เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2014 หลังจากหนัง Avatar ออกฉายมาได้ 5 ปีแล้ว และกลายเป็นหนังทำเงินสูงที่สุดในโลกในวันนั้น ก็มีเหตุให้ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล หลังจากถูก โรเจอร์ ดีน (Roger Dean) ศิลปินนักเขียนภาพประกอบชาวอังกฤษ ยื่นฟ้องต่อศาลกล่าวหาว่าผู้กำกับ เจมส์ คาเมรอน ลอกเลียนผลงานของเขาอย่างน้อย 14 ชิ้นไปใช้ในหนัง Avatar และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นมูลค่า 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โรเจอร์ ดีน

หลายคนน่าจะไม่รู้จักชื่อของ โรเจอร์ ดีน แต่สำหรับคอเพลงสากลในยุค 70s – 80s แม้จะไม่คุ้นชื่อ แต่ก็น่าจะคุ้นกับผลงานของเขากันมาบ้าง เพราะเขาเป็นคนออกแบบหน้าปกอัลบั้มให้ศิลปินดังหลายวง หลายอัลบั้ม โดยเฉพาะ ‘YES’ วงโปรเกรสซีฟร็อกชื่อกระฉ่อนโลกในวันนั้น และอีกหลายวงอย่างเช่น Uriah Heep, Asia และ Gentle Giant

ปกอัลบั้ม ที่เป็นผลงานของ โรเจอร์ ดีน

เอาเป็นว่าต่อให้ โรเจอร์ ดีน ไม่ได้ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน และทีมผู้สร้างหนัง Avatar ก็ตาม บรรดาแฟนเพลงรวมไปถึงแฟน ๆ ผู้ชื่นชอบผลงานของ โรเจอร์ ดีน ที่ได้ดูหนัง Avatar ต่างก็รู้สึกคุ้นตากับภาพทิวทัศน์ บรรยากาศของอาณาจักรแพนดอรา ว่ามันช่างละม้ายกับผลงานของ โรเจอร์ ดีน เสียจริง และมั่นใจได้เลยว่า เจมส์ คาเมรอน จะต้องได้แรงบันดาลใจจากงานของดีนมาเนรมิตออกมาเป็นภาพของอาณาจักรแพนดอราเป็นแน่ ซึ่ง เจมส์ คาเมรอน เองก็ยอมรับตามตรงว่าเขาได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานของ โรเจอร์ ดีน ในช่วงหนึ่งที่เขาให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ Entertainment Weekly เมื่อปี 2010 ซึ่งผู้สัมภาษณ์ได้ยิงคำถามตรงกับคาเมรอนว่า เขาได้ไอเดียภูเขาลอยฟ้าในเมืองแพนดอรามาจากภาพปกอัลบั้มของ YES ใช่ไหม ? ซึ่งคาเมรอนก็ตอบว่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า “ก็น่าจะใช่นะ ถ้าย้อนไปในวัยที่ผมยังปุ๊นเนื้ออยู่น่ะ”

ภาพบนจากหนัง Avatar ภาพล่างงานเขียนของ โรเจอร์ ดีน

แล้วในวันที่ 17 กันยายน 2014 ผู้พิพากษา เจสซี เอ็ม. เฟอร์แมน (Jesse M. Furman) ก็ได้ตัดสินยกฟ้องข้อกล่าวหาของ โรเจอร์ ดีน ด้วยเหตุผลว่าทั้งผลงานของ โรเจอร์ ดีน และ ภาพในหนัง Avatar นั้น ต่างก็มีองค์ประกอบหลักที่คล้ายคลึงกันก็คือเป็นภาพทิวทัศน์ ต้นไม้ ภูเขา ตามธรรมชาติ ซึ่งก็สาธารณสมบัติอยู่แล้ว ส่วนอีกหลาย ๆ ภาพของดีนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ต่างก็ได้รับการโต้แย้งจากทางฝ่าย คาเมรอน ถึงข้อแตกต่างกันระหว่างภาพของเขากับฉากในหนังได้อย่างชัดเจน

ยกตัวอย่างเช่น ภูเขาฮัลเลลูยาในหนังนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเป็นภาพเสมือนจริง เป็นเกาะที่ลอยอยู่ในอากาศ มีรูปทรงที่แตกต่างกันไป เกาะขนาดใหญ่ก็จะมีพืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ส่วนภาพของ โรเจอร์ ดีน นั้นกลับมีรูปแบบเฉพาะตัวที่เด่นชัดกว่า มีความเป็นแฟนตาซีสูง ตัวเกาะนั้นมีขนาดเล็กกว่า มีรูปทรงคล้ายไข่ ดูเหมือนก้อนหินขนาดใหญ่มากกว่าจะดูเป็นภูเขา บางก้อนก็มีต้นไม้ขึ้นเพียงเล็กน้อย ส่วนบางก้อนก็ไม่มีต้นไม้เลย หรือถ้ามีก็จะมีต้นเดียวขนาดใหญ๋เกือบเท่าตัวเกาะ”

ผู้พิพากษายังให้ความเห็นอีกว่า ภาพจากหนัง Avatar ที่ โรเจอร์ ดีน แคปภาพมาฟ้องร้องนั้น ไม่จัดว่าอยู่ในบริบทนี้ เพราะหนังในแต่ละฉากนั้นประกอบไปด้วยภาพนิ่งเรียงร้อยต่อกันนับพันภาพ แต่ดีนเลือกหยิบมาภาพเดียว แล้วเอามาปรับแต่งด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ ทั้งครอป หมุน เพื่อให้ภาพจากหนังดูใกล้เคียงกับผลงานของดีนมากที่สุด

ส่วนกรณีที่ เจมส์ คาเมรอน เองก็เคยยอมรับมาแล้วว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากผลงานของ โรเจอร์ ดีน มาใช้ในหนัง Avatar ผู้พิพากษาก็ได้ชี้แจงในจุดนี้ว่า ไม่ว่าใครก็ตามก็ไม่ควรที่จะพิจารณาว่า “Avatar” ได้ลอกเลียนผลงานที่มีลิขสิทธิ์ของ โรเจอร์ ดีน เพราะกฏหมายได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า “ไม่ใช่ว่าทุกการคัดลอกผลงานจะหมายถึงการละเมิดลิขสิทธิ์”

ด้วยเหตุที่ Avatar เป็นหนังที่ทำรายได้สูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลข 2,9xx ล้านเหรียญ จึงเป็นธรรมดาที่คาเมรอนและทีมผู้สร้าง จะตกเป็นเป้าหมายของผู้หวังผลประโยชน์จากหนัง ด้วยการหามูลเหตุว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับหนังแล้วดำเนินการฟ้องร้องเพื่อเรียกร้องส่วนแบ่งรายได้ ที่อ้างว่าสมควรเป็นของตน นั่นจึงเป็นเหตุให้ เจมส์ คาเมรอน ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลถี่มาก ในช่วงหลังจาก Avatar ออกฉาย เพื่อต่อสู้กับคดีต่าง ๆ ที่ถูกฟ้องร้องดังนี้

ในปี 2010 เคลลี แวน (Kelly Van) ฟ้องร้องคาเมรอนว่าหนัง Avatar นั้นสร้างมาจากหนังสือของเขาที่ชื่อว่า ‘Sheila the Warrior: the Damned’ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2003 ผู้พิพากษาพิจารณาแล้วก็ปฏิเสธไม่รับฟ้อง ด้วยเหตุผลว่า “พล็อตเรื่องนั้นเป็นถือว่าเป็นนามธรรมจึงสามารถคล้ายคลึงกันได้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่นับว่าได้รับการปกป้องตามกฎหมายลิขสิทธิ์”

ในปี 2013 อีรีก ไรเดอร์ (Eric Ryder) ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน ว่าหนัง Avatar นั้นดึงเอาเนื้อหาบางส่วนมาจากนิยายเรื่อง K.R.Z. 2068 ของเขา นิยายของเขาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ “มหากาพย์ 3 มิติแนวสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอนาคตที่ไปสร้างอาณานิคมดวงจันทร์อันไกลโพ้น และได้ไปทำลายธรรมชาติอันสวยงามบนดวงดาวนั้น”

ปีเดียวกัน เจอรัลด์ โมราวสกี (Gerald Morawski) ก็ฟ้องร้อง เจมส์ คาเมรอน ในข้อหา การผิดสัญญา ฉ้อฉล และการบิดเบือนความจริงโดยประมาทเลินเล่อ เพราะว่าเขาเคยนำนิยายเรื่อง ‘Guardians of Eden’มานำเสนอกับคาเมรอน และเขาลงนามในข้อตกลงไม่เปิดเผยข้อมูลซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจนว่าเขาจะรักษาเนื้อหาดั้งเดิมตามนิยายของไรเดอร์ไว้

ยังไม่หมด ปี 2012 เจมส์ คาเมรอน ชนะคดีที่ฟ้องร้องโดย อีมิล มาลัก (Emil Malak) ที่กล่าวหาว่าหนัง Avatar นั้นละเมิดลิขสิทธิ์บทภาพยนตร์ปี 1998 ที่เขียนโดย เทอร์รา อินคอกนิทา และ ไบรอันต์ มัวร์ มีการนำทั้งเนื้อหาในบทภาพยนตร์ และภาพประกอบต่าง ๆ ไปใช้ในหนัง โดยไม่ได้รับอนุญาต

น่าเหนื่อยนะครับ สร้างหนังยาวนานหลายปี แล้วต้องมาสู้รบปรบมือกับพวกแสวงหาผลประโยชน์เหล่านี้อีก รอติดตามกันไปครับว่าหลังจาก Avatar : Way of Water เข้าฉายแล้ว เจมส์ คาเมรอน จะโดนฟ้องอีกกี่คดี

ที่มา ที่มา ที่มา ที่มา