เป็นหนังที่คอหนังชาวไทยไม่น้อยตั้งหน้าตั้งตารอกันมาตั้งแต่ต้นปีเลย หลังจากชื่อของมันเริ่มถูกพูดถึงในฐานะหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดของเทศกาลซันแดนซ์ประจำปีนี้ เรียกว่ากระแสนั้นมาแรงกว่า Dunkirk เสียอีก เพียงแต่ในแง่แมสแล้วมันยังไม่ไปถึงวงกว้าง แต่อย่างไรก็ตาม นี่คือหนังเต็งออสการ์ที่ทางโซนี พิคเจอร์ส จับมือกับ เฮ้าส์ นำเข้ามาฉาย ซึ่งได้รับการจับตามองอย่างมาก โดยอีกหนึ่งไฮไลท์ในเรื่องนี้ก็คือ คุณสยมภู มุกดีพร้อม ผู้กำกับภาพคู่ใจ ที่เคยกำกับภาพให้หนังของ ‘เจ้ย’  อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มาแล้วหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น สุดสเน่หา, แสงศตวรรษ รวมทั้ง ผลงานมาสเตอร์พีชอย่าง ลุงบุญมีระลึกชาติ ที่เป็นเหมือนใบเบิกทางของเขาอย่างแท้จริง

สำหรับ Call Me By Your Name นั้นเป็นหนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายโรแมนติกของ อังเดร เอซิแมน ที่พูดถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเอลิโอ (ทิโมธี ชาลาเมต) เด็กหนุ่มวัย 17 เชื้อสายอเมริกันอิตาเลียน-ยิว กับ โอลิเวอร์ (อาร์มี่ แฮมเมอร์) นักศึกษาหนุ่มชาวอเมริกันวัย 24 ปี ขณะมาช่วยงานคุณพ่อของเอลิโอ (ไมเคิล สตูห์ลบาร์ก) ช่วงปิดภาคฤดูร้อนในช่วงยุค 80 โดยเมื่อมาทำเป็นหนังในเวอร์ชันของผู้กำกับ ลูกา กัวดานิโน (The Big Splash, I Am Love)  นั้นทาง เอซิแมน เองก็เข้ามาร่วมดัดแปลงบทหนังด้วยเช่นกัน

จุดแข็งของ Call Me By Your Name ก็คือเรื่องการเดินเรื่อง ซึ่งด้วยตัวพลอตเดิมนั้นไม่ได้มีเนื้อหาสลับซับซ้อนอะไรอยู่แล้วในแง่บริบท แต่หนังลงน้ำหนักเต็มที่กับการเล่าในมุมของการสำรวจ เอลิโอ ตั้งแต่ตัวตนเดิมที่เขาเป็น จนกระทั่งมาเจอกับ โอลิเวอร์ หนังปูแบ็คกราวน์ในด้านอ่อนโยนของเด็กหนุ่มที่ดูภายนอกเหมือนจะมีเสน่ห์ไปในเชิงเพลย์บอยหน่อย ๆ ด้วยซ้ำ แต่ความอ่อนโยนตรงนั้นแหละ ที่ถูกขยายออกจนประตูอีกบานเปิดออก ตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขาเผยออกมา เจือปนกับความอยากรู้อยากเห็นและความสับสนในการค้นหาตัวเองในแบบฉบับหนัง coming of age

ตัวหนังเดินไปอย่างมีจังหวะเป็นธรรมชาติมาก เรื่อย ๆ เอื่อย ๆ สไตล์แบบ narrative และนี่ไม่ใช่หนังเกย์จ๋า แต่ออกจะไปทาง Bisexual ผมชอบที่ เอลิโอ ปลดปล่อยความปรารถนาออกมาแบบไม่มีเหตุผลมาเจือปน ซึ่งหนุ่ม ทีโมธี ถ่ายทอดออกมาได้ดีมาก มันเป็นความรักแบบที่เราเคยรู้สึกได้สมัยเรียน วันที่ห้วงอารมณ์ของความรัก ความตื่นเต้น ปนเปรอไปกับความเศร้าและความกลัว ที่มันตีกันไปหมด มันไม่ใช่ความรักปรุงแต่งที่เป็นเหตุเป็นผลไปถึงหลังวันแต่งงาน แต่มันเป็นรักที่หากไปถามเอลิโอ ว่าทำไมถึงรักโอลิเวอร์ ปานจะแหกดากดมนัก เขาคงตอบได้แค่ว่า ‘ก็แค่รัก’  แค่นั้นจริง ๆ เพราะมันดิบมาก ซึ่งความสวยงามของหนังเรื่องนี้มันอยู่ที่ แววตาและความรู้สึกของ 2 คนนี้แหละ หนังทำให้เราได้ลุ้นว่า ‘เมื่อไหร่’ เอลิโอ และ โอลิเวอร์ จะ ‘คิดเหมือนกัน’ เสียที

Call Me By Your Name ใช้มุมกล้องที่ให้ความรู้สึกเหมือนหนังสมัยก่อน ยอมรับว่าชอบมู้ดแอนด์โทนของภาพบรรยากาศในหนังมาก มันกึ่ง ๆ จะพาเราไปทัศนศึกษาในมิลาน แต่เป็นมิลานที่อยู่ในนิยายฝัน ๆ อีกทีหนึ่ง สิ่งที่ชัดเจนที่คนดูได้เห็นจากหนังเรื่องนี้เลยก็คือ ความรักที่มาจากสัญชาตญาณของมนุษย์จริง ๆ ไม่มีค่านิยม มีแต่รสนิยมตรงหน้า เมื่อคุณเป็นเอลิโอ คุณจะเริ่มรักใครสักคน เปิดใจให้เขาเข้ามาในชีวิตเรา

จากนั้นเมื่อความสัมพันธ์เดินไป

จาก ‘เขา’ ก็กลายเป็น ‘เรา’

และ ‘เรา’ ก็กลายเป็น ‘เขา’

และคน ๆ นี้แหละที่ทำให้ ‘เรา’ เปลี่ยนไปตลอดกาล

ซึ่งนี่ก็คือนิยามรักทรงพลังและแสนจะคลาสสิกในแบบฉบับของ Call Me By Your Name โดยในช่วงท้ายของหนังนั้นก็แอบมีหักมุมเล็ก ๆ ซึ่งเป็นมุมที่มีแล้วเติมเต็มและอธิบายความรักให้ เอลิโอ ได้ดีที่สุด สิ่งที่น่าพิศวงและคาดเดายากพอ ๆ กับความตายก็คือ ‘ความรัก’ นี่แหละ มันเป็นสิ่งที่ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะอายุเท่าไหร่ จะเป็นผู้ใหญ่ผ่านร้อนหนาวมาแค่ไหน ก็ยังเป็นเพียง ‘เด็กน้อย’ ในเรื่องของความรักอยู่วันยันค่ำ

ส่วนตัวนั้นชอบองค์ประกอบของหนังมาก โดยเฉพาะคอสตูมและการเซ็ตอัพฉากขึ้นมาในแต่ละซีน สามารถดึงความโดดเด่นเรื่องเทรนด์ในยุค 80 ออกมาได้คูลมาก ๆ แถมเก็บรายละเอียดทุกเม็ดสมราคาเต็งออสการ์ และถึงแม้ว่ามันอาจจะยากหน่อยที่เราจะได้เห็นหนังแนว LBGTQ คว้าออสการ์ 2 ปีติด (ต่อจาก Moonlight) แต่ก็ถือว่าด้วยคุณภาพนั้น มีสิทธิ์ลุ้นได้ยาว ๆ ครับ

สำหรับ Call Me By Your Name นั้นมีกำหนดเข้าฉายแบบจำกัดโรงตั้งแต่ 14 ธันวาคมนี้ เฉพาะที่ House RCA เท่านั้น

 

Play video

 

Play video