จะเกิดอะไรขึ้นหากงานอดิเรกของเด็ก ๆ ได้กลายมาเป็นกีฬาต่อสู้สำหรับมืออาชีพ? วันนี้ที่ฟลอริดาได้มีการนำงานอดิเรกของเด็กอย่างการ ‘ตีหมอน’ มาจัดเป็นการแข่งขันที่ชื่อว่า ‘Pillow Fighting Champions’ หรือ PFC เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการแข่งขันตีหมอนชิงเข็มขัดแชมป์นั่นเอง

การแข่งขัน PFC เป็นการนำเอานักสู้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA (Mixed Martial Arts) มาแข่งตีหมอนกันบนเวที โดยเมื่อวันเสาร์ที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการจัดแข่งขันไปแล้วจำนวน 12 คู่ แบ่งออกเป็นชาย 16 คนและหญิง 8 คน ซึ่งผู้เข้าแข่งขันส่วนใหญ่เป็นนักกีฬาที่ใช้ศิลปะการต่อสู้แบบผสม ซึ่ง PFC ก็ใช้หลักเกณฑ์การนับคะแนนคล้าย ๆ มวยสากลสมัครเล่น แต่ที่ต่างออกไปคือการทำคะแนน ซึ่งผู้แข่งขันต้องเปลี่ยนการออกอาวุธจากหมัดเป็นหมอนแทน สำหรับผู้ชนะแต่ละคนจะได้รับเข็มขัดแชมป์ บวกกับเงินรางวัลอีก 5,000 เหรียญ

PFC ไม่ใช่กิจกรรมตีหมอนที่จัดขึ้นที่แรกของโลก เพราะก่อนหน้านี้การต่อสู้โดยใช้หมอนถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมแฟลชม็อบ ที่ได้รับความนิยมและมีปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยครั้งตามเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก

ย้อนกลับไปในเดือนมกราคม ปี 2007 เคยมีการจัดลีกแข่งขันตีหมอนที่ชื่อว่า ‘Pillow Fight League’ ซึ่งเริ่มต้นที่บาร์แห่งหนึ่งในโตรอนโต อีกทั้งที่สหรัฐอเมริกา ในปี 2008 ก็เคยมีกลุ่มคนรวมตัวกัน และก่อตั้งวันตีหมอนโลกครั้งแรก ซึ่งพวกเขาจะจัดงานขึ้นทุกวันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี 

กินเนสส์ เวิลด์ เรคคอร์ดส์ เคยบันทึกไว้ว่าการต่อสู้โดยใช้หมอนครั้งใหญ่ที่สุดเกิดขึ้น เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2015 ในระหว่างการแข่งขันเบสบอลที่สนามของทีมเซนต์ พอล เซนต์ ซึ่งในครั้งนั้นมีผู้เข้าร่วมตีหมอนกันมากถึง 6,261 คน แต่ภายหลังสถิติดังกล่าวได้ถูกทำลาย หลังในเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ผู้คนจำนวน 7,861 คน มาร่วมจัดกิจกรรมตีหมอน ที่คอนเสิร์ตแห่งหนึ่งในเมืองมินนิอาโปลิส

อ้างอิง:

https://bit.ly/3KYals2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส