A & R หรือ Artist & Repertoire คือผู้ที่ทำหน้าที่ในการคัดสรรและพัฒนาบุคคลสู่การเป็นศิลปินที่แท้จริง นับว่าเป็นงานที่ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ รวมทั้งความละเอียดอ่อนเข้าอกและเข้าใจในความเป็นมนุษย์

‘บอล – ต่อพงศ์ จันทบุปผา’ หรือที่เรารู้จักกันในนาม ‘บอล สครับบ’ คือผู้ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเพลงในตำแหน่งหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน ในฐานะ A&R ของ Aratist ฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปินของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ ‘Grammy’ รวมทั้งค่ายเพลงเล็กใหญ่อีกมากมายอย่าง Blacksheep, Spicydisc, RS และ Believe records ซึ่งเขาได้นำเอาประสบการณ์และความรู้ที่ได้สั่งสมมา มาปรับใช้กับการเป็นศิลปินจนประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังนำไปสู่การเติบโตด้วยการเปิดค่ายเพลง ‘What The Duck’ ค่ายเพลงยุคใหม่ที่ให้อิสระกับศิลปินและมีการบริหารจัดการที่ดี และศิลปินในค่ายก็ล้วนแล้วแต่กลายเป็นศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง ณ ขณะนี้

ในป๋าเต็ดทอล์กเทปนี้จะพาเราไปพูดคุยกับบอล What The Duck ถึงประสบการณ์การทำงาน มุมมองความคิด และเทคนิควิธีของการเป็น A & R ที่ดีเสมือนเป็นตำราย่อม ๆ ของการเป็น A & R ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อเราอย่างมากไม่ว่าในฐานะของศิลปิน นักธุรกิจ หรือว่าแฟนเพลง

A & R (Artist & Repertoire) คืออะไร

ผู้จัดการศิลปินคืออะไร

Artist management หรือ A&R (Artist & Repertoire) คือ บุคลากรในค่ายเพลงหรือบริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์ที่มีหน้าที่หลัก ๆ 3 แบบคือ

1. คัดสรรคือการมองหาคนที่มีทักษะและความสามารถที่จะเติบโตไปเป็นศิลปินในอนาคตได้

2. พัฒนาคือขั้นตอนเตรียมความพร้อมก่อนออกไปทำงานหรือเมื่อไปทำงานกลับมาแล้วก็กลับมาดูว่าต้องมีอะไรปรับปรุงหรือพัฒนาเพิ่มหรือไม่

3.เป็นคนกลาง ผู้จัดการศิลปินมักเป็นคนแรก ๆ ที่ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากศิลปินที่จะต้องไปทำงานด้วย คนที่ทำตำแหน่งนี้จึงมักเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจการให้คำปรึกษาหรือแม้กระทั่งเมื่อเกิดปัญหาก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขและเป็นกันชนในการรับแรงกระแทกต่าง ๆ

คนที่ทำตำแหน่งนี้ต้องเป็นคนอย่างไร

ต้องมีความเข้าอกเข้าใจในมนุษย์ การที่จะเข้าใจในศิลปะได้ต้องมีความเข้าใจในมนุษย์เสียก่อน เปิดกว้างรับฟัง ทำความเข้าอกเข้าใจ มองลึกเข้าไปในความต้องการของศิลปินที่เราทำงานด้วย มีทักษะของการประนีประนอมการโน้มน้าวรู้ว่าเมื่อไหร่ควรดุเมื่อไหร่ควรตามใจ มีความเป็นผู้ปกครองของศิลปินในตัว

AT GRAMMY ฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปิน ณ แกรมมี่

บอลทำงานฝ่ายคัดสรรและพัฒนาศิลปินที่ ‘Aratist’ ของแกรมมี่มาเป็นเวลากว่า 20 ปีมีศิลปินในค่ายที่บอลได้ดูแลมากมายอาทิ โปเตโต้และปาล์มมี่

ปั๊บ โปเตโต้ เป็นคนที่บอลดูแลอยู่ ส่วนสมาชิกวงคนอื่นส่วนใหญ่แล้วเป็นกลุ่มเด็กที่ทำงานโฆษณาและซึ่งมีปีย์อยู่ในนั้นด้วย ในตอนแรกวงโปเตโต้ยังไม่มีปั๊บเป็นสมาชิก วันหนึ่งมีคนพาปั๊บมาเทสต์ที่แกรมมี่ ปั๊บเลือกร้องเพลง​ “เช้าไม่กลัว” ของลีโอพุฒ พอถึงท่อนโซโลคนส่วนใหญ่เมื่อไม่รู้ว่าจะร้องอะไรก็ยืนรอเฉย ๆ แต่ปั๊บกลับเลือกที่จะหมุนตัวทำท่าทางประกอบไปด้วยซึ่งบอลเห็นแล้วก็รู้สึกว่ามีความน่ารักดีและพบว่าปั๊บนั้นมีความน่าสนใจ เมื่อผ่านการเทสต์ปั๊บก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนการจัดการต่าง ๆ จนเข้าไปเป็นสมาชิกของวงโปเตโต้ในที่สุด

Aratist จะดูแลศิลปินในค่ายย่อยต่าง ๆ ของแกรมมี่ ถ้ามีเดโมมาจากค่ายไหนก็จะมาพักตรงส่วนกลางก็คือที่ Aratist และจะมีการคัดสรรจนเหลือศิลปินที่ใช่จริง ๆ ซึ่งจะถูกส่งเข้าไปที่บอร์ดคณะกรรมการใหญ่เพื่อพิจารณาขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งบอลได้รับความรู้มาจากการฟังผู้ใหญ่ในบริษัทคุยกันเรื่องศิลปินว่าคนไหนเป็นอย่างไรทำให้ได้เห็นมุมมองของการคัดสรรศิลปิน

ส่วนปาล์มมี่นั้นบอลได้พบกันครั้งแรกตอนที่กำลังจะเดินออกจากบริษัท ตอนนั้นปาล์มมี่เดินเข้ามาพอดี ตอนที่บอลได้เห็นปาล์มมี่เป็นครั้งแรกนั้น บอลกล่าวว่าปาล์มมี่วันนี้เป็นอย่างไรตอนที่พบกันครั้งแรกก็เป็นอย่างนั้น มีความเป็นศิลปินและมีคาแรกเตอร์ที่ชัดมาก เป็นคนที่มีออร่าแบบที่ทุกคนในทีมเชื่อมั่นเลยว่าปาล์มมี่นี้จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอนและผลก็ออกมาเป็นเช่นนั้นจริง ๆ เป็นครั้งแรกที่การประชุมคณะกรรมการใหญ่เรื่องปาล์มมีลักษณะเหมือนการถกเถียงเพื่อแย่งตัวเข้ามาอยู่ที่ค่ายของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่พรีเซนต์ยังไม่จบเสียด้วยซ้ำ คนที่ยกมือคนแรกก็คือพี่เล็ก บุษบาแห่งค่ายกรีนบีนส์ แต่ท้ายที่สุดปาล์มมี่ก็ได้ไปอยู่ในค่ายอัพจี (Up^G) ซึ่งดูแลโดยพี่โอม ชาตรี คงสุวรรณซึ่งเป็นบุคคลเพียงคนเดียวที่ไม่ได้ยกมือในที่นั้น เพราะพี่โอมจะมีคาแรกเตอร์ที่เป็นคนเรียบร้อยและสุภาพ แต่เหตุผลที่ปาล์มมี่ได้ไปอยู่ค่ายอัพจีนั้นเพราะอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชับธรรม มองว่าอัพจีกำลังเป็นค่ายที่ได้รับความนิยม ศิลปินของค่ายนี้ก็เช่น Mr.Team, จั๊ก ชวิน ซึ่งมีความแมสและสดใหม่ที่ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวเพราะฉะนั้นปาล์มมี่จึงน่าจะเหมาะกับค่ายนี้ ปาล์มมี่เป็นศิลปินคนแรกที่ Aratist ทำพรีเซนต์และผ่านเข้าค่ายอัพจีซึ่งมีความยากมากที่ศิลปินจะเข้ามาสู่สังกัดนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ศิลปินในค่ายมักเป็นศิลปินที่พี่โอมคัดสรรด้วยตัวเอง ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นโมเมนต์ที่บอลดีใจมาก ๆ ในฐานะคนที่ทำแผนกคัดสรรและพัฒนา บอลได้เปรียบความรู้สึกนี้เหมือนกับครูที่เป็นเหมือนเรือจ้างที่พานักเรียนส่งจากฝั่งหนึ่งไปสู่อีกฝั่งหนึ่งการทำหน้าที่แผนกคัดสรรและพัฒนาก็เช่นกันคือการพาศิลปินไปสู่ฝั่งฝันนั่นเอง

มองหาคนแบบไหน คนแบบไหนถึงใช่

นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล (อดีตผู้บริหารค่ายจีนี่ เรคคอร์ด) เคยสอนวิธีการคัดเลือกศิลปินไว้ 3 ข้อ

1.เสียง การที่มีเสียงที่ดีนั้นชนะทุกอย่าง ถึงแม้จะเป็นคนขี้อายไม่กล้าแสดงออกและบุคลิกไม่ดีก็ไม่เป็นหากว่ามีเสียงร้องที่ดีแล้วนั้นนับว่าได้รับของขวัญจากสวรรค์ ยกตัวอย่างศิลปินเช่น พลพล หรือ ไท ธนาวุฒิ

2.อาจมีเสียงกลาง ๆ แต่ว่ามีไลฟ์สไตล์ มีบุคลิกที่ดีและมีเสน่ห์มีความน่าสนใจ ภาพลักษณ์เป็นที่น่าจดจำ

3.ถ้ามีทั้งเสียงที่ดีและบุคลิกภาพที่ดีก็จะอยู่ในหมวดของซุปเปอร์สตาร์ เช่น ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล, นิโคล เทรีโอ หรือ พี่เบิร์ด ธงไชย

วิธีปฏิเสธศิลปินที่เลวร้ายที่สุดเท่าที่เคยทำมา

โดยพื้นฐาน Aratist ได้สร้างศิลปินเป็นจำนวนมากแต่เมื่อเทียบกับคนที่ถูกปฏิเสธจาก Aratist นั้นมีจำนวนที่มากกว่ามหาศาลราวกับศิลปินที่ถูกเลือกคือจุดดำบนกระดาษสีขาวและศิลปินที่ถูกปฏิเสธก็คือพื้นขาวทั้งหมดบนผืนกระดาษนั้น เดโมที่ถูกส่งมามีราว 200 – 500 ต่อสัปดาห์ ซึ่งทีมงานต้องฟังทั้งหมดโดยแบ่งเวรกันฟัง ซึ่งการทำงานอยู่ท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้ทำให้บอลและเมื่อย (สครับบ – ซึ่งทำงานอยู่ด้วยกันในแกรมมี่) ได้เรียนรู้ถึงการอยู่ท่ามกลางคนที่ถูกปฏิเสธและยึดเอาประสบการณ์และความรู้นี้เป็นแนวทางในการทำงานเพลงของตัวเอง

การปฏิเสธศิลปินที่ค่อนข้างชัดว่าไม่ผ่านนั้นไม่ใช่เรื่องยากแต่ความยากจะอยู่กับคนที่ร้องก็ดี แสดงออกก็ได้สัมภาษณ์ก็โอเค บุคลิกก็ได้ แต่ว่าขาดคุณสมบัติหรือเสน่ห์บางอย่างซึ่งหากตอบด้วยหลักการแล้วศิลปินคนนั้นไม่ได้มีอะไรที่ไม่เข้าเกณฑ์เลยนี่คือสิ่งที่ยากที่สุด และน้อง ๆ ศิลปินฝึกหัดส่วนใหญ่มักเป็นเด็กและกับผู้ปกครองการตอบปฏิเสธจึงมักจะต้องพูดกับผู้ปกครอง ซึ่งบอลมักเลือกตอบว่าผู้ใหญ่ได้พิจารณาแล้วอาจยังมีที่ ๆ ไม่เหมาะสมกับน้องจึงยังไม่ต่อสัญญา และก็ต้องตอบไปตรง ๆ ว่าไม่มีอะไรที่ผิดพลาดเลยทุกอย่างดีหมด ซึ่งผู้ปกครองก็มักจะถามกลับมาว่าถ้าไม่มีอะไรผิดพลาดแล้วทำไมถึงไม่รับเป็นศิลปิน ซึ่งสุดท้ายคำตอบก็อยู่ที่ว่ามันเป็นด้วยเรื่องของความเหมาะสม ความลงตัวคุณสมบัติของความเป็นศิลปินที่เหมาะสมกับพื้นที่หรือค่ายนั้นหรือช่วงเวลานั้นนั่นเอง

บอลได้เล่าถึงตัวอย่างของคนที่เข้ามาเสนอผลงาน อย่างบางคนก็น่าสงสารเก็บเงินเดินทางมาจากต่างจังหวัดแล้วก็อัดเดโมที่คุณภาพอาจจะไม่ดีด้วยว่ายังไม่มีความรู้ และอยากจะขอฟังผลการพิจารณาเลยเพราะไม่สะดวกที่จะโทรมาหรือว่าติดต่อไม่ได้ และระหว่างรอจะไปอาศัยบ้านเพื่อนนอน ส่วนเรื่องขากลับค่อยว่ากันอีกที เป็นการมาแบบคิดถึงขามาอย่างเดียวขากลับค่อยว่ากันทีหลัง ซึ่งบอลก็ฟังให้เขาเลย ณ ตอนนั้น ซึ่งคำตอบก็แน่นอนว่ามันไม่ผ่าน บอลก็ต้องเดินกลับไปบอกผล ตอนที่เดินลงมาจะบอกผลก็เห็นเขานั่งรออยู่ นั่งมองรถเมล์ไปมา ซึ่งมันก็เป็นความรู้สึกที่น่าสงสารอยู่ในใจ

อย่างบางคนก็มาแนวแปลกหิ้วคีย์บอร์ดมาไม่มีเดโมเพราะว่าต้องการเล่นให้ฟังสด ๆ เท่านั้นถึงจะได้เข้าถึงจิตวิญญาณ ก็เลยต้องไปตามทีมกันมาเพื่อช่วยกันฟังและช่วยกันพูดเพราะสถานการณ์นี้ไม่ได้อยู่ในเลเวลแบบปกติ และสถานการณ์นั้นไม่ว่าจะน่าตลกขบขันแค่ไหน ทั้งทีมก็ต้องจริงจังกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าไม่สามารถแสดงอาการออกมาได้เลย ในที่สุดชายคนนี้ก็โดนปฏิเสธ เขารู้สึกผิดหวังมากและพยายามที่จะไปกระโดดตึก สุดท้ายสถานการณ์ก็ต้องจบลงด้วยรปภ. นี่คือสิ่งที่คนทำตำแหน่งนี้จะต้องรับมือซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกและความรู้สึกนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถบอกว่าถูกหรือผิดได้เลย

หลังจากการทำงานกับแกรมมี่บอลมีโอกาสทำงานในตำแหน่ง A& R ให้กับค่าย Blacksheep, Spicydisc, RS และ Believe records และก่อตั้งค่ายรวมกับเพื่อนอีกสองคนใน ‘What The Duck’ เมื่อปีพ.ศ. 2557

Being ‘What The Duck’ ความเป็น ‘What The Duck’

เมื่อเริ่มเติบโตขึ้นบอลก็เลยเริ่มหาบางสิ่งที่เป็นของตัวเอง  ‘What The Duck’เน้นการทำงานกับศิลปินหน้าใหม่ที่ต้องการจะนำเสนอผลงานในแนวทางของตัวเอง ตามความต้องการของตัวเอง ไม่ว่าจะเพื่อปล่อยเพลงเฉย ๆ หรือหวังจะเลี้ยงชีพด้วยการเป็นศิลปิน โดยทางค่ายจะไม่มีโปรดิวเซอร์หรือคนทำเพลงให้ศิลปินจะต้องเป็นคนทำเองทั้งหมดและ What The Duck จะทำในส่วนที่เหลือให้

สิ่งที่ What The Duck จะทำให้กับศิลปิน

เมื่อเทคโนโลยีการทำเพลงได้เปลี่ยนแปลง การทำมาสเตอร์สามารถจบลงได้ด้วยคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว การทำงานง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ต้นทุนการผลิตต่ำลงจึงทำให้เกิดมีศิลปินมากมายที่สามารถทำงานเพลงของตัวเองได้ในมาตรฐานมาสเตอร์ทั่วไป ทำให้บอลมองเห็นช่องทางว่าถ้ามีค่ายเพลงขนาดเล็กที่ดูแลในเรื่องที่ศิลปินไม่ค่อยชอบ เช่น การบริหารจัดการ การทำการตลาด การครีเอทีฟ สร้างภาพลักษณ์ อะไรต่าง ๆ นั้นคงจะเป็นอะไรที่เหมาะสม และให้ศิลปินไปโฟกัสกับเรื่องการเล่นดนตรีและการทำเพลงอย่างเดียว ซึ่งบอลเชื่อว่าจะมีศิลปินที่ต้องการคนมาซัปพอร์ตในเรื่องนี้แน่นอน

ศิลปินที่จะเข้ามาในค่ายบอลต้องเป็นแฟนเพลงก่อน

คำว่าแฟนเพลงพอตัดคำว่าเพลงออกมันก็คือแฟนการที่เราจะเป็นแฟนกับใครได้เราต้องประทับใจในตัวคนนั้นก่อน แต่พอเราชอบเราก็อยากจะให้คนคนนั้นมาอยู่กับเรา เราก็จะทำการศึกษาเขาว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไรเค้าต้องการอะไร และที่ไหนที่เราเชื่อว่าถ้าเค้าได้ไปที่ตรงนั้นแล้วมันจะดีต่อตัวเขา

ถ้าคนที่เราชอบไม่ใช่คนที่คนอื่นจะชอบล่ะ

ป๋าเต็ดเคยสอนไว้ว่า “วงบางวงสำหรับเราอ่ะ สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะซัพพอร์ตสำหรับเขาได้ก็คือการเป็นแฟนเพลงเขาไม่ใช่การชวนเขามาเซ็นสัญญาอยู่ในค่าย” ซึ่งบอลก็ดำเนินตามแนวทางนี้แล้วไปตรงกับตำราที่บอลสอน นั่นคือ TEAMS = VALUE ซึ่ง TEAMS นั้นเป็นตัวย่อมาจากคำสำคัญซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Talent ศิลปินผู้ที่มีความสามารถพิเศษ

Exposure การพาตัวศิลปินเข้าสู่สปอร์ตไลต์ให้คนเห็นให้คนสนใจ

Asset สินทรัพย์ของศิลปินหรือ ‘ของ’ ที่เขามีอยู่ในตัวเอง

Marketability การเข้าตลาดความสามารถทางการตลาด

Story เรื่องราวต่างๆของตัวศิลปิน

ถ้ามีทั้งหมดนี้หรือมากกว่า 3 คุณค่า (Value) ในตัวศิลปินนั้นจะเกิด

TEAMS = VALUE

ซึ่งศิลปินแต่ละคนนั้นอาจมีการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อตอบโจทย์ทางจิตวิญญาณหรือว่าในทางธุรกิจในทางใดทางหนึ่งหรือว่าทั้งสองทาง ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่ค่ายเพลงต้องการ ก็คือตัว M หรือ Marketability คือการสามารถเข้าสู่ทางการตลาดได้เพราะคงเลี่ยงไม่ได้ว่าค่ายเพลงนั้นคือหน่วยงานทางธุรกิจ ซึ่งการเป็นคนกลางต้องบาลานซ์เรื่องนี้จะตอบโจทย์ด้านจิตวิญญาณอย่างเดียวหรือการตลาดอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ดีที่สุดก็คือการเอาหัวใจกับสมองเบรนด์ให้มันไปด้วยกันได้ ซึ่งคำตอบของการที่เจอวงบางวงที่ชอบแต่ไม่สามารถทำงานด้วยได้ก็อาจจะเพราะไม่ได้ตอบโจทย์ข้อนี้นั่นเอง เพราะศิลปินคนนั้นหรือกลุ่มนั้นอาจจะไม่ได้ทำงานที่ต้องการตอบโจทย์ทางการตลาด บางวงจึงเหมาะที่จะเป็นแฟนตัวยงต่อไป

มองเห็นอะไรในตัวศิลปินที่ถูกเลือกเข้ามาอยู่ในค่าย

The Toys

ตอนแรกเลือกมาเพราะมีความเชื่อบางอย่างในตัวของทอย เมื่อมาทำงานด้วยกันจึงรู้ว่าเดอะทอยส์คือตัวแทนของยุคสมัย การนำเสนอผลงาน ความคิด การสื่อสารของความเป็นคนในเจเนอเรชันนี้ เป็นศิลปินคนแรกที่อายุต่ำกว่า 25 ปีเป็นเยาวชนคนแรกที่เซ็นเข้ามาในค่าย พอเริ่มเจอเดอะทอยส์ก็เจอศิลปินในวัยไล่เลี่ยกันมากมายหลังจากนั้น ทำให้ค่ายเริ่มคิดว่าการทำงานการสร้างผลงานหลาย ๆ สิ่งต้องมีการปรับตัวเพื่อที่จะไปทำงานกับทอยทำให้บอลเข้าใจคนรุ่นใหม่มากขึ้น

Whal & Dolph

ตอนแรกเริ่มจากการชอบเพลงแต่พอได้ทำงานด้วยกันบอลพบว่าเริ่มเห็นความเป็นตัวเองในอดีต ก่อนหน้านี้ทั้งคู่ต่างเคยมีวงของตัวเองและไม่ประสบความสำเร็จ เป็น underdog มาก่อนและต้องไขว่คว้าต้องพยายาม เป็นคนที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในสิ่งที่ตัวเองทำและสร้างสรรค์ผลงานออกมา บอลก็เจอสองคนนี้ในยูทูบก่อน ตอนที่ได้เจอกันก็รู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนในกลุ่มเพื่อนที่เคยนั่งม้าหินหน้าม.ด้วยกันเป็นน้อง ๆ ที่ตั้งใจในสิ่งที่ทำ

Bowkylion

เป็นตัวแทนของยุคสมัยเหมือนกับทอยแต่เป็นในฝั่งของผู้หญิง และบอลมีแพสชันส่วนตัวที่อยากทำศิลปินหญิงให้ประสบความสำเร็จมานานแล้ว เพราะศิลปินหญิงที่ประสบความสำเร็จในบ้านเราถือว่ามีน้อย การปั้นศิลปินหญิงนั้นนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ยกตัวอย่างเช่น พี่นิคเคยเจอกับกรณีทำวง ‘บูโดกัน’ ซึ่งคนฟังเหมือนจะมีมายด์เซ็ตหนึ่งที่เกี่ยวกับศิลปินหญิงอย่างเวลาศิลปินหญิงเล่นดนตรีด้วยตัวเองมักจะมีคนมาดูเพื่อจับผิดว่าเล่นดนตรีได้จริงหรือเปล่า พอเล่นได้จริงก็แค่รู้ว่าเล่นได้แต่ความชื่นชมนั้นไม่มี ซึ่งพอบอลมาทำค่ายเพลงเองจึงได้รู้ว่าการทำศิลปินหญิงให้ประสบความสำเร็จนั้นยากมาก ก่อนหน้าที่จะเจอโบกี้ไลออน บอลได้ไปติดตามวง Skipit ซึ่งเคยประกวดฮอตเวฟมาก่อน บอลชอบวงนี้โดยไม่รู้ว่านักร้องนำของวงคือโบกี้ไลออน พอบอลอยากจะไปคุยกับวงนี้ก็ปรากฏว่าวงแตกไปแล้ว เลยพักความคิดไว้ก่อน จนวันหนึ่งได้ดูคลิปที่เติ้ล Two Pills After Meal ซึ่งเคยเป็นมือคีย์บอร์ดของวงนี้ได้แชร์เป็นคลิปที่โบกี้ไลออนทำเพลงเองและทำงานวิชวลดีไซน์เองได้อย่างน่าสนใจทำให้บอลรู้สึกว่าเท่มากเลยและค่อยมารู้ที่หลังว่าคนนี้เคยนักร้องวงที่ตัวเองชอบนั่นเอง จากนั้นก็ได้มีคนมาแนะนำว่าเดอะวอยซ์ปีนี้มีคนที่อยู่ทีมสิงโตน่าสนใจมากซึ่งคนนี้ก็คือโบกี้ไลออน เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ที่มีแต่เรื่องที่เชื่อมโยงมาที่โบกี้ไลออนทั้งนั้นในช่วงเวลาเดียวกันบอลจึงตัดสินใจว่ามันคงได้เวลาต้องคุยกันแล้วล่ะ

บอลเล่าว่าตอนเริ่มต้นโบกี้ยังแต่งเพลงไม่เก่งเท่าทุกวันนี้เพียงร้องเพลงได้เล่นดนตรีได้ ในช่วงแรก ๆ คือการที่ต้องค้นหาตัวเองอยู่และทะเลาะกับตัวเองเยอะ ตอนที่มีเพลง “ลงใจ” สัญญาแรกกำลังจะจบแล้ว ซึ่งพอเจอเพลง “ลงใจ” ก็เหมือนกับตอนนั้นโบกี้ได้เจอกับตัวเองแล้ว ก่อนนั้นโบกี้ก็เคยท้อซึ่งบอลต้องใช้วิธีการคุยกันแลกเปลี่ยนและพัฒนาไปด้วยกันเพื่อบอกให้รู้ว่าขั้นตอนแบบนี้กระบวนการนี้มันต้องใช้เวลา ซึ่งพอเจอเพลง “ลงใจ” เหมือนกับว่าได้เจอทางในแบบของตัวเองอย่างแท้จริง

บอลได้เรียนรู้หลักการมาจากสุกี้ กมลสุโกศล ในหนังสือที่เคขาเขียนไว้ซึ่งได้พูดถึงว่าเราไม่ควรให้ความหวังหรือเคลมว่าศิลปินนั้นจะประสบความสำเร็จหรือได้รับอะไรอย่างไรบ้างแต่สิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ก็คือการทำงานร่วมกันอย่างดีที่สุด ณ ขณะนั้น ทุกอย่างต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง ณ ปัจจุบัน

ถ้าศิลปินส่งเพลงมาแล้วเรามองว่ามันไม่ดี

บอลก็จะถามก่อนว่าตกลงจะเลือกแบบนี้ใช่ไหมและปิดท้ายด้วยการที่บอกว่าเราจะรับผิดชอบร่วมกันในเรื่องนี้ ค่ายมักไม่ปฏิเสธศิลปินแต่มักเจอในกรณีที่เพลงที่ชอบมากกว่าเป็นอีกเพลงหนึ่งแต่ศิลปินจะชอบและอยากนำเสนออีกเพลงที่ทางค่ายชอบน้อยกว่า ค่ายก็จะบอกว่าโอเคงั้นไปทางนี้ถือว่าได้เลือกรวมกันแล้ว ซึ่งมันต้องมีความเชื่อใจซึ่งกันและกันเพราะสุดท้ายแล้วศิลปินถือว่าเป็นเจ้าของผลงาน และต้องเป็นคนที่อยู่บนเวทีเพื่อนำเสนอผลงานนั้น และถ้าเกิดว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดทางค่ายก็จะถือว่าเป็นการที่ให้ศิลปินนั้นได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง

เมื่อไม่มีโปรดิวเซอร์แล้วทางค่ายมีวิธีการกำหนดทิศทางของศิลปินได้อย่างไร

บอลจะใช้เวลานานในการเฟ้นหาศิลปินอย่างบางคนที่บอลเป็นแฟนวงก็จะคอยฟังเพลง หากศิลปินมีไปออกอีเวนท์ก็จะไปตามดู ใช้เวลาในการศึกษาเพื่อทำความรู้จักกับศิลปินเป็นเวลานาน ดูวิธีการสื่อสารกับแฟนเพลงว่าเป็นยังไงบ้าง คือบอลจะทำตัวเหมือนกับเป็นแฟนเพลงคนหนึ่งจริง ๆ แล้วจึงค่อยมาวิเคราะห์ว่าศิลปินคนนั้นมีศักยภาพในเชิงธุรกิจมากแค่ไหนและเมื่อพอมองเห็นทิศทางทั้งในความรู้สึกชอบในฐานะแฟนเพลงและการมองเห็นถึงทิศทางในเชิงธุรกิจแล้วการพูดคุยกันจึงเริ่มต้นขึ้น ด้วยว่าใช้เวลาในการคัดเลือกศิลปินนานพอตกลงใจเซ็นสัญญาเข้าไม่อยู่ในค่ายซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังหนึ่งบอลจึงให้อิสระในการทำงานแก่ศิลปินสูงเพราะได้คัดกรองอย่างเข้มข้นตอนที่อยู่นอกบ้านไปแล้ว

ถ้าอยากมาอยู่บ้านนี้ต้องทำตัวอย่างไร

ในระยะหลังจะไม่มีการรับเดโมแต่รับเดโมเบื้องต้นเพื่อให้รู้จักกันและทิ้งช่องทางการติดต่ออาจจะเป็นยูทูบเพจเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมที่ทำให้ค่ายสามารถเข้าถึงได้และทางค่ายก็จะขอใช้เวลาในการเข้าไปติดตาม ยุคนี้จะไม่มีการตัดสินกันที่เดโมแต่เรื่องการบริหารจัดการของตัวศิลปินก่อนที่จะมาเจอกับค่ายนั้นมีความสำคัญมากกว่า และส่วนใหญ่ศิลปินที่อยู่ในค่าย What The Duck นั้นไม่ได้เกิดจากการส่งเดโมหรือผลงานเข้ามาแต่เป็นการที่ค่ายไปเจอตัวศิลปินด้วยตัวเอง

ไม่กลัวคนอื่นตัดหน้าหรอ ?

บอลมีความเชื่อว่าศิลปินที่ดีไม่ควรจะกระจุกอยู่กับที่ใดที่หนึ่ง ค่ายเพลงในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมที่มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ให้กลายเป็นรูปแบบที่ถึงจะมีการแข่งขันแต่ก็มีการร่วมมือกันในหลายหลายมิติ เช่น การจัดอีเวนต์ร่วมกันหรือการ collab ศิลปินในค่ายของแต่ละค่าย ยุคนี้เป็นยุคที่สามารถเอาศิลปินในค่ายไปทำงานร่วมกับศิลปินค่ายอื่นได้ เป็นการสร้างมูลค่าร่วมกันและนำไปสู่การจ้างงานซึ่งจะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

ในมุมมองของบอลการที่ศิลปินอิสระการได้รับความสนใจจากค่ายต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ดีและศิลปินเหล่านั้นก็ควรที่จะได้ฟังข้อเสนอจากหลาย ๆ ค่าย บอลมักจะแนะนำเสมอว่าให้ไปศึกษาว่าในแต่ละที่นั้นมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไรบ้างและจงเลือกอยู่ในที่ที่สบายใจ

สำหรับผู้จัดการ : อย่าเอาผลงานของผู้จัดการอื่นมาเป็นของตัวเอง

สำหรับศิลปิน : จงมองหาการเติบโตในอาชีพมากกว่าผลประโยชน์ของตัวเองเพียงอย่างเดียว

(จากสเตตัสบนเฟซบุ๊กของบอลเมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2564)

สองสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างไร

บอลเริ่มมีอาชีพใหม่ที่ทำมาได้ร่วม 5 ปีคือการเป็นอาจารย์พิเศษที่ศิลปากร วิชา Artist Management ก็จะมีตำราที่บอลไปค้นคว้ามาว่าเป็นมาตรฐานกลางสำหรับวิชานี้และก็จะมีการปรับเนื้อหาเรื่อย ๆ และบอลก็มักจะนำเนื้อหาที่น่าสนใจมาโพสลงเฟซบุ๊ก

บอลรู้สึกทัชกับข้อความหลังเป็นพิเศษ บอลเล่าว่าส่วนใหญ่ที่ทำงานกับเด็กทุกคนมักจะเริ่มต้นด้วยการมีความฝันทำเพื่อตอบโจทย์จิตวิญญาณของตัวเองแต่ต่อมาก็ก็จะกลายเป็นเรื่องของอาชีพ ความสำเร็จและรายได้ที่เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทำให้อาจลืมสิ่งที่เคยตั้งเป้าไว้ คิดเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ นั้นได้แต่ต้องเตือนตัวเองให้รู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่จะมีผลต่อการเติบโตของเราเพราะการมุ่งแต่เรื่องผลประโยชน์ย่อมส่งผลกระทบต่อชิ้นงาน ถ้าทำโดยขาดหัวใจของการเป็นนักสร้างสรรค์คนฟังก็จะรู้สึกได้

ค่ายเพลงเหมือนแปลงเกษตรในโรงเรียนที่นักเรียนเลือกเพาะปลูกในสิ่งที่สนใจและมันจะไปในแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของเรา ซึ่งการปลูกของแต่ละคนนั้นจะมีวิธีการที่ไม่เหมือนกันและผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะไม่เหมือนกัน

ทุกวันนี้ What The Duck เหมือนห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือแปลงเกษตรที่มีเครื่องมือมีความรู้มี know-how บางอย่างไว้ให้ แต่ในแง่การลงมือปฏิบัติต้องให้ศิลปินลงไปเพาะปลูกในสิ่งที่ตัวเองสนใจ และศิลปินแต่ละคนก็จะเห็นแปลงเกษตรของเพื่อน ๆ ทำให้บรรยากาศในค่ายมีลักษณะคล้ายกับมีการแข่งกันส่งผลงานเพราะพอเห็นเพื่อนส่งงานแบบนี้ตัวเองก็อยากจะลองทำในแบบของตัวเองส่งมาบ้าง ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองในขณะเดียวกันก็เห็นพื้นที่ข้าง ๆ ของเพื่อนด้วย

วิธีการทำงานร่วมกับคอมมูนิตี้ที่เป็นแฟนดอมของศิลปิน

เป็นส่วนประสมหนึ่งที่สำคัญของธุรกิจดนตรีในปัจจุบัน ทุกวันนี้มีปรากฏการณ์แฟนดอม บิลบอร์ดที่ทำขึ้นจากกลุ่มของแฟนเพลงเกิดจากการรวมตัวกันของแฟนเพลงต่อไปธุรกิจแฟนดอมจะต้องเติบโตขึ้นจากการที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแสดงความรักต่อศิลปินแต่มันย่อมมาพร้อมกับกลุ่มคนที่มีความคิดความอ่านและวัยที่ไม่เหมือนกัน วิธีการรับมือก็คือต้องลงไปเรียนรู้ในแต่ละชุมชนว่าธรรมชาติของแต่ละที่นั้นใช้ชีวิตกันอย่างไรชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และเจ้าของชุมชนซึ่งก็หมายถึงตัวศิลปินก็ต้องดูว่าเขาเป็นคนแบบไหน ต้องดูว่าอะไรแชร์ร่วมกันได้หรืออะไรเป็นเรื่องของความเป็นส่วนตัวอะไรเป็นเรื่อง Exclusive อะไรคือสิ่งที่คอมมูนิตี้จะซัพพอร์ตได้ ซึ่งศิลปินในทุกวันนี้ค่อนข้างจะรู้ความเป็นไปของคอมมูนิตี้เพลงบางเพลงก็มีที่มาจากคอมมูนิตี้ ซึ่งคอมมูนิตี้แต่ละที่ก็ย่อมมีธรรมชาติสัมพันธ์กับศิลปินนั้น ๆ เพราะฉะนั้นในแต่ละที่จึงไม่สามารถเอาวิธีการเดียวกันมาใช้ร่วมกันได้ อย่างแฟนเพลงอยากให้มีแฟนซีนในคอนเสิร์ตเดอะทอยส์ทางค่ายก็จะไม่ปฏิเสธแต่จะดูว่าจังหวะไหนหรือวิธีการไหนที่เหมาะสม ค่ายก็จะมองคอมมูนิตี้เป็นทีมงานหรือเพื่อนบ้านที่ดี เรื่องที่สำคัญก็คือต้องลงไปสื่อสารกับคอมมูนิตี้ให้มากขึ้น ต้องเรียนรู้ซึ่งกันและกันบางเรื่องค่ายอาจจะไม่รู้บางเรื่องคอมมูนิตี้อาจจะรู้รายละเอียดมากกว่าค่าย

คิดอย่างไรกับประโยคที่ว่าวงการเพลงเป็นธุรกิจที่ไม่มีอนาคตแล้ว

มันเป็นการรับรู้ของคนภายนอกที่อาจเติบโตมากับธุรกิจเพลงแบบเดิมที่ทำอัลบั้ม ขายอัลบั้ม และทำคอนเสิร์ต การเห็นร้านเทปร้านซีดีไม่อยู่แล้วก็อาจจะคิดไปในทิศทางนี้ได้ อีกทั้งยังมีความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และสถานการณ์โควิดอีก อาจทำให้สงสัยว่ารายได้นั้นอยู่ตรงไหน ใน 2-3 ปีหลังรายได้จากธุรกิจดิจิตอลเริ่มเห็นได้ชัดเจน เช่น ศิลปินอินดี้ที่ตอบโจทย์ในแต่ละภูมิภาคจะมีแนวเพลงและแนวดนตรีที่ตอบโจทย์เฉพาะชุมชนหรือยูทูบเบอร์ที่ทำงานในพื้นที่ของตัวเองเข้าใจในคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับพื้นที่ของตัวเอง เราจึงเห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ศิลปิน ยูทูบเบอร์ที่แสดงตัวตนผ่านโซเชียลในยุคนี้มากมายเต็มไปหมด และคำที่จะค่อย ๆ หายไปก็คือคำถามที่ถามว่า ‘ค่ายเพลงยังจำเป็นอยู่ไหม’ เพราะคนที่รู้สึกว่าสามารถทำเองได้ก็จะไปอยู่ในส่วนของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองส่วนคนที่อยู่ในธุรกิจก็จะเริ่มรู้สึกตกใจเหมือนกันว่าบุคลากรเริ่มย้ายไปอยู่ในฝั่งนั้นมากขึ้น บางคนก็เริ่มหาทีมกลับมาที่ค่ายเพลงเพื่อศิลปินจะได้มีความสุขกับการทำในสิ่งที่ตัวเองอยากทำและปล่อยให้เรื่องการจัดการเป็นหน้าที่ของค่ายเพลงหรือทีมของตัวเองซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นค่ายเพลงก็ได้ คำว่าทีมนั้นสำคัญเพราะคนเราอาจจะไม่เก่งในทุก ๆด้านก็ได้

ศิลปินคนไหนที่อยากเซ็นมาอยู่ค่าย

มี 2 หมวดถ้าในแบบส่วนตัวบอลชอบ ‘TangBadVoice’ มาก เป็นศิลปินยุคนี้ที่โดดเด่นทั้งวิธีคิดและการเล่าเรื่องซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและเล่าออกมาได้อย่างสนุก ซึ่ง TangBadVoice มีความสุขกับการปล่อยเพลงและแทบจะยังไม่กล้าขึ้นเวทีเลยแต่น่าจะมีความสุขกับสิ่งที่เป็นในทุกวันนี้แล้ว ถ้าในหมวดของศิลปินที่อยากได้และแสดงความชื่นชมในคราวเดียวกันเลยก็คือ ‘Three Man Down’ บอลชอบวงนี้ตั้งแต่ได้ดูเอ็มวีเพลง “ทีมรอเธอ” ซึ่งตอนนั้นวงยังไม่ได้เป็นที่รู้จักขนาดนี้บอลรู้สึกเลยว่าวงนี้เป็นวงที่มีโอกาสที่จะเจริญเติบโตไปเป็นนิวเวฟที่ดี และผลงานอัลบั้มที่เพิ่งปล่อยออกมานั้นก็ดีมาก และบอลได้เห็นถึงวิธีการสื่อสารกับแฟนเพลง การดูแลคอมมูนิตี้ ความอ่อนน้อมถ่อมตน บอลจึงรู้สึกภูมิใจแทนโอม Cocktail (ผู้บริหารค่าย Gene Lab ที่วงสังกัดอยู่) วง Three Man Down เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ วงหนึ่ง เป็นวงที่มีความผสมผสานอย่างเพลงก็มีทั้งความเป็นร็อกผสมพอป รสนิยมในการฟังและทำเพลงก็เป็นการผสมผสานระหว่างความเก่าและความใหม่ที่ลงตัว

คำแนะนำสำหรับคนที่ใฝ่ฝันอยากจะเป็นศิลปิน

บอลเลือกเอาคำสอนที่ทำให้ตัวเองเป็นอย่างทุกวันนี้มาแนะนำซึ่งเป็นคำสอนจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Dead Poet Society’ เป็นเรื่องของครูคีตติ้งที่มีแนวทางในการมอบแรงบันดาลใจให้แก่เด็กอย่างไม่เหมือนใคร มีคำนึงที่ครูชอบสอนเด็กนั่นคือคำว่า ‘Carpe diem’ เป็นภาษาละตินที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘Seize the day’ ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า ‘จงฉกฉวยวันเวลานี้ไว้’ ซึ่งก็เหมือนคำสอนของไทยที่ว่า ‘ทำวันนี้ให้ดีที่สุด’ นั่นเอง ซึ่งบอลนั้นจะทำการ ‘ฉกฉวยวันเวลา’ อยู่ 2 แบบ คือหนึ่งเพื่อการดูแลตัวเองหาเลี้ยงชีพเพื่อให้ตัวเองมันคงปลอดภัยในการใช้ชีวิต อีกแบบหนึ่งก็เพื่อดอกไม้เมื่อเราอยู่ได้อยู่รอดปลอดภัยแล้วเราควรจะมีเวลาหาความสุขจากความสวยงามของสิ่งรอบตัวในสิ่งที่เราชอบไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา หนังสือ ภาพยนตร์หรือการออกไปท่องเที่ยวอะไรก็ได้

“CARPE DIEM”

“จงฉกฉวยวันเวลาเอาไว้”

บอลไม่ใช่คนที่อาร์ตจ๋าใช้หัวใจนำ (แบบเมื่อย สครับบ) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนที่ยึดติดกับตัวเลขหรือวิทยาศาสตร์หรือเชื่อในตารางสุด ๆ เป็นคนที่พยายามบาลานซ์ของสองสิ่งให้มาอยู่ด้วยกันทำให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอยู่รอดปลอดภัยแล้วก็มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองชอบได้ด้วยการอยู่กับวันนั้น ๆ และทำมันให้ดีที่สุดนั่นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส