(รีวิว) “BLACK CLOVER” เด็กผู้ไร้พลังเวทที่ต้องการเป็นจักพรรดิแห่งเวทมนตร์
Our score
7.0

จุดเด่น

  1. เหมือนคอยเฝ้ามองการเจริญเติบโตของตัวเอก ให้ความรู้สึกเหมือนดูการ์ตูนJUMPสมัยก่อนอย่างดราก้อนบอล
  2. กราฟฟิกดี เสียงพากย์ดี
  3. ดูได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะหากชอบแนวแอ็กชันแฟนตาซี

จุดสังเกต

  1. เล่าเรื่องช้ามาก
  2. เนื้อเรื่องเดาได้ไม่ยาก ตัวร้ายไม่ค่อยน่าจดจำสักเท่าไหร่
  • ความสมบูรณ์ของบท

    7.0

  • ความสวยงามของภาพ

    7.0

  • การเล่าเรื่อง

    6.5

  • ความน่าติดตาม

    7.5

  • คุ้มค่าเวลาดู

    7.0

วันนี้ผมก็ได้ไปเจอกับการ์ตูนเรื่องนึงใน NETFLIX ซึ่งแว่บแรกที่เห็นก็รู้สึกว่ามันคุ้น ๆ เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อน พอลองนึกดี ๆ อ๋อ!! นี่มัน 1 ในตัวละครจากเกม JUMPFORCE ที่ผมไม่รู้จักนี่นา ซึ่งมารู้ทีหลังว่าการ์ตูนเรื่องนี้ชื่อว่า “Black clover” (ฮา) เพราะฉะนั้นนี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่ผมจะลองรู้จักกับการ์ตูนเรื่องนี้ดู ซึ่งพอดูจบก็ต้องขอมาเขียนรีวิวความรู้สึกให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกันหน่อยล่ะงานนี้!!

ภาพจากเกม JUMPFORCE

ตัวละครหลัก

อัสต้า – เด็กหนุ่มผมสีโทนบลอนด์ ผู้รักในความเที่ยงธรรม มีความฝันสูงสุดคือเป็นจักรพรรดิเวทมนตร์ แต่ทว่าตัวเค้านั้นไม่สามารถใช้พลังเวทได้เลยแม้แต่นิดเดียว
ยูโน – เด็กกำพร้าที่โตมาพร้อมกับอัสต้า แต่ทว่าความสามารถด้านพลังเวทต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยเค้าได้รับเลือกจากกรีมัวร์ของอดีตจักรพรรดิเวทในตอนที่อายุ 15 ปี

เรื่องย่อ / ความรู้สึกหลังดู

เรื่องย่อ

อัสต้า และ ยูโน เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งไว้กับโบสถ์ของอาณาจักรโคลเวอร์ โดยทั้ง 2 คนโตมาด้วยเป้าหมายเดียวกันนั่นก็คือการที่จะได้เป็นจักรพรรดิเวทมนตร์ (ผู้ยืนอยู่จุดสูงสุดของผู้ใช้เวท) แต่ทั้ง 2 กลับมีความต่างกันโดยสิ้นเชิงโดยที่ ยูโน สามารถใช้พลังเวทได้อย่างทรงพลัง ส่วน อัสต้า นั้นไม่สามารถใช้เวทมนตร์ได้เลยแม้แต่นิดเดียว แต่เค้าก็ไม่หมดหวังหมั่นฝึกฝนร่างกายเป็นประจำ เพื่อที่อายุ 15 เค้าจะได้มีโอกาสรับ กรีมัวร์ คัมภีร์ที่จะดึงเอาศักยภาพของผู้ใช้เวทนั้น ๆ ออกมาได้ แต่พอถึงเวลาจริงเค้ากลับไม่ถูกรับเลือกโดยกรีมัวร์ ต่างจาก ยูโน ที่ได้กรีมัวร์ใบโครเวอร์ 4 แฉก ที่เป็นของอดีตจักรพรรดิเวทรุ่นก่อน แต่ทว่าเมื่อถึงคราวคับขันชีวิตของอัสต้ากำลังตกอยู่ในอันตรายจู่ ๆ ก็มี กรีมัวร์ใบโครเวอร์ 5 แฉก ปรากฏออกมาพร้อมกับดาบสีดำอันใหญ่เท่าคน ซึ่งโครเวอร์ใบที่ 5 นั้นหมายถึงปิศาจนั่นเอง!!! และแล้วเรื่องราวการผจญภัยเพื่อเป็นจักพรรดิเวทมนตร์ของ อัสต้า และ ยูโน ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

จุดที่ชอบในการ์ตูนเรื่องนี้

พอดูการ์ตูนเรื่องนี้จบผมก็นึกย้อนกลับไปถามตัวเองว่าทำไมผมถึงชอบดูวันพีช นารูโตะ หรือดราก้อนบอล มันคือสูตรสำเร็จการ์ตูนแนว JUMP สมัยก่อน ที่จะให้คนดูได้เติบโตไปพร้อมกับตัวละครเอกที่เป็นเด็ก คอยอยู่เป็นเพื่อนหมอนี่ คอยเอาใจช่วยให้ฝีมือมันเทพขึ้นสักที อยากเห็นสกิลใหม่ ๆ ของตัวเอก

ด้วยภาพและกราฟฟิกของตัวอนิเมะไม่ได้ทำออกมาดูยากมาก และกราฟฟิกเองก็ไม่ขี้เหร่ การอนิเมทก็ดูลื่นไหลสบายตา เสียงพากย์ก็ทำออกมาได้ดี แต่ถึงอย่างนั้นทุกอย่างก็ถือเป็นมาตรฐานของอนิเมะสมัยนี้อยู่แล้ว แค่ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ก็ถือว่าใช้ได้

จุดที่ไม่ชอบ!?

แต่ถึงอย่างนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ก็มีข้อเสียที่ไปติดอยู่ตรงการเล่าเรื่องที่เชื่องช้าจนทำเอาเราดูไปง่วงไปหลายต่อหลายตอน การต่อสู้หรือฉากแอ็กชันเองถึงจะทำกราฟฟิกออกมาได้สวย แต่ก็ไม่ค่อยสะใจหรือมันเท่าที่คิด ออกจะจำเจซะด้วยซ้ำ อารมณ์แบบตัวร้ายปล่อยพลังใส่พระเอกจนเสียท่า แล้วก็พูดจาเหยียดหยามพระเอก พระเอกของขึ้นควักดาบฟันจบ

ตัวร้ายในเรื่องนี้ก็ถือว่าขาดเสน่ห์อย่างแรง ดูจบแล้วทิ้งไว้สักอาทิตย์นึงคุณอาจจะลืมหน้าตามันไปเลยก็ได้ (ฮา) ตัวเนื้อเรื่องเองก็เดาง่าย คือสกิลพระเอกในเรื่องนี้โกงมาก เวลาที่พระเอกเจอเรื่องที่คับขันกำลังแย่ก็จะต้องมีเหตุการณ์ให้ได้พลังใหม่ ไม่ก็ต้องมีพวกพ้องมาช่วยให้รอดพ้นตลอด ซึ่งจะอยู่ลูปนี้ไปสักพักใหญ่ ๆ เลย

เสียงพากย์เองก็แอบเป็นปัญหาอยู่เล็ก ๆ เสียงของ อัสต้า ซึ่งเป็นตัวละครที่ชอบแหกปาก บวกกับเสียงที่แหลมเวลาดูใส่หูฟังไปนาน ๆ เข้าอาจทำให้คุณรำคาญหรือไม่ก็ปวดแก้วหูได้

สรุปควรดูดีไหม? เหมาะกับใคร

ผมคิดว่าการ์ตูนเรื่องนี้มันไม่ค่อยเหมาะกับวัยรุ่นที่ชอบเสพเนื้อเรื่องที่เข้มข้น มีหักมุมไปมา หรือฉากที่รุนแรงเพื่อความมันสะใจเล็ก ๆ เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างเล่าเรื่องเป็นเส้นตรง มีศัตรูลูกกระจ๊อกอ่อน ๆ โผล่มาสู้กับพระเอกเพื่อที่พระเอกจะได้เติบโตและเก่งขึ้นก่อนจะไปตบลาสบอส การ์ตูนเรื่องนี้ผมเชื่อเลยว่าหากดูตอนอยู่มัธยมต้นมันคงจะสนุกมากแน่ ๆ เพราะฉะนั้นหากมีลูกมีหลานการจะเปิดการ์ตูนเรื่องนี้ให้ดูก็เป็นความคิดที่เข้าท่ามาก โดยเฉพาะเด็กผู้ชายที่ได้เห็นตัวการ์ตูนแบกดาบใหญ่อันเท่าคนสู้กับศัตรูคงจะให้ความรู้สึกเท่มากน่าดู (ฮา)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส