ใครจะไปคาดคิดว่า ตู้โทรศัพท์ตู้หนึ่งที่ไม่ได้มีการต่อสายสัญญาณใด ๆ จะได้รับความนิยม มีผู้มาใช้บริการจำนวนมาก เพราะตู้โทรศัพท์ตู้นี้ทำขึ้นมาเพื่อให้ญาติหรือคนรักของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ภูมิภาคโทโฮกุ และเมื่อปี 2011 ผู้ที่มาใช้บริการนั้นได้พูดข้อความต่าง ๆ ที่ไม่มีโอกาสได้พูด และคาดหวังว่าข้อความที่พูดไปในหูโทรศัพท์นี้จะส่งไปถึงผู้ที่จากไปอย่างไม่มีวันกลับ

ตู้โทรศัพท์นี้มีชื่อด้วยว่า “Kaze no Denwa (風の電話)” แปลว่า “โทรศัพท์แห่งสายลม” ตั้งอยู่ในเมืองโอสึจิ จังหวัดอิวาเตะ เมืองโอสึจิ ตั้งอยู่บนแถบชายฝั่งซันริคุ อยู่ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางเหนือประมาณ 482 กิโลเมตร เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 เมืองโอสึจิเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหว ชาวเมืองโอสึจิเสียชีวิตและหายสาบสูญจากเหตุการณ์นี้ไป 1,285 คน นับเป็นจำนวน 10% ของประชากรทั้งเมือง

อิตารุ ซาซากิ

อิตารุ ซาซากิ นักออกแบบจัดสวนวัย 76 ปี คือผู้ที่สร้างตู้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้ขึ้นมาเมื่อปี 2011 เพื่อเป็นการไว้อาลัยกับญาติของเขาที่เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมครั้งนี้ เขาตั้งตู้โทรศัพท์นี้ไว้ในสวนของเขาเอง แต่ก็ใจดีที่ให้ผู้คนที่อยู่ในความโศกเศร้าเช่นเดียวกับเขา ทั้งที่อยู่ในเมืองโอสึจินี้และจากเมืองอื่น ๆ ได้ใช้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้เพื่อเป็นการปลอบประโลมจิตใจตัวเอง

ซาซากิเล่าว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ มีคนมาใช้บริการตู้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้กว่า 1,000 คนแล้ว บางคนก็มาโทรหาญาติหรือคนรักที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์อื่น ๆ ก็มี ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บหรืออัตวินิบาตกรรม

ตู้โทรศัพท์แห่งสายลมตั้งอยู่บนยอดเขาริมหน้าผาที่มีลมพัดแรงจัดตลอดเวลา รายล้อมด้วยทิวทัศน์ที่สวยงามของชายฝั่งโอสึจิ มันสร้างขึ้นในรูปแบบคลาสสิก เป็นตู้ไม้ทาสีขาว ตีเป็นช่องสี่เหลี่ยมกรุด้วยกระจกทั้ง 4 ด้าน โทรศัพท์ในตู้นี้ก็ไม่ได้เป็นโทรศัพท์ทรงตั้งแบบหยอดเหรียญอย่างที่เราคุ้นตากันในตู้โทรศัพท์สาธารณะทั่วไป แต่เป็นโทรศัพท์บ้านรุ่นโบราณสีดำ วางอยู่บนชั้นไม้เล็ก ๆ สีขาว หน้าปัดสำหรับหมุนเบอร์ที่เคยเป็นทองเหลือง ก็หมองด้านด้วยความเก่า แสดงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนาน ในตู้โทรศัพท์นี้ยังมีสมุดโน้ตให้ผู้มาเยือนได้เขียนข้อความต่าง ๆ ถึงผู้ที่จากไป นอกจากนั้นก็มีบทกลอน ใส่กรอบแขวนประดับไว้ มีบทกลอนหนึ่งเขียนไว้ว่า
“ไม่ว่าคุณจะใช้ตู้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้โทรหาใคร? แต่เมื่อใดที่คุณได้ยินเสียงลม จากพูดถ้อยคำจากใจฝากไปกับสายลม บอกเขาไปว่าคุณรู้สึกเช่นไร ห้วงคำนึงของคุณจะถูกส่งไปถึงพวกเขา”

คาสึโยชิ ซาซากิ

คาสึโยชิ ซาซากิ วัย 67 ปี ที่มาใช้ตู้โทรศัพท์แห่งสายลมโทรหา มิวาโกะ ภรรยาที่จากไปในโศกนาฏกรรมครั้งนั้น เขาพูดกับโทรศัพท์ว่า
“ทุกอย่างมันเกิดขึ้นอย่างกะทันหันเกินไป ผมยังไม่สามารถลืมมันได้เลยจวบจนเดี๋ยวนี้ วันนั้นผมส่งข้อความหาคุณ บอกคุณว่าผมอยู่ที่ไหน แต่คุณก็ไม่ได้กดอ่านมัน”
“เวลาที่ผมกลับมาบ้าน ผมแหงนมองขึ้นไปบนท้องฟ้า ผมมองเห็นดวงดาวนับพัน มันเหมือนกับมองเข้าไปในกล่องเก็บอัญมณีแบบนั้นเลย ผมร้องไห้แล้วร้องไห้อีกตอนที่รู้ว่ามีคนเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้มากมายเหลือเกิน”
“จากนี้ไปผมจะดูแลตัวเองอย่างดีนะ ผมดีใจมากที่เราได้มาพบกัน ขอบคุณ แล้วคุยกันใหม่นะ”
ซาซากิเผยภายหลังว่า เขาได้สารภาพรักกับมิวาโกะมาตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้นด้วยกัน แต่ตอนนั้นเธอบอกปฏิเสธเขา ซาซากิไม่ยอมแพ้ มาสารภาพรักกับมิวาโกะอีกครั้งใน 10 ปีให้หลัง และครั้งนี้เธอยอมคบกับเขา และได้แต่งงานกันในที่สุด ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 4 คน

วันเวลาผ่านไป เรื่องราวของตู้โทรศัพท์แห่งสายลม ก็เริ่มเป็นที่รู้จักไปทั่วทั้งญี่ปุ่น ถึงขึ้นสถานีโทรทัศน์ NHK มาทำสารคดีเรื่อง “The Phone of the Wind: Whispers to Lost Families” ตัวสารคดีได้เข้าชิงรางวัลเอ็มมี่ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

The Phone of the Wind: Whispers to Lost Families

เนื้อหาตอนหนึ่งที่น่าสนใจในสารคดีนี้ ก็คือช่วงที่มีการสัมภาษณ์ เร็น โคซากิ เด็กหนุ่มวัย 15 ปี อาศัยอยู่ในเมืองฮาชิโนเฮะ ในจังหวัดอาโอโมริ ทางเหนือสุดของญี่ปุ่น เขาอาศัยอยู่กับแม่และน้องอีก 2 คน โคซากิต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง เพียงเพื่อมาโช้ตู้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้โทรหาพ่อของเขาที่จากไปในเหตุการณ์นั้น เขาพูดกับพ่อว่า

“ว่าไงครับพ่อ พ่อสบายดีไหมครับ? พวกเราทางนี้ก็อยู่กันดีตามอัตภาพ ฉะนั้นพ่อไม่ต้องเป็นห่วงพวกเราหรอกนะครับ”
เหมือนจะเป็นการพูดคุยที่สบาย ๆ แต่ผ่านไปสักครู่ โคซากิก็เริ่มกำหูโทรศัพท์แน่นขึ้น แล้วพูดต่อว่า
“ทำไมพ่อต้องจากพวกเราไปด้วย” ทำไมพวกเราถึงหาพ่อไม่เจอละครับ? ผมอยากรู้เรื่องนี้จริง ๆ ผมอยากที่จะมีโอกาสได้คุยกับพ่ออีกสักครั้งนะครับ”

ในวันนี้โลกมนุษย์ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมอีกครั้ง กับภาวะไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด ที่มีผู้คนทั่วโลกเสียชีวิตนับล้าน มากกว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหว-สึนามิ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมารั่วไหลหลายเท่านัก ด้วยเหตุนี้ซาซากิจึงได้รับการติดต่อจากผู้คนหลายกลุ่มทั้งจากสหราชอาณาจักร และโปแลนด์ ที่ขอหยิบยืมไอเดียของซาซากิมาตั้งตู้โทรศัพท์แบบนี้ขึ้นมาบ้างในประเทศของพวกเขา
“ยังมีผู้คนอีกมากที่ไม่ได้กล่าวคำลา และอีกหลายครอบครัวที่อยากจะพูดอะไรกับผู้เป็นที่รักเป็นครั้งสุดท้าย แต่พวกเขาก็ไม่มีโอกาสนั้น”
อิตารุ ซาซากิ กล่าวกับผู้สื่อข่าว

The phone of the wind – what I have seen via the phone in the six years since the earthquake

ซาซากิ บันทึกเรื่องราวของเขา และความประทับใจต่อผู้คนที่มาใช้บริการตู้โทรศัพท์แห่งสายลมนี้ออกมาเป็นหนังสือชื่อ “ตู้โทรศัพท์แห่งสายลม – สิ่งที่ผมได้เห็นในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว” (The phone of the wind – what I have seen via the phone in the six years since the earthquake) หนังสือได้รับการตีพิมพ์ในปี 2017

อ้างอิง