[รีวิว] The Nightingale : เปี่ยมคุณภาพแต่ยังไม่ตอบโจทย์คอหนังโหด

Release Date

01/04/2021

Rate : R

2h 16min

Adventure, Drama, Horror

Director: Jennifer Kent

Writer: Jennifer Kent

Stars: Aisling Franciosi, Baykali Ganambarr, Damon Herriman

[รีวิว] The Nightingale : เปี่ยมคุณภาพแต่ยังไม่ตอบโจทย์คอหนังโหด
Our score
7.1

[รีวิว] The Nightingale : เปี่ยมคุณภาพแต่ยังไม่ตอบโจทย์คอหนังโหด

จุดเด่น

  1. เอสลิง แฟรนซิโอซี และ เบย์กาลี กานัมบาร์ แสดงได้อย่างยอดเยี่ยม
  2. บทพัฒนาความสัมพันธ์ของ 2 ตัวละครนำได้ดี
  3. ถ่ายทอดภาพของออสเตรเลีย ย้อนหลังไป 200 ปีได้ดี

จุดสังเกต

  1. ถ้าไม่มุ่งขายความเป็น 'หนังโหด' จะไม่สร้างความคาดหวังให้กับผู้ชม
  2. ยาวเกินไปจนเริ่มรู้สึกอึดอัด
  3. แซม คลาฟลิน ไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะกับบทตัวร้าย
  • บทภาพยนตร์

    7.8

  • คุณภาพนักแสดง

    7.9

  • คุณภาพงานสร้าง

    9.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    6.0

  • คุ้มเวลาและค่าตั๋ว

    5.0

สนับสนุนเนื้อหาโดย

The Nightingale หนังสัญชาติออสเตรเลียนผลงานตอกย้ำคุณภาพของผู้กำกับ-เขียนบท เจนนิเฟอร์ เคนต์ (Jennifer Kent) ที่เคยสร้างชื่อมาแล้วจาก The Babadook เมื่อปี 2014 กว่าจะได้ฤกษ์ฉายในบ้านเรา หนังก็มีอายุ 4 ปีเข้าไปแล้ว เพราะ The Nightingale ตระเวนฉายเก็บรางวัลตามเทศกาลหนังมาตั้งแต่ปี 2018 นู่นแล้ว

ผู้กำกับ เจนนิเฟอร์ เคนต์ กับ เบย์กาลี กานัมบาร์

เป็นหนังที่ เจนนิเฟอร์ เคนต์ ทำการบ้านหนักมากเพราะเธอเลือกโจทย์ยาก ด้วยการวางฉากหลังของหนังให้เกิดในปี 1825 ในออสเตรเลีย ช่วงที่ทหารอังกฤษเริ่มเข้ามาบุกรุกพื้นที่และเข่นฆ่าชาวอะบอริจินชนพื้นเมืองดั้งเดิม ตัวเอกของเรื่องคือ แคลร์ ได้ เอสลิง แฟรนซิโอซี (Aisling Franciosi) จาก Game of Thrones มารับบท แคลร์และไอแดนสามีของเธอ เป็นชาวไอริชที่มีสถานะเป็นนักโทษของกองทัพอังกฤษ เลยถูกพาตัวมาที่ออสเตรเลียด้วย เพื่อให้ทำหน้าที่รับใช้เหล่าทหาร ทั้งร้องเพลงขับกล่อมและเสิร์ฟอาหาร จุดวิกฤตของเรื่องมันเริ่มมาจากผู้หมวดฮอว์กกินส์ นายใหญ่ของหน่วยทหารนี้ที่หลงใหลในตัวเธอ และกระทำชำเราเธออยู่เนือง ๆ เมื่อไอแดนรู้เข้าจึงบันดาลโทสะและมีเรื่องกับฮอว์กกินส์ เกิดเหตุการณ์นองเลือด ไอแดนและลูกน้อยวัยแบเบาะของแคลร์ ต้องถูกฮอว์กกินส์และลูกน้องฆ่าตายไปต่อหน้าต่อตาขณะที่เธอถูกเรียงคิวข่มขืน กลายเป็นความเคียดแค้นถึงขีดสุด แคลร์ว่าจ้างบิลลี่ ชาวอะบอริจินให้นำทางเข้าป่าไปตามล่าฮอว์กกินส์และลูกน้องที่กำลังเดินทางไปขอตำแหน่งที่ฐานทัพใหญ่ของอังกฤษในอีกเมืองที่อยู่ห่างไกล

แคลร์ และ บิลลี่ ที่ออกตามล่าผู้หมวดฮอว์กกินส์

ด้วยพลอตหนังที่ว่าด้วยการตามล่า ภาพของแคลร์ที่ถือปืนและมีเลือดอาบหน้า ชื่อไทยที่เข้ากับเนื้อหาของหนังว่า “ปักษาพยาบาท” รวมกับแนวทางโปรโมตของค่ายที่เลือกใช้บริการของเพจหนังสยองขวัญต่าง ๆ และสื่อว่านี่คือ “หนังโหด” ทำให้เกิดความคาดหวังว่า The Nightingale จะต้องตอบสนองรสนิยมของคนชอบดูหนังโหดได้อย่างแน่นอน แต่ผลที่ได้………………ยังไม่ใช่ครับ The Nightingale ยังคงอยู่ในหมวดของ “หนังรางวัล” อย่างชัดเจน ด้วยความยาวของหนังที่ 2 ชั่วโมง 16 นาที ที่เคลือนหน้าไป ‘ค่อนข้างช้า’ ภาพส่วนใหญ่คือการเดินป่าของแคลร์กับบิลลี่ และเน้นหนักไปกับการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ ใช่ที่ว่าหนังลงลึกและทำให้เราคล้อยตามไปกับความผูกพันของคู่นี้ได้ดี แต่มันผิดประเด็นที่ค่ายหนังจงใจโปรโมตและสร้างคาดคาดหวังต่อคนดู

เอสลิง แฟรนซิโอซี ในบทแคลร์

หนังมีฉากโหดจริง ฆ่าแบบบ้าคลั่ง ดิบ เถื่อน เลือดสาด แต่แค่ฉากเดียวเท่านั้น และที่น่าผิดหวังและส่งผลให้ค้างคาใจที่สุดก็คือการปูพื้นให้กับตัวร้ายของเรื่องอย่าง หมวดฮอว์กกินส์ ด้วยความเลวสุด ๆ แทบจะทุกนาทีที่ปรากฏตัวบนจอหนัง ข่มขืนหมดทั้งคนขาวคนดำ ฆ่าหมดทั้งศัตรูและลูกน้อง ด้วยความเลวของหมวดฮอว์กกินส์นี่ต้องยกให้ติดอันดับตัวร้ายบนที่เลวทรามระดับต้น ๆ ของโลกภาพยนตร์เลย ภาพบนจอพาอารมณ์ให้คนดูเคียดแค้นไปกับแคลร์ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำย่ำยี บวกกับเหตุการณ์ช่วงกลางเรื่องที่หมวดฮอว์กกินส์สั่งสมความเลวมาโดยตลอด ยิ่งทำให้คนดูเอาใจช่วยแคลร์ และอยากเห็นบทลงเอยของฮอว์กกินส์ที่สาสมกับความเลวร้ายที่กระทำมา แต่กับบทลงเอยที่ฮอว์กกินส์ได้รับนั้น………..ต่างจากที่คาดหวังมาก ใช้คำว่า ‘น่าผิดหวัง’ ได้เต็มปากเต็มคำ และเป็นหนังที่จบแบบอารมณ์ค้างคาอยู่ในตัว เพราะตลอด 2 ชั่วโมงกว่าของหนังนั้นภาพและเรื่องถาโถมความรู้สึก ตึงเครียด หดหู่ เข้าหาเราผ่านสายตาของแคลร์มาโดยตลอด แต่ความรู้สึกนั้นไม่ได้รับการ ‘ปลดเปลื้อง’

แซม คลาฟลิน ในบทผู้หมวดฮอว์กกินส์

อีกจุดที่รู้สึกค้างคาใจกับบทหมวดฮอว์กกินส์ ก็คือการที่ทีมงานเลือก แซม คลาฟลิน พระเอกจาก Me Before You (2016) มารับบท ไม่เหมาะสมอย่างแรกคือหล่อไป แวบแรกที่เห็นก็ติดภาพแล้วว่านี่คือ ‘คนดี’ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจอยู่นานว่านี่คือตัวร้ายอันดับ 1 ของเรื่อง ซึ่งร้ายด้วยบทและการกระทำของตัวละคร และพาไปถึงสิ่งที่ไม่เหมาะสมอย่างที่ 2 ก็คือ แซมไม่สามารถสร้างรังสีอำมหิตให้รู้สึกได้ อย่างที่บทนี้ควรจะมี แววตาของแซมไม่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้ว่านี่คือมนุษย์ที่โหดเหี้ยมโดยสันดานเบื้องลึก ซึ่งความเหี้ยมบวกโรคจิตระดับนี้ สิ่งที่คนดูควรรู้สึกก็คือ การลุ้นเอาใจช่วยกับสวัสดิภาพของตัวละครต่าง ๆ ที่เข้ามาเฉียดใกล้กับบุคคลนี้ แบบที่เราเคยรู้สึกกับ แอนตัน ชิเกอร์ ใน No Country for Old Men

เอสลิง แฟรนซิโอซี ในบทแคลร์

แล้วทำไมหนังถึงได้รางวัลมากมาย บวกกับ Rottentomatoes ที่ 86% เพราะหนังมีคุณค่าครบถ้วนตามแบบฉบับหนังสายรางวัลครับ นักแสดงนำโดดเด่น ถ่ายทอดภาพป่าดงดิบออสเตรเลียออกมาได้ดี คอสตูมสมจริง บทดีในด้านพัฒนาการของตัวละคร และที่สำคัญการให้ความคุณค่ากับชีวิตมนุษย์ทุกเชื้อชาติเผ่าพันธุ์

รายที่สมควรพูดถึงอย่างมากก็คือ เอสลิง แฟรนซิโอซี ในบทแคลร์ เธอดูมีความงามแบบบ้าน ๆ บทแคลร์เป็นบทที่ยาก พูดได้เลยว่ายากทุกฉาก ต้องใช้อารมณ์แบบสิ้นเปลืองมาก ๆ ทั้งร้องไห้ เคียดแค้น ตื่นตระหนก ซึ่งแฟรนซิโอซีก็ถ่ายทอดได้ถึง ทำให้เธอกวาดรางวัลนักแสดงนำหญิงไปได้หลาย ๆ เวทีพอ ๆ กับ เจนนิเฟอร์ เคนต์ ผู้กำกับ-เขียนบทของเรื่อง อีกรายที่มีผลต่อคุณค่าของหนังก็คือ เบย์กาลี กานัมบาร์ (Baykali Ganambarr) ผู้รับบทเป็น บิลลี่ ก็ได้รางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมไป 2 เวที บทบิลลี่มีผลต่อโทนหนังอย่างมาก บิลลี่เข้ามาทำให้หนังเบาลงอย่างรู้สึกได้ ด้วยบทพูดที่เต็มไปด้วยความใสซื่อ จริงใจ ที่ถ่ายทอดผ่านสายตาอย่างรู้สึกได้ เป็นตัวละครที่ทำให้โรงหนังมีเสียงหัวเราะออกมาได้บ้าง บิลลี่เป็นด้านที่สวยงามของหนังที่เต็มไปด้วยภาพอันโหดร้ายที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน

เชื่อว่า เจนนิเฟอร์ เคนต์ รู้ว่าจะทำให้หนังออกมาโหดสะใจคนดูก็ได้ แต่เธอก็เลือกที่จะเบนทิศทางหนังมาแนวนี้ ซึ่งผลก็คือการต้องหยิบนาฬิกาขึ้นมาดูว่าหนังจะจบหรือยังหว่า แล้วสุดท้ายหนังก็ลงเอยด้วยการฉายแบบจำกัดโรง และรางวัลอีกเพียบไปสังสมเครดิตของหนัง นักแสดง และผู้กำกับ แต่ไม่ได้ตังค์