1. ปลา Salmon อ่านแบบอังกฤษหรืออเมริกันว่า “ซามเมิ่น” หรือ “แซมั่น” โดยไม่ออกเสียงตัว L นัยว่าเพราะมาจากภาษาฝรั่งเศส “Saumon – โซมง” แต่การเขียนนั้นใช้ตามแบบละตินและอังกฤษโบราณจึงมีตัว L อยู่ด้วย ราชบัณฑิตของไทยแนะนำให้เขียนเป็นไทยว่า “แชมมอน” แต่คนทั่วไปนิยมเขียน “แซลมอน” มากกว่า

2. แซลมอนเป็นปลา 2 น้ำ เกิดในน้ำจืดแล้วว่ายออกไปโตในทะเล เมื่อโตเต็มที่มีขนาดยาว 70-80 เซนติเมตร จะว่ายกลับเข้ามาในน้ำจืด มุ่งไปยังจุดกำเนิดของตนเพื่อวางไข่ ผสมพันธุ์ แล้วก็ตาย ลูกที่เกิดใหม่ก็จะวนเวียนไปตามวงจรนี้เช่นกัน

3. ปลาแซลมอนมี 2 ตระกูล แตกต่างกันในระดับดีเอ็นเอ หนึ่งคือ แอตแลนติกแซลมอน (อยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก แถบน่านน้ำนอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ และนิวอิงแลนด์กับแคนาดาตะวันออก)  ตระกูลนี้มีสายพันธุ์เดียว หน้าตายังไงก็ยังงั้น ตั้งแต่ต้นจนจบ

4. สองคือแซลมอนทางมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งแคนาดาตะวันตก อะแลสกา จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เป็นตระกูลแปซิฟิกแซลมอนตระกูลนี้มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่ คิง (ชินุค) ซอคอาย โคโฮ พิงค์ และชัม  พวกมันจะหน้าตาเหมือนกันในระยะแรก แต่พอโตเต็มวัย ช่วงที่กลับเข้าเขตน้ำจืด รูปร่าง หน้าตา และสีจะเปลี่ยนไปตามสายพันธุ์ อาจมีจงอยปาก หลังโหนก กลายเป็นสีแดงทั้งตัว ฯลฯ ถึงตอนนั้นจะแยกได้ทันทีว่าตัวไหนเป็นพันธุ์ไหน

5. จริง ๆ แล้วแซลมอนเป็นปลาพื้นถิ่นทางตอนเหนือของซีกโลกภาคเหนือ แต่มีการนำเอาไปทำฟาร์มทั้งที่ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนใหญ่จะเพาะพันธุ์และเลี้ยงแอตแลนติกแซลมอนกัน

6. ภาพหมีสีน้ำตาลรอตะปบกินแซลมอนบนโขดหินกลางแม่น้ำ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแถวแคนาดาและอะแลสกา ในช่วงที่แซลมอนว่ายทวนน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่และผสมพันธุ์ ตัวเมียมีไข่เต็มท้อง ตัวผู้มีไขมันอ้วนแน่น หมีต้องกินปลาให้มากที่สุดเพื่อสะสมอาหารไว้จำศีลในหน้าหนาว การดำรงอยู่ของแซลมอนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อชีวิตของหมีในอเมริกาเหนือ (หมีไม่กินปลาที่ตายแล้วลอยอยู่ในน้ำ)

7. ในอดีตที่ยังจับแซลมอนจากธรรมชาติ คนญี่ปุ่นจะไม่กินแซลมอนดิบ โดยเฉพาะที่จับได้ตอนมันอยู่ในน้ำจืดเพราะมีพยาธิและปรสิตมากมาย แต่จะกินโดยย่างให้สุกก่อน คนจีนมักเอาไปต้ม แถบสแกนดิเนเวียและชาวพื้นเมือง อินเดียนแดง เอสกิโม กระทั่งไอนุ ถ้าไม่ย่างให้สุกหรือเอาไปทำซุป ก็จะนำไปรมควันหรือดอง ซึ่งเป็นการถนอมอาหารในขั้นหนึ่งด้วย 

8. คนญี่ปุ่นเพิ่งมากินแซลมอนดิบเป็นซาชิมิและซูชิ เมื่อทศวรรษปี 1980 นี่เอง จากการเข้าไปทำตลาดของแซลมอนจากนอร์เวย์ที่เลี้ยงแบบฟาร์มในทะเล รัฐบาลนอร์เวย์สนับสนุนการขายปลาแซลมอนเป็นวาระแห่งชาติโดยส่งออกไปทั่วโลก ในบ้านเรา แซลมอนสีส้ม ๆ ที่กินกันแบบปลาดิบตามร้านอาหารญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นแซลมอนจากฟาร์มในนอร์เวย์เช่นกัน

9. โดยทั่วไป ฝรั่งไม่กินหนังปลา ไม่กินหัวปลา สมัยก่อนจึงทิ้ง ทำปุ๋ย หรือให้เป็นอาหารสุนัขลากเลื่อน แต่ปัจจุบันโรงงานชำแหละปลาแซลมอนทั่วโลก มีรายได้ไม่น้อยจากการขายหัวปลาและหนังปลาให้ตลาดเอเชีย

10. Gravlax – กราฟลักซ์ อาหารเรียกน้ำย่อยยอดนิยมของชาวสแกนดิเนเวีย ที่ใครไปแถบนั้นจะต้องได้กินกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น คือปลาแซลมอนสดหมักเกลือ น้ำตาล และผักสมุนไพร ใช้เวลาหมัก 2-3 วัน จากนั้นอาจนำไปรมควันอีกเล็กน้อย ก่อนนำมาเสิร์ฟโดยสไลซ์เป็นชิ้นบาง ๆ และกินกับซอสมัสตาร์ด

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส