[รีวิว] Record of Ragnarok: พัง เพราะความคาดหวัง

Release Date

17/06/2021

ความยาว

1 ซีซัน 10 ตอน ตอนละ 24 นาที

[รีวิว] Record of Ragnarok: พัง เพราะความคาดหวัง
Our score
7.0

Record of Ragnarok

จุดเด่น

  1. พลอตดูน่าสนใจ ใช้ตัวละครที่คนทั้งโลกรู้จัก แม้จะอินบ้างไม่อินบ้างแต่ก็ดูน่าสนใจ โปรดักชันทำได้โอเคกับวิธีการเล่า

จุดสังเกต

  1. น่าจะแก้จุดอ่อนของมังงะแล้วปรับเป็นแนวทางของตัวเองไปเลยดีกว่า เพราะจุดอ่อนของมังงะมันไม่เหมาะเอามาทำแอนิเมชันที่เล่าแบบนี้เลย
  • บท

    6.0

  • โปรดักชัน

    7.5

  • งานพากย์

    8.0

  • ความสนุกตามแนวหนัง

    7.0

  • ความคุ้มค่าการรับชม

    7.0

เรื่องย่อ: ตัวแทนจากประวัติศาสตร์มนุษยชาติจะต้องลงสังเวียนประลองยุทธกับเทพในการต่อสู้ตัวต่อต่อ 13 ศึก เพื่อตัดสินชะตาของมวลมนุษยชาติ

คาดหวังมากก็ผิดหวังง่าย น่าจะเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงไปนัก เพราะโดยส่วนตัวแล้วเฉย ๆ กับเรื่องนี้ตั้งแต่เป็นมังงะ แม้จะขึ้นชื่อว่ามังงะยอดฮิตที่ตีพิมพ์ไปแล้วทั่วโลกกว่า 6 ล้านชุด และสร้างการพูดถึงในโลกออนไลน์ไม่น้อย ทว่าด้วยเนื้อหาที่ไม่ได้สร้างความผูกพันทางอารมณ์อะไรเป็นพิเศษกับคนอ่านอยู่แล้ว เปิดตัวมาก็รวบรัดจัดความว่าต้องสู้กัน แล้วก็ปล่อยคนอ่านไปแสวงหาความอินเอาเองในการเกริ่นภูมิหลังของแต่ละตัวละคร ที่แอบโกงด้วยการใช้ตัวละครที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์จริงเผื่อสร้างความใกล้ตัวผู้อ่านแบบรวบรัด ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าถึงรู้จักก็ใช่ว่าจะอินหรือผูกพันอะไรกับทุกตัวละครที่ใส่มา ไม่ว่าจะฝั่งเทพหรือมนุษย์

Record of Ragnarok
มังงะเขียนเรื่องโดย อุเมมุระ ชินยะ และ ฟุกุอิ ทากุมิ วาดภาพโดย อาจิจิกะ ลิขสิทธิ์พิมพ์ภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์ฟีนิกซ์

สำคัญเลยคือคนอ่านไม่เคยต้องรู้สึกเป็นมนุษย์ที่อยู่ในโลกนั้นและกำลังถูกเทพล้างโลกทิ้งจริง ๆ เพราะตัวละครที่แทนสายตาคนอ่านดันเป็นวัลคิรีที่เป็นกึ่งเทพและห่างไกลจากตัวเราด้วยเช่นกัน ไม่ต้องนับบรรดาตัวประกอบมนุษย์ที่ผลัดหน้ามาชมเป็นคู่ ๆ ไป พอเป็นแม่ทัพจีนก็เป็นคนดูคนจีน พอเป็นนักดาบญี่ปุ่นก็เป็นคนญี่ปุ่น คือถ้าโดนก็คงโดนเฉพาะที่เชื้อชาติความเชื่อตรงกับผู้อ่าน พอเปลี่ยนคู่ก็รีเซ็ตความอินกันใหม่

Record of Ragnarok
เทียบกับมังงะ แอนิเมชันดีไซน์ภาพมาได้ใกล้เคียงดีมาก ยังต้องชมไปถึงเสียงพากย์ไทยที่ถ่ายทอดอารมณ์ได้แบบญี่ปุ่นเลยทีเดียว

สำหรับมังงะเริ่มมาจะดูมีอะไรหน่อยก็ตอนการมาของ บุดดา ไม่ใช่เพราะใกล้ตัวคนไทย แต่เพราะตัวละครนี้สร้างจุดเปลี่ยนและทำให้มังงะไม่แบ่งขาวดำเป็นฝั่ง ๆ ชัดแบบช่วงแรก อีกประการคือดูเหมือนจะเป็นตัวละครที่อยู่เส้นเรื่องกลางยาว ๆ ได้ ไม่เหมือนนักสู้ที่ชนะหรือแพ้แล้วจบไป ทว่าข้อดีนี้ก็ยังไม่ได้อยู่ในซีซันแรกของแอนิเมชันทางเน็ตฟลิกซ์เรื่องนี้ ดังนั้นส่วนเนื้อหาของแอนิเมชันก็ขอรีวิวตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า เป็นแนวบู๊ที่ดูเอามันเหมือนมวยเปลี่ยนคู่ ต่อยสนุกก็ดีไป ต่อยไม่สนุกก็รอคู่ใหม่

Record of Ragnarok

บางคนเข้าใจเนื้อหาแนวนี้ดีก็คงไปคาดหวังต่อที่งานโปรดักชันว่าต้องเน้นสู้กันเข้ม ๆ เพราะไม่ต้องไปคำนึงกังวลส่วนงานเนื้อเรื่องนัก โดยได้สตูดิโอแอนิเมชัน Graphinica เจ้าของผลงาน ‘Juni Taisen: Zodiac War’ และ ‘Hello World’ และมีผลงานอนิเมะแนวต่อสู้ที่เข้าทางกับศึกคนชนเทพ ไม่ว่าจะเป็น ‘Blade of the Immortal’ ‘Promare’ หรือ ‘Girls und Panzer’ ซึ่งก็มีงานคุณภาพดี ๆ พอให้หวังได้เลย

แต่ต้องอย่าลืมว่าสำหรับ ‘Record of Ragnarok’ นั้น หนึ่ง นี่เป็นผลงานแอนิเมชันเน็ตฟลิกซ์ ที่ว่ากันตรง ๆ ก็ต้องบอกว่าลุ้นเหมือนจับฉลาก ผลงานก่อนหน้าไม่ได้รับประกันอะไรได้นัก ค่ายดัง ๆ มาตกม้าตายในเน็ตฟลิกซ์ก็มีเห็นไม่น้อย ยิ่งถ้าเพิ่งผ่านงานแอนิเมชันอย่าง ‘พ่อบ้านสุดเก๋า (The Way of the Househusband)’ มาแล้ว แม้จะเป็นสไตล์มังงะตลก แต่คงไม่มีใครคาดว่าจะแอนิเมตได้ตลกกว่าตัวเรื่องขนาดนั้น ส่วนตัวจึงไม่ได้คาดหวังอะไรไว้เลย แม้ตัวมังงะจะเปิดทางให้ใส่ฉากบู๊ทะลุฟ้าได้ทั้งตอนก็ตาม

Record of Ragnarok

สอง คนที่พูดว่ามังงะสนุกกว่าแอนิเมชัน มันก็มีเหตุผลของมันอยู่ เพราะมังงะผู้อ่านเป็นผู้ควบคุมความไวของการอ่าน ตอนไหนที่ฉากอลังเราก็ค้างดูนาน ช่วงไหนสนุกมันเราอาจเปิดตามความไวของอารมณ์ ช่วงไหนน่าเบื่อเราก็อาจข้าม ๆ ผ่าน ๆ และแน่นอนตรงนี้ที่ไม่เข้าใจหรืออยากคิดไตร่ตรองเราหยุดพินิจที่หน้านั้น ๆ ได้

ทว่ากับแอนิเมชันผู้ควบคุมการเล่าคือแอนิเมเตอร์ ถ้าเขาเก่งพอเขาก็จะเดาอารมณ์ผู้ชมได้ว่าตรงไหนควรเร่งควรผ่อน ควรให้เวลา และก็ต้องยอมรับว่ามังงะให้เวลากับการต่อสู้ที่มากพอ ในขณะที่แอนิเมชันให้ได้น้อยกว่า เพราะเอาจริง ๆ มันก็แทบไม่มีอะไรนอกจากการผลัดใส่ไม้ตายใส่กัน แล้วดูว่าใครซ่อนอะไรไว้เหนือกว่า

Record of Ragnarok

ความสนุกของการ์ตูนแนวนี้จึงอยู่ที่การบรรยายของผู้ชมในเรื่อง ที่มักมีกูรูมาคอยทำหน้าที่ตกใจและเล่าว่าเบื้องหลังไม้ตายหรือวิธีการพลิกสถานการณ์นั้นคืออะไร แต่ใน ‘Record of Ragnarok’ นั้นถึงจะมีบ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวละครที่เรารู้สึกอะไรด้วยมากมายนัก ไม่มีบทบาททางอารมณ์เท่าที่ควรทั้งช่วยลุ้นหรือตลก โม้หลุดโลก อะไรแบบนั้น ผู้ชมมากมายทั่วสนามก็ไม่ได้ช่วยอะไรได้เท่าไหร่ คนเยอะมากแต่กลับรู้สึกอารมณ์โดยรวมมันแห้งแล้งเหลือเกิน แถมแอนิเมชันยังให้น้ำหนักเยอะไปทางบิ้วที่มาที่ไปตัวละครมากกว่า ฉากย้อนอดีตเอามาใช้ได้ก็ดี แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการต่อสู้จริง ๆ มันบางไปหน่อยเท่านั้น

Record of Ragnarok

สาม การต่อสู้เป็นแบบคู่ ๆ จบไป ก็ต้องยอมรับว่าทำให้ขาดฉากพวกโชว์ของใส่ลูกจ๊อกที่เร่งเร้าอารมณ์ผู้อ่านไปด้วย นอกจากนี้การเผยท่าไม้ตายใส่กันไปเน้นไปที่ท่าเหมือนสโลว์หยุดเวลา ที่เน้นให้เห็นความไวเกินพิกัดกันมาก จนแอนิเมตได้น้อยไปหน่อย จริง ๆ มองแบบนี้ก็เข้าใจและรู้สึกว่าแอนิเมชันทำได้ดีพอประมาณนะถ้าประเมินตามสเกลแอนิเมชันเน็ตฟลิกซ์ จำนวน 3 คู่กับจำนวนตอนที่ 10 ตอนนั้น เฉลี่ยตกคู่ละ 3 ตอน จริง ๆ ก็เป็นความยาวที่น่าจะกำลังโอเค แต่กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกยานยืดก็เพราะแบ่งสัดส่วนการเล่าที่ไม่เอาใจคอการ์ตูนต่อสู้นั่นล่ะ แต่ถามว่าพอรับได้ไหมถ้ามองว่าคู่ระดับเทพปะทะกันไม่ควรมากมาย ไม่กี่กระบวนก็รู้ผล มันก็คงเป็นอย่างนั้นเอง

Record of Ragnarok

สรุป นี่เป็นแอนิเมชันที่ไม่ได้คาดหวังอะไรไว้สูง ถือว่าดูได้ดูสนุกพอประมาณอยู่นะ

record of ragnarok

ปล. อยากให้ทำถึงตอนบุดดาเปิดตัวนะน่าจะสนุกขึ้น แต่ก็ไม่แน่ว่าจะได้ฉายบ้านเราหรือเปล่าล่ะนะ