เราเคยรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน สัตว์น้ำและแมลงที่มีพิษ แต่เราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีสัตว์ปีกอย่างนกว่ามีสายพันธุ์ที่มีพิษรุนแรงอยู่ด้วย และนี่คือนกพิโทฮิววิ (Hooded Pitohui) นกที่น่าจะเป็นสายพันธุ์เดียวบนโลก ที่ขนของมันมีพิษที่มีฤทธิ์รุนแรง

จอห์น เจมส์ ออดูบอน และ แดช

ถึงแม้ในปัจจุบันนกพิโทฮิวอิจะจัดว่าเป็นนักสายพันธุ์เดียวที่มีพิษรุนแรง แต่ในอดีตก็เคยมีนกแก้วแคโรไลนา (Carolina parakeet) ที่เชื่อกันว่าเป็นนกที่มีพิษรุนแรงเช่นกัน ย้อนไปในศตรวรรษที่ 18 นู่น จอห์น เจมส์ ออดูบอน (John James Audubon) ศิลปินและนักปักษีวิทยา ได้ยินกิตตศัพท์ถึงฤทธิ์เดชของนกแก้วแคโรไลนานี้ จากชนชาวพื้นเมืองอเมริกันว่า นกแก้วแคโรไลนา ที่มีสีเขียวและทองสวยงาม พบเห็นได้ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอเมริกานั้น เป็นนกที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิต ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนกคนหนึ่ง เขาจึงอยากจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ ออดูบอนเลยตัดสินใจจูงเจ้าแดช หมาล่าเนื้อคู่ใจบุกเข้าป่าดั้นด้นไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีเพื่อค้นหานกแก้วแคโรไลนานี้ ด้วยความเชี่ยวชาญ พอเข้าป่าไปได้ไม่นาน ออดูบอนก็จับนกแก้วแคโรไลนาได้ตัวหนึ่ง ริมฝั่งแม่น้ำ แล้วทำการทดลองด้วยการจับมันมาต้มแล้วเอาให้แดชกิน อ้าว! ไหงงั้น อ่านถึงตรงนี้ คนรักหมาน่าจะมีเคือง ทำไมออดูบอนไม่รักหมาตัวเองเล้ยยย

นกแก้วแคโรไลนา

ตกลงแดชรอดไหม ไม่มีใครรู้ชะตากรรมเพราะบันทึกของจอห์นเขียนถึงแค่ตอนเอานกแก้วแคโรไลนามาปรุงอาหารให้แดชกินแค่นั้น แต่คาดว่าแดชไม่น่าจะรอดเพราะสิ่งที่มันกินเข้าไปคือนกสายพันธุ์เดียวที่มีพิษมากที่สุดในโลกขณะนั้น
แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีบันทึกถึงนกแก้วแคโรไลนาอีกเลย เพราะอีกหนึ่งศตวรรษต่อมานกแก้วแคโรไลนาก็สูญพันธุ์ไปเรียบร้อยแล้ว

แจ็ก ดัมแบเชอร์

ในปี 1989 ก็มีการค้นพบนอีกสายพันธุ์หนึ่งที่มีพิษรุนแรง เป็นการค้นพบด้วยความบังเอิญโดย แจ็ก ดัมแบเชอร์ (Jack Dumbacher) จากสถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย เดินทางเข้าป่าประเทศปาปัวนิวกินีเพื่อเสาะหา นกปักษาสวรรค์ หรือ นกการเวก (birds of paradise) ดัมแบเชอร์ขึงตาข่ายดักนกระหว่างไม้ใหญ่สองต้น

นกพิโทฮิวอิ

หนึ่งวันต่อมาดัมแบเชอร์กลับมาดูที่ตาข่ายดักนก พบนกหลายตัวติดอยู่กับตาข่าย และหนึ่งในนั้นคือนกพิโทฮิวอิ hooded pitohuis (ชื่อวิทยาศาสตร์ Pitohui dichrous) เป็นนกตัวเล็กสีดำและส้ม มีจงอยปากที่ทรงพลัง และมีตาสีแดงก่ำ เนื่องจากพิโทฮิวอิ ไม่ใช่นกที่ดัมแบเชอร์ต้องการ เขาจึงพยายามปล่อยตัวมันออกจากตาข่าย แต่ระหว่างนั้นเขาก็ถูกเล็บมันข่วนเข้าที่มือ แรกเริ่มเดิมทีดัมแบเชอร์ก็ไม่ได้สนใจบาดแผลเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้แต่ไม่นานจากนั้นเขาเริ่มรู้สึกเจ็บที่บาดแผลรุนแรง ทั้งที่เป็นบาดแผลข่วนเล็ก ๆ เท่านั้นเอง ด้วยสัญชาตญาณพื้นฐานมนุษย์ เขาเลยดูดนิ้วที่มีบาดแผลนั้น เพราะคิดว่าเป็นวิธีง่าย ๆ ที่จะลดความเจ็บได้ กลายเป็นว่าลิ้นของเขาก็เจ็บปวดรุนแรงเหมือนโดนหนามทิ่มแทงและเริ่มมีแผลไหม้ พออาการเริ่มรุนแรง ดัมแบเชอร์ตัดสินใจไปถามชาวบ้านละแวกนั้นว่ามีใครเคยพบนกหน้าตาแบบนี้ แล้วมีอาการคล้ายเขาบ้างไหม กลับกลายเป็นว่าชาวบ้านรู้กิตติศัพท์ความร้ายแรงของนกพิโทฮิวอิกันเป็นอย่างดี และพยายามอยู่ห่าง ๆ จากมัน ชาวบ้านตั้งฉายาให้ นกพิโทฮิวอิ ว่า “นกขยะ” อย่าจับมากินเป็นอันเด็ดขาด

จอห์น ดาลี

โชคยังดีที่อาการของดัมแบเชอร์ยังไม่รุนแรงถึงชีวิต เขาเก็บเอาขนนกของนกพิโทฮิวอิ กลับมาที่ห้องแล็บในสหรัฐฯ ด้วยเพื่อทดสอบมัน เขานำไปให้ จอห์น ดาลี (John Daly) นักเคมีประจำสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ดาลีตรวจสอบแล้วเล่าให้ดัมแบเชอร์ฟังว่า เขาพบสารพิษ batrachotoxin บนขนนกพิโทฮิวอิ ซึ่งเขาเคยเจอสารพิษตัวนี้มาแล้วเมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ บนร่างของกบลูกศรพิษ (Poison dart frogs) ที่พบเห็นได้บริเวณทวีปอเมริกาใต้ batrachotoxin จัดว่าเป็นในกลุ่มสเตียรอยด์ อัลคาลอยด์ ที่มีฤทธิ์รุนแรง ถ้าได้รับเข้าไปในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเป็นอัมพาต หัวใจวายและถึงชีวิตได้ ถ้าวัดกันระหว่าง กรัมต่อกรัม เทียบกับสารพิษอื่นที่พบได้ตามธรรมชาติแล้ว batrachotoxin จัดว่าเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์เดชรุนแรงที่สุดที่เคยมีการค้นพบทางด้านวิทยาศาสตร์

ด้วยการค้นพบนี้เรียกความสนใจจาก จอห์น ดาลี ได้ ทำให้เขาศึกษานกพิโทฮิวอิต่อ และในปี 1992 ดาลีก็ค้นพบว่ามีสารพิษ batrachotoxin จำนวนมากอยู่บนขนนกพิโทฮิวอิ

ด้วงเมลีรีด

ในปี 2004 แจ็ก ดัมแบเชอร์ ร่วมกับชาวพื้นเมืองในปาปัวนิวกินี ช่วยกันหาคำตอบว่าด้วยเหตุใด นกพิโทฮิวอิถึงมีสารพิษ batrachotoxin อยู่บนขนของมัน แล้วก็ได้คำตอบว่านกพิโทฮิวอิได้รับสารพิษนี้มาจากด้วงเมลีริด (melyrid beetle)ที่เป็นอาหารโปรดของมัน

อ้างอิง