เพลงประกอบอนิเมะถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่ทำให้ผู้ชมอยากดูอนิเมะเรื่องนั้น ๆ แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันไฮไลต์เหล่านี้ได้เลือนหายไป มีน้อยเรื่องที่สามารถทำเพลงติดหูทันทีอย่างเพลงอนิเมะสมัยก่อน วันนี้เราจะพาทุกคนย้อนกลับไปสู่กับเพลงอนิเมะในตำนานก่อนปี 2000 ที่ทุกคนได้ยินแล้ว ต้องร้องตามกันได้อย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วอย่าลืมสวมจิตวิญญาณแห่งสาวกอนิเมะ และลุยกันเลย!

1.”Moonlight Densetsu” จาก ‘เซเลอร์มูน’ ปี 1992

เรามาลุยกับเพลงอนิเมะเรื่องแรกกันก่อนเลย นั่นคือ เพลง “Moonlight Densetsu” เป็นเพลงที่ผสมผสานกันระหว่าง ความโรแมนติก ความหวัง ความกล้าหาญ และ ตัวแทนจากดวงดาว ได้อย่างลงตัว

โดยท่อนเด็ดของเพลงอย่าง “โกเม็นเนะ ซึนาโอ จะ นาคูเตะ” หรือแปลเป็นไทย “ขอโทษนะที่ปากไม่ตรงกับใจ” ว่าติดหูแล้ว เสียงระฆังกับดนตรีเริ่มต้นเพลงนั้น ติดหูยิ่งกว่า

เหตุผลที่อนิเมะเรื่องนี้ได้รับความนิยม นอกจากเพลงเปิดที่น่าจดจำแล้ว ยังมีเนื้อเรื่องที่เข้มข้น ผสมความโรแมนติกสไตล์การ์ตูนผู้หญิงกับเรื่องราวการต่อสู้กับวายร้าย ซึ่งปกติแล้วคนที่ปราบวายร้ายมักเป็นผู้ชาย บวกกับ อัศวินเซเลอร์แต่ละคน จะมีจุดเด่นและนิสัยที่ไม่เหมือนกัน จนถึงขึ้นมีอัศวินเซเลอร์ที่เป็น LGBTQ และที่สำคัญ ชื่อเซเลอร์แต่ละคนจะตั้งตามชื่อของดวงดาว เช่น ‘เซเลอร์มาร์ส’ จะหมายถึง ‘ตัวแทนจากดาวอังคาร’ ทำให้ชื่อตัวละครเป็นสากล เข้าถึงผู้คนได้ทั่วโลก

2.”We Are!” จาก ‘วันพีช’ ปี 2000

เรามาต่อกันกับเพลงที่สองกันเลย คือเพลง “We Are!” เป็นเพลงที่บรรยายความสนุกสนานของพวกพ้องในการผจญภัยในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการตามล่าหาความฝันตามปรารถนาของแต่ละคน ในช่วงแรกเพลงจะอธิบายว่า ‘โกลดีโรเจอร์ (Gold D Roger)’ ราชาโจรสลัดถูกประหารชีวิต และก่อนถูกประหารได้พูดประโยคอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นใจกลางของเรื่องคือ “สมบัติของฉันเหรอ ไปหาเอาสิ ไปหาเอาเลย ฉันเอาทุกอย่างไปไว้ที่นั่นหมดแล้ว”

เพลงอนิเมะเรื่องนี้ได้รับความนิยมอย่างมาก ถึงขั้นเมื่อ ‘วันพีช’ ครบ 1,000 ตอน ก็มีการนำเพลงนี้มาทำซ้ำอีกรอบ เพื่อแสดงถึงพัฒนาการของตัวละครแต่ละตัว ว่าทุกคนยังคงสนุกกับการผจญภัยเช่นเดิม แม้จะมีความทุกข์ ความเศร้า ความเหนื่อย ตลอดการผจญภัย แต่ความฝันของแต่ละคน ก็ยังชัดเจนไม่เปลี่ยนแปลง

เหตุผลที่อนิเมะได้รับความนิยมมาตลอด 20 กว่าปี คือ เนื้อเรื่อง การผจญภัยของหนุ่มสาวที่ครบจบในทีเดียว ไม่ว่าจะคุณจะอายุเท่าไหร่ คุณก็สามารถดูเรื่องนี้ได้อย่างเข้าใจและสนุกไปกับมัน

3.”Pegasus Fantasy” จาก ‘เซนต์เซย่า’ ปี 1986

เมื่อพูดถึง ‘เซนต์เซย่า’ สิ่งที่หลายคนนึกถึงนอกจากตัวละครและพลังคอสโมของพวกเขา ก็หนีไม่พ้นเพลงประกอบของเรื่อง ที่ชวนติดหูอย่างมาก โดยเฉพาะท่อนขึ้นที่ร้องว่า “ดาคิชิเมทา โคโคโระโนะโคสุโม” หรือที่แปลเป็นไทย “ให้พลังแห่งคอสโมสวมกอดจิตใจไว้”

หลายคนอาจจะงงว่าทำไมเพลงนี้ ต้องมีท่อนที่เน้นว่า ‘ให้คอสโมโอบกอดจิตใจไว้’ คำตอบก็คือ นักสู้ในเรื่องที่นามว่า ‘เซนต์’ นั้น ต้องเผาผลาญคอสโมพลังแฝงในห้วงจักรวาลเป็นพลังงานในการต่อสู้

โดนอนิเมะ’เซนต์เซย่า’ ภาคนี้นั้นจะเล่าถึง ตัวละครชื่อ ‘เซย่า’ เด็กชายจากญี่ปุ่น ได้เดินทางไปยังประเทศกรีซเพื่อฝึกฝนตัวเองให้กลายเป็น ‘เซนต์’ หนึ่งในนักรบของ ‘อาธีน่า’ เทพีแห่งการศึก ที่คอยดูแลจัดการเรื่องราวเบื้องหลังของโลกใบนี้นับตั้งแต่สมัยเทพนิยาย

4.”Doraemon No Uta” จาก ‘โดราเอมอน’ ปี 1979

เพลงในตำนานสุดคลาสสิกที่วัยรุ่นยุค 90s เกือบทุกคนจะต้องรู้จักหรือเคยได้ยินเพลงนี้ กับท่อนสุดหลอนที่ร้องว่า “อั๊ง อัง อัง โดะเตะโมะดาอิซุคิ โดราเอมอน”

สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจคือ คำสร้อย “อั๊ง อัง อัง” สามารถกลายเป็นคำติดหูเราและสร้างการจดจำให้อนิเมะเรื่องนี้ได้จนถึงทุกวันนี้ แม้มันจะไม่มีความหมายอะไรเลยก็ตาม

ทุกวันนี้ ‘โดราเอมอน’ ยังเป็นอนิเมะยอดนิยมสุดคลาสสิกเรื่องหนึ่ง ด้วยเนื้อเรื่องที่เข้าใจง่าย เข้าถึงได้ทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญคือแต่ละตอนจะมีของวิเศษที่ทำให้เราว้าวเสมอ รวมถึงเรื่องเปิ่น ๆ ที่ โนบิตะ และผองเพื่อนได้พบเจอในแต่ละวัน

5.”CHA-LA HEAD-CHA-LA” จาก ‘ดราก้อนบอล แซด’ ปี 1989

อีกหนึ่งเพลงสุดหลอนน่าจดจำอีกเพลงหนึ่ง ไม่ว่าเพลงดราก้อนบอล จะออกมาสักกี่เพลง เพลงนี้ก็ยังเป็นตำนานไม่เสื่อมคลาย ด้วยหนึ่งในท่อนที่ร้องว่า “ชารา-เฮด-ชารา” แม้ผู้แต่งไม่ได้บอกความหมายของมันไว้ แต่แฟนคลับสันนิษฐานว่าประโยคดังกล่าวมีความหมายว่า ‘ไม่ใช่เรื่องใหญ่ไม่ต้องกังวล ปล่อยหัวโล่ง ๆ’

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าเพลงนี้ถูกเขียนโดยใช้ภาษาญี่ปุ่นขั้นสูง คนที่อยากจะเข้าใจความหมายของเพลงนี้จริง ๆ อาจจะต้องใช้ความเข้าใจในหลักภาษาศาสตร์ขั้นสูง

โดยอนิเมะ’ดราก้อนบอล แซด’ ภาคนี้จะเป็นเรื่องราวตัวเอกของเรื่อง ชื่อ ‘โกคู’ ได้ค้นพบว่าตัวเองนั้นเป็น ‘ชาวไซย่า’ ต่อมาก็ได้ต่อสู้กับวายร้ายจากต่างดาว และที่เป็นจุดสำคัญของเรื่องที่เปลี่ยน ‘ดราก้อนบอล’ ไปตลอดกลาล คือการที่โกคูแปลงร่างเป็น ‘ซูเปอร์ไซย่า’ หัวทอง

6.”Tonchin Kanchin Ikkyuu-San” จาก ‘เณรน้อยเจ้าปัญญา’ ปี 1975

เพลงนี้อาจจะเก่าแก่ไปเสียหน่อย แต่ถ้าคุณได้ฟังเพลงนี้เมื่อไหร่ คำว่า “ซุกิ ซุกิ ซุกิ ซุกิ ซุกิ ซุกิ อะอิชิเทรุ ” ในเนื้อเพลง ถ้าฟังครั้งแรกอาจจทำให้คุณหิวสุกี้ขึ้นมาได้ แต่จริง ๆ แล้ว มันแปลว่า “ชอบ ชอบ ชอบ ชอบ ชอบ ชอบ รักเลย” เป็นการบรรยายว่า ตัวละครอิคคิวซังนั้น รักทั้งในเรื่องของการเรียน แถมยังชอบขวนขวาย และแก้ปัญหาต่าง ๆ

อิคคิวซัง เป็นเณรน้อยในนิกายเซนที่มีปัญญาฉลาดหลักแหลม โดยแต่ละตอนจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ให้ อิคคิวซัง มาไขคำตอบ และเวลาที่อิคคิวซังคิดอะไรไม่ออก เขาก็มักจะพูดว่า ‘ใช้หมอง นั่งสมาธิ’

7.”Take Back The Love!!” จาก ‘ฤทธิ์หมัดดาวเหนือ’ ปี 1985

มาถึงเพลงสุดท้ายกันแล้วกับเพลง “Take Back The Love” โดยตัวเนื้อเพลงนั้นจะสื่อถึงการคร่ำครวญร่ำไห้ของตัวละคร เคนชิโร่ (Kenshiro) ถึงคนรัก ยูเรีย (Yuria) ว่าทำไมคนที่ถูกรักรู้สึกเหมือนถูกช็อก รวมถึงการผจญกับภยันตรายต่าง ๆ ที่พบเจอระหว่างการเดินทาง

ซึ่งเรื่องราวเล่าถึงเหตุการณ์หลังสงครามโลกครั้งที่ 3 ในปี 1990 ที่สงครามนิวเคลียร์ทำลายล้างทุกอย่างบนโลก ทำให้ โลกกลับสู่บ้านป่าเมืองเถื่อน มีเพียง ‘เคนชิโร่’ ชายผู้มีรอยแผลเป็นรูปดาวเหนือ 7 แห่งบนหน้าอกเท่านั้นที่จะสามารถกอบกู้โลกได้ ด้วย ‘หมัดอุดรเทวะ’ เพลงหมัดที่สามารถทะลวงจุดตายของคู่ต่อสู้ ทำให้อวัยวะภายในแหลกเหลว และร่างกายระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ ได้ในพริบตา รวมถึงประโยคสุดคลาสสิกของเรื่องในการปราบศัตรูคือ “เจ้าน่ะได้ตายไปแล้วยังไงละ”

ถ้าคุณชอบแนวการ์ตูนลายเส้นเก่าแก่สุดคลาสสิก กับเพลงดนตรีอนิเมะสุดแสนจะไพเราะ คุณไม่ควรพลาดเด็ดขาด เพราะดนตรีในแต่ยุคจะสะท้อนวัฒนธรรมและรสสนิยมของยุค ๆ นั้น ผ่านมุมและเรื่องราวต่าง ๆ ภายในอนิเมะเรื่องนั้น ๆ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส