นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ได้ทำการทดลองสุดล้ำด้วยการเปลี่ยนใยแมงมุมให้กลายเป็นเสียงดนตรี ! สร้างสรรค์ซาวด์แทร็กที่ชวนขนลุกขนพองซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ดีขึ้นว่าแมงมุมนั้นมีการสร้างสรรค์เส้นใยที่ซับซ้อนของพวกมันได้อย่างไรรวมไปถึงวิธีการสื่อสารของพวกมันด้วย

ทีม MIT ทำงานร่วมกับโทมาส ซาราชีโน (Tomás Saraceno) ศิลปินจากเบอร์ลินเพื่อสแกนใยแมงมุมด้วยเลเซอร์สแกนแบบ 2 มิติและแปลงเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถสร้างรูปแบบใยขึ้นใหม่เป็นรูปแบบ 3 มิติในแบบ VR  นอกจากนี้พวกเขายังทำงานร่วมกับแผนกดนตรีของ MIT เพื่อสร้างเครื่องดนตรีเสมือนที่ให้เสียงเหมือนกับพิณฮาร์ป

“ถึงแม้ว่าการสร้างใยของมันจะเหมือนกับเป็นการทำแบบสุ่ม แต่จริง ๆ แล้วมีโครงสร้างภายในมากมายซึ่งคุณสามารถเห็นภาพมันและมองดูมันได้ แต่มันอาจเป็นสิ่งที่ยากเกินที่จินตนาการหรือสมองของมนุษย์จะสามารถเข้าใจรายละเอียดโครงสร้างเหล่านี้ทั้งหมดได้” มาร์คัส เจ. บัวห์เลอร์ (Markus J. Buehler) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของ MIT กล่าว ซึ่งเขาเพิ่งนำเสนอผลงานวิจัยชิ้นนี้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาในการประชุมเสมือนจริงของ American Chemical Society

มาร์คัส เจ. บัวห์เลอร์ (Markus J. Buehler) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมของ MIT

“การฟังเพลงขณะเคลื่อนที่ผ่านใยแมงมุม VR จะช่วยให้คุณเห็นและได้ยินการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเหล่านี้และทำให้คุณเข้าใจมากขึ้นว่าแมงมุมมีวิธีมองโลกอย่างไร” บัวห์เลอร์กล่าว

“แมงมุมมีเซนเซอร์ตรวจจับการสั่นสะเทือนที่แหลมคมมาก พวกมันใช้การสั่นสะเทือนเพื่อปรับทิศทางตัวเองและสื่อสารกับแมงมุมตัวอื่น ๆ ดังนั้นการคิดในแบบที่แมงมุมใช้ในการมองโลกใบนี้จึงเริ่มเป็นสิ่งที่ชัดเจนมากสำหรับเราในฐานะนักวัสดุศาสตร์ที่ใช้แมงมุมในการศึกษา”

พวกเขาทำการสแกนเส้นใยในขณะที่แมงมุมกำลังสร้างมันขึ้นมาและบัวห์เลอร์ได้เปรียบเทียบสิ่งนี้กับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายที่จะมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อโครงสร้างของมันมีความซับซ้อนขึ้น

“เหมือนเวลาที่คุณกำลังเล่นกีตาร์จู่ ๆ ก็จะมีเสียงของสายอื่น ๆ ปรากฏขึ้น ผสานรวมกันและเสียงของมันก็ได้กว้างขวางขึ้น” เขากล่าว

บัวห์เลอร์กล่าวว่าพวกเขาได้บันทึกการสั่นสะเทือนที่แมงมุมสร้างขึ้นในระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสร้างใย การส่งสัญญาณเกี้ยวพาราสีและการสื่อสารกับแมงมุมอื่น ๆ และใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างเวอร์ชันสังเคราะห์ของการสั่นสะเทือนเหล่านี้ขึ้นมา

“บางทีเราอาจจะพูดภาษาแมงมุมได้” เขากล่าว “ความหวังของเราคือเราจะสามารถสร้างรูปแบบเหล่านี้ด้วยโครงสร้างใยแมงมุมที่เพิ่มความสามารถในการสื่อสารกับแมงมุมและบางทีเราอาจกระตุ้นให้แมงมุมแสดงท่าทีในทางใดทางหนึ่งเพื่อตอบสนองต่อสัญญาณในลักษณะหนึ่ง”

บัวห์เลอร์กล่าวว่างานยังอยู่ระหว่างดำเนินการและพวกเขาต้องปิดห้องทดลองของพวกเขาเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19

บัวห์เลอร์สนใจความเชื่อมโยงระหว่างดนตรีและวัสดุในระดับโมเลกุลมาหลายปีแล้วและได้ใช้เทคนิคที่คล้ายคลึงกันเพื่อแสดงความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างวัคซีน Pfizer / BioNTech และ Moderna และระหว่างไวรัสโควิด -19 สองสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน (คุณจะได้ยินเสียงหนึ่งผ่านลำโพงด้านซ้ายและอีกอันหนึ่งผ่านทางขวา)

บัวห์เลอร์กล่าวว่านอกเหนือจากคุณค่าทางวิทยาศาสตร์แล้วใยแมงมุมยังมีความน่าสนใจทางดนตรีและเราสามารถได้ยินท่วงทำนองที่แมงมุมสร้างขึ้นระหว่างการถักทอใยขึ้นมา “มันแปลกน่าขนลุกและน่ากลัวแต่ท้ายที่สุดก็คือความสวยงาม” เขากล่าว

นอกจากนี้สมาชิกของทีมวิจัยยังได้ทำการแสดงดนตรีสดด้วยการเล่นกับใยแมงมุม VR ในขณะที่นักดนตรีก็เล่นแจมด้วยเครื่องดนตรีจริง

“เหตุผลที่ผมทำการศึกษานี้ก็คือผมต้องการที่จะสามารถถ่ายโอนข้อมูลจากมุมมองของแมงมุมได้จริง ๆ ซึ่งมันอาจดูเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและน่ากลัว ซึ่งหากคุณต้องการเราพามันไปสู่สิ่งที่เป็นมนุษย์มากกว่านี้” บัวห์เลอร์กล่าว

Source

CNN

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส