จากประเด็นดราม่าร้อนแรงในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่งเกมส์ 2022 ที่ปีนี้ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งในช่วงพิธีเปิดได้มีชาวเน็ตเกาหลีสังเกตเห็นนักแสดงจีนคนหนึ่งใส่ชุดฮันบก ทำให้ชาวเกาหลีไม่พอใจที่จีนเอาวัฒนธรรมของเกาหลีไปเป็นของตัวเอง ทางจีนเองก็บอกว่าชุดนี้เป็นชุดของจีนตั้งแต่โบราณแล้ว ทำให้ชาวเน็ตทั้งสองประเทศต่างไม่พอใจกันและพยายามบอกว่าชุดฮันบกเป็นของตนเอง แล้วตกลงชุดฮันบกเป็นของชาติใดกันแน่ เรามาสืบกันดีกว่า

ชุดฮันบกถือว่าเป็นชุดประจำชาติของเกาหลีที่ทุกคนต่างรู้กันอยู่แล้ว แล้วทำไมจีนถึงไม่ยอมรับเรื่องนี้ละ หรือเพราะชุดฮันบกของเกาหลีมีลักษณะคล้ายกับชุดฮั่นฝูของจีน จีนจึงอ้างว่าชุดฮันบกเป็นของตนเองนั้นเหรอ

จากประวัติศาสตร์ของจีน บ้างก็กล่าวว่าในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เกาหลีได้มีการนำเข้าผ้าไหมจากจีนทำให้ได้รับอิทธิพลการแต่งกายจากราชวงศ์ถังตามมาด้วย

ซ้าย-พระเจ้าแทโจ แห่งราชวงศ์โชซอน
ขวา-จักรพรรดิหมิง ไท่ซู่ แห่งราชวงศ์หมิง

ในขณะที่จีนเริ่มขยายดินแดนออกเป็นวงกว้าง ทำให้ประเทศโดยรอบได้รับอิทธิพลจากจีน เช่น วัฒนธรรม อาหาร สถาปัตยกรรม เสื้อผ้า เป็นต้น ในสมัยพระเจ้าแทโจ แห่งราชวงศ์โชซอน (ค.ศ. 1368-1644) ที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับราชวงศ์หมิงของจีนมาตลอด ชุดฮันบกในสมัยนี้จึงมีเครื่องประดับบนหัวซึ่งสอดคล้องกับเครื่องพระราชทานที่ราชวงศ์หมิงมอบให้กับราชวงศ์โชซอน ดังนั้นชุดฮันบกจึงมีลักษณะคล้ายกับชุดฮั่นฝูของจีนในสมัยราชวงศ์หมิง รวมถึงลวดลายมงคลเช่น มังกร นกฟินิกส์ ดอกบัว ดอกเบญจมาศ ล้วนเป็นสิ่งทีี่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของจีน

ชุดฮันบกสมัยอาณาจักรโคกูรยอ

ในทางกลับกัน ประวัติศาสตร์ของเกาหลีก็มีการค้นพบชุดฮันบกเช่นกัน ในสมัยอาณาจักรโคกูรยอ (37 ปีก่อนคริสตกาล-ค.ศ.668) ที่คาบสมุทรเกาหลีได้รับอิทธิพลจากชนเผ่าไซเธียน (Scythian) หนึ่งในชนเผ่าของทวีปยูเรเซีย เดิมทีชุดฮันบกแยกออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนบนและส่วนล่าง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนชุดฮันบกจึงมีการเปลี่ยนแปลงตามเพื่อใหเกิดความสวยงามและเข้ากับยุคสมัยนั้น ๆ  แต่ใน ค.ศ. 1271-1368 ช่วงปลายสมัยอาณาจักรโครยอชุดฮันบกมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมในสมัยราชวงศ์หยวน ซึ่งในช่วงเวลาที่กล่าวเป็นช่วงแรกของราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) เช่นกัน

ชุดฮันบกสมัยอาณาจักรโครยอ

ในสมัยอาณาจักรโครยอ มีเจ้าหญิงจากมองโกลได้แต่งงานในราชวงศ์เกาหลีและนำรูปแบบเสื้อผ้าของชาวมองโกเลียเข้ามา ส่งผลให้ชอกอรี (Jeogori) และ ชิมา (Chima) ที่เป็นเสื้อและกระโปรงของชุดฮันบกมีความสั้นลงและแขนเสื้อมีความแคบลงจากเดิม เมื่อเข้าสู่ช่วงราชวงศ์โชซอนผู้หญิงจึงสวม ฮอรีตี (Heoritti) ที่คล้ายเข็มขัดสวมทับชอกอรีเพื่อปกปิดหน้าอกของตัวเองกัน ซึ่งการสวมเข็มขัดนี้เป็นรูปแบบแฟชั่นของโสเภณีเกาหลีหรือเรียกว่า กีแซง (Kisaeng) ที่ได้แพร่กระจายไปในราชวงศ์หรือชนชั้นสูง ยกเว้นสามัญชนและชนชั้นล่างที่แต่งงานหรือมีบุตรแล้ว

เราอาจจะบอกว่าชุดฮันบกเป็นของเกาหลีเพราะมีการค้นพบในช่วงก่อนคริสตกาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป อิทธิพลของจีนก็เข้ามาสู่เกาหลี ทำให้ชุดฮันบกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยจนมีความคล้ายคลึงกับชุดฮั่นฝูของจีน จึงไม่ผิดที่จีนจะบอกว่าชุดฮันบกเป็นของตนเช่นกัน แต่เราอาจจะบอกว่าชุดฮันบกเป็นชุดที่มีวัฒนธรรมร่วมสมัยก็เป็นได้ เพราะทั้งรูปแบบของชุดที่มีเค้าโครงจากสมัยโคกูรยอของเกาหลี ผสมผสานกับเคร่ืองประดับต่าง ๆ และลวดลายมงคลจากราชวงศ์หมิงของจีน ด้วยเหตุนี้ความร่วมสมัยของสองประเทศจึงทำให้เกิดชุดฮันบกในปัจจุบันที่ใคร ๆ ต่างก็อยากใส่สักครั้งหนึ่ง เพราะเป็นชุดประจำชาติที่วัฒนธรรมอันงดงามของทั้งสองประเทศรวมเข้าด้วยกัน

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส