เหตุการณ์เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2014 เป็นเรื่องราวที่ใครได้ยินก็ต้องอุทานว่า ‘แบบนี้ก็มีด้วยเหรอ’ สายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบิน ET-702 ขึ้นบินจาก แอดดิสอาบาบา (Addis Ababa) ประเทศเอธิโอเปีย มุ่งหน้าสู่กรุงโรม ระหว่างที่นักบินออกจากค็อกพิตไปเข้าห้องน้ำ Hailemedehin Abera Tagegn ผู้ช่วยนักบินวัย 30 ปี ก็อาศัยจังหวะนี้ล็อกประตู แล้วทำการจี้เครื่องบินตัวเองเพื่อมุ่งหน้าออกนอกเส้นทาง ตั้งเป้าหมายไปลงจอดที่สนามบินเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมกันนี้เขาประกาศกร้าวว่า ถ้ามีใครมาขัดขวาง เขาจะทำให้เครื่องตก

เอธิโอเปียนแอร์ไลน์ เที่ยวบิน ET-702

เพื่อรับมือเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกลางอากาศนี้ กองทัพอากาศจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศสและอิตาลี จึงส่งเครื่องบินรบขึ้นมาบินประกบเครื่องบินของสายการบินเอธิโอเปียนลำนี้เพื่อดูแลความปลอดภัยไปจนกระทั่งลงจอดได้อย่างปลอดภัยในสนามบินที่กรุงเจนีวา เมื่อเวลา 6:02 น. หลังจากเครื่องลงจอดแล้ว ผู้ช่วยนักบินผู้ก่อเหตุนี้ก็พยายามหลบหนี ด้วยการโรยเชือกลงมาจากห้องนักบิน แต่ก็ถูกรวบตัวเสียก่อน เขาให้การว่าที่กระทำการเช่นนี้ เพราะต้องการลี้ภัยมาอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ เหตุจากเขาไม่ได้รับความปลอดภัยที่จะพำนักอาศัยอยู่ในประเทศตัวเอง แต่ก็ถือว่าเหตุการณ์ร้ายนี้ลงเอยด้วยดี เพราะผู้โดยสารจำนวน 202 ชีวิต ปลอดภัยดี ส่วนนักบินผู้ช่วยผู้ก่อเหตุ ทางเอธิโอเปียมีการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกับสวิตเซอร์แลนด์ แต่ทางการสวิตไม่ยอม และถูกคุมขังในสวิสต่อไป ซึ่งในปี 2015 ศาลเอธิโอเปียมีการการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (Trial in absentia) โดยตัดสินให้ Hailemedehin Abera Tagegn ต้องโทษจำคุก 19 ปี 6 เดือน โดยที่เจ้าตัวยังถูกขังอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์

Hailemedehin Abera Tagegn

แต่ประเด็นของเรื่องนี้ ไม่ได้อยู่ที่เหตุจี้เครื่องบินหรอก เพราะตลอดเหตุการณ์ที่เกิดบนน่านฟ้าของสวิตเซอร์แลนด์ แต่กลับไม่มีเครื่องบินของกองทัพอากาศสวิสออกมาปฏิบัติการแต่อย่างใด เครื่อง F-18s และ F-5 Tigers ของกองทัพสวิส ยังคงจอดนิ่งอยู่ในสนามบินของกองทัพ คงมีแต่เครื่องบินจากกองทัพอากาศของประเทศเพื่อนบ้านมารับหน้าที่ดูแลเหตุการณ์ความไม่สงบนี้ ถ้าถามต่อไปว่า กองทัพอากาศของสวิสทราบถึงเหตุการณ์ร้ายนี้ไหม ซึ่งก็ทราบกันดี แต่เหตุผลที่ไม่มีการส่งเครื่องบินออกมาร่วมปฏิบัติการนี้ก็เพราะว่า เหตุการณ์นี้เกิดตอนตี 4:30 น. ซึ่งอยู่นอกเวลาทำการของกองทัพอากาศ จะไม่มีใครทำงานจนกว่าจะถึงเวลาเริ่มงานตอน 8:00 น. อ่านถึงตรงนี้ ร้อง ห๊ะ! ได้นะครับ

เจ้าหน้าที่ตำรวจสวิส เข้ามาควบคุมสถานการณ์จี้เครื่องบิน

พอเกิดเหตุการณ์นี้ จึงมีการรายงานข่าวเรื่องกองทัพอากาศสวิสออกไปทั่วโลก ทำให้ ลอเรนต์ ซาวารี (Laurent Savary)โฆษกของกองทัพอากาศสวิสออกมาชี้แจงว่า
“เหตุที่กองทัพอากาศสวิสไม่ออกมาทำการสกัดกั้นเหตุร้ายนี้ก็เพราะ สนามบินของเราปิดทำการในตอนกลางคืนและในวันหยุดสุดสัปดาห์”
ขยายความเพิ่มเติมดังนี้ครับ กองทัพอากาศสวิสจะทำการเฉพาะเวลาราชการเท่านั้น นั่นก็คือตั้งแต่เวลา 8:00 – 12:00 น. จากนั้นพักเที่ยง 1 ชั่วโมงครึ่ง ทำงานอีกทีตอน 13:30 น. แล้วก็ไปเลิกงานตอน 17:00 น.
ซาวารียอมรับว่า สวิตเซอร์แลนด์ต้องพึ่งพาอย่างหนักต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะฝรั่งเศสให้ช่วยเป็นธุระในการรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนอกเวลาราชการของสวิตเซอร์แลนด์

ที่มาของปัญหานี้ต้องย้อนไปถึงวันที่ก่อตั้งกองทัพอากาศสวิสกันเลย ซึ่งเริ่มสถาปนาขึ้นในปี 1914 ในวันนั้นมีนักบินประจำการเพียงแค่ 9 นายเท่านั้น เป็นเช่นนี้มาจนถึงช่วงปี 1940s ทางรัฐบาลก็ถือว่าเท่านี้ก็เพียงพอในการทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองน่านฟ้าของสวิตเซอร์แลนด์แล้วในฐานะประเทศผู้เป็นกลาง จากนั้นทางรัฐบาลจึงทำการหั่นงบทางด้านทหารลง มีการซื้อเครื่องบินใหม่น้อยมาก แล้วนักบินส่วนใหญ่ก็ปลดประจำการกันออกไปตามอายุราชการ ตั้งแต่นั้นสวิตเซอร์แลนด์จึงต้องขอพึ่งใบบุญจากประเทศเพื่อนบ้านเสมอมา อย่างเมื่อเดือนมกราคม 2014 สวิตเซอร์แลนด์จัดงานประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองดาวอส ก็ต้องขอให้กองทัพอากาศอิตาเลียนมาช่วยทำหน้าที่ดูแลป้องกันความเรียบร้อยให้

เดวิด เซ็นซิออตทิ (David Cenciotti) ผู้สื่อข่าวชาวอิตาเลียน เผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“เหตุที่กองทัพอากาศสวิสยังไม่พร้อมทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงนั้น หลัก ๆ ก็มาจากสาเหตุเรื่องเงิน ก็เลยมีการทำข้อตกลงไว้กับประเทศเพื่อนบ้าน อิตาลีและฝรั่งเศสเป็นหลัก เครื่องบินรบจาก 2 ประเทศเพื่อนบ้านนี้จะสามารถบินเข้ามาน่านฟ้าของสวิสเมื่อไหร่ก็ได้ตามเหตุจำเป็น ถ้ามีเหตุบุกรุกเข้ามาทางน่านฟ้า ก็เท่ากับได้จำกัดขอบเขตความเสี่ยงไว้ได้แล้ว แต่ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นจากภายในประเทศก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงอยู่ ถ้ามีการจี้เครื่องบินภายในประเทศแล้วบังคับให้พุ่งชนสถานที่สำคัญขึ้นมา แล้วต้องรอให้เครื่องบินจากฝรั่งเศสและอิตาลีบินมาช่วยแล้วละก็ นั่นเท่ากับไม่มีทางเลยที่จะบินมาแก้ปัญหาฉุกเฉินได้ทัน”

ทางรัฐบาลสวิสก็เคยมีความพยายามตื่นตัวที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ด้วยการตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 2,6xx ล้านเหรียญ เพื่อจะสร้างเครื่องบินรบขึ้นมาเองจำนวน 22 ลำ แต่โครงการนี้ก็ต้องล้มเลิกไป เพราะผลประชามติออกมาว่า 53% ไม่เห็นชอบด้วยที่จะใช้งบประมาณแผ่นดินไปกับเรื่องนี้

กองทัพอากาศสวิส อวดโฉมเครื่องบิน F/A-18 ว่าพร้อมรับมือเหตุร้าย 24 ชั่วโมงแล้ว

หลังจากกองทัพสวิสต้องทนอับอายขายขี้หน้าจากข่าวจี้เครื่องบินดังกล่าวนี้มาตลอด 6 ปี ในเดือนธันวาคม 2020 กองทัพสวิสก็ออกประกาศด้วยความภาคภูมิใจว่า กองทัพอากาศสวิสพร้อมทำงานตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมงแล้ว เครื่องบิน F/A-18 ของกองทัพสวิสสามารถออกบินได้ภายใน 15 นาที หลังได้รับแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย

อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง อ้างอิง