‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร
 ใจพี่จมแทบพสุธา
 ดวงฤทัย หรือ ดวงแก้วตา
 ดุจดวงดาราดวงดาวดวงไหน
 วอนให้ชายทุกคนเดินผ่าน
 วอนให้ใจน้องไม่มีใคร
 วอนให้ลมพัดพาหัวใจพี่ไปถึง…’ 

เชื่อว่าในนาทีนี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักบทเพลงที่มีชื่อว่า ‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’ บทเพลงในท่วงทำนองโฟล์กละมุน แว่วหวานหัวใจรักที่มีต่อหญิงสาวแก้มแดง ร่ายบรรเลงผ่านเสียงกีตาร์โปร่งสว่างใสและเสียงร้องที่จริงใจผ่านถ้อยคำที่งดงามราวบทกวีเพลงนี้ ที่มีคนนำไป cover กันเป็นจำนวนมาก ไปอยู่ในโฆษณาของสายการบิน Thai Smile ไปอยู่ในหนังเรื่อง Low Season สุขสันต์วันโสด หลายคนอาจรู้ว่ามันคือผลงานของศิลปินนาม ‘เขียนไขและวานิช’ แต่น้อยคนอาจนักจะรู้จักตัวตนที่แท้ของบุคคลภายใต้ชื่อนี้

และต่อไปนี้คือเรื่องราวของคนดนตรีคนหนึ่งที่เริ่มต้นจากความเรียบง่ายและสามัญธรรมดา มาสู่การเดินทางของหนึ่งในศิลปินที่พาให้ดนตรีโฟล์กกลับมาเป็นที่นิยมในบ้านเราอีกครั้ง เรื่องราวของ ‘เขียนไขและวานิช’ หรือ ‘โจ้ สาโรจน์ ยอดยิ่ง’

[ บทความนี้เรียบเรียงจาก  ป๋าเต็ดทอล์ก EP.29 เขียนไขและวานิช กับข้อมูลในแหล่งต่าง ๆ เพื่อเรื่องราวที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ]

‘เขียนเพลงเพื่อตัวเอง’

สำหรับ โจ้ แล้วเขาเขียนเพลงขึ้นมาเพื่อบอกตัวเองและเตือนตัวเองในการใช้ชีวิต โจ้เป็นคนเชียงใหม่แต่กำเนิด เกิดที่อำเภอดอยสะเก็ด พ่อทำนา ปู่ทำสวน ชีวิตในแต่ละวันก็ไปเล่นน้ำ ไปลงบึง เล่น ‘สงครามโคลน’ ไม่ชอบเรียนหนังสือ ติดเล่น ติดเที่ยว ชอบยิงนก ตกปลา ปั่นจักรยานเล่นตามประสาเด็กชนบท

ตอนเด็กก็เคยฝันเหมือนเด็กทั่ว ๆ ไปที่อยากเป็นตำรวจ บ้าหนังทหาร รู้สึกว่าเท่อยากมีปืนแบบนั้นบ้าง แต่พอโตมา ก็ไปเรียนด้านศิลปะ เริ่มจากเพื่อนพาปีนรั้วโรงเรียน ซ้อนมอเตอร์ไซค์เข้าเมืองไปสอบกัน ไปยื่นเข้าสาขาอิเล็กทรอนิกส์ที่วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วันนัดสัมภาษณ์อ่านแผงชาร์ตวงจรไม่ได้ เหมือนจะเป็นตาบอดสี เลยมาสอบที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ ซึ่งมีสาขาให้เลือก คหกรรม, การโรงแรม, วิจิตรศิลป์ โจ้ก็เลยตัดสินใจเลือกวิจิตรศิลป์เพราะอยากเขียนการ์ตูน เป็นทางเลือกที่อาจดูตลกดี เพราะตาบอดสีแล้วมาเรียนศิลปะ แต่เอาเข้าจริงทุกวันนี้โจ้ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองตาบอดสีจริงรึเปล่า

โจ้เริ่มสนใจดนตรีโฟล์กซอง ตั้งแต่ตอนไปฝึกงานที่บ้านถวาย (หมู่บ้านหัตถกรรมในอำเภอหางดง จ.เชียงใหม่) ช่วงชั้นปีที่ 2 เป็นแกลลอรีของรุ่นพี่ ทำงานแบบ reproduct ฝรั่งให้ copy งานใครก็เขียนให้เอาไปติดบ้าน โดย พี่โก๋ บราวน์เฮ้าส์ เป็นคนที่สอนทุกสิ่งทุกอย่าง มักปล่อยให้ทำอะไรกันเองไปก่อน แล้วค่อยมาสอนทีหลัง เป็นคนสอนเขียนรูป สอนเล่นดนตรี ให้ตีคอร์ด เพราะพี่เค้าจะเล่นโซโล เลยมีโอกาสได้ฝึกเล่นดนตรีตั้งแต่นั้น จนกระทั่งมีคนหนึ่งในกลุ่มเริ่มแต่งเพลงขึ้นมา คนที่เหลือเลยเริ่มฝึกแต่งเพลงมาแชร์กันบ้าง

THE BEGINNING จุดเริ่มต้นสู่โน้ตตัวแรก

ในช่วงเวลานั้นพอมีงานก็ทำไป เวลาพักก็เล่นดนตรี มี CD ให้เปิดฟัง ส่วนใหญ่เป็นแนวโฟล์กหมดเลย เช่น  เอ้ รงค์ สุภารัตน์, นาย ไปรษณีย์ , ธีร์ ไชยเดช, พล Wild Seed, อารักษ์ อาภากาศ โดนขับกล่อมด้วยบรรยากาศทางดนตรีเช่นนี้เป็นเวลาหลายปี

ส่วนสาเหตุที่โจ้เลือกทำงานเพลงในแนวนี้นั่นก็เพราะ ไม่เก่งเรื่องคอร์ด ไม่ค่อยมีทฤษฎี และดนตรีโฟล์กซองนั้นรู้ไม่กี่คอร์ดก็แต่งเพลงได้แล้ว อีกทั้งยังไม่ต้องเล่นคอร์ดยาก โจ้จึงเริ่มแต่งเพลงแข่งขัน มาโชว์ประชันกันในหมู่เพื่อน

เมื่อดนตรีเรียบง่าย หัวใจของเพลงโฟล์กจึงอยู่ที่เนื้อเพลง ความรู้ด้านภาษาได้มาจากการอ่าน แต่ก็ไม่ค่อยชอบอ่านอะไรยาวมาก ชอบอ่านงานของ อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น’ ‘นายไปรษณีย์ แดนอรัญ แสงทองชอบงานดาร์ก ๆ และไม่ค่อยอ่านงานโรแมนติกเท่าไหร่ ชอบตั้งโจทย์ให้ตัวเอง เช่นถ้าจะเขียนคำว่า ‘รัก’ แต่ไม่ใช้คำว่า ‘รัก’ จะทำได้ไหม ทำยังไง

ไอเดียจากการเขียนเพลงของโจ้นั้นจะไหลมาเอง เช่นในเวลาที่มองอิริยาบถของคนรอบข้าง ทำไมคนนั้นถึงเป็นเช่นนั้น ถึงเป็นเช่นนี้ คำมันก็ไหลมาเอง อีกทั้งยังเคยถูกฝึกเรื่ององค์ประกอบศิลป์และการตีความจากการเรียนศิลปะมาเวลานำเสนองานอาจารย์ เลยนำมาประยุกต์ใช้กับเพลง แปลงวิธีคิดที่ใช้กับภาพ ให้กลายมาเป็นตัวหนังสือ ภาพหนึ่งภาพคนแต่ละคนต่างมองและตีความไม่เหมือนกัน โจ้เลยอยากเขียนเพลงที่หนึ่งประโยค หนึ่งบทความที่คนอาจจะคิดไม่เหมือนกันก็ได้ เช่น แต่งเพลงเกี่ยวกับความรัก แต่ไม่พูดถึงความรักเลย

พอจบวิจิตรศิลป์ก็ไปเรียนสถาปัตย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แต่ก็ไปไม่รอด เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เลยมาอยู่ที่บ้านถวาย เขียนรูปเล่นกีตาร์เหมือนเดิม ต่อมาจึงไปเรียนเซรามิก ถึงแม้ค่าเทอมถูกกว่าที่สถาปัตย์ แต่ก็เรียนไม่ไหวอีกอยู่ดี เลยรอให้ เล ประชา หลุยลำวัน (นักร้องนำวงอิสยา และ มือกีตาร์โซโล่ให้เขียนไขและวานิชในปัจจุบัน) พ้นทหาร แล้วก็ไปเข้าปีหนึ่งใหม่ด้วยกัน เลยเรียนศิลปกรรมด้วยกันจนถึงปี 3 ก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอมอีก ชีวิตช่วงนี้ลำบากมาก ดูแลตัวเอง หารายได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ยังไม่พอ ค่าเช่าหอ ค่าน้ำ ค่าไฟก็ไม่มี จนโดนตัดไฟล็อกห้อง ถึงแม้จะดูยากลำบาก แต่เมื่อมองย้อนกลับไปในวันนี้โจ้ก็มองมันเป็นเรื่องขำ

ในที่สุดโจ้เลยตัดสินใจไม่เรียนต่อ และไปเล่นดนตรีเพื่อหาเลี้ยงชีพ ทำงานร้านหม่าล่า ร้านเหล้า จนมีร้านเหล้าร้านหนึ่งเป็นของเพื่อน โจ้และเพื่อน ๆ เลยเอาเพลงที่ตัวเองแต่งไปเล่นกันหมด ไม่มีลูกค้าสักคน มีแต่พวกเดียวกันเอง ลงบิลกันเอง จนวันหนึ่งมีฝรั่งมาที่ร้าน เป็นนักดนตรีที่แต่งเพลงเองเหมือนกันเลยเอาเพลงที่ตัวเองแต่งมาเล่นแลกเปลี่ยนกัน จากนั้นโจ้เลยเริ่มมั่นใจและลองไปออดิชันเล่นที่ร้านอื่นดูบ้าง โดยเอาเพลงตัวเองไปเล่น แต่ก็ไม่มีคนฟังอยู่ดี

จนหยุดเล่นไปแล้ว แต่เพื่อน ๆ คือ เล และ วง ‘อิสญา’ ยังเล่นกันอยู่ที่ร้าน 7 Pounds ซึ่งเป็นร้านที่ให้นักดนตรีต้องเล่นเฉพาะเพลงที่แต่งเอง วันนึง ‘อิสญา’ ได้ไปเล่นงานต่างจังหวัด ร้านเลยขาดนักดนตรีเล่นในวันนั้น เลเลยโทรมาชวนโจ้เพราะร้านอยากได้นักดนตรีที่เล่นเพลงของตัวเอง โจ้ตอนนั้นมีเพลงที่แต่งอยู่ 5-6 เพลงแต่ก็ไม่มั่นใจนัก แต่ก็ลองไปดู พี่เจ้าของร้าน 7 Pounds เลยชวนเล่นประจำ เพราะเจ้าของร้านเองก็แต่งเพลงเหมือนกัน คอเดียวกัน จากนั้นคนก็ติดหูเข้ามาหา มาฟังเพลงกันมากขึ้น สิ่งที่ทำให้โจ้เล่นดนตรีมาต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ ไม่ได้มาจากความมั่นใจหรือเชื่อมั่นในอะไร แต่ทำไปเพื่อเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ เวลามีคนมาขอเพลง ไม่ได้หยิ่งไม่อยากเล่น แต่เล่นไม่ได้ บางเพลงก็ไม่รู้จัก ไม่เคยซ้อม

ต่อมาเพื่อนชวนไปปั้นบันไดนาคที่พัทยา อยู่ 2 เดือน เลยหยุดเล่นดนตรีไปทำงานก่อน จนมีคนโทรมาชวนไปเล่นเปิดให้วงของ อภิรมย์ จากนั้นวิถีแห่งการเป็นนักดนตรีอย่างจริงจังของโจ้ก็ได้เริ่มต้นขึ้น

TURNING POINT จุดเปลี่ยนสู่วิถีแห่งนักดนตรี

จากนั้นโจ้จึงเริ่มต้นชีวิตการเป็นนักดนตรีเต็มตัวและเริ่มออกทัวร์ไปเล่นตามที่ต่าง ๆ กับ ‘คณะพวงรักเร่’ อยู่จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มพี่น้องนักดนตรีโฟล์ก ที่รวมตัวช่วยกันหางานเล่นดนตรีและดูแลกันเอง

“แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร” เพลงแรกที่ทำให้คนรู้จัก

จุดเริ่มต้นของเพลงที่เรียกได้ว่า ‘ดัง’ ที่สุดของเขียนไขและวานิช เกิดขึ้นในตอนที่โจ้ไปเล่นที่บ้าน พาตี่ บ้านไม้สองชั้นของนักดนตรีชาวปกาเกอะญอที่ชื่อ ณัฐวุฒิ ธุระวร หรือในนามศิลปิน คลีโพ ซึ่งตั้งอยู่บนดอยป่าสน ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในตอนนั้นมีการคัดคนขึ้นไปร้องเพลงรอบกองไฟ ตื่นมา พี่ต่าย อภิรมย์ ก็ได้เอาเพลงที่แต่งไว้นานแล้วและไม่ค่อยได้เล่นมาเล่นให้ฟัง โจ้ก็เลยเอาเพลงที่แต่งไว้นานแล้วเหมือนกันออกมาเล่น

แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร
ใจพี่จมแทบพสุธา
ดวงฤทัยหรือดวงแก้วตา
ดุจดวงดาราดวงดาวดวงไหน
วอนให้ชายทุกคนเดินผ่าน
วอนให้ใจน้องไม่มีใคร
วอนให้ลมพัดพาหัวใจพี่ไปถึง…   

เมื่อเสียงจากคอร์ดสุดท้ายค่อย ๆ จางไป เสียงปรบมือของเหล่าผู้ฟังที่นั่งรอบกองไฟก็ดังขึ้น จากนั้นเสียงตอบรับแรกจากพี่ต่าย อภิรมย์ ก็ได้ดังขึ้นว่า

“มึงต้องเอาเพลงนี้ไปบันทึกเสียงให้ดี ๆ”

เพียงแรกฟังพี่ต่ายและทุกคนในที่นั้นต่างก็ประทับใจเลยแนะนำให้เอาเพลงนี้ไปอัดให้ดี และทุกคนก็เชื่อว่าบทเพลงนี้จะทำให้โจ้ได้ ‘ออกเดินทาง’ และเพลงนั้นก็คือ ‘แก้มน้องนางนั้นแดงกว่าใคร’ นั่นเอง

ในตอนแรกที่โจ้ไม่ค่อยมั่นใจในเพลงนี้เท่าไหร่นักก็เพราะว่าเพลงนี้แตกต่างจากเพลงอื่น ๆ ตรงที่เป็นเพลงรักโรแมนติกเพลงเดียวในหมู่เพลงเศร้า ๆ ของโจ้ เลยทิ้งไว้ใน soundcloud เฉย ๆ แต่สุดท้ายแล้วบทเพลงนี้ก็ได้พิสูจน์ตัวของมันเอง จากนั้นมาความสำเร็จก็เข้ามาหาโจ้ โดยที่โจ้เองก็ไม่รู้ว่ามันมาได้ยังไง มาเมื่อไหร่ เขายังรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เป็นนักดนตรีที่เก่งกาจอยู่เลย ยังเป็นคนที่รู้อยู่ไม่กี่คอร์ดและก็เล่นดนตรีเพื่อหาเลี้ยงชีพเท่านั้น

“เพลงเดินทางไปก่อนผม ผมอยู่กับที่ แต่เพลงมันเดินทางด้วยตัวของมันเอง”

นี่คือสิ่งที่โจ้คิด

เพลงนี้มีที่มาจากความประทับใจในสาวน่านที่โจ้แอบชอบ ซึ่งเป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันตั้งแต่ราชภัฏเชียงใหม่และมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านเกิดของสาวคนนี้ ก็เลยเขียนเพลงนี้ขึ้นมา โจ้ใช้เวลาอยู่ที่น่าน 10 วันพอกลับมาก็มีอารมณ์ตกค้าง จากที่สวย ๆ งาม ๆ มานั่งอยู่หอรก ๆ จึงหยิบกระดาษ ปากกา กีตาร์ และลงมือเขียนเพลงขึ้นมา ใช้เวลาแค่ครึ่งชั่วโมงเสร็จ แต่งเสร็จก็รู้สึกเขินก็เลยทิ้งไว้แบบนั้น แม้แต่สาวคนนั้นโจ้ก็ไม่เคยส่งให้ฟัง แต่ตอนนี้เธอรู้แล้วว่าโจ้แต่งเพลงนี้เพราะเธอ ทุกวันนี้เวลาร้องเพลงโจ้ก็พยายามที่จะนึกถึงเธอคนนั้นอยู่

“การที่จะร้องเพลงใดเพลงหนึ่งก็ตาม ผมต้องนึกถึงเรื่องที่ทำให้ผมแต่งขึ้นมาก่อน มันถึงจะอิน”

(อ่านต่อหน้า 2 ครับ)

BEING THE ARTIST สู่การเป็นศิลปินนาม ‘เขียนไขและวานิช’

ชื่อ ‘เขียนไขและวานิช’ มาจากชื่อเทคนิคการสกรีนภาพพิมพ์เชื้อน้ำ เชื้อน้ำมันที่โจ้เรียนมา ซึ่งเป็นชื่อที่เหมาะจะใช้กับศิลปินเพลงโฟล์กมาก ด้วยว่ามีความเป็นไทยและมีอารมณ์คำเหมือนบทกวี  แต่ก็เป็นชื่อที่ทำให้คนสับสน คิดว่าโจ้กับเพื่อนนั้นเป็นศิลปินคู่ที่คนหนึ่งชื่อเขียนไข อีกคนชื่อวานิช

ถึงแม้จะเริ่มมีชื่อเสียงมากแล้ว แต่โจ้ก็ยังไม่คุ้นกับคำว่า ‘ศิลปิน’ และไม่ได้มีความรู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็น ‘ศิลปิน’ เลย มันออกจะเขิน ๆ เสียด้วยซ้ำ จากวันนั้นจนวันนี้ที่มีบทเพลงเป็นที่รู้จักมากมาย โจ้ก็ยังมีวิธีและแนวคิดในการแต่งเพลงแบบเดิม ทำเพราะอยากทำ ไม่ได้ทำเพราะต้องบังคับตัวเองให้เขียน

“ถ้าวันนึงผมทำเพราะคาดหวังเกี่ยวกับเงิน มันจะไม่ใช่เพลงของผมละ”

‘ความเศร้าในบทเพลง’

ประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาโจ้พบเรื่องเศร้ามามาก ผิดหวังเสียใจ อกหัก บ่อย เพลงเศร้าเหล่านี้จึงเกิดจากความเศร้าที่เคยเจอ ความเศร้าที่เกี่ยวกับตัวเอง ย้ำอยู่อย่างนั้น อยู่กับมันอย่างนั้น จนถึงที่สุด คล้ายเป็นการเยียวยาตัวเอง

ข้อเสียของโจ้ คือคำว่า ‘รอก่อน’ หรือ ความขี้เกียจ เป็นคนไม่ได้วางแผน เรื่องอนาคตเลย มีความสุขกับการคิดวันต่อวัน อยากไปไหน อยากทำอะไรทำเลย อย่างช่วงโควิดที่เข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว งานหมดหดหาย โจ้ก็แค่ตัดสินใจกลับไปบ้าน การใช้ชีวิตแบบไม่ต้องมีต้นทุนชีวิตมาก ก็ทำให้ยืดหยุ่นและปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เข้ามากระทบได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องบอบช้ำไปกับมัน

‘ระวังจะช้ำ’

ช่วงที่เล่นดนตรีมาก ๆ เล่นซ้ำไปซ้ำมา โจ้เริ่มกังวลกับ ‘ความช้ำ’ กับการต้องเล่นซ้ำไปซ้ำมา ทำอะไรตาม สเต็ปเดิมเหมือนเป็นหุ่นยนต์ จนความรู้สึกสดใหม่มันหายไป เหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า ไม่มีเวลาคิดเพลงใหม่ หรือสร้างสรรค์อะไร เลยรู้สึกอยาก หนีห่างออกมา มาพักเสียก่อน กลับบ้าน หาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ เพื่อน ๆ ในวงก็รู้สึกแบบเดียวกัน จึงเริ่มหยุดรับงานโชว์ และค่อย ๆ ถอยไปพักทีละนิด

THE DECISION การตัดสินใจ

ช่วงประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง ก็มีค่ายเพลงมาชวน แต่โจ้ก็ปฏิเสธ เพราะด้วยนิสัยที่อยู่กับคนอื่นไม่ได้ ไม่ชอบอยู่เป็นระบบ ไม่อยากดังกว่านี้ กลัวว่าเดี๋ยวมันจะไม่เหมือนเดิม ตัวตนจะไม่เหมือนเดิม

“ผมไม่อยากไปคาบเกี่ยวอะไรกับใคร อยู่กับตัวเองง่ายสุด มีปัญหาก็เจ็บที่ตัวเอง ไม่ได้พ่วงกับใคร”

เลือกที่จะเป็นศิลปินอิสระต่อไป ไม่ได้ลำบาก อยากทำก็ทำ ไม่อยากทำก็ไม่ต้อง อยากเขียนเพลงเมื่อไหร่ก็เขียนด้วยความรู้สึกตัวเอง ไม่ได้มีใครมาบังคับหรือต้องเขียนตามโจทย์ไหน

มีผู้ใหญ่ในวงการเคยพูดไว้ว่า ศิลปินหลายคนคิดว่าถ้าตัวเองหยุดแล้วแฟนเพลงจะรอ ทุกคนจะตื่นเต้นกับการกลับมา แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครรอเรา และในช่วงที่เราหยุดนั้นก็มีศิลปินเกิดใหม่ขึ้นมามากมาย แต่สำหรับโจ้แล้ว เขาไม่มีความรู้สึกกลัวกลับกับสิ่งนี้เลย โจ้เคยมีชีวิตที่ยากลำบากมาก่อน เคยเป็นแบบไหนถ้าต้องกลับไปเหมือนเดิมก็รู้จักมันดีอยู่แล้วไม่มีอะไรให้ต้องกลัว

“เราอยู่ต่ำมาก่อนอยู่แล้ว เราขึ้น เราลง เรารู้มันไม่เจ็บหรอกถ้าต้องตกลงมา” 

และเพลงที่โจ้เขียนขึ้นมานั้นก็เพื่อตอบสนองตัวเอง ถ้าคนชอบก็โอเค ถ้าคนไม่ชอบก็ไม่เป็นอะไร วันใดที่แต่งเพลงเสร็จแล้วก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เพลงไหนจะดังไม่ดังก็เป็นเรื่องของคนฟัง อย่างบางเพลงที่โจ้ไม่ชอบมากนักกลับดัง ส่วนเพลงที่ชอบทำอย่างไรก็ไม่ดัง เช่น เพลง ‘โลกทั้งใบนี้เอง’ ซึ่งเป็นเพลงที่โจ้เขียนขึ้นเกี่ยวกับธรรมชาติ โจ้ไม่ได้เอากลับมาทำใหม่และยังลงไว้อยู่ใน soundcloud

สุดท้ายโจ้ได้ฝากคำแนะนำดี ๆ ไปถึงคนที่รักในเสียงดนตรีที่เริ่มออกเดินทางมาแล้วแต่อาจยังมาไม่ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ เป็นถ้อยคำที่เรียบง่ายและสามารถเป็นกำลังใจได้เป็นอย่างดี

“ถ้าเราทำในสิ่งที่เรารักแล้ว แล้วเราไม่ได้คาดหวัง คำว่าพอมันจะอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว มันอยู่ที่เราอยู่แล้ว ถ้าเรารู้ในตัวเอง รู้ด้วยสติของตัวเอง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องการอะไรอีกแล้ว”

“ชีวิตคนคนหนึ่งเป็นมนุษย์เหมือนกัน มันไม่มีใครดี ใครด้อยไปกว่ากัน และผมก็เชื่ออย่างนั้น ผมไม่เคยดูถูกใครเลย เพราะคนที่ดูถูกคนอื่นคนนั้นผิดมหันต์จริง ๆ” 

“บางทีไม่จำเป็นต้องพยายาม ทำไปเถอะครับ ลงมือทำคือคำตอบอยู่แล้ว”

Source

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส