เพลง “This Is America” ของ Childish Gambino เป็นเพลงที่มีอันดับสูงสุดในเพลงที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับคนฟัง

ศิลปินฮิปฮอป “Childish Gambino” (ชื่อที่ใช้ในการทำเพลงของนักแสดงหนุ่ม โดนัล โกล์ฟเวอร์ (Donald Glover) ) ได้สร้างกระแสฮือฮาในปี 2018 เมื่อเขาได้ปล่อยซิงเกิลฮิตระดับรางวัลแกรมมี่ที่มีชื่อว่า “This Is America” ซึ่งสร้างความว้าวด้วยการเปลี่ยนทำนองอย่างฉับพลันจากคอร์ดเมเจอร์สว่างไสวไปสู่อารมณ์ดาร์กในสไตล์ดนตรีแทรปและมีอะไรที่ชวนให้คนฟังตื่นหูตลอดเวลา (ยังไม่รวมความตื่นตาที่ได้จากมิวสิกวิดีโอด้วยอีกนะ)

นี่คือเหตุผลว่าทำไม “This is America” ถึงได้ติดท็อปลิสต์ของเพลงพอปในกลุ่มที่เรียกว่ามี “ท่วงทำนองที่สร้างความประหลาดใจ” หรือ “ฮาร์มอนิกเซอร์ไพรส์” (harmonic surprise) ซึ่งเป็นเพลงที่มีจุดเปลี่ยนของทำนองที่ชวนให้คนฟังรู้สึกประหลาดใจ จากงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience ซึ่งนักวิจัยทำการวิเคราะห์เพลงฮิตในชาร์ตบิลบอร์ดตั้งแต่ปี 1958 ถึง 2019 และได้พบสิ่งที่น่าสนใจว่าเพลงฮิตเหล่านี้ล้วนมีฮาร์มอนิกเซอร์ไพรส์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละทศวรรษซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ผู้เขียนบทความวิจัยนี้ใช้คำว่า “ความเฟ้อของการเซอร์ไพรส์”

“ดนตรีคือวัฒนธรรมและวัฒนธรรมมีวิวัฒนาการไปตามกาลเวลา ดังนั้นเนื้อหาของดนตรีจึงต้องพัฒนาขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อให้ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับเพลงที่ออกก่อนหน้า” ผู้เขียนบทความวิจัยร่วม สก็อต ไมล์ส (Scott Miles) นักประสาทวิทยาที่เชี่ยวชาญในเรื่องการทำงานของดนตรีที่มีต่อสมองกล่าว “การศึกษาครั้งนี้นำไปสู่หัวใจสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวัฒนธรรมสมัยนิยมในลักษณะที่เป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้ นอกจากนี้การค้นพบนี้ยังช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าดนตรีมีการประมวลผลในสมองอย่างไร”

ไมล์สเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานบริษัทสตาร์ตอัปด้านดนตรี Secret Chord Laboratories (SCL) และ เดวิด โรเซน (David Rosen) ผู้ร่วมก่อตั้ง SCL ร่วมกันกับไมล์สก็เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดร็กเซล (Drexel) ได้ถ่ายภาพสมองของนักดนตรีแจ๊สที่กำลังเล่นด้นสด (Improvise) ทีมงานวิจัยได้พบว่าสมองซีกขวาจะมีความเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ในนักดนตรีแจ๊สที่ไม่ค่อยมีประสบการณ์ในการเล่นมากนัก แต่นักดนตรีที่มีความเชี่ยวชาญสูงในทักษะการเล่นด้นสดมักจะอาศัยสมองซีกซ้ายเป็นหลัก

แม้ว่าสมองซีกขวาจะสัมพันธ์กับการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์แปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย แต่โดยทั่วไปแล้ว สมองซีกซ้ายมักจะมีส่วนร่วมมากกว่าในกิจกรรมที่เป็นนิสัยหรือเป็นกิจวัตร ดังนั้นในกรณีของนักดนตรีแจ๊สที่เชี่ยวชาญในการเล่นด้นสดจึงมีการทำงานของสมองซีกซ้ายเป็นหลักเพราะการเล่นด้นสดเป็นกิจวัตรที่พวกเขาคุ้นเคยนั่นเอง ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นมีความสัมพันธ์กับซีกขวาเมื่อเราจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยและเกี่ยวข้องกับซีกซ้ายเมื่อเรามีประสบการณ์สูงกับงานที่ทำอยู่

Secret Chord Laboratories (SCL)
ทีม SCL

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยที่เพิ่มขึ้นของ SCL ซึ่งกำลังพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อคาดการณ์การตอบสนองที่ผู้ฟังจะมีต่อการฟังเพลงเพลงหนึ่ง เทคโนโลยีหลักของการวิจัยนี้ได้เกิดขึ้นจากการศึกษาในปี 2017 ที่โรเซนทำร่วมกันกับไมล์สเกี่ยวกับการรับรู้ทางดนตรี พวกเขาร่วมกันตรวจสอบว่ามีรูปแบบของเสียงดนตรีที่สามารถสร้างการตอบสนองที่แสดงถึงความพึงพอใจในสมองหรือไม่ พวกเขาทำการตรวจสอบเพลง Hot 100 ในชาร์ตบิลบอร์ด ตั้งแต่ “Johnny B. Goode” ในปี 1958 จนถึงเพลง “Smells Like Teen Spirit” ของ Nirvana ในปี 1991

นักวิจัยพบว่าเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดมีการสร้างความประหลาดใจในระดับสูง รวมถึงการใช้คอร์ดหรือทางเดินคอร์ดในรูปแบบที่แตกต่างจากที่คนฟังคุ้นเคยอย่างทางเดินคอร์ดมาตรฐานในคีย์ C อย่าง C, G, F เพลงที่ดีที่สุดในกลุ่มการสร้างความเซอร์ไพรส์มักจะมีท่อนที่สร้างความประหลาดใจก่อนแล้วค่อยตามมาด้วยท่อนที่ฟังติดหู ผลการวิจัยที่พบจากการศึกษาทั้งเรื่องของจังหวะ, เมโลดี้, ท่วงทำนอง, และเนื้อร้อง, รวมไปถึงการผสานกันของส่วนต่าง ๆ ได้นำไปสู่รูปแบบหลักในการศึกษาของ SCL ในที่สุด

ประโยชน์ในการทำงานของโปรแกรมซอฟต์แวร์จาก SCL คือการบอกนักแต่งเพลงถึงวิธีที่ช่วยทำให้เพลงของพวกเขาดีขึ้น (จากจุดยืนของเพลงพอป) โรเซนซึ่งเป็นนักแต่งเพลงอยู่แล้วได้ยืนยันว่าอัลกอริธึมนี้มีขึ้นเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น (ไม่ได้ช่วยให้คิดสูตรโกงในการทำเพลงฮิตแบบสำเร็จรูป)  “อัลกอริธึมของเราไม่ได้บอกคุณว่าเมโลดี้ควรเป็นอย่างไร” เขากล่าว “แต่สามารถระบุได้ว่าบางส่วนของท่วงทำนองของคุณต้องการความเซอร์ไพรส์มากขึ้นหรือน้อยลง ซึ่งช่วยให้ศิลปินกล้าเสี่ยงเพื่อสนองความต้องการด้านความคิดสร้างสรรค์ของตนเองและของผู้ชม”

บทความวิจัยล่าสุดได้ขยายการวิจัยของไมล์สและโรเซนเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เพลงหนึ่งเพลงกลายเป็นเพลงพอปฮิตด้วยการเพิ่มมิติของเรื่องเวลาเข้ามา ข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2017 ของไมล์สได้ถูกตั้งคำถามว่าผลกระทบที่วัดได้นั้นเป็นค่าแบบคงที่หรือมันจะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป คำถามนี้ทำให้ไมล์สรู้สึกสะดุดใจ ดังนั้นในการวิจัยครั้งล่าสุดนี้ ไมล์สและโรเซนจึงรวมชุดข้อมูลจากการศึกษาในปี 2017 กับฐานข้อมูลเพลงบิลบอร์ด Hot 100 ของ SCL ระหว่างปี 2000-2019 เข้าด้วยกัน พวกเขาแบ่งเพลงออกเป็น 4 ช่วงเวลาตามปีที่ออกเผยแพร่ โดยแบ่งออกเป็นช่วงละ 5 ปี จากนั้นจึงใช้ซอฟต์แวร์การเรียนรู้ของ SCL ทำการคำนวณระดับความประหลาดใจที่เกิดขึ้นในแต่ละคอร์ด

ค่าของฮาร์มอนิกเซอร์ไพรส์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละช่วงปี

การวิเคราะห์นั้นแสดงให้เห็นว่าระดับของฮาร์โมนิกเซอร์ไพรส์มีการเพิ่มขึ้นตามช่วงเวลา และการเพิ่มขึ้นนั้นเด่นชัดมากขึ้นในเพลงฮิตที่ได้รับความนิยมสูงสุดโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นแนวดนตรีอะไร ไม่ว่าจะเป็นเอลวิส มาดอนน่า เนอร์วาน่า บียอนเซ่ เดรก หรือเทย์เลอร์ สวิฟต์ และมี “This is America” ​​เป็นเพลงในระดับท็อป ซึ่งไม่เพียงแต่จะมีองค์ประกอบของความประหลาดใจในท่อนเวิร์สที่เกิดขึ้นจากการใช้คอร์ด D minor ต่อด้วยคอร์ด B flat major แต่ยังเกิดขึ้นในท่อน refrain ในเวลาที่ 2:56 (3:17 ในมิวสิกวิดีโอ) ที่เลือกใช้คอร์ดที่ไม่ได้อยู่ในคีย์หลักของเพลง (F minor) ด้วยการใช้คอร์ด E minor และ A minor เป็นช่วงสั้น ๆ ก่อนที่จะกลับไปที่คีย์เดิม

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ ? ผู้วิจัยตั้งข้อสังเกตว่าการฟังเพลงที่มีฮาร์โมนิกเซอร์ไพรส์สูงจะกระตุ้นระบบการให้รางวัลทางประสาทและหลั่งสารโดพามีนซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา โรเซนได้กล่าวว่า “มีกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีอายุระหว่าง 14 ถึง 20 ปีที่ขับเคลื่อนความสำเร็จของดนตรีพอป ความคาดหวังของกลุ่มคนกลุ่มนั้นในปี 2000 ย่อมแตกต่างจากความคาดหวังของวัยรุ่นในปี 2005 เพราะเมื่อวัยรุ่นปี 2005 ยังเด็กพวกเขาได้สัมผัสกับดนตรีที่มีความเซอร์ไพรส์ในระดับหนึ่ง เมื่อพวกเขากลายเป็นคนขับเคลื่อนเพลงพอป พวกเขาจึงต้องการสร้างความเซอร์ไพรส์ในระดับที่สูงขึ้นเพื่อกระตุ้นเอฟเฟกต์โดพามีนเหมือนกันกับที่เคยเกิดขึ้นกับวัยรุ่นในปี 2000 นั่นเองและมันจึงทำให้เราเห็นถึงเทรนด์ดนตรีที่แตกต่างกันใน 2 ยุค”

แต่แน่นอนว่าผู้แต่งเพลงฮิตไม่สามารถรักษาระดับของฮาร์มอนิกเซอร์ไพรส์ได้เรื่อย ๆ โดยไม่ผ่านองค์ประกอบด้านสุนทรียภาพ นั่นเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยขั้นต่อไปของไมล์สและโรเซนที่เน้นการศึกษาเรื่องคอร์ด โชคดีที่มีมากกว่าหนึ่งวิธีที่จะใส่องค์ประกอบของความประหลาดใจลงในเพลง ซึ่งรวมถึงไดนามิก จังหวะ ความเร็วของเพลง ระดับเสียงสูงต่ำ และอื่น ๆ จากการทดลองนำร่อง 2-3 ชิ้นเมื่อฤดูร้อนที่แล้วซึ่งได้คำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านั้นทั้งหมด เมื่อผู้ฟังมีความประหลาดใจสูงสุดในระดับหนึ่ง โรเซนกล่าวว่า “วิธีที่เร็วที่สุดในการรีเซตหรือตั้งค่าใหม่ในการศึกษาว่าความประหลาดใจมีการทำงานในดนตรีได้อย่างไรนั่นคือการดำดิ่งสู่แนวทางใหม่”

“ไม่มีใครฟังแค่คอร์ดหรอก พวกเขาฟังทั้งเพลง” ไมล์สกล่าว “เมื่อเราดูองค์ประกอบอื่น ๆ ของเพลงเราพบหลักฐานบางอย่างว่าการสร้างความประหลาดใจในรูปแบบหนึ่งจะมีจุดที่อิ่มตัว จึงต้องมีการย้ายไปสร้างความประหลาดใจด้วยรูปแบบอื่น ๆ ต่อไป”

ดังนั้นท่วงทำนองที่เข้มข้นของดิสโก้ยุค 70s, โปรเกรสซีฟร็อก และอาร์แอนด์บีจึงได้หลีกทางให้กับการเข้ามาของสีสันจากเสียงซินธ์ในทศวรรษที่ 80s หรือ “Smells Like Teen Spirit” จาก Nirvana ผู้บุกเบิกดนตรีแนวกรันจ์ ที่ “ได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ทั้งหมดของประสบการณ์เกี่ยวกับเสียงในยุค 90s” ที่ไมล์สได้กล่าวว่าถึงแม้เพลงนี้จะไม่มีการเกิดฮาร์มอนิกเซอร์ไพรส์ แต่สิ่งที่เพลงมีก็คือการเปลี่ยนแปลงของไดนามิก ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของวง Pixies ที่มีต่อนักร้องนำและนักแต่งเพลงของวง Nirvana ‘เคิร์ต โคเบน’ (Kurt Cobain) นั่นเอง และเหมือนเพลงแรปที่อาจไม่ได้มีความซับซ้อนในเมโลดี้มากนัก แต่มีความซับซ้อนมากในการใช้คำคล้องจองในเนื้อเพลง

ไมล์สหวังว่าสักวันหนึ่งงานของพวกเขาจะช่วยให้เกิดความกระจ่างเกี่ยวกับว่าระบบเสียง (Tonality) นั้นมีการทำงานอย่างไรในสมองของมนุษย์ ซึ่งเป็นคำถามที่เปิดกว้างมากในด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น มนุษย์มีความสัมพันธ์โดยธรรมชาติกับระบบเสียงแบบ Pythagorean tuning (ระบบการตั้งเสียงของเครื่องดนตรีในปัจจุบัน) หรือไม่ ? ไมล์สเชื่อว่าการค้นพบของพวกเขาเป็นหลักฐานว่าระบบเสียงนั้นมีสิ่งที่น่าเรียนรู้อีกมากมาย

Source

1

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส