Play video

อ้าย เว่ย เว่ย ขอนำทุกท่านไปสัมผัสชีวิตของผู้อพยพทั่วทุกมุมโลกทั้งชาวโรฮิงยาที่ต้องเผชิญปัญหาการไล่ที่อย่างโหดร้ายทารุณจากรัฐบาลพม่า, ชาวอาหรับที่อพยพจากตะวันออกกลางที่มุ่งสู่ยุโรปเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่หลังผ่านสงครามที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อ และชาวแอฟริกาที่หนีความแห้งแล้งและหิวโหย แม้ต่างที่มาแต่ปลายทางของพวกเขาคือการหาพื้นที่เล็กๆที่ตนเองจะเรียกว่า บ้าน ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ



ผู้อพยพ-การเมือง-ศิลปะ หลากกิจกรรมของ อ้าย เว่ย เว่ย 

    HUMAN FLOW  คือผลงานสารคดีลำดับที่ 13 ของอ้ายเว่ยเว่ย ศิลปิน,สถาปนิกและนักเคลื่อนไหวทางสังคมของจีนที่ความสนใจหลักในงานของเขามักเกี่ยวข้องกับปัญหาการเมือง และเป็นภาพการอพยพของชาวตะวันออกกลางขึ้นฝั่งยังเกาะเลสบอสประเทศกรีซนี่เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นโปรเจคต์ HUMAN FLOW ซึ่ง อ้ายเว่ยเว่ย ได้ขยายความสนใจของเขาไปยังผู้อพยพหลากสถานที่ หลากเชื้อชาติ เพื่อเจาะลึกไปยังปัญหาการอพยพของเหล่าผู้ลี้ภัยทั่วโลกทั้งสาเหตุและปัญหาที่ทำให้พวกเขาจากบ้านและยังคงร่อนเร่ในต่างแดนแบบไม่มีทางรู้อนาคตตัวเองเลยแม้แต่น้อย แต่สิ่งที่ทำให้ HUMAN FLOW ลอยตัวเหนือสารคดีแนวเดียวกันคงหนีไม่พ้นมุมมองแบบศิลปินเพราะรายทางของหนังไม่ได้มุ่งนำเสนอข้อมูลผู้อพยพแบบเอาเป็นเอาตายจนน่าเบื่อ ตรงกันข้ามด้วยความเป็นศิลปินในตัว อ้ายเว่ยเว่ย ได้คัดสรรบทกวีที่กล่าวถึงการพเนจร การร่อนเร่ คำสอนทางศาสนา มาใช้เพื่อโน้มน้าวผู้ชมให้เห็นถึงปัญหาและเห็นใจเหล่าผู้อพยพ ผนวกกับงานถ่ายภาพที่หนังใช้บริการผู้กำกับภาพมือรางวัลถึง 12 คนรวมถึง คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ที่คนไทยมักรู้จักงานของเขาใน HERO (2002) หนังกำลังภายในของจางอวี้โหมว ที่ถ่ายภาพการอพยพได้อย่างสวยสดงดงามล้อไปกับบทกวีที่เลือกสรรมาอย่างดีทำให้ HUMAN FLOW ไม่ต่างจากนิราศของเหล่าผู้อพยพโดยมีเหตุการณ์การเมืองโลกคอยขับเคลื่อนวงจรการลี้ภัยอันน่าเศร้าของพวกเขาเป็นการวิพากษ์สังคมการเมืองแบบอ้ายเว่ยเว่ยได้อย่างแยบคาย

รู้จัก อ้ายเว่ยเว่ย เพิ่มเติมได้ที่นี่    



อีกด้านของปัญหาที่อ้ายเว่ยเว่ยเลือกเบือนหน้าหนี

    โดยส่วนตัวแม้เนื้อหาและงานภาพของหนังจะโน้มน้าวและนำพาอารมณ์ผู้ชมได้ท่วมท้นเพียงใด แต่หากพิจารณาโดยละเอียดแล้ว การที่ อ้ายเว่ยเว่ย นำตัวเองไปยืนข้างผู้อพยพแบบเต็มตัวถึงขั้นมีฉากที่เขาหยอกล้อด้วยการแลกพาสปอร์ตกับผู้อพยพชาวอาหรับและสมมติตัวเองถึงขั้นแลกชื่อที่อยู่กับชายแปลกหน้าที่เขาพบ ก็ย่อมบอกได้เป็นอย่างดีว่าเขาเลือกที่จะไม่มองปัญหานี้ให้รอบด้าน แม้เราจะสะเทือนใจกับภาพผู้ลี้ภัยที่รอประตูชายแดนเปิดรับพวกเขามากมายเพียงใดแต่ในทางกลับกันหากเราลองมองมุมของประเทศเจ้าบ้าน การรับคนแปลกหน้าเข้าประเทศคงไม่อาจพิจารณาในมุมมนุษยธรรมอย่างเดียวได้ เพราะประเทศยังต้องขับเคลื่อนด้วยปัจจัยยิบย่อยทั้งพื้นที่ อาศัย ระบบสำมะโนครัว เศรษฐกิจ ตำแหน่งงาน ซึ่งตัวหนังเองก็มีบทสัมภาษณ์ที่กล่าวถึงปัญหานี้อยู่บ้างแต่ก็เพียงผิวเผินเลยทำให้ตลอดความยาวหนัง 140 นาที กลายเป็นการพายเรือในอ่างที่วนเวียนอยู่แค่เกิดสงคราม-ความแห้งแล้งเลยทำให้คนอพยพแต่เจ้าบ้านอย่างยุโรปไม่ต้อนรับ ซึ่งทำให้หนังพลาดโอกาสในการวิพากษ์ปัญหาการอพยพในเชิงลึกไปอย่างน่าเสียดาย



สรุปแล้ว HUMAN FLOW อาจไม่ใช่สารคดีที่เหมาะกับคอหนังที่หวังความบันเทิงนัก แต่ใครที่สนใจความเคลื่อนไหวทางสังคม อยากรู้จักงานหนังของอ้ายเว่ยเว่ย หรือการถ่ายภาพหนังสารคดีที่งดงาม HUMAN FLOW คือหนังที่ตอบโจทย์คุณอย่างแน่นอน

HUMAN FLOW ฉาย 21 ธันวาคม 2560

Play video