ทุกวันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ทั้งในโทรศัพท์มือถือ ในบ้าน ในรถยนต์ หรือแม้แต่ในที่ทำงาน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า AI ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้นจริง วันนี้ขอบเขตของ AI พัฒนาศักยภาพไปมากขึ้น ถึงขั้นไปมีบทบาทในงานตำรวจ ช่วยสแกนหาหน้าคนร้ายจากกล้องวงจรปิดอะไรแบบนี้ แต่เราก็ไม่คาดคิดนะว่ามนุษย์จะเชื่อถือศรัทธาความแม่นยำของ AI ขนาดที่ว่านำมาใช้เป็นหลักฐานบนชั้นศาล เอาผิดผู้ต้องหากันแล้ว ซึ่งข่าวที่เรานำมาเล่านี่ก็มาจากความผิดพลาดของ AI ที่เป็นสาเหตุให้คุณปู่รายหนึ่งต้องถูกตัดสินจำคุกไป 11 เดือนโดยปราศจากความผิด

คุณปู่ไมเคิล วิลเลียมส์ เล่าเหตุการณ์

เหตุเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2020 ไมเคิล วิลเลียมส์ (Michael Williams) ชายผิวดำวัย 65 ปี ชาวเมืองชิคาโก้ คืนหนึ่งวิลเลียมส์ขับรถออกไปซื้อบุหรี่ เขาพลันมองไปเห็น ซาฟาเรียน เฮอร์ริง (Safarian Herring) หนุ่มวัย 25 ปี ยืนโบกรถอยู่ข้างถนน คุณปู่วิลเลียมส์จำได้ทันทีว่าไอ้หนุ่มคนนี้อยู่แถวบ้านเขาเอง ก็เลยจอดรับขึ้นรถมา พอวิ่งต่อไปได้อีกไม่นาน ก็มีรถยนต์อีกคันขับมาขนาบข้าง ชายคนที่นั่งฝั่งผู้โดยสารก็ไม่พูดพร่ำทำเพลง หยิบปืนพกขึ้นมาแล้วก็ยิงเฮอร์ริงเข้าที่หัว คุณปู่รวบรวมสติแล้วรีบขับรถพาเฮอร์ริงไปส่งโรงพยาบาล แต่แพทย์ก็ยื้อชีวิตเฮอร์ริงไว้ได้อีกไม่กี่วัน เขาก็เสียชีวิต นี่คือคำให้การจากคุณปู่ไมเคิล วิลเลียมส์

วิลเลียมส์คิดว่าเรื่องราวคงจะจบสิ้นเพียงแค่นั้น แต่กลายเป็นว่า 3 เดือนให้หลัง ตำรวจก็มารับตัวเขาไปสอบปากคำเพิ่มเติม แล้วจบลงด้วยการแจ้งข้อหา ‘ฆาตรกรรมโดยเจตนาและมีการวางแผนไว้ก่อน’
“ตอนที่ตำรวจแจ้งข้อหาผมนั้น มันเหมือนกับว่าบางสิ่งบางอย่างในร่างผมได้ตายไปเรียบร้อยแล้ว”
คุณปู่วิลเลียมส์กล่าว

คุณปู่ไมเคิล วิลเลียมส์ และภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก

แล้วคุณปู่ก็โดนส่งตัวเข้าเรือนจำในเดือนสิงหาคม 2020 การติตคุกในวัยนี้ ย่อมมีผลต่อสภาพจิตใจอย่างมาก ภรรยาคุณปู่ก็ทำได้แค่เพียงโทรมาพูดคุยให้กำลังใจวันละ 3 ครั้ง ชวนคุยเรื่องสนุก ๆ อย่างเช่นความทรงจำตอนที่ได้ไปเที่ยวกับหลาน ๆ ความสุขตอนที่คุณปู่วิลเลียมส์ถักผมเปียให้เธอ หรือเรื่องอะไรก็ได้ที่ชวนให้คุณปู่ได้หลุดพ้นจากความเป็นจริงที่ต้องอยู่ในห้องขังแคบ ๆ นี่เป็นเพียงกิจกรรมเดียวที่ช่วยจรรโลงใจให้กับคุณปู่วิลเลียมส์ แต่แล้วทางเรือนจำก็จำกัดการโทรให้เหลือเพียงสัปดาห์ละไม่กี่ครั้งเท่านั้น ถึงตอนนี้ก็ทำให้คุณปูเริ่มท้อแท้อย่างหนัก ไม่คิดว่าจะมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้แล้ว อยากจะกินยาฆ่าตัวตายให้จบสิ้นชีวิต

ซาฟาเรียน เฮอร์ริง เหยื่อในคดีนี้

หลักฐานหลักที่ทางตำรวจใช้ในการมัดตัวคุณปู่วิลเลียมส์ก็คือ วิดีโอหน้ารถจากรถคันอื่น ๆ ที่ขับผ่านไปมาในช่วงเกิดเหตุ และเทปบันทึกเสียงจากเซนเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนที่ติดตั้งในบริเวณนั้น อัยการใช้หลักฐานเหล่านี้ยื่นต่อศาลว่า ‘ด้วยเทคโนโลยีทางด้านเสียงที่ผ่านการวิเคราะห์ด้วยระบบอัลกอริธึมทรงประสิทธิภาพได้ชี้ชัดว่า ไมเคิล วิลเลียมส์ คือผู้ที่ลั่นไกสังหาร ซาฟาเรียน เฮอร์ริง ภายในรถยนต์ของวิลเลียมส์’

“ผมนี่พยายามขบคิดหัวแทบแตกเลยนะ ว่าพวกเขาเอาเทคโนโลยีอะไรแบบนี้มาตัดสินผมได้ไง มันไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย”

โฃโก่ลนริษัท ShotSpotter

เทคโนโลยีที่ว่านี้มีชื่อว่า ShotSpotters เป็นระบบเซนเซอร์ตรวจจับเสียงดังที่ติดตั้งไว้หลายจุดทั่วสหรัฐอเมริกา และเซนเซอร์ตัวที่ใกล้กับที่เกิดเหตุในคืนนั้น ได้ระบุตำแหน่งว่าเป็นเลขที่ 5700 ถนนเลคชอร์ พอเซนเซอร์ตรวจจับเสียงดังได้ก็จะส่งสัญญาณเตือนและส่งโลเคชันไปยังสถานีตำรวจที่อยู่ใกล้สุด จากหลักฐานเพียงเท่านี้ล่ะ ที่อัยการใช้สรุปสำนวนว่า คุณปู่ไมเคิล วิลเลียมส์ คือผู้ต้องหาในคดีนี้ ทั้งที่รายงานประกอบจากตำรวจก็ไม่สามารถสรุปหาเหตุจูงใจ ประจักษ์พยาน หรือปืนที่เป็นอาวุธสังหารได้เลย

อีกกรณีหนึ่งที่อัยการดูจะปักใจว่าคุณปู่ให้การเท็จก็เพราะมีหลักฐานเป็นวิดีโอจากกล้องวงจรปิด มองเห็นรถของปู่วิลเลียมส์จอดติดไฟแดงอยู่ รถอีกคันที่จอดอยู่ข้างกันนั้น ก็ขึ้นกระจกข้างปิดอยู่ตลอดเวลา จึงเป็นไปไม่ได้ว่าผู้ยิงจะยิงมาจากรถคันนั้นดังที่ปู่กล่าวอ้าง บวกกับความปักใจจากประวัติของคุณปู่ตอนยังหนุ่ม ๆ ที่เคยติดคุกในคดีพยายามฆ่าและพกพาปืนในที่สาธารณะ

แต่สุดท้ายสำนักงานอัยการก็ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากทางอัยการผู้รับผิดชอบคดีนี้อย่างถี่ถ้วนแล้วก็สรุปว่า
“ผลสรุปว่าบรรดาหลักฐานที่เรามีทั้งหมดนั้นยังไม่มีความหนักแน่นพอที่จะใช้ในการพิสูจน์หลักฐานในคดีนี้”

ที่สำนักงานอัยการสรุปมาแบบนี้ก็เพราะหลักฐานที่อัยการนำมายื่นประกอบคดีก็คือ บันทึกจากเซนเซอร์ตรวจจับเสียงของ ShotSpotter ในขณะเกิดเหตุนั้นระบบจำแนกเสียงว่าเป็นเสียง ‘พลุ’ แต่พอสัญญาณถูกส่งมาที่สำนักงานของ ShotSpotter เจ้าหน้าที่ก็แก้ไขข้อมูลใหม่ว่าเป็น ‘เสียงปืน’

หน้าตาของเซนเซอร์ ShotSpotter

ยังไม่จบแค่นั้น วิศวกรของ ShotSpotter ยังได้แก้รายงานที่ส่งให้ตำรวจในภายหลังว่า เสียงที่เซนเซอร์บันทึกได้นั้น แท้จริงแล้วอยู่ห่างจากจุดที่คุณปู่วิลเลียมส์ขับรถอยู่ 1 ไมล์ ทาง ShotSpotter ยืนยันว่านี่คือกระบวนการทำงานของบริษัทที่จะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์อีกครั้งจึงได้แก้ไขเพื่อความถูกต้อง

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้หลักฐานต่าง ๆ ที่ได้จาก ShotSpotter ล้วนไม่มีความหนักแน่นน่าเชื่อถือพอที่จะเอาผิดกับ ไมเคิล วิลเลียมส์ ได้ สุดท้ายศาลก็ตัดสินยกฟ้องคดีไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2021

ถึงแม้ว่านี่คือกรณีที่ผิดพลาดจาก ShotSpotter แต่ทุกวันนี้เซนเซอร์ ShotSpotter ก็ถูกติดตั้งไปทั่วประเทศแล้ว และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ก็ถูกใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาลมาแล้ว 91 คดี

“ข้อมูลของเราที่รวบรวมโดยเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญนั้น ได้ช่วยให้อัยการใช้ในการพิสูจน์หลักฐานดำเนินคดีได้จริง”
ข้อความที่ ShotSpotter ใช้ในการโฆษณา

อินโฟกราฟิกแสดงการทำงานของ ShotSpotter

เมื่อหลักฐานจาก ShotSpotter ถูกอัยการนำมาใช้เป็นหลักฐานมากขึ้น ทนายจำเลยก็ยิ่งเกิดข้อกังขามากขึ้น แล้วก็เคยเกิดคดีโป๊ะแตกมาแล้วในปี 2016 ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลเมืองโรเชสเตอร์ คดีนั้นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมีส่วนพัวพันในคดียิงกัน พอล กรีน (Paul Greene) วิศวกรจาก ShotSpotter ได้ขึ้นให้การว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัทถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งให้เปลี่ยนข้อมูลในรายงานจากที่ระบุว่าเป็นเสียงเฮลิคอปเตอร์ ให้เป็นเสียงปืนแทน

ถึงอย่างนั้น ข้อมูลจาก ShotSpotter ก็ถูกยอมรับเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดีเพิ่มมากขึ้น ถึงขนาดที่ว่าเว็บไซต์ของ ShotSpotter ยังอวดอ้างว่าเขาคือ ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนงานของตำรวจ ระบบอัลกอริธึมของ ShotSpotter ได้ช่วยหยุดความรุนแรงในการใช้อาวุธปืน จากการจำแนกเสียงปืนได้ถึง 14 ล้านครั้ง

อุปสรรคขัดขวางธุรกิจของ ShotSpotter รายสำคัญสุดก็เห็นจะเป็นหน่วยสืบสวนของสำนักข่าวเอพี (Associated Press investigation) ที่ได้รวบรวมเอาเอกสารภายใน อีเมล และสัญญาสั่งซื้อต่าง ๆ เทปบันทึกการสัมภาษณ์อีกจำนวนมาก ที่ล้วนแล้วแต่เจอช่วงโหว่ในการนำข้อมูลของ ShotSpotter มาใช้เป็นหลักฐานในชั้นศาล AP ยังพบว่าไมโครโฟนของ ShotSpotter นั้นเกิดการผิดพลาดในการตรวจจับเสียงปืน ที่แม้จะมีเสียงดังขึ้นจากด้านใต้ของไมโครโฟนเองเลย แล้วยังระบุผิดพลาดว่าเสียงพลุ หรือเสียงท่อไอเสียรถดังปุ้ง ว่าเป็นเสียงปืน

จำนวนครั้งที่เซนเซอร์ตรวจจับเสียงปืนได้ในฟลอริดาใอบ 3 ปี

แต่กระนั้น ShotSpotter ก็ยังมั่นอกมั่นใจว่าระบบอัลกอริธึมของเขานั้นเป็นเทคโนโลยีที่เสถียรอย่างแท้จริง แต่ไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเบื้องลึก เพราะเป็นความลับทางการค้า ไม่อาจให้สาธารณชน ลูกขุน หรือคณะกรรมการของตำรวจรับรู้ได้ แต่ขออธิบายแค่เพียงขั้นตอนในการทำงานว่า เมื่อเซนเซอร์ตรวจจับแรงสั่นสะเทือนที่คาดว่าเป็นเสียงปืนได้ จะส่งข้อมูลเสียงมายังสำนักงาน เจ้าหน้าที่จะฟังเสียงที่บันทึกไว้ แล้วจะวิเคราะห์อีกครั้งหนึ่งเพื่อยืนยันหรือแก้ไข ซึ่ง ShotSpotter ยอมรับว่าในขั้นตอนที่ใช้มนุษย์มาวินิจฉัยก็อาจจะมีความผิดพลาดได้ เมื่อระบุว่าเป็นเสียงปืน เจ้าหน้าที่ก็จะส่งข้อมูลไปยังสถานีตำรวจ พร้อมทั้งระบุสถานที่ที่จับเสียงได้ และจำนวนนัดที่ยิง จากบันทึกของศาล ในคดีที่ผ่านมาก็พบว่ามีการเปลี่ยนข้อมูลในขั้นตอนนี้อาจจะด้วยความผิดพลาดหรือตั้งใจก็เป็นได้

พอข้อผิดพลาดเหล่านี้หลุดรอดออกไปสู่สาธารณชน ก็ส่งผลให้เกิดความไม่พอใจในวงกว้าง ด้วยเหตุที่ว่าตำรวจยังมีทัศนคติเหยียดผิว กลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนก็ออกมาประท้วงว่า กระบวนการยุติธรรมจะศักดิ์สิทธิ์ได้นั้น จะต้องไม่มีอิทธิพลภายนอกเข้ามาก้าวก่ายการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์

ราล์ฟ คลาร์ก CEO ของ ShotSpotter

เสียงสำคัญที่สุดที่ออกความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ราล์ฟ คลาร์ก (Ralph Clark) CEO ของ ShotSpotter นั่นเอง ที่ยอมรับเองเลยว่าระบบ AI ในทุกวันนี้นั้น “ยังไม่สามารถไว้วางใจได้”

“ประเด็นสำคัญคือ เมื่อใดที่เราจะระบุว่ามีการยิงปืนเกิดขึ้นนั้น จำเป็นต้องมีตาดูหูฟังประกอบด้วย สายตาและหูมนุษย์ถือว่าโอเค”

ทาง ShotSpotter ยังอ้างอีกด้วยว่าบริษัทได้เคยเตือนสำนักอัยการแล้วว่าอย่าเพิ่งยึดมั่นถือมั่นกับเทคโนโลยีของพวกเขานัก โดยเฉพาะกรณีที่เกิดเหตุยิงกันในพาหนะหรือในอาคาร ทั้ง ๆ ที่กรมตำรวจก็เพิ่งเซ็นสัญญาซื้อเทคโนโลยีนี้ไปด้วยมูลค่า 33 ล้านเหรียญ

แต่ที่สัญญามูลค่าสูงนี้เกิดขึ้นได้ ทั้งที่ผู้ผลิตเองก็ยังไม่มั่นใจ นั่นก็เพราะอธิบดีกรมตำรวจมั่นใจไปแล้ว เขากล่าวว่าเทคโนโลยีของ ShotSpotter คือผู้พลิกสถานการณ์ ว่าแล้วเซนเซอร์ของ ShotSpotter ก็ถูกติดตั้งไปใน 110 เมืองทั่วประเทศ โดยเฉพาะในชุมชนของคนผิวดำและชาวลาติน เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าติดตั้งแล้วดีมากเลย พอเซนเซอร์เตือนพวกเขาก็สามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ทันท่วงที ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านปลอดภัยกันขึ้นมาก

กลุ่มนักเคลื่อนไหวออกมาประท้วงที่กรมตำรวจทำสัญญาสั่งซื้อเทคโนโลยี ShotSpotter

เมื่อมีคนชื่นชม ก็มักจะมีคนโต้แย้ง และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็คือเจ้าหน้าที่วิจัยทางวิชาการ ที่ทำการตรวจสอบใน 68 เมืองใหญ่ ย้อนไปตั้งแต่ปี 1999 จนถึงปี 2016 แล้วสรุปออกมาว่า เทคโนโลยีของ ShotSpotter ไม่เห็นจะช่วยลดคดียิงกันหรือทำให้ชุมชนมีความปลอดภัยขึ้นแม้แต่น้อยเลย

เบรนแดน แมกซ์ ทนายของคุณปู่วิลเลียมส์ ก็ได้ทีสวนกลับทางอัยการบ้างว่า ทำไมตอนว่าความไม่เห็นเอาข้อมูลสำคัญแบบนี้มาแชร์กันบ้างเลย

แม้ว่าวันนี้คุณปู่วิลเลียมส์จะได้พบกับอิสรภาพแล้วก็ตาม คุณลุงก็ยังไม่รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัยเลย เวลาแกจะออกจากบ้านไปไหนแต่ละที แกจะต้องคอยสอดส่องว่ารอบตัวแกมีเซนเซอร์ของ ShotSpotter ติดตั้งอยู่แถวนั้นหรือไม่ เพราะแกเกือบจะต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกจนตายมาแล้ว

“พวกเขาก็เอาไอ้อุปกรณ์นี่มาติดกันแค่แถวชุมชนคนผิวดำจน ๆ เท่านั้นแหละ ที่อื่นไม่เห็นจะไปติดเลย พวกเรากี่คนแล้วล่ะที่ต้องมาลงเอยในสถานการณ์แบบเดียวกันที่ชั้นเจอนี่ล่ะ”

ไอ้เรื่องสัญญาสั่งซื้อของห่วยแต่ราคาสูงนี่มีแทบทุกประเทศเลยนะครับ

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง