เป็นเรื่องประจวบเหมาะที่วันออกฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Britney vs Spears (2021) ทาง Netflix กับวันที่ศาลในนครลอสแองเจลิสได้มีการตัดสินในคดีที่ซูเปอร์สตาร์สาววัย 39 ปี บริตนีย์ สเปียร์ส (Britney Spears) ถูกพ่อของเธอ เจมี สเปียร์ส (Jamie Spears) ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ (Conservatorship) มาตลอด 13 ปีเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันและคำตัดสินของศาลที่มีคำสั่งระงับการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของเจมีก็เป็นเสมือนกับตอนจบที่น่าประทับใจของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้

ชื่อของสารคดี Britney vs Spears เป็นการตั้งชื่อที่คมคายและบอกเราอย่างชัดเจนว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปพบกับเรื่องราวในชีวิตนักร้องสาว บริตนีย์ สเปียร์ส ที่ดำเนินชีวิตท่ามกลางความทุกข์ทรมานจากการถูกริดรอนอิสรภาพจากพ่อแท้ ๆ ของเธอที่ร้องขอต่อศาลเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ตามคำสั่งของศาล (Conservatorship) ทำให้เขามีสิทธิ์ดำเนินการทุกอย่างแทนบริตนีย์ได้อย่าง ‘ถูกต้องตามกฏหมาย’  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน การเงิน สุขภาพของตัวเธอเอง และการติดต่อสัมพันธ์กับผู้อื่น แม้กระทั่งการจะได้เจอหรือไม่เจอลูกของตัวเองเธอก็ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ซึ่งการถูกลิดรอน ‘อิสรภาพ’ นี้ก็เสมือนกับบริตนีย์นั้นได้ ‘ตาย’ โดยนิตินัยไปแล้ว

สารคดีเปิดมาด้วยภาพคอนเสิร์ตของบริตนีย์เมื่อครั้งที่เธอกำลังแจ้งเกิดในวงการและกลายเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการดนตรีป๊อป เราเห็นรอยยิ้มของนักร้องสาว ‘รอยยิ้ม’ ที่สดใสและเปี่ยมสุข ยิ้มราวกับว่าจะไม่ได้ยิ้มแบบนั้นอีกแล้ว เป็นการเปิดเรื่องที่ทรงพลังและพาให้ผู้ชมลุ้นไปกับเรื่องราวเฉกเช่นเดียวกับที่เราลุ้นไปกับคดีนี้เพื่อที่จะได้เห็นเธอกลับมายิ้มอย่างมีความสุขอีกครั้ง

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นเหมือนการสรุปความเป็นมาเป็นไปของเรื่องราวทั้งหมดที่รวบรวมมาไว้ในเวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง โดยผู้กำกับภาพยนตร์ เอริน ลี คาร์ (Erin Lee Carr) และ เจนนี่ เอลิสคิว (Jenny Eliscu) นักเขียนจากนิตยสารโรลลิงสโตน ได้เป็นแกนหลักของเรื่องในการพาผู้ชมไปสัมผัสกับชีวิตของบริตนีย์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของความรุ่งโรจน์ในชีวิตของเธอ อันเริ่มต้นที่บทเพลง “… Baby One More Time” (1998) ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญและเป็นความทรงจำอันงดงามของวัยรุ่นยุค 90s  

สารคดีได้ฉายภาพของการเป็นศิลปิน การรับมือกับความโด่งดังและภาพลักษณ์ของความเป็นศิลปิน รวมไปถึงเรื่องของอำนาจและการควบคุมที่เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดอันน่าหวาดกลัว ลี คาร์ ผู้กับสารคดีเรื่องนี้ใช้วิธีเล่าเรื่องด้วยการคลี่รายละเอียดต่าง ๆ ออกมาทีละนิดไล่เรียงเรื่องราวตามลำดับเวลา ตั้งแต่บริตนีย์มีอายุ 8 ขวบ จนโด่งดังในวัย 16 จนมาถึงช่วงวิกฤตในชีวิตและการถูกจองจำด้วยกฎหมายตลอดระยะเวลา 13 ปี ผ่านโทนของเรื่องที่ดูหม่นเศร้าและลึกลับ ราวกับเรากำลังชมภาพยนตร์ระทึกขวัญซ่อนเงื่อนที่ซ่อนปมปริศนาอันน่าสะพรึงเอาไว้

ถึงแม้เรื่องราวในสารคดีเรื่องนี้จะไม่ได้ถูกเล่าออกมาผ่านถ้อยคำของบริตนีย์ แต่ผู้คนในชีวิตของบริตนีย์ได้ถูกนำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญในการเป็นตัวละครที่ทำให้เราเข้าใจสิ่งที่บริตนีย์เผชิญมาโดยตลอดและความรู้สึกที่เธอต้องแบกรับมันเอาไว้ รวมไปถึงภาพฟุตเทจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพจากคลิปเหตุการณ์ ภาพถ่าย หรือภาพจากปาปารัสซี ก็ถูกนำมาใช้เป็นชิ้นจิ๊กซอว์ที่ถักทอเรื่องราวออกมาได้เป็นอย่างดี

เหล่าบรรดาตัวละครเหล่านั้นบางคนก็เพียงถูกอ้างถึง เช่น เควิน เฟเดอร์ไลน์ แดนเซอร์หนุ่มอดีตสามีของบริตนีย์ ที่ทั้งคู่ได้มีลูกด้วยกัน 2 คน และหย่าร้างกันใน 2 ปีหลังจากที่ทั้งคู่ได้ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และนั่นเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาวุ่นวายในชีวิตของบริตนีย์ที่ตามมาหลังจากนั้น โลกอันสวยงามของการเป็นซูปเปอร์สตาร์กำลังกลับขั้วกลายเป็นฝันร้ายอันไร้ที่สิ้นสุด

ในช่วงหนึ่งของสารคดี ลี คาร์ ได้พูดคุยกับเอลิสคิว ว่าสิ่งที่เจมีพ่อของบริตนีย์ทำนั้นมันเหมือนกับจับเธอมาอยู่ภายใต้ ‘ระบอบปิตาธิปไตย’ อันเป็นระบอบที่พ่อเป็นใหญ่ ผู้ชายเป็นใหญ่และมีอำนาจสูงสุด เมื่อมองดูโครงสร้างของภาพยนตร์เรื่องนี้และสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของบริตนีย์ก็เป็นสิ่งที่ชวนคิดว่าเรื่องราวของบริตนีย์นั้นเป็นเรื่องราวของผู้หญิงคนหนึ่งที่แวดล้อมไปด้วยอำนาจและความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นเจมีที่ใช้อำนาจทางกฏหมายในการกดขี่และริดรอนความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นลูกแท้ ๆ ของตัวเอง รวมไปถึง ‘เครือข่าย’ ของบุคคลที่เจมีใช้ในการปฏิบัติการครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้จัดการส่วนตัวที่เขาจัดหามาให้บริตนีย์ บรรดาทนายทั้งหลายที่ทำให้เรื่องร้ายกาจแบบนี้เกิดขึ้นกับเธอ หรือแม้แต่หมอผู้วินิจฉัยว่าเธอเป็น ‘ผู้ป่วยความจำเสื่อม’ และเป็นคนที่ถูกนำมาสัมภาษณ์ในสารคดีเพื่อถามหาความจริงว่าเหตุใดเขาจึงวินิจฉัยเธอเช่นนั้น ก็ทำหน้าซื่อตีมึนต่อหน้ากล้องและไม่ยอมจำนนต่อหลักฐานที่ผู้สร้างสารคดีนำมันมาโชว์ต่อหน้าของเขา

ส่วนในฝั่งของคนที่ ‘แคร์’ ในความรู้สึกของบริตนีย์ เราก็ได้รู้จักกับตัวละครสำคัญอย่าง ‘อัดนัน กาลิบ’ ปาปารัสซีหนุ่มที่สร้างความประทับใจให้กับบริตนีย์ที่กำลังประสบปัญหากับการเติมน้ำมันอยู่ โดยที่ปาปารัสซีมากมายกำลังรายล้อมถ่ายภาพของเธอโดยไม่เคยคิดจะช่วยเหลือเธอเลย ยกเว้นแต่อัดนันคนนี้ที่ได้เข้าไปถามไถ่และให้การช่วยเหลือเธอ จนทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยเมื่อมีเขาอยู่ใกล้ ๆ  และความสัมพันธ์อันเรียบง่ายบนความแตกต่างนี้ก็ได้ผลิบานขึ้นมา

อย่างที่เราพอได้รู้จากข่าวว่า ‘ลินน์ สเปียร์ส’ แม่แท้ ๆ ของบริตนีย์เป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับเรื่องนี้และให้การสนับสนุนบริตนีย์พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้ลูกสาวของเธอได้รับอนุญาตในการหาทนายคนใหม่ด้วยตัวเอง เรารู้ว่าแม่คนนี้มีความรักและห่วงใยลูกสาวของเธอมากแค่ไหนแต่ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการสนับสนุนและต่อสู้ทางกฏหมาย การขาดหายไปของลินน์ สเปียร์สในสารคดีเรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำภาพของอำนาจปิตาธิปไตยที่รายล้อมรอบตัวบริตนีย์และมันได้ถูกตอกย้ำผ่านหนังเรื่องนี้ ด้วยการที่เธอนั้นเป็น ‘สิ่งที่มีอยู่แต่ถูกทำให้หายไป’ (The present absence) ถูกพูดถึงเพียงผ่าน ๆ และผู้ชมเห็นเธอแต่เพียงรูปถ่าย ไร้ตัวตน ไร้การถูกมองเห็น และไร้ซึ่งสุ้มเสียง แม้แต่ ‘เจมี ลินน์ สเปียร์ส’ น้องสาวของบริตนีย์ก็ไม่ได้ถูกกล่าวถึงในสารคดีเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน พลังแห่งหญิงเพียงแหล่งเดียว (นอกเหนือจากบริตนีย์) ที่ปรากฏในสารคดีเรื่องนี้ก็คือตัวผู้สร้างเองทั้งลี คาร์และเอลิสคิวที่เป็นเสมือนโฮล์มส์กับวัตสันที่พาเราไปหาความกระจ่างในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของบริตนีย์ด้วย

Britney & Spears ได้ทำให้เราเห็นถึงช่องโหว่ของกฏหมายและความน่าสะพรึงกลัวของการใช้กฏหมายในการทำให้คนคนหนึ่งสูญเสียอิสรภาพในการดูแลและตัดสินใจเพื่อชีวิตตัวเองซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ซึ่งตอนจบของสารคดีเรื่องนี้จะไปจบลงตรงไหนคงไม่สำคัญสำหรับเราแล้ว เพราะเราได้รู้ ‘ตอนจบที่แท้จริง’ จากข่าวที่เกิดเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ อันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความหวังและมั่นใจได้บ้างว่า นับจากนี้ไปเราคงจะได้เห็น บริตนีย์ สเปียร์ส ยิ้มอย่างมีความสุขแบบที่เราเห็นในฉากแรกของภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้อีกครั้ง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส