หากพูดถึงการ์ตูนแก๊ก นักอ่านเลขสาม (นำหน้า) ขึ้นไป คงนึกถึงหนังสือการ์ตูนอย่าง ขายหัวเราะ-มหาสนุก ซึ่งเป็นที่นิยมด้วยราคาแสนถูก ไปร้านทำผม ร้านหมอฟัน หรือร้านใด ๆ ที่ต้องรอรับบริการ ก็จะวางควบคู่กับนิตยสารให้คนรออ่านเพื่อฆ่าเวลา แก้เบื่อเล่น ลดอารมณ์ที่จะเหวี่ยงวีน แก้อาการรอไม่ได้ได้ชะงัดนัก

ทว่าเมื่อโลกเปลี่ยนไป เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาแทนที่ เราจึงเห็นสื่อชนิดนี้น้อยลงเรื่อย ๆ แถมยังมีปรากฎการณ์ระดับโลก อย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นปัจจัยให้ผู้คนเก็บตัวอยู่ในบ้าน ส่งผลต่องานในภาคบริการทั้งหลายอย่างจัง ทำให้โอกาสที่เราจะเห็นหนังสือดังกล่าวทั้งจากแผงขายและจากร้านค้าต่าง ๆ ลดลงไปอีก แต่ในขณะเดียวกัน เหตุการณ์นี้ยังเร่งให้คนหันมาใช้เทคโนโลยี และเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ มากขึ้นด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ ‘การอ่านการ์ตูนแก๊ก’ ในแพลตฟอร์มที่เปลี่ยนไปนั่นเอง

แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่การสาธยายว่า ‘การ์ตูนแก๊กในปัจจุบัน’ มีหน้าตาอย่างไรบ้าง เราก็ต้องเท้าความถึงอดีตและ ‘จุดเริ่มต้นของการ์ตูนในไทย’ กันสักหน่อย

จากผนังสู่กระดาษ แรกเริ่มการ์ตูนในไทย

หากอ้างอิงประวัติศาสตร์ การ์ตูนไทยเริ่มจากการเข้ามาของวิทยาการเขียนภาพแบบตะวันตก โดยบุคคลที่เริ่มเขียนภาพที่มีกลิ่นอายของความขำขัน อิงชีวิตจริงคนแรก คือ ขรัวอินโข่ง จิตรกรในสมัยรัชกาลที่ 3 – รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

หนึ่งในภาพผลงานของขรัวอินโข่งที่แสดงให้เห็นถึงการวาดคนและฉากที่มีมิติและมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงมากขึ้น ซึ่งอิงมาจากการวาดแบบตะวันตก
Credit : Wikiwand.com

ผลงานแรกเริ่มนี้ แม้เป็นภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนัง ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ หรือมีลักษณะเหมือนการ์ตูนอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน แต่ก็นับว่าเป็นผลงานที่ปรากฏในสถานที่สาธารณะที่ผู้คนในยุคนั้นจะมีโอกาสได้เห็นอยู่มาก หลายภาพก็มีความหมายซ่อนอยู่ลึกซึ้ง บางคนจึงถือกันว่าท่านเป็นนักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก

แต่ความชัดเจนของการปรากฏ ‘วัฒนธรรมการ์ตูนไทย’ นั้นเกิดขึ้นในเวลาต่อมา นั่นก็คือ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 การ์ตูนเริ่มได้รับความนิยมอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทำให้สื่อชนิดนี้เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น การ์ตูนที่เป็นที่นิยม ได้แก่ ภาพล้อ และการ์ตูนล้อการเมือง กระทั่งรัชกาลที่ 6 เองก็ทรงโปรดการ์ตูนดังกล่าว ทรงวาดภาพล้อเหล่าเสนาบดีและข้าราชบริพารในพระองค์ ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต* อยู่เสมอ จึงอาจกล่าวได้ว่า การ์ตูนแก๊กของไทยเองก็มีรากฐานในแนวทางล้อเลียน ล้อการเมือง นั่นเอง

ภาพด้านบนที่เห็นนี้คือ หนังสือพิมพ์ดุสิตสมิต – หนึ่งในสามของหนังสือพิมพ์ประจำเมืองดุสิตธานี อันเป็นเมืองจำลองที่รัชกาลที่ 6 ทรงสร้าง เพื่อทดลองการปกครองส่วนท้องถิ่น หรือระบอบการเมืองในแนวประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์ประจำเมืองทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ดุสิตสมัย (รายวันฉบับแรก) ดุสิตสักขี (รายวันฉบับที่สอง) และดุสิตสมิต (รายสัปดาห์) เนื้อหาในหนังสือพิมพ์ มีทั้งเรื่องการเมือง เรื่องตลกขบขัน เบ็ดเตล็ด และกวีนิพนธ์ ทั้งยังมีการ์ตูนล้อการเมืองซึ่งเป็นลักษณะเด่น จึงได้รับความนิยมอย่างมาก

สำหรับ ‘นักเขียนการ์ตูนไทยคนแรก’ ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ และยังเป็น ‘นักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองไทยคนแรก’ ก็เกิดขึ้นในยุคนี้นี่เอง นั่นก็คือ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น) ด้วยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้จากการอาศัยอยู่ในต่างประเทศหลายสิบปี เมื่อกลับมาประเทศไทย ท่านได้เข้ารับราชการอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะลาออกแล้วยึดอาชีพวาดภาพล้อตามหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ และเป็นครูในโรงเรียนเพาะช่าง 

ผลงานของ ขุนปฏิภาคพิมพ์ลิขิต (เปล่ง ไตรปิ่น)
Credit : th.wikipedia.org

ด้วยผลงานการ์ตูนล้อนักการเมืองที่โดดเด่นในยุคนั้น ส่งผลให้ท่านได้รับรางวัลการประกวดภาพล้อจากรัชกาลที่ 6 แต่ที่ได้บรรดาศักด์นั้น ไม่ใช่เป็นเพราะอาชีพนักเขียนการ์ตูน หากแต่เพราะเป็นผู้บุกเบิกนำเทคโนโลยีการทำบล็อกแม่พิมพ์ เข้ามาในเมืองไทยด้วย

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกด้านล่างเลย)

จากวังสู่ประชา กับการพัฒนาการ์ตูนไทย

เมื่อประเทศไทยเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในสมัยรัชกาลที่ 7 วงการการ์ตูนก็ซบเซาลง และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง นักเขียนการ์ตูนมีเสรีภาพในการนำเสนอความคิดเห็นมากขึ้น จึงเกิดนักเขียนการ์ตูนมีชื่ออีกหลายคน อาทิ สวัสดิ์ จุฑะรพ ผู้วาดสังข์ทอง การ์ตูนเรื่องยาวเรื่องแรกของประเทศไทย ฉันท์ สุวรรณบุณย์ ผู้บุกเบิกการ์ตูนสำหรับเด็กเป็นคนแรกของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการ์ตูนที่วาดล้อเลียนจนเกินขอบเขต คณะราษฏรจึงมีกฏหมายออกมาควบคุม ผนวกกับเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 วงการการ์ตูนจึงซบเซาอีกครั้ง

เมื่อหมดสงคราม การ์ตูนไทยก็เข้าสู่ช่วงที่พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดนักเขียนการ์ตูนที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน ได้แก่ ประยูร จรรยาวงษ์ ‘ราชาการ์ตูนไทย’ ที่วาดทั้งการ์ตูนตลกและการ์ตูนการเมือง เจ้าของผลงานรางวัลจากการประกวดการ์ตูนสันติภาพโลก เมื่อ ปี พ.ศ. 2503  พิมล กาฬสีห์ เจ้าของผลงาน ‘ตุ๊กตา’ซึ่งเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กเล่มแรกของไทย 

ต่อมาจึงเกิดการรวมตัวของเหล่านักเขียนจนกลายเป็นกลุ่มต่างๆ ขึ้น ได้แก่ ชัยพฤกษ์การ์ตูน และกลุ่มเบญจรงค์ ที่มีนักเขียนการ์ตูนอย่าง เตรียม ชาชุมพร เจ้าของผลงานมานะ มานี ปิติ ชูใจ ที่คนเรียนประถมช่วงปี พ.ศ. 2521-2537 ซึ่งเติบโตมาเป็นมนุษย์วัยทำงานในยุคนี้รู้จักกันดี การ์ตูนในช่วงนี้มักเป็น ‘การ์ตูนเรื่อง’ คือสร้างโดยอิงจากนิยายพื้นบ้าน เรื่องผี เรื่องสยอง และแนวจักร ๆ วงศ์ ๆ บางเรื่องยาวเป็นร้อยหน้า นับว่าเป็นยุคทองของการ์ตูนในลักษณะนี้เลยทีเดียว

แต่ใช่ว่าเมื่อการ์ตูนยาวได้รับความนิยม การ์ตูนสั้นและการ์ตูนล้อการเมืองจะหนีหาย ในช่วงต่อมานี้เองก็กำเนิดยุค ‘การ์ตูนเล่มละบาท’ ขึ้น โดยสำนักพิมพ์สากลเป็นผู้ริเริ่ม และสำนักพิมพ์อื่น ๆ ก็ทำตามต่อมา ทำให้เกิดนักเขียนการ์ตูนมากมาย โดยลดคุณภาพกระดาษและงานพิมพ์ลงทำให้ขายได้ในราคาถูก ถือเป็นสนามบ่มเพาะให้กับนักเขียนการ์ตูนหน้าใหม่มากมาย ส่วนนักเขียนการ์ตูนผู้สร้างสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ ที่ทำให้การ์ตูนนี้เป็นตำนานคือ จุก เบี้ยวสกุล โดยแนวเรื่องของการ์ตูนเล่มละบาท มีหลากหลายรูปแบบทั้งนิทาน ดราม่า เซ็กซ์ เรื่องผี เรื่องตลก โดยเฉพาะเรื่อง ‘ผี’ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก จนเกิดเป็นวลี ‘การ์ตูนผีเล่มละบาท’ ซึ่งนักอ่านวัยดึก (และใกล้ดึก) น่าจะคุ้นเคยดี 

กำเนิดการ์ตูนสั้น อ่านขำได้ภายในไม่ถึงนาที

ความนิยมในความสั้น เข้าถึงอารมณ์ขำขันได้อย่างรวดเร็ว ที่สืบเนื่องมาจากยุคการ์ตูนเล่มละบาท ก็เป็นจุดที่ทำให้เกิดการ์ตูน 3 ช่องจบ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘การ์ตูนแก๊ก’ ขึ้น ซึ่งความสั้นนี้ มองแง่หนึ่งคือใช้เวลาเขียนไม่นานก็จริง แต่ต้องใช้พลังสมองในการขบคิด เรียงร้อยเนื้อหาให้แหลมคมยิ่งกว่าการ์ตูนเรื่องยาวหรือสั้นอย่างมาก เพื่อให้สื่อสารทำให้ผู้อ่านอินและเก็ตได้ในทันที ซึ่งนับว่าเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย แต่กลับเป็นที่ถูกอกถูกใจคนบ้านเราเป็นอย่างมาก

โดยในช่วงแรก การ์ตูนแก๊กถ่ายทอดสู่สายตาประชาชนในสองสื่อหลักคือ การ์ตูนแก๊กล้อการเมืองในหน้าหนังสือพิมพ์ และการ์ตูนแก๊กที่รวมเล่มเป็นนิตยสารการ์ตูน 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 กลิ่นอายของการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีและความสนใจในบ้านเมืองได้เบ่งบานไปทั่วประเทศ ทำให้เกิดหนังสือพิมพ์ใหม่หลายฉบับ ส่งผลให้มีนักเขียนการ์ตูนล้อการเมืองที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้นอีกหลายคน ที่เรา ๆ ท่าน ๆ น่าจะเคยผ่านตากันมาบ้าง ได้แก่ ชัย ราชวัตร (สมชัย กตัญญตานนท์) เจ้าของผลงาน ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขวด เจ้าของผลงานการ์ตูนแก๊ก ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ หมื่น (ชูชาติ หมื่นอินกุล) นักเขียนการ์ตูน ในหนังสือพิมพ์มติชน และ อรุณ วัชระสวัสดิ์ นักเขียนการ์ตูน ในหนังสือพิมพ์มติชนและเนชั่น  เป็นต้น

ผลงานชิ้นสุดท้ายของชัย ราชวัตร ก่อนจะเกษียณเมื่อปี พ.ศ.2562
Credit : mgronline.com

สำหรับนิตยสารการ์ตูนแก๊ก มีจุดเริ่มต้นจากนักเขียนที่คนในรุ่นเราน่าจะคุ้นเคยกันดี อย่าง หนูจ๋า ของ จุ๋มจิ๋ม (จำนูญ เล็กสมทิศ) และ เบบี้ ของ อาวัฒน์ (วัฒนา เพ็ชรสุวรรณ) ซึ่งเป็นนักเขียนที่มีผลงานโดดเด่นสังกัด สำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ซึ่งกลายเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ของการ์ตูนสัญชาติไทยในเวลาต่อมา โดยการ์ตูนแก๊กของทั้งคู่ ต่างมีเล่มรวมเป็นผลงานของตัวเอง ตามแบบฉบับนักเขียนการ์ตูนก่อนหน้า 

(อ่านต่อหน้า 3 คลิกด้านล่างเลย)

ทว่า นายวิธิต อุตสาหจิต บรรณาธิการคนปัจจุบันของสำนักพิมพ์ดังกล่าวได้เล็งเห็นโอกาสในการออกนิตยสารรวมการ์ตูนแก๊ก โดยรวมผลงานของนักเขียนหลายคนในเล่มเดียว จึงทำให้เกิดนิตยสารการ์ตูนแก๊ก ‘ขายหัวเราะ’ ขึ้น และเมื่อขายหัวเราะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง จึงได้เกิดเป็น ‘มหาสนุก’ ซึ่งมีทั้งการรวมการ์ตูนแก๊กจากหลากหลายนักเขียนรวมกับการ์ตูนเรื่องสั้นไว้ในนี้ด้วย ถือเป็น 2 นิตยสารการ์ตูนแก๊กที่นำทัพครองใจคนไทยมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

และแม้จะมีอิทธิพลของการ์ตูนแนวมังงะของญี่ปุ่น ส่งผลต่อนักวาดการ์ตูนไทยในปัจจุบัน ประกอบกับการเข้ามาของเทคโนโลยี และสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบทั้งสตรีมมิงและแอนิเมชันจนแย่งเวลาการอ่านการ์ตูนแก๊กสไตล์ไทยในรูปแบบเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ก็ใช่ว่าการ์ตูนแก๊กเหล่านี้จะจางหายไป 

จากกระดาษสู่หน้าจอ เมื่อวันที่เทคโนโลยีทำให้การอ่านเปลี่ยน…

แม้เราจะไม่ค่อยได้เห็นนิตยสารการ์ตูนทุกหนแห่งเช่นในอดีต และดูเหมือนว่ายอดขายหนังสือการ์ตูนแก๊กจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แถมหนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้เป็นที่นิยมเช่นเก่าก่อนแล้ว แต่ที่จริงแล้ว การ์ตูนแก๊กไทยไม่หายไปไหน เพียงแต่บางส่วนเริ่ม ‘ปรับตัว’ นักเขียนใหม่ ๆ เริ่มไปเกิดในอีกพื้นที่หนึ่งเท่านั้น นั่นก็คือการอ่านการ์ตูนในแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือ การ์ตูนออนไลน์ นั่นเอง

แน่นอนว่าสำหรับนักอ่านการ์ตูนตัวยงคงคุ้นเคยกับการอ่านการ์ตูนเรื่องทั้งในเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันต่าง ๆ กันมาระยะใหญ่แล้ว แต่สำหรับ ‘การ์ตูนแก๊ก’ ล่ะ หลายคนอาจจะยังงง ๆ ว่าเป็นอย่างไร แฟน ๆ ที่สูงวัยหน่อยอาจจะไม่คุ้นชินกับการอ่านการ์ตูนแก๊กในลักษณะนี้ เราจึงแคปภาพตัวอย่างการ์ตูนแก๊กที่ว่ามาให้ดูกัน

หลายคนอาจบอกว่ามันไม่ได้ฟีลเหมือนอ่านกระดาษและไม่คุ้นชิน แต่ในโลกออนไลน์นี้ก็มีข้อดีคือ แต่ละมุกที่เล่นมักสดใหม่อยู่ในกระแส เนื่องจากไม่ต้องผ่านกระบวนการพิมพ์ที่ใช้เวลา แถมยังมีสีสันสดใสดึงดูดใจอีกด้วย จะนั่งเหงา ๆ บนรถไฟฟ้า หรือบนรถสาธารณะก็อ่านได้ง่าย เพียงแค่มีสมาร์ตโฟนและอินเทอร์เน็ตก็เข้าถึงได้ เรียกได้ว่า อ่านกันได้เพลินทุกที่เลยทีเดียว 

ยิ่งช่วงโควิดที่เราเน้น WFH (Work From Home) หรือ ทำงานจากบ้าน กักตัวอยู่ในบ้านกันแบบนี้ การ์ตูนแก๊กบนแพลตฟอร์มออนไลน์ก็ดูจะเป็นสื่อคลายเครียดที่สอดรับกับวิถีชีวิตแบบ New Normal ขึ้นทุกที เพราะไม่ต้องออกไปหาซื้อที่ไหน

สำหรับภาพด้านล่างนี้คือ การ์ตูนแก๊กผลงานคนไทยในแอปพลิเคชันอ่านการ์ตูนค่ายใหญ่ LINE WEBTOON ที่ปัจจุบันยังคงลงผลงานอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เริ่มจากซ้าย ได้แก่ เรื่อง กลั้นน้ำตา แก๊กสั้นที่ชวนหัวเราะทั้งน้ำตา / สยาม…ตามท้องเรื่อง นำเสนอเรื่องราวบ้านเมืองในแบบไทยพรีเรียด / Land of joy การ์ตูนล้อการเมืองและสังคมสุดแสบ เมื่อมาพร้อมสีสด และมุกทันกระแสที่ชวนสะดุ้งในแต่ละตอนก็ถือว่า เป็นการกระตุกต่อมคิดได้ไม่หยอกเหมือนกัน

ใครเครียด ๆ ลองไปตามหาอ่านนานาการ์ตูนแก๊กหลากรูปแบบดูกันได้เลย จะตามอุดหนุนแบบรูปเล่มหรืออ่านออนไลน์กดไลก์กดแชร์ ก็ถือเป็นการสนับสนุนนักเขียนการ์ตูนแก๊กได้ทั้งนั้น ยิ่งอ่านหลังอ่านบทความฉบับนี้แล้ว คุณอาจจะอ่าน แล้วอินไปกับการ์ตูนสุดสั้นพวกนี้ และยิ่งอยากสนับสนุนผลงานพวกเขายิ่งกว่าเดิม ซึ่งนั่นก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายของเราที่อยากให้กำลังใจนักเขียนการ์ตูนแก๊กไทย ให้มีพลังป้อนความสนุกสร้างรอยยิ้มในชั่วโมงที่เร่งรีบ ฝ่ากระแสความเครียดจากภาวะบ้านเมืองและสังคมต่อไปเรื่อย ๆ แล้วล่ะ

อ้างอิง

Wikipedia1/ Wikipedia2/ Wikipedia3 /Wikipedia4

Becommon.com

Museumthailand

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส