Jackie หรือในชื่อไทยสุดครีเอทที่อยากกราบคนคิดสักหนึ่งทีอย่าง หม้ายหมายเลขหนึ่ง เป็นผลงานเปิดตัวบนแผ่นดินฮอลลีวู้ดครั้งแรกของ พาโบล ลาร์เรน ผู้กำกับชาวชิลีที่มีผลงานเข้าตากรรมการอย่างหนังอิงประวัติศาสตร์การเมืองชิลีเรื่อง No (2012) ซึ่งคงเข้าตาจริงๆ เพราะผู้กำกับดังอย่าง ดาร์เรน อโรนอฟสกี้ จาก Black Swan (2010) ที่เป็นเจ้าของโปรเจกต์หนังเดิมที่ตอนนี้ยกตัวไปเป็นโปรดิวเซอร์ ถึงรีบดึงตัวมาทำงานแทนทีเดียว โดยได้นำเรื่องราวของสตรีหมายเลขหนึ่งที่ดังที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา (จะบอกว่าดังที่สุดก็เกรงใจ ฮิลลารี คลินตัน (ฮา)) นั่นก็คือภรรยาของ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี นาม แจ็กเกอลีน เคนเนดี โอนาสซิส  หรือ แจ๊กกี้  มาเล่าในมุมจิตวิทยาตัวละครเชิงลึก ถ่ายทอดผ่านภาพหนังและภาพฟุตเทจเก่าอย่างแนบเนียน  โดยยังได้หนึ่งในสุดยอดบทหนังที่ยังไม่ได้รับการสร้าง หรือ The Black List ปี 2010 ของโนอาห์ ออพเพนไฮม์ จาก The Maze Runner (2014) มาใช้กำกับด้วย

ภาพแจ๊กกี้ตัวจริงจากฉากหนึ่งในสารคดี White House Tour (1962) ซึ่งในหนัง Jackie ก็มีการจำลองถ่ายซ้ำได้เหมือนอย่างน่าทึ่ง

ดูชื่อชั้นทีมงานทั้งหลาย คาดว่าสตูดิโอคงหมายมั่นปั้นมือให้เป็นโปรเจกต์ล่ารางวัลออสการ์อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นจึงขาดองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของเรื่องอย่างนักแสดงนำหญิงที่เก่งแบบจริงจังเก่งแบบต้องกราบไปไม่ได้เลย งานนี้ดาร์เรนยื่นข้อเสนอให้นักแสดงมากความสามารถที่เคยร่วมงานอย่าง นาตาลี พอร์ตแมน มารับบทนำไป ซึ่งก็สมดังคาดเธอเข้าชิงนำหญิงแทบในทุกเวทีสำคัญทีเดียว น่าเสียดายที่ล่าสุดเวทีลูกโลกทองคำเธอจะพลาดท่าให้กับดารารุ่นลายครามจากฝรั่งเศสอย่าง อิซาเบล อุปแปร์ จากหนังพล็อตสุดฉาว Elle (2016) ไปอย่างน่าเสียดาย แต่เวทีอเมริกันจ๋าอย่างออสการ์นั้นคิดว่านาตาลีน่าจะได้ลุ้นกว่าเยอะทีเดียวครับ

เทียบกันหน้าตาอาจไม่คล้ายสุดๆ แต่ฝีมือการแสดงของนาตาลีก็ช่วยกลบความต่างไว้อย่างไร้ร่องรอย

หนังเล่าถึงช่วงเวลาแห่งความทุกข์ระทมของสตรีหมายเลขหนึ่งอย่าง แจ๊กกี้ นับตั้งแต่วินาทีแรกที่เสียงปืนสามนัดแห่งประวัติศาสตร์อเมริกันดังขึ้น เพื่อปลิดชีพ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี อันเป็นภาพข่าวที่คนทั้งโลกน่าจะคุ้นเคยดีทั้งยังถูกถ่ายทอดซ้ำในหนังหลายต่อหลายเรื่องด้วย หนังเล่าอย่างละเอียดในทุกละเมียดอารมณ์ของแจ๊กกี้ทั้งสับสน แตกสลาย ปวดร้าว ปั้นหน้าเข้มแข็ง เหม่อลอย เคว้ง สูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างอย่างช้าๆ ราวกับหนังค่อยๆปล่อยให้ผู้ชมร่วมเป็นสักขีพยานในการเฝ้ามองการพังทลายของชีวิตและหัวใจผู้หญิงคนหนึ่งไปจนไม่เหลือชิ้นดี

แม้จะเล่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หนังก็มีลีลาการเล่าที่ไม่ธรรมดา เพราะหนังตัดสลับช่วงหลายเหตุการณ์ไปพร้อมกัน ทั้งช่วงแห่งการสูญเสียที่ลากยาวจากวินาทีแรกไปจนจบวันเพื่อให้เห็นรายละเอียดความพังพินาศ ทั้งช่วงที่เธอเป็นหญิงหม้ายแล้วและได้อนุญาตให้นักหนังสือพิมพ์มาสัมภาษณ์ที่บ้าน เพื่อเผยมุมมองด้านลึกหลังเหตุการณ์นั้น ทั้งช่วงการถ่ายทำสารคดีโทรทัศน์พาชมทำเนียบขาวของเธอ เพื่อแสดงให้เห็นบทบาทระหว่างหลังกล้องกับหน้ากล้อง ระหว่างตัวตนแท้ๆกับภาพไอคอนที่ต้องฉายให้คนทั้งโลกเห็นตลอดเวลา และสุดท้ายเหตุการณ์การพูดคุยในแง่จิตวิญญาณของเธอที่ปลดทุกข์ให้บาทหลวงฟัง เพื่อสะท้อนแง่มุมของพระเจ้า ศาสนา การมีชีวิตเพื่อหาความหมาย และการอยู่กับความตายและความสิ้นหวัง ซึ่งเป็นตัวขมวดที่สำคัญในการสรุปเรื่องได้อย่างน่าทึ่ง

ตรงนี้นับเป็นข้อดีมากๆ สมแล้วที่บทหนังเรื่องนี้ได้รับความคาดหวังอย่างสูง เพราะหนังมีจุดประสงค์ในแต่ละห้วงเวลาอย่างชัดเจนดังที่ได้กล่าวมา และเชื่อมโยงถามตอบสื่อสารกันอย่างลงตัวผ่านการตัดสลับกันไปมา จริงๆควรพูดว่าหนังสื่อสารในแทบทุกฉากเลยดีกว่า ตรงนี้ยอมใจมากๆครับ หนังสื่อสารได้ดีมากๆในทุกซีนเลย บางคนกล่าวว่าเพราะผู้กำกับไม่ใช่อเมริกันจึงทำให้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างเป็นกลาง แต่จริงๆแล้วหนังมันฉลาดมากที่ทำให้เราเข้าใจหัวจิตหัวใจตัวละครหนึ่งเดียวของเรื่องแบบที่ไม่ต้องกล่าวเชิญชวนใดๆ

เราเห็นวินาทีสำคัญในชีวิตของแจ๊กกี้เหมือนได้เข้าไปนั่งอยู่ในจิตใจในความทรงจำของเธอ อย่างวินาทีที่รองประธานาธิบดีทำการสาบานตนเพื่อดำรงตำแหน่งแทน เธอเดินออกมาจากวงผู้คนที่เข้าไปแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนใหม่ เธอเหลือบไปมองรอบๆไม่มีใครสนใจเธออีก นั่นคือวินาทีที่หนังสื่อสารการถูกทำลายความสำคัญของเธอทั้งที่เธอยังใส่ชุดเปื้อนเลือดอดีตประธานาธิบดีอยู่ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรเลย สีหน้าของนาตาลีสามารถแสดงสื่อสารการพังครืนของจิตใจลงแบบที่ไม่ต้องอาศัยคำพูดใดมาขยายเลย และหนังมีอะไรแบบนี้โชว์ทั้งเรื่องเลยครับ

หนังเหมือนเวทีการแสดงที่มีแจ๊กกี้อยู่ศูนย์กลาง และให้ตัวละครอื่นเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับเธอ เพื่อดึงแง่มุมต่างๆออกมา ซึ่งพอหนังมีช่วงที่ถ่ายทอดภาพภายนอกที่เข้มแข็งหรือไม่มีเหตุผลของแจ๊กกี้ออกมา จนเหมือนหนังไม่ได้เข้าข้างเธอ เรากลับเข้าใจภาพภายในที่ตรงข้ามว่าทำไมเธอถึงแสดงออกเช่นนั้น และยังเห็นใจเธอขึ้นไปอีก ตรงนี้จึงทำให้หนังเรื่องนี้เป็นการสำรวจลึกถึงจิตใจตัวละครได้อย่างเหนือชั้นมากๆ

มันเหนือกว่าหนังที่อิงบุคคลจริงอย่างที่เคยมีมา แต่ยกระดับขึ้นเป็นหนังชั้นครูในการฉายภาพคนจริงๆขึ้นมาทั้งภายนอกและภายใน

นอกจากการแสดง บท และการกำกับที่สมควรมอบรางวัลต่างๆให้แล้ว ดนตรีเรื่องนี้นับว่ามีเอกลักษณ์และเป็นตัวละครเอกอีกตัวหนึ่งทีเดียว ผลงานของ มิคะ เลวี ที่เคยฝากผลงานหลอนๆไว้ใน Under The Skin (2013) ได้สร้างปรากฏการณ์ทางอารมณ์อย่างเหนือชั้นให้กับหนัง โน้ตเพียงหนึ่งหรือสองตัวผ่านเสียงเครื่องสายที่กรีดร้าวและขาดช่วง ถ่ายทอดสภาพจิตใจตัวละครได้ระทมมาก เหมือนเวลาที่เราร้องไห้จนลมหายใจขาดช่วง เหมือนเสียงหัวใจตอนตกวูบหล่นร่วงไร้ก้นบึ้ง คราใดที่เสียงดนตรีดังขึ้น เหมือนกับเราพบวินาทีร้าวรานแตกดับกันไป พร้อมๆกับแจ๊กกี้อยู่ในทีทีเดียวครับ

สรุป

หนังอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ควรถูกยกเป็นกรณีศึกษา เพื่อศึกษาการแสดงและการสร้างตัวละครรวมถึงการเล่าภาพภายนอกภายในตัวละครอย่างหมดจด ทั้งซับซ้อนและแสวงหาการตีความได้อย่างลุ่มลึก ตอนแรกผมก็เกรงๆว่าจะหลับเพราะไม่ถูกโฉลกอย่างจังกับหนังแนวนี้ แต่เอาเข้าจริงมันทรงพลังมากจนเราถูกติดตรึงไปกับตัวละครอย่างไม่รู้ตัวตั้งแต่ต้นจนจบ แม้จะมีสไตล์ที่ค่อยเล่าค่อยไปแถมบางช่วงจะมีบทสนทนาที่ยืดยาวแต่เปี่ยมด้วยความฉลาดและสีสันให้ขบคิดตาม หนังอาจแพ้ทางหนังที่เข้าชิงเรื่องอื่นหลายๆเรื่อง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนังเรื่องนี้เป็นตัวท็อปของหนังในแนวเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัยครับ

Play video