เมื่อวันศุกร์ที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยคุนสเตน’ (Kunsten Museum of Modern Art) ทึี่ตั้งอยู่ ณ เมืองออลบอร์ก (Aalborg) ทางตอนเหนือของประเทศเดนมาร์ก ได้รับมอบงานศิลปะชิ้นหนึ่งจากศิลปินเพื่อมาจัดแสดง และได้ทำการยืมเงินจากพิพิธภัณฑ์เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ แต่ทว่าเมื่อทางพิพิธภัณฑ์ทำการส่งเงินให้ ศิลปินคนนั้นกลับชิ่งนำเงินจำนวนนี้ไป พร้อมยืนยันว่าจะไม่คืนอย่างเด็ดขาด

ศิลปินคนนี้มีชื่อว่า ‘เยนส์ ฮานน์นิง’ (Jens Haaning) ศิลปินแนว Conceptual Art ชาวเดนมาร์กที่มักสร้างผลงานศิลปะที่สื่อถึงเรื่องของอำนาจและความเหลื่อมล้ำ ได้รับมอบหมายจากพิพิธภัณฑ์ให้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการงานศิลปะที่มีชื่อว่า ‘Work it Out’ ที่มีคอนเซปต์เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับแรงงาน ที่ได้เปิดให้เข้าชมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจนถึงกลางเดือนมกราคม 2565

งานศิลปะ เงิน
‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยคุนสเตน’ (Kunsten Museum of Modern Art)

ซึ่งฮานน์นิงก็ตกปากรับคำ เข้าร่วมนิทรรศการด้วย พร้อมแจ้งว่าจะสร้างผลงานศิลปะชิ้นใหม่เพื่อจัดแสดงในงานนี้โดยเฉพาะ เรื่องมันเกิดตรงที่ว่า ฮานน์นิงที่เคยสร้างงานศิลปะ 2 ชิ้นก่อนหน้านี้ด้วยการเอาธนบัตรมาวางเรียงต่อกันในเฟรมนั้น ได้ติดต่อกับทางพิพิธภัณฑ์เพื่อ ‘ขอยืม’ เงินจำนวน 534,000 โครน หรือประมาณ 84,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2,8xx.xxx บาท)

ทางพิิพิธภัณฑ์ก็ให้ความร่วมมือกับศิลปิน จัดการส่งธนบัตรให้ตามคำขอ พร้อมกับเงินค่าแรงศิลปินอีก 25,000 โครน (ประมาณ 3,900 ดอลลาร์ หรือประมาณ 132,xxx บาท) เพราะทางพิพิธภัณฑ์เองก็คงมองว่า เขาก็น่าจะนำเอาธนบัตรเหล่านี้ไปเป็นองค์ประกอบในงานศิลปะเหมือนอย่างเคย

แต่เมื่อถึงสองวันก่อนเปิดจัดแสดงนิทรรศการ ผลปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์ต่างต้องตกตะลึง เมื่อพบว่าชิ้นงานศิลปะที่เขาส่งไปให้นั้น มีเพียงเฟรมว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย 2 ชิ้น 2 ขนาด และไม่มีธนบัตรในเฟรมตามที่คาดคิด พร้อมกับเผยชื่อผลงานที่ตั้งแบบตรงตัวว่า ‘Take the Money and Run’ (เอาเงินแล้ววิ่งชิ่งไปเลย)

งานศิลปะ เงิน
‘เยนส์ ฮานน์นิง’ (Jens Haaning)

ร้อนถึงทางพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องออกมาประกาศเรียกร้องให้ฮานน์นิง นำเอาเงินทั้งหมดมาคืนแก่พิพิธภัณฑ์ภายในวันที่ 16 มกราคม 2565 มิเช่นนั้นจะต้องดำเนินการฟ้องร้อง ‘แลสส์ แอนเดอร์สัน’ (Lasse Andersson) ผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์กล่าวว่า

“พิพิธภัณฑ์ของเราไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้น เราเลยต้องพิจารณาอย่างละเอียดว่าจะใช้เงินทุนไปกับอะไรบ้าง ซึ่งเงินที่ให้ศิลปินยืมไปก็เป็นเงินสำหรับใช้บำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ เราไม่ได้มีเงินมากพอจะใช้ทุนไปกับอะไรที่ฟุ่มเฟีอย

“ผมเชื่อว่าสุดท้ายแล้วเขาจะคืนเงินให้ เพราะเขาเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง แต่ถ้าไม่ได้คืน เราก็จำเป็นที่จะต้องฟ้องร้องดำเนินคดี”

งานศิลปะ เงิน
เฟรมเปล่า ๆ 2 เฟรมที่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ ‘Take the Money and Run’

ส่วนทางด้านของฮานน์นิง ศิลปินวัย 56 ปีก็ได้ออกมายืนยันว่า จะไม่คืนเงินให้เด็ดขาด เพราะเฟรมอันว่างเปล่า และการยักยอกเงินของเขาในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึี่งของงานศิลปะ ‘Take the Money and Run’ “มันไม่ใช่การขโมย แต่มันเป็นการทำผิดสัญญา และการผิดสัญญาคือส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้” พร้อมเสริมว่า นี่คืองานศิลปะที่เขาทำขึ้นเพื่อต้องการประท้วงพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ที่มักว่าจ้างศิลปินเพื่อผลิตงานศิลปะให้ แต่กลับให้ค่าตอบแทนไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ทำ

“ผมขอสนับสนุนให้ศิลปินคนอื่น ๆ ที่ต้องทำงานอันน่าอเนจอนาถนีิ้ให้ทำแบบเดียวกัน ถ้าหากต้องนั่งทำงานห่วย ๆ เงินก็ไม่ได้ แถมยังต้องให้ออกเงินไปก่อนอีก ก็จงทำสิ่งที่คุณทำได้เพื่อเอาชนะมันซะเลย”

งานศิลปะ เงิน

แต่ถึงแม้ว่าทางพิพิธภัณฑ์จะยังไม่ได้เงินคืนจากศิลปินเลยแม้แต่หนึ่งโครน แต่ทางพิพิธภัณฑ์ก็ยังคงจัดแสดง ‘เฟรมเปล่า’ ในฐานะผลงานศิลปะอยู่ดี

งานศิลปะ เงิน
‘An Average Austrian Year Income’ (2007)
งานศิลปะ เงิน
‘An Average Danish Year Income’ (2011)

ก่อนหน้านี้ ‘เยนส์ ฮานน์นิง’ เคยมีชื่อเสียงในการสร้างผลงานศิลปะ 2 ชิ้นที่มีลักษณะคล้ายกัน ทั้งงาน ‘An Average Austrian Year Income’ (2007) ที่นำเอาธนบัตรสกุลยูโร ที่แสดงรายได้เฉลี่ยของชาวออสเตรียในหนึี่งปี มาเรียงในเฟรม และผลงาน ‘An Average Danish Year Income’ (2011) ที่นำเอาธนบัติสกุลโครน ที่แสดงถึงรายได้เฉลี่ยของชาวเดนมาร์กมาจัดแสดง ตามแนวคิดที่ต้องการสื่อถืงโลกทุนนิยมและความเหลื่อมล้ำ


อ้างอิง | อ้างอิง | อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส