันถึงได้เพลงนี้มา พอมีลิคขึ้นแล้วมันก็จะต่อไปเองจบเพลงหล่ะครับ”  ต้น มือกีตาร์เจ้าของซาวด์ดนตรีอันมีเอกลักษณ์ขวัญใจมือกีตาร์ชาวไทยได้เล่าถึงที่มาของเพลงนี้

จากนั้นโตก็เป็นคนเขียนเนื้อเพลงใส่เข้ามา ซึ่งโตเล่าว่าวิธีการเขียนเพลงนี้ค่อนข้างจะฉีกออกไปจากที่เคยทำมาและมีการใส่ส่วนของการแร็ปความเป็นฮิปฮอปเข้าไปในเมโลดี้ด้วย

“วิธีการเขียนเพลงนี้มีวิธีการค่อนข้างที่จะฉีกไป จากวิธีการเดิมของผมหน่อยนะครับ ผมจะร้องปกติเป็นเมโลดี้ ก็จะเป็นเมโลดี้ไหลมาเรื่อย ๆ สังเกตดูว่าก็จะเป็นส่วนซึ่งพวกฮิปฮอป พวกแรปจะใช้ แต่สิ่งที่ผมใส่เข้าไปผมจะไม่ได้ใส่เมโลดี้เป็นส่วนอย่างเดียว ผมจะใส่เมโลดี้เข้าไปกับการแรปด้วย มันจึงกลายเป็นวิธีของผมแทน นี้คือความพิเศษที่ผมบังเอิญค้นหาได้ในชุดนี้”  

โดยในตอนร้องโตก็ร้องเมโลดี้เป็นภาษาอังกฤษแบบมั่ว ๆ ไปก่อนแล้วจึงใส่เนื้อไทยเข้ามาแทนที่ในเมโลดี้นั้น

ส่วนเนื้อหาของเพลง “บ้าบอ” นั้นก็เป็นเรื่องราวของความรักแต่จะมีเนื้อหาที่ประชดประชันนิดนึงเนื่องจากดนตรีนั้นมีความเข้มข้นรุนแรง

“เวลาเขียนเพลงแล้ว ภาษาที่ง่ายที่สุดก็คือ ภาษาของความรัก เพราะฉะนั้น จะเป็นเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ควรจะอยู่ในเรื่องของความรัก เพราะคนทุกคนต้องมีความรักระหว่าเพศตรงข้ามหรืออะไรก็ได้ บังเอิญเพลงนี้ ค่อนข้างสนุกแรง ๆ หน่อย ผมก็เลยเขียนความรักที่เป็น negative นิดหนึ่ง ที่แบบบ้าบอชักไม่ไหวแล้วให้เท่าไหร่ก็ไม่พอซักที ก็เลยเอาอารมณ์ตรงนั้นมาเขียนแทน”

ในส่วนของเนื้อเพลงอัลบั้มชุดนี้มีภาษาที่ค่อนข้างแรงประชดประชันและเปรียบเทียบเยอะเพื่อให้เข้ากับเนื้อเพลงที่เข้มข้นขึ้น แต่ถึงแม้จะแรงแต่ก็ไม่หยาบคายหากแต่มีการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่คมคายจดจำและร้องตามได้ง่ายซึ่งนี่ถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของ Silly Fools เช่น

“บ้าบอ ฉันคงไม่บ้าพอที่จะรักคนที่บ้าบอให้รักแล้วไม่เคยพออย่างเธอ” (บ้าบอ) “หน้าไม่อาย ต้องมาเดินร้องไห้สุดท้ายก็กลับมา กว่าจะคิดได้ก็ตอนสาย ความรักกลับกลายหมดความหมาย” (หน้าไม่อาย) “อย่ามาลาม อย่ามาปาม อย่ามาคอยเหยียดหยาม และมาหน้าตัวเมียคอยเลียฉัน” / “พอฉันดีชักทำตัวเป็นสุนัขบ่อย อย่าปล่อยให้กร่อยกันอย่างนั้น” (น้ำนิ่งไหลลึก)

เนื้อหาส่วนใหญ่ของเพลงในชุด Juicy จะเป็นเรื่องความผิดหวังด้านความรัก โดยมีที่มาจากความผิดหวังเรื่องความรักของโตนั่นเอง  สิ่งหนึ่งที่ทำให้เพลงของ Silly Fools เข้าถึงใจคนฟังก็เพราะมันถูกเขียนขึ้นจากชีวิตจริง ประสบการณ์จริงที่ทุกคนในวงได้สัมผัส (และมันก็เป็นชีวิตจริง ประสบการณ์จริงที่แฟนเพลงอาจเคยสัมผัสหรือรู้สึกใกล้เคียงด้วยเช่นกัน) ทำให้เพลงของ Silly Fools มีอารมณ์ความรู้สึกที่จริงและเชื่อมโยงกับความรู้สึกของคนฟังได้ ซึ่ง โต ได้เล่าถึงสไตล์การเขียนเพลงของเขาไว้ว่า

“เวลาผมเขียนเพลงจะเป็นแบบใส่อารมณ์คนหนึ่ง ๆ เข้าไป เขียนจากอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องตัวเองมากเกินไป ถ้าผมเอาตัวเองมาเขียนรับรองว่าด่าผู้หญิงเสียหายหมด แต่นี้ผมเพียงแค่หยิบเอาอารมณ์ความรู้สึกที่คิดและโดนกระทำมาเขียนเป็นเพลงเท่านั้น เป็นเนื้อหาประมาณว่าคนที่ชอบแหย่ ๆ เข้าไปมาก พอแหย่มากมันก็ระเบิด ซึ่งชุดนี้เราเอาดนตรีเป็นหลักด้วย”

เพลงช้าสุดฮิตจากอัลบั้มนี้อย่าง​”ผิดที่ไว้ใจ” ก็เป็นเพลงหนึ่งที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์จริงในชีวิตของโต ที่เขาเขียนขึ้นในคืนฝนพรำคืนหนึ่งในขณะที่กำลังนั่งเพียงลำพังในบ้าน

“ตอนเขียนนี่คืองง ๆ อยู่เหมือนกันกับเรื่อง ๆ หนึ่ง คน ๆ หนึ่งแล้วก็เพลงนี้เขียน 2 วันเสร็จครับ วันแรกคือผมยังงงอยู่ว่า ทำไมถึงไม่ลงรอยกันซะที ทำไม แล้วผมก็พยายามจะทำอะไรซักอย่าง แล้วก็มันเป็นความรู้สึกที่แบบว่า ไม่อยากจะรัก ไม่อยากจะอยู่แล้วล่ะ แต่บังเอิญผมไม่ใช่คนที่แบบฆ่าตัวตายอะไรแบบนี้นะครับ แต่ว่าอารมณ์มันเป็นอย่างนั้น คืออยากจะตายน่ะ แบบว่าหัวใจอยากหยุดเต้น ให้หยุดเต้นซักที เพราะไม่ให้เหตุผลซักที พอวันที่ 2 นี่ บังเอิญเข้าใจเหตุผล เข้าใจเหตุผลว่าเกิดอะไรขึ้น มันก็เลยสรุปในท่อน ๆ หนึ่งของเพลงก็คือ ผิดที่ไว้ใจ ตอนนั้นผมเพิ่งมารู้ในวันที่ 2 ว่าทำไมผมถึงพยายามทำแล้วแต่ไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการกลับมาซะที ที่นี้ผมเลยสรุปตรงนั้น”

นอกจากนี้ก็ยังมี “แกล้ง” ที่เป็นเพลงช้าเศร้าโดนใจจากในอัลบั้มนี้ ที่โตเขียนขึ้นจากความรู้สึกที่หลายคนน่าจะเคยสัมผัสมาก่อน เวลาที่เราถูกบอกเลิกและเราอยากให้คำ ๆ นั้นที่เขาเอ่ยออกมาเป็นแค่เพียงการแกล้งกันเล่น ๆ ไม่อยากให้มันเป็นความจริง

“ผมว่าทุกคนต้องเคยเป็นบ้างนะ บางทีสมมติถูกบอกเลิกไปแล้วเป็นแบบว่า มันยังอยู่ในภาวะที่ยังงง เพราะว่าเพิ่งถูกบอกเลิกน่ะ ไม่อยากให้มันเป็นเรื่องจริง เอา ๆ เราแกล้งกันต่อซิ นี่ ๆ เค้าต้องแกล้งบอกเลิกเราก่อนแน่ ๆ เลย ถ้าจะแกล้ง แกล้งบอกรักด้วย หรือแกล้งอะไรทั้งหมดแล้วกัน ให้เหมือนเมื่อก่อนก็ได้”

ส่วนเพลงที่น่าจะโดนใจผู้ฟังทั้งจากเนื้อร้องที่ออดอ้อน ทำนองที่สดใสและไลน์กีตาร์ในสไตล์ยุค 80s ก็คือเพลง “ขี้หึง” เพลงนี้หรั่งเป็นคนขึ้นดนตรีมาก่อน และพอโตได้ฟังแล้วก็เลยรู้สึกว่าเนื้อหาของเพลงน่าจะไปในทางที่น่ารัก ๆ หน่อย  

“เนื้อเพลงก็จริง ๆ หลังจากที่ผ่านมรสุมไป ก็ได้รู้จักกับผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เป็นแค่เพื่อนกันนะครับ รู้จักเพราะเค้าเป็นนักดนตรี แล้วก็เห็นตา เห็นตาเค้าอย่างนี้ ก็เลยนึกถึงความขี้หึงของผู้หญิงขึ้นมา ซึ่งปกติผมจะชอบผู้หญิงที่ขี้หึงเพราะมันจะดูเหมือนกับเขาแคร์เราดี แล้วผมจะเข้าใจ เพราะฉะนั้นเวลาผมเจอผู้หญิงที่ขี้หึง ผมจะมองว่ามันน่ารักดีและเพลงนี้มันน่าจะเป็นเพลงที่น่ารัก และผมจะเขียนเกี่ยวกับสิ่งที่ผมเข้าใจ เกี่ยวกับความขี้หึงของผู้หญิงให้กับผู้หญิงในเพลง ๆ นี้เลยว่า เอ่อ บางทีมันก็น่ารำคาญเหมือนกันขี้หึงเนี่ย แต่ผมว่ามันสวยดี เพราะเข้าใจว่าผู้หญิงคงจะรักมาก ซึ่งบางทีเค้าก็รู้บางทีเค้าก็ยับยั้งใจตัวเองไม่ได้หรอก มันก็ดีอยู่แล้วหล่ะ ผมก็เลยเขียนขี้หึงให้”

หากถามถึงเพลงที่เดือดที่สุดในอัลบั้มเลยก็ต้อง “วัดใจ” ที่กลายเป็นเพลงที่ใคร ๆ  ก็จะต้องแกะมาเล่นเพื่อวัดใจวัดฝีมือกันไปว่าเซียนจริงรึเปล่า ภาคดนตรีสุดมันส์ของเพลงนี้เกิดจากการประสานเอกลักษณ์จากเพลงมันส์ ๆ 3 เพลงของอัลบั้ม Mint นั่นคือ “150 cc” “จิ๊จ๊ะ” และ “บั้นท้าย” ที่ถูกจับมามัดรวมกันและ เขียนเมโลดี้กับเนื้อร้องใหม่ ขัดเกลาให้ลงตัวจนกลายเป็นหนึ่งในเพลงที่มันส์ที่สุดของ Silly Fools

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวเบื้องหลังบทเพลงจากอัลบั้มชุด “Juicy” ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานกว่า 16 ปี แต่ความสดใหม่และดูล้ำสมัยในงานเพลงของ Silly Fools ก็ทำให้เรารู้สึกว่าบทเพลงของพวกเขาคือสิ่งที่อยู่เหนือกาลเวลาและพร้อมที่จะขับเคลื่อนความรู้สึกสุขเศร้าของเราให้ล่องไหลไปกับท่วงทำนองเปรี้ยวๆ ฝาด ๆ มันส์ ๆ จากบทเพลงเหล่านี้ได้อยู่เสมอ

Source

Silly Fools Unofficial Fan Club

https://sillyfool13.tripod.com/interview/juicy-thaiday.htm

https://sillyfool13.tripod.com/interview/hotwaveinterview.htm

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส