แดเนียล คิช (Daniel Kish)ชายอเมริกันวัย 54 ปี เขาเป็นชาวแคลิฟอร์เนียโดยกำเนิด ชื่อเสียงของแดเนียล คิช เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างเมื่อปี 2000 หลังจากเขาก่อตั้ง World Access for the Blind (WAFTB) องค์กรไม่แสวงผลกำไร คิชได้ใช้องค์กรของเขาเป็นสื่อในการถ่ายทอดวิชาความรู้เกี่ยวกับเทคนิค Human Echolocation (การกำหนดที่ตั้งวัตถุด้วยเสียงสะท้อนในมนุษย์) ที่เขาเชี่ยวชาญให้กับเด็กตาบอดมาแล้วกว่า 500 คน

แดเนียล คิช นั้นไม่ได้ตาบอดโดยกำเนิด แต่เขาโชคร้ายที่เป็นมะเร็งที่ลูกนัยน์ตาชนิดรุนแรง มีชื่อเฉพาะโรคนี้ว่า retinoblastoma ทำให้หมอต้องตัดสินใจควักดวงตาเขาออกทั้ง 2 ข้างเพื่อรักษาชีวิตเขาไว้ตั้งแต่อายุได้เพียง 13 เดือนเท่านั้น คิชเล่าว่าเขาได้เรียนรู้เทคนิคการเดาะลิ้นเพื่อรับรู้สภาวะรอบตัวมาตั้งแต่เขายังจำความไม่ได้ คิชเปรียบเทียบว่า “ก็เหมือนกับคนตาดีที่ไม่เคยต้องสอนตัวเองให้รู้จักการมองเห็นนั่นแหละ”

พอเขาอายุได้ 11 ปี ก็มีเพื่อนสนิทของเขาที่เป็นเด็กฉลาดบอกกับคิชว่าเทคนิคที่เขาทำอยู่นั้นมันมีชื่อเรียกว่า “echolocation” เป็นเทคนิคเดียวกับที่ค้างคาวใช้ขณะบินในความมืด ส่วนคิชอธิบายเทคนิคที่เขาใช้ว่าเขาเดินไปไหนมาไหนได้ด้วยการฟังเสียงเดาะลิ้นของเขาที่ไปกระทบพื้นผิวต่าง ๆ รอบตัวแล้วสะท้อนกลับมา

การทำงานของ echolocation

คิชอธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเรานั้นจะมีเสียงสะท้อนที่มีลักษณะจำเพาะ เขาสามารถระบุได้ว่านี่คือเสียงสะท้อนจากต้นไม้ เฉพาะแค่ต้นไม้นี่ เสียงสะท้อนจากลำต้นกับใบ ก็ให้เสียงสะท้อนที่แตกต่างกันแล้ว ลำต้นไม้นี่เป็นวัตถุทึบตันจะสะท้อนเสียงได้ชัดเจน ส่วนใบไม้นั้นจะสะท้อนและหักเหเสียงไปด้วย ทำให้คลื่นเสียงกระจายทิศทางไปรอบ ๆ เขาสามารถระบุได้ว่ารอบ ๆ ตัวเขามีอะไรบ้างจากเสียงเดาะลิ้นของเขาเอง

“มันช่วยสร้างภาพ 3 มิติขึ้นมาได้ในใจของผมเป็นภาพที่มีมิติ มีความลึก มีตัวตน และมีรายละเอียด มันเหมือนกับแสงสว่างที่ส่องมาท่ามกลางความมืดมน”

“บ่อยครั้งเลยนะที่ผมสามารถพาตัวเองออกจากห้องประชุมมาได้เร็วกว่าคนตาดีเสียอีก เพราะผมสามารถหาทางออกได้เร็วกว่า ต่อให้ผมตัองอยู่ในสถานที่มีเสียงอึกทึก อย่างคอนเสิร์ตไรแบบเนี้ย ผมก็ไม่รู้สึกวิตกกังวลเลยนะ ผมก็แค่เดาะลิ้นให้เสียงดังขึ้นหน่อย แค่นี้เสียงคลิกของผมก็สามารถทะลุผ่านเสียงเหล่านั้นได้ คือผมค่อนข้างคุ้นเคยกับเสียงของผมเองไง ถ้าถามผมว่ารู้สึกกระดากอายไหมถ้าคนรอบข้างได้ยินผมทำเสียงเดาะลิ้น ผมก็ไม่นะ”

“ผมไม่ได้มีหูทิพย์เหนือมนุษย์หรอกนะ แต่คนชอบแซวว่าผมเป็น Batman ผมก็แค่ฝึกที่จะฟังและทำความเข้าใจกับเสียงสะท้อนแค่นั้นเอง ผมว่าใคร ๆ ก็ทำได้เหอะ ไม่ว่าจะตาบอดหรือตาดีก็ตามแต่ มันไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ระดับสูงซะหน่อย เอาง่าย ๆ นะแค่คุณถือหนังสือเล่มหนึ่งไว้ข้างหน้าแบบนี้แล้วคุณก็เดาะลิ้นใส่หนังสือ ลองอีกครั้งเอาหนังสือออกแล้วเดาะลิ้นอีกที แค่นี้คุณก็บอกความแตกต่างของเสียงสะท้อนได้แล้ว เปรียบเทียบง่าย ๆ ก็เหมือนกับเวลาที่คุณอยู่ในห้องโล่ง ๆ กว้าง ๆ นั่นแหละ ที่คุณจะได้ยินเสียงเอกโค่ชัดเจน”

Daniel Kish speaks at TED in 2015.

“ตอนที่ผมเรียนวิทยาลัยนั้นผมก็ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “echolocation” (การหาตำแหน่งที่อยู่ของวัตถุโดยคิดจากเวลาและทิศทางของการสะท้อนกลับ) ในขั้นตอนการค้นคว้านั้น ผมต้องย้อนกลับกระบวนความคิดความเข้าใจของผมใหม่ทั้งหมดว่า ผมเข้าใจกระบวนการนี้ได้อย่างไรกัน แนวทางที่ผมคิดได้ก็คือ ผมต้องสร้างภารกิจให้ตัวเองขึ้นมา แล้วก็คิดหาทางผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านี้ไปให้เร็วขึ้น เร็วขึ้น”

“ถึงแม้ว่าการเดาะลิ้นเนี่ยจะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์อย่างมาก แต่ก็มีเด็กตาบอดอีกมากที่ไม่กล้าลองทำกัน บางทีพวกเขาอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องสมควรที่จะทำในที่สาธารณะ เค้ากังวลว่าการเดาะลิ้นในขณะที่มีผู้คนรอบข้างจะทำให้เขาดูเป็นตัวประหลาด มันน่าเสียดายตรงนี้แหละ ที่พวกเขาแคร์สายตาคนรอบข้างมากเกินกว่าที่จะไขว่คว้าหาอิสระของตัวเอง”

“มาถึงตอนนี้ รู้มั้ยว่าผมเดินทางไปทั่วโลกมาแล้วนะ ทุกครั้งที่ผมเข้าไปในสนามบิน เจ้าหน้าที่ก็จะพยายามจับผมไปนั่งรถเข็นคนพิการ พวกเขาจะเอาพาสปอร์ตผมไปดำเนินการให้ มันทำให้ผมรู้สึกเหมือนเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาไปเลย บางคนที่เดินทางไปกับผมด้วยก็กำชับไม่ให้ผมลงจากเครื่องบินจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาช่วยเหลือผม”

“งานที่ผมอุทิศชีวิตให้ก็คือการสอนเด็กตาบอดให้รู้จักวิธีการใช้ echolocation ซึ่งผมตั้งชื่อให้ใหม่ว่า Flashsonar ยิ่งถ้าคุณเข้าใจวิธีการนี้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น คุณก็จะเดาะลิ้นได้ต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติมากขึ้น ก็เหมือน ๆ กับการกะพริบตานั่นแหละ บางทีคนรอบข้างยังไม่รู้สึกเลยว่าคุณกำลังเดาะลิ้นอยู่ ทำให้คุณไม่รู้สึกกระดากที่จะทำ”

“ชีวิตผมโชคดีอย่างที่ผมเติบโตมาโดยที่พ่อแม่ผมเห็นชอบวิธีการเดาะลิ้นของผม แล้วก็สนับสนุนให้ผมได้มีชีวิตในวัยเด็กได้เหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไป อย่างเช่นเพื่อน ๆ ของผมเริ่มมีจักรยานกันไว้ขี่ไปไหนมาไหน ผมเองก็อยากมีมั่ง ผมก็เลยหัดขี่จักรยานด้วยตัวเอง ด้วยการขี่เลียบข้างกำแพง แล้วผมก็ใช้วิธีการเดาะลิ้นใส่กำแพงทำให้ผมสามารถขี่เป็นแนวตรงได้ แล้วในที่สุดผมก็สามารถขี่จักรยานไปโรงเรียนได้เอง บางวันก็ขี่ไปหาเพื่อนที่บ้าน ด้วยวิธีการ echolocation”

“ผมไม่ได้มองตัวเองว่าแตกต่างหรือมีความสามารถพิเศษเหนือกว่าคนตาบอดทั่วไปหรอกนะ ผมได้เข้าเรียนในโรงเรียนธรรมดาทั่วไป แล้วก็ไม่เคยโดนแกล้งด้วย แถมการที่ผมเดาะลิ้นแล้วไปไหนมาไหนได้ กลับทำให้เพื่อน ๆ ชื่นชมผมด้วยซ้ำ”

“ทุกวันนั้นผมสามารถขึ่จักรยานในถนนที่มีรถพลุกพล่านได้เลยนะ หรือขับเข้าป่าก็ยังได้ ผมไม่เคยชนคนเดินถนนเลยสักครั้ง เพราะผมไม่เคยขี่บนทางเท้า รถยนต์เนี่ยเป็นตัวสะท้อนเสียงได้อย่างดีเลย ทำให้ผมหลีกเลี่ยงรถพวกนี้ได้ง่าย แต่ผมจะไม่คุยอวดนะะว่าผมไม่เคยประสบอุบัติเหตุ ว่ากันตามตรงไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรมันก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้นแหละ”

“ผมไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะออกไปผจญภัยบนท้องถนนในช่วงโมงเร่งด่วนนักหรอกนะ แต่ผมก็ภูมิใจว่าผมสามารถไปได้ถ้าจำเป็นจริง ๆ ฟังดูมันก็ช่างเป็นเรื่องย้อนแย้งกันอยู่นะ เพราะว่าภารกิจของผมก็คือการกระตุ้นคนตาบอดให้สามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างเช่นคนปกติ แต่เมื่อใดที่ผมจบงาน ผมกลับรักที่จะอยู่ห่างจากเรื่องพวกนี้แล้วขี่จักรยานขึ้นไปบนภูเขา ที่ซึ่งมีแค่ผมกับเสียงเดาะลิ้นของผมเท่านั้น”

อ้างอิง อ้างอิง