ยุค 90s ในสหรัฐอเมริกายังเป็นช่วงที่สังคมไม่เปิดกว้างทางสิทธิเสรีภาพชาวเกย์เท่ายุคนี้นัก แต่หนุ่มเกย์อย่าง เจอร์รี่ วินเดิล (Jerry Windle) ก็เปิดเผยตัวตนว่าเขาเป็นเกย์อย่างเต็มภาคภูมิ และไม่แค่นั้นแม้ว่าเขาจะครองตัวเป็นโสด แต่เจอร์รี่ก็อยากเป็นพ่อคน แต่ด้วยความที่เขาเปิดเผยรสนิยมทางเพศต่อสาธารณชนว่าเขาเป็นเกย์นั้น ก็กลายมาเป็นอุปสรรคในการขอรับอุปการะบุตรบุญธรรมเช่นกัน เพราะระบบระเบียบราชการสหรัฐฯ ในวันนั้นไม่เห็นชอบที่จะให้คุณพ่อที่เป็นเกย์ได้มีสิทธิ์ในการรับอุปการะเด็กกำพร้า

“กับการที่เกย์อย่างผมจะเป็นพ่อคนนั้นผมต้องเจอกับอคติและความรังเกียจเกย์อยู่เต็มไปหมด แม้แต่เพื่อนบ้านผมเองที่ชอบพอกันกับผมยังบอกผมเลยว่า เพราะผมเป็นเกย์ฉะนั้นผมจะเป็นพ่อคนไม่ได้”

แต่เจอร์รี่ก็ไม่เคยล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นพ่อคน จนกระทั่งวันหนึ่งเขานั่งอ่านนิตยสารแล้วก็พบบทความหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาโดยสิ้นเชิง มันเป็นเรื่องของชายผู้หนึ่งที่ไปรับอุปการะเด็กชายกัมพูชามาเป็นลูกบุญธรรมได้ โดยไม่มีการเอ่ยถึงแม่เด็กแต่อย่างใด เป็นบทความที่ทำให้เจอร์รี่มีความหวังขึ้นมาอย่างมากว่าถ้ามีเรื่องแบบนี้ เขาก็น่าจะเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวได้เช่นกัน

เจอร์รี่ตัดสินใจโทรไปตามหน่วยงานที่รับเป็นธุระจัดการเรื่องการขอรับอุปการะบุตรบุญธรรมตามที่ลงไว้ตอนท้ายบทความนั้น แล้วก็ได้รับคำตอบที่น่าพอใจว่าถึงจะเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวก็มีสิทธิ์ขอรับอุปการะบุตรบุญธรรมได้โดยไม่มีปัญหา แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ หลังจากยื่นความประสงค์และรอทางหน่วยงานดำเนินการตามระเบียบขั้นตอน ผ่านไปไม่กี่เดือน ในเดือนมิถุนายน 2000 เจอร์รี่ก็ได้บินไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเพื่อเจอบุตรบุญธรรมของเขา เป็นเด็กชายนามว่า จอร์แดน เจอร์รี่หลงรักหนูน้อยวัย 2 ขวบผู้นี้ตั้งแต่แรกพบ แต่การรับอุปการะจอร์แดนนั้นก็ไม่ใช่เส้นทางที่เรียบง่ายเหมือนเด็กทั่วไปนัก เพราะเจอร์รี่จะต้องรับมือกับปัญหาใหญ่ที่จะตามมา นั่นก็เพราะ จอร์แดนมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่อุดมสมบูรณ์นัก พ่อแม่จริง ๆ ตายไปตั้งแต่เขายังเป็นทารก ทำให้จอร์แดนอยู่กับบ้านเด็กกำพร้ามาตั้งแต่นั้น เขาเป็นโรคขาดสารอาหาร เนื้อตัวผอมเล็กมาก มีปัญหาทางสุขภาพหลายโรคและอยู่ในสภาวะเปราะบาง สามารถติดเชื้อนู่นนี่ได้ง่าย แต่นั่นก็ไม่ทำให้เจอร์รี่รู้สึกหนักใจ เขายินดีจะดูแลจอร์แดนอย่างดีที่สุด แล้วก็พาหนูน้อยบินกลับมายังบ้านที่ฟลอริดา

“เขาอายุ 2 ขวบ แต่หนักแค่เพียง 7 กิโลกรัมเท่านั้น ตอนนั้นบอกได้เลยผมไม่รู้จริง ๆ ว่าเขาจะรอดไหม แต่ผมก็สัญญากับเขาว่าผมจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ ทำยังไงก็ได้ไม่ให้เขาต้องทุกข์ทรมานอีกต่อไป ผมยอมเสียสละทุกอย่างทุกวิถีทางเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะทำให้เขาได้”

แล้วความรักความตั้งใจที่เจอร์รี่ทุ่มเทให้กับจอร์แดน ก็สามารถเอาชนะอุปสรรคทุกอย่างได้ จอร์แดนค่อย ๆ ฟื้นฟูสภาพร่างกายมาเป็นเด็กที่แข็งแรงสุขภาพดีได้ในที่สุด แม้ว่าในช่วงแรกนั้นพ่อลูกคู่นี้จะต้องพยายามสื่อสารกันด้วยภาษามือเป็นหลัก เพราะจอร์แดนยังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ และอีกสิ่งหนึ่งที่เจอร์รี่ภาคภูมิใจที่สุด คือเขาได้เป็นพ่อคนที่ถูกต้องตามกฏหมาย

จอร์แดนเติบโตมาเป็นเด็กแข็งแรง เขามีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักกีฬาไปแข่งว่ายน้ำในโอลิมปิกตั้งแต่อายุได้เพียง 7 ขวบ เจอร์รี่พาจอร์แดนไปฝึกกระโดดน้ำที่แคมป์ฝึกสอน ตรงจุดนี้ล่ะที่จอร์แดนแสดงความสามารถจนไปเตะตาของ ทิม โอ’ไบรอัน ลูกชายของ รอน โอ’ไบรอัน โค้ชว่ายน้ำชื่อดัง จอร์แดนจึงถูกรับตัวเข้าโปรแกรมพิเศษฝึกกระโดดน้ำ

ในช่วงที่ฝึกอยู่ในโปรแกรมพิเศษนี้ จอร์แดนยังได้พบกับ เกร็ก ลูกานิส (Greg Louganis) แชมป์โอลิมปิกเหรียญทอง และผู้เรียกร้องเพื่อสิทธิ์ของชาว LGBT เขาพึงพอใจในตัวจอร์แดนอย่างมาก ถึงกับตั้งฉายาให้ว่า “Little Louganis”

จอร์แดนได้เข้าการแข่งคัดตัวเป็นนักกีฬาทีมชาติไปโอลิมปิกถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อตอนอายุ 13 ปี ครั้งต่อมาตอนอายุ 16 ปี และมาสำเร็จในครั้งที่ 3 เมื่อตอนอายุ 22 ปี ได้เป็นตัวแทนนักกีฬากระโดดน้ำชาย ครองสถิติตัวแทนทีมชาติกีฬากระโดดน้ำที่อายุน้อยที่สุด นับเป็นความสำเร็จขั้นแรกที่กินเวลาถึง 15 ปี เป็นความภาคภูมิใจที่สุดของผู้เป็นพ่ออย่างเจอร์รี่ ที่เขาหมายมั่นมาตลอดว่าเขาจะต้องเป็นพ่อที่ดีให้ได้ และวันนี้เขาไม่ได้แค่เปลี่ยนชีวิตของเด็กกำพร้าคนหนึ่งให้ได้มีชีวิตที่ดี แต่เขายังเลี้ยงจอร์แดนให้โตมาเป็นนักกีฬาทีมชาติได้ด้วย

ในเดือนสิงหาคม 2021 จอร์แดน วินเดิล ก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของนักกีฬาทีมชาติสหรัฐฯ ไปร่วมแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว 2021 ในฐานะนักกีฬาทีมกระโดดน้ำ จอร์แดนเข้าแข่งในกีฬากระโดดน้ำที่ระดับความสูง 10 เมตร แม้ว่าจะไม่ได้เหรียญใด ๆ กลับบ้าน เพราะผลการแข่งขันของจอร์แดนอยู่ในลำดับที่ 9 แต่เขาก็เป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของเจอร์รี่ผู้เป็นพ่อ และยังเป็นความภาคภูมิใจของชนชาติกัมพูชาอีกด้วย แม้ว่าเขาจะใช้ชีวิตตั้งแต่ 2 ขวบเติบโตมาในสหรัฐฯ แต่เขาก็ไม่เคยลืมเชื้อชาติกำเนิดของเขาที่เป็นชาวกัมพูชา จอร์แดนสักธงชาติกัมพูชาไว้ที่ต้นแขน ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเวลาที่เขาเข้าแข่งขันทุกครั้ง และเขายังเป็นนักกีฬากระโดดน้ำคนแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกที่มีเชื้อชาติกัมพูชา

“เวลามีคนมาถามผมว่า ทำไมผมถึงเลือกกีฬากระโดดน้ำ ผมก็ตอบว่า ผมทำเพื่อพ่อผมอย่างเดียวเลยเพราะพ่อชอบดูผมกระโดดน้ำมาก หากไม่มีเขาคอยทุ่มเททำทุก ๆ อย่างที่ผ่านมา ทั้งความรักและแรงสนับสนุนทั้งหมดที่เราผ่านมาด้วยกัน ก็จะไม่มีผมในวันนี้ ผมขอบคุณพ่อสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกความสำเร็จของผม ที่ผ่านมามันเป็นการเดินทางร่วมกับพ่อที่ช่างอัศจรรย์มาก และเราก็จะสู้ด้วยกันต่อไป”

Jordan Pisey Windle

ด้วยเหตุที่จอร์แดนมีพ่อเป็นเกย์ ก็ทำให้เขามีชีวิตวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นนัก เขาโดนเพื่อนแกล้งเพื่อนล้อที่โรงเรียนว่ามีพ่อเป็นเกย์ และยังโดนปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอีกด้วย นั่นทำให้จอร์แดนเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับชุมชนชาว LGBT และยังให้ความร่วมมือกับโปรเจกต์ It Gets Better โครงการบนอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายในหมู่เยาวชน LGBT

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง