Beartai Buzz ได้รับเกียรติจากทาง ทีวี ธันเดอร์ ผู้ผลิต AIS Play Original เรื่อง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ให้สัมภาษณ์ทั้งผู้กำกับและผู้จัดที่อยู่เบื้องหลังซีรีส์วัยรุ่นอีสานที่ถ่ายทอดวิถีชีวิต ความฝันและเป้าหมายของพวกเขาอย่างจริงใจไม่แพ้กับฉบับภาพยนตร์ (ซึ่งตอนนี้ซีรีส์ก็ดำเนินมาถึงครึ่งทางแล้ว โดยสามารถติดตามรับชมได้ทางแอปพลิเคชัน AIS Play นะครับ)

โดยเราขอเริ่มที่บทสัมภาษณ์คุณตั๊ก ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับ AIS Play Original เรื่อง ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ ที่ได้มีโอกาสนำหนังที่เคยกำกับมาขยายความเป็นซีรีส์ขนาดยาว ลองมาอ่านกันดูว่าครั้งแรกกับการกำกับซีรีส์เธอต้องเผชิญความท้าทายอะไรบ้าง

Beartai Buzz สัมภาษณ์ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ AIS Play Original เรื่อง หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์

ช่วยแนะนำให้เรารู้จักกับ Ais Play Original เรื่อง ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ หน่อย

Ais Play Original เรื่อง ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ เป็นซีรีส์ความยาว 8 ตอนสตรีมบนแพลตฟอร์มเอไอเอสเพลย์และออนแอร์ทางช่อง 3HD ทุกวันจันทร์เวลา 5 ทุ่มผลิตโดยบริษัททีวีธันเดอร์ เป็นซีรีส์ที่ต่อยอดมาจากหนัง ‘หน่าฮ่าน’ มีตัวละคร 5 คนแล้วก็พระเอกนางเอกค่ะ มีเรื่องราวความรัก การก้าวข้ามช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อและเจตจำนงเสรีในชีวิตวัยรุ่นอีสานค่ะ

เวอร์ชันซีรีส์ได้ขยายประเด็นไหนมาจากเวอร์ชันหนังบ้าง

ตอนทำหนังก็รู้สึกว่าสมบูรณ์แล้วในสิ่งที่เราอยากจะเล่า แต่พอพี่นุ้ยติดต่อมาเราก็กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะทำเพราะเราไม่เคยทำสื่อที่เป็นลองฟอร์มมาก่อนก็เลยปรึกษาทางMVP เจ้าของทุนและพี่อ้วน นคร โพธิไพโรจน์ คนเขียนบทซึ่งพี่อ้วนก็จุดประกายว่า ‘หน่าฮ่าน’ มันเป็นหนังเล็ก ๆ คนดูไม่ได้เยอะตัวเลขรายได้ก็ไม่ได้เยอะมากการที่ทีวีธันเดอร์มองเห็นอะไรบางอย่างในหนังแน่ ๆ เราก็เลยเห็นความกล้าและเปิดใจของเขาเราก็เลยกล้าที่จะพุ่งหาเขาเหมือนกัน.

ความเป็นซีรีส์ความท้าทายคือหนังมัน 2 ชั่วโมงแต่ซีรีส์มัน 8 ตอน ตอนละชั่วโมงดังนั้นเท่ากับเรื่องมันจะยาว 8 ชั่วโมงก็เลยมาปรึกษาพี่อ้วน นครว่าตอนเป็นหนังเราเสียดายอะไรบ้าง อะไรมาขยายต่อได้บ้าง ก็เลยได้กลับไปขุดมัน ดูมันใหม่และคิดกับมันใหม่ ก็เลยกลับไปมองตัวละครแวดล้อมยุพินก่อนเลยซึ่งในหนังมันจะเป็นแค่ตัวละครสมทบ แต่พอเป็นซีรีส์ทุกคนเป็นตัวเอกในเรื่องของตัวเอง สิ่งนี้แหละที่เราคิดว่าควรมาขยายต่อให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในเรื่องเล่ามากขึ้น

ตอนเป็นหนังก็จะมีกลุ่มคนดูประเภทหนึ่ง ทีนี้พอเป็นซีรีส์แล้วกลุ่มคนดูที่เราอยากจะสื่อสารน่าจะเป็นคนดูกลุ่มไหน.

เอาจริง ๆ แล้วนะคะ ตลอดเวลาที่ทำงานภาพยนตร์เราก็อยากจะพูดกับทุกคน เราไม่ใช่นักการตลาดเราไม่รู้เรื่องมาร์เก็ตแชร์หรืออะไร ตอนเป็นหนังก็อยากให้มันแมสแต่ไม่ได้มุ่งเป้าว่ามันต้องแมส เรามีเครื่องมือมีเรื่องราวที่เราอยากจะเล่าแค่ทำให้มันเข้าถึงคนดูได้ง่ายก็พอ แต่พอมาเป็นซีรีส์เราก็คิดแบบนี้เหมือนกันเราใช้เครื่องมือทุกอย่างที่เรามีเล่าเรื่องราวอย่างจริงใจที่สุด สิ่งไหนที่เราไม่รู้เราก็มีท่าทีว่าเราขอแชร์แล้วกัน สิ่งไหนที่เป็นประสบการณ์จริงเราก็แชร์ว่าโซลูชันที่เคยเห็นมันน่าจะประมาณนี้ แต่ย้ำอีกทีว่าเราไม่ใช่นักการตลาดเราไม่รู้เรื่องมาร์เก็ตแชร์หรือทำยังไงให้มันแมสหรอก เรามีแค่ความจริงใจในการเล่าเรื่องเท่านั้นเอง

การเข้ามาทำซีรีส์ครั้งแรกมีอะไรที่เรารู้สึกกดดันบ้าง

อิสระในการทำงานค่ะ เรากลัวว่าจะได้เล่าในสิ่งที่อยากเล่าหรือเปล่า แต่โชคดีมากที่ตลอดชีวิตการทำงานเจอแต่คนที่เข้าใจ โดยเฉพาะพี่ ๆ ทีวีธันเดอร์ที่ให้ใจกับเรามาก บางอย่างยังปรึกษากับพี่อ้วนนครเลยว่าบางอย่างมันสุ่มเสี่ยงมากเลยที่จะใส่ลงไปก็ได้ไปคุยกับทางพี่นุ้ยที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร (Executive Producer) และทีมงานซึ่งทางพี่นุ้ยก็บอกว่าถ้ามันจริงก็เล่าได้เลยไม่ต้องกลัว ทำให้นอกจากหนังมันจะเพียวฮาร์ต (Pure Heart) แล้ว ทางนายทุนเขาก็เพียวฮาร์ต (Pure Heart) กับเราเหมือนกัน

มันเป็นกระบวนการทำงานแหละ เราไม่ได้กลัวว่าเราเล่าไม่เป็น สื่อสารไม่ได้ เราไม่ได้กังวล ถ้าจะมีกังวลก็การทำงานกับพาร์ตเนอร์มากกว่าแต่โชคดีที่ได้มาเจอกับที่นี่ (ทีวี ธันเดอร์) มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการซีีรีส์ไทยที่มีแพลตฟอร์มและเฮาส์ที่กล้าผลิตงานที่หลากหลาย

การใส่ตัวละครเด็กที่ท้องในวัยเรียนเราได้แรงบันดาลใจมาจากไหนและทำไมยังคงตัวละครนี้ในฉบับซีรีส์

พอเราทำเป็นซีรีส์เรายังคงหัวใจของมันไว้คือตัวละครชุดเดิม กลุ่มคนกลุ่มเดิมที่เราได้ไปรีเสิร์ชมาจริง ๆ ทีนี้พอมาผ่านมา 3 ปีเราก็กลับมาอัปเดตมันใหม่ซึ่งมันแตกต่างจากปัจจุบันเหมือนกันนะ อย่างเด็กที่เราเคยคุยตอนเขาเรียนม. 6 ตอนนี้อยู่ปี 3 แล้วเทคโนโลยีอะไรก็เปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน อย่างพี่อ้วนนครคนเขียนบทก็จะมีหลานสาวเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญ หลานอายุ 11 ขวบความคิดก็น่าสนใจ แม่ของหลานก็มีชีวิตวัยรุ่นที่น่าสนใจ เราก็มีชีวิตของเพื่อนหรือคนแวดล้อมเพื่อน ๆ มาแชร์ประสบการณ์

แม้กระทั่งตอนไปสเกาต์โลเคชัน (Location Scouting สำรวจสถานที่ถ่ายทำ) ที่โขงเจียมเราก็รีเสิร์ชชีวิตของวัยรุ่นที่นั่น เรื่องราวต่าง ๆ ทำไมโตขึ้นถึงอยากเป็นแบบนี้มีความฝันอะไรเป็นการถามแล้วฟัง เรื่องเล่าของพวกเขาก็ใหม่มากสำหรับเรา หรือกระทั่งตัวละครที่เป็นเด็กท้องในวัยเรียนก็มาจากประสบการณ์ของเราที่เห็นรุ่นน้องเอาลูกมาโรงเรียนก็เคยถามว่า “ทำไมเธอเอาลูกมาโรงเรียนล่ะ” เขาก็บอก “ก็ที่บ้านไม่มีใครอยู่บ้าน แม่เขาก็ต้องไปทำนา พ่อไปทำงานต่างประเทศเลยต้องเอาลูกมาฝากให้เพื่อนและครูช่วยกันเลี้ยง” เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่มีความเข้าอกเข้าใจให้กัน ซึ่งเราว่ามันไลฟ์ลีดี สังคมมันควรเป็นแบบนี้แหละ เหมือนเป็นการหาทางออกร่วมกันไม่ใช่โยนปัญหา โยนปัญหาใส่กันแล้วเจอแต่ทางตัน คือเราไม่ควรพูดถึงแต่ปัญหาโดยไม่ได้พูดถึงทางออก

มีเหตุการณ์สนุก ๆ อะไรในกองถ่ายบ้างมั้ย

เอาจริง ๆ มันซัฟเฟอร์ทุกขั้นตอนน่ะแหละ แต่พอคิดออกความซัฟเฟอร์มันก็หายไป เช่นตอนแคสต์เราก็จะติดภาพตัวละครในหนังมากแต่พอทางพี่นุ้ย ทีวีธันเดอร์ก็แชร์ว่าพอเป็นซีรีส์ก็จะมีเรฟเฟอร์เรนซ์อีกแบบ เราก็เรียนรู้และเข้าใจมันได้อย่างการเลือกน้องพร้อมมารับบทสิงโตเงี้ย เราก็รู้สึกว่าน้องมันลุคซิตี้บอยมากเลยแล้วมันจะเป็นหนุ่มไทบ้านได้ไหมวะ มันจะไปหว่านแหหรือแหย่ไข่มดแดงให้เราได้มั้ยวะ

แต่พอวันมาแคสต์น้องก็เปิดประตูมาด้วยลุคธรรมชาติแล้วพอเราถาม “พูดภาษาอีสานได้มั้ยคะ” น้องมันตอบว่า “ผมเว่าบ่ได้เด้ครับ ผมเว่าภาษาอีสานบ่เป็น คือหยังครับ” เราเลยรู้สึกว่ามันสปาร์คกับเรา เป็นความออร์แกนิคในตัวนักแสดงที่เราต้องหาเครื่องมือไปขุดให้เขาเอาออกมาใช้ให้ได้ คือพร้อมจะเป็นฟิลแบบว่าพอจับกีตาร์หรือพูดภาษาอีสาน เราจะรู้สึกว่ากล้องมันดอลลีิิอิน ถ่าย 50 เฟรมเข้าไปแล้วมีพัดลมปะทะหน้ามีซาวด์เอฟเฟกต์ ฟริ้ง.. ซึ่งคาริสมาแบบนี้มันกำกับไม่ได้ด้วยนะ เลยทำให้เรารู้สึกว่ามันเป็นความสนุกในงานกำกับ

หรือตัวน้องกุ๊งกิ๊งที่มาเล่นเป็นยุพิน ภายใต้ความน่ารักเรียบร้อยเรารู้สึกว่าลึก ๆ เขามีความมั่นใจซึ่งเราต้องขุดมันและบิดให้ความมั่นใจเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้างเพื่อรับใช้เรื่องราวที่เราจะเล่า เราพยายามหาอินพุทให้เขาแนะนำหนังซีรีส์ให้เขาไปทำการบ้านเพื่อหาคาแรกเตอร์ยุพิน เขาก็ไปทำการบ้านมาแล้วไม่ใช่การก็อปปี้ แต่เป็นเขาอีกเวอร์ชันนี้ ซึ่งเราก็กำกับไม่ได้เหมือนกันเราแค่นำเสนอคาแรกเตอร์ที่นักแสดงถ่ายทอดออกมา เราเลยพบว่ามันโคตรสนุกเลยที่ได้เห็นเคมิสทรีระหว่างตัวละครแล้วเราแค่เอาเฟรมไปจับให้เห็นคาริสมาของตัวละครแต่ละตัว เราไม่ได้เก่งหรอกแต่เราโชคดี

ยุพิน สิงโต ในหนังกับในซีรีส์เป็นคน ๆ เดียวกันไหม

เนื้อแท้ แก่นความคิด การตัดสินใจของตัวละครเราว่าเหมือนกัน คือมีสันดานเหมือนกันแต่ว่าสิ่งที่ไม่เหมือนกันคือวิธีการแสดงออก พอเป็นหนังคนทำมีวิธีคิดแบบหนังคนดูจดจ่อกับจอ พอเป็นซีรีส์ก็ต้องคิดใหม่ว่าทำยังไงให้มันดึงคนอยู่กับจอเล็ก ๆ มันว่อกแว่กได้ ตัวละครเลยต้องมีเสน่ห์ดึงคนดูให้ได้ มันอาจจะทำให้จริงได้ แต่มันก็ต้องเอ็กเซ็กเจอเรต (Exaggerate ทำให้เกินจริง) ความจริงไปอีกเลเวลนึงเพื่อดึงดูดคนดูให้อยู่กับจอประมาณนึง ทำยังไงให้คนดูรู้สึกตื่นเต้นกับตัวละครว่า “เฮ้ยนี่ใครอ่ะ ทำไมแปลกหูแปลกตาแบบนี้ หรือ ทำไมนักแสดงคนนี้พลังงานเหลือล้นมากเลย” แต่ตอนเป็นหนังมันต้องเรียลลิสติกมากแบบเนี้ยค่ะ

สำหรับผู้กำกับและเจ้าของเรื่องราวออริจินัลตั้งแต่เวอร์ชันหนังเราจำกัดความ ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ ยังไง

ตั๊กว่ามันเป็นซีรีส์ของวัยรุ่นทุกคน ไม่ใช่แค่วัยรุ่นอีสานหรอก ถ้าพูดแบบดัดจริตหน่อยทุกวันนี้เรื่องภูมิศาสตร์พื้นที่ก็เป็นแค่เรื่องพื้นที่ แต่ทุกวันนี้โลกมันเชื่อมต่อกันแล้วอ่ะ มันยูนิเวอร์แซลแล้วอ่ะ นี่คือวัยรุ่นที่พูดภาษาอีสานอาศัยในภาคอีสานเท่านั้นเอง แต่พวกเขาก็จะมีเรื่องเล่าเดียวกัน ปัญหาคล้าย ๆ กันกับวัยรุ่นในเมือง ถ้าให้พูดก็ขอยึดคำสัมภาษณ์ของสตีเฟน หยวนที่เล่น ‘Minari’ มาเลยว่าเขาไม่ใช่ประชากรเกาหลีใต้ แต่เขาคือประชากรโลก ซึ่งมันปะทะเรามากเลย ดังนั้นวัยรุ่นใน ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ พวกเขาแค่อยู่ในภาคอีสานเท่านั้นเองแต่ความจริงพวกเขาคือประชากรโลก กำลังพูดในสิ่งที่วัยรุ่นทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ด้วยซ้ำ

เชิญชวนให้คนมาดู ‘หน่าฮ่าน เดอะซีีรีส์’ เป็นภาษาอีสานหน่อย

จ้า ก่าอย่าลืมติดตามรับชม ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’ เนอะค่ะเนอะ ออนแอร์ทาง AIS Play เวลา 5 ทุ่มและช่อง 3 กด 33 เวลา 5 ทุ่มคือกันจ้า รับรองว่าม่วนแน่นอน คิดว่าน่าจะเป็นซีรีส์ที่บ่มีใครเฮ็ดเนอะ เฮาเป็นเจ้าแรก ขอเคลม (หัวเราะ).

นอกจากนี้เรายังได้รับเกียรติจากคุณ นุ้ย จารุพร กำธรนพคุณ เจ้าหน้าที่บริหารสายการผลิตจากทีวี ธันเดอร์ และผู้อำนวยการผลิตซีรีส์หน่าฮ่านมาร่วมพูดคุยกับเราถึงการเบิกโรงล้อมวิกจนเกิดซีรีส์วัยรุ่นพูดอีสานเรื่องนี้.

Beartai Buzz สัมภาษณ์ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ AIS Play Original เรื่อง หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์

ทำไมคุณนุ้ยกับทาง ทีวีธันเดอร์ ถึงเลือก ‘หน่าฮ่าน’ มาขยายความเป็นซีรีส์

ตลอดเวลาร่วม 30 ปีที่ทีวีธันเดอร์อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มา เรามุ่งสร้างคอนเทนต์ที่คนอยากดูหรือเนื้อหาที่เหมาะสมกับกลุ่มคนดูในแต่ละยุคสมัยจริง ๆ ปัจจุบันตลาดซีรีส์ไทยเราขายต่างประเทศได้แล้วหรืออาจจะเป็นเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ที่คนพูดถึงหรืออะไรก็ตาม เราเลยคิดว่าคนดูควรมีทางเลือกได้ดูเนื้อหาที่แปลกใหม่และครั้งแรกที่เราได้เห็นตัวอย่างหนัง ‘หน่าฮ่าน’ ในปี`พ.ศ. 2562 เราชอบเลย มีน้อง ๆ ทีมงานเอามาให้ดูแม้มันจะดูต้นทุนจำกัดแบบหนังนอกกระแสแต่มันมีความเรียลบางอย่างเราเลยให้น้อง ๆ ทีมงานหาเบอร์ผู้กำกับมาให้เพราะเราอยากทำเป็นซีรีส์มาก.

แล้วทำไมถึงอยากร่วมงานกับคุณตั๊ก ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ล่ะครับ

เราเลือกทำ ‘หน่าฮ่าน’ เพราะชอบเรื่องนี้ เราเลยคิดว่าต้องทำกับทีมเขียนบทและผู้กำกับคนนี้เพราะเข้าใจเรื่องนี้ดีมาก แล้วมันเป็นเรื่องราวที่มีเสน่ห์เห็นความน่าสนใจหลาย ๆ อย่างแม้แต่ตัวตั๊กผู้กำกับเองเป็นคนรุ่นใหม่เป็นลูกอีสานลูกชาวนาได้เรียนมหาวิทยาลัยและได้โอกาสเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ เพราะฉะนั้นเราคงไม่อาจหาคนอื่นที่เข้าใจเรื่องราวน้อยกว่านี้มาทำซีรีส์ ‘หน่าฮ่าน’ ได้ค่ะ

แต่มันก็ใช้เวลานะคะเรียกว่าต่างฝ่ายต่างดูใจกันมากกว่า เขายังถามเลยว่าพี่ติดต่อผิดหรือเปล่า พี่อยากได้ทีมทำ ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ หรือเปล่า เราก็บอกไม่ใช่เราอยากได้ทีมนี้ เพราะเราเห็นตัวอย่างหนังแล้วเรารู้สึกว่ามันใช่ ตลาดควรมีทางเลือกแบบนี้บ้าง

ปัญหาที่เราพบคือซีรีส์กว่า 90% ถ่ายทำและเป็นเรื่องในกรุงเทพ ฯ แต่คนอีสานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศแล้วทำไมซีรีส์ต้องจำกัดให้มีบริบทอยู่แค่คนเมืองในกรุงเทพ ฯ ทำไมเราต้องได้ดูแต่ซีรีส์ที่เด็กนักเรียนใส่ชุดนักเรียนนานาชาติ มันไม่รีเลตกับเราอ่ะ เราไม่อยากดู ของจริงคือที่โน่น ที่โนนหินแห่ เราอยากรู้ว่าเด็กที่นั่นเขาคิดอะไร นี่คือจุดยืนของเรานะ และถ้าเราพูดเรื่องซอฟต์พาวเวอร์นี่แหละชัดที่สุด

ทุกคนต่างมีภาพอีสานเป็นของตัวเอง แต่นับจากเราก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล ประชากรอีสานก็เป็นประชากรของโลก ในบทเราเลยเห็นว่ามีเด็กนักเรียนที่โนนหินแห่ดูคลิปนักร้องเกาหลีและเรียนภาษาเกาหลีเองเพราะหวังว่าจะได้ไปใช้ชีวิตที่โน่น. เรารู้สึกว่ามันจริงหมดเลยอ่ะ ในขณะที่เราทำซีรีส์ไทยโดยอิงเรื่องมาจากเด็กโรงเรียนนานาชาติแต่มีสักกี่เปอร์เซนต์ที่เด็กไทยจะได้เรียนที่นั่น แต่พลังของวัยรุ่นมันเหมือนกันหมดแหละแต่เราอยากขายความเป็นอีสานทั้งที่ตัวเองก็ไม่ใช่คนอีสานนะ แต่เราดูแล้วเรายังเก็ตเลย เราว่าทุกวันนี้คนเก็ตความเป็นอีสานหมด

ในตัวซีรีส์มีเนื้อหาที่สังคมไทยไม่ค่อยพูดถึงทั้งเซ็กส์ในวัยรุ่นหรือการที่มีตัวละครที่ท้องในวัยเรียน คุณนุ้ยมีความหวั่นใจบ้างไหมเมื่อผู้กำกับยังต้องการคงเนื้อหาส่วนนี้ไว้

เราไม่หวั่นใจเลยเพราะเราเชื่อในพลังของเขา (พูดถึง ตั๊ก ฉันทนา ทิพย์ประชาติ ผู้กำกับซีรีส์) เขาเองก็เชื่อในบทบาทของเราเพราะฉะนั้นมันเลยเป็นการแลกเปลี่ยนกัน ถ้าเราบอกเราเชื่อเขานะแต่ถ้าเราไปกำหนดว่าอันนี้เอามาอันนี้ไม่เอาหรือเป็นอย่างนี้อย่างนั้นดีไหมมันคงไม่ใช่ อย่างเรื่องเซ็กส์ในวัยเรียนทั้งหมดมาจากข้อมูลจริงและประสบการณ์จริงหมด เราไม่ได้บอกว่ามีลูกตอนเรียนหรือคุณแม่วัยใสมันควรทำได้นะแต่เรากำลังพูดถึงว่าสังคมรับมือกับปัญหานี้ยังไง ประสบการณ์ส่วนตัวของเราเองก็เคยมีเพื่อนท้องกับคนขับรถสองแถวตอนเรียนโรงเรียนเอกชนมันทำให้ชีวิตวัยเรียนของเขาหายไปเลยเพราะสังคมประณามเรื่องท้องในวัยเรียน

แต่หากคนกลุ่มนี้เขาได้รับการศึกษาภาคบังคับไปจนจบแล้วต่อมาเขายังสามารถรับผิดชอบชีวิตตัวเองได้ อีกเคสนึงที่เคยเจอคนแถวบ้านเขามีแฟนเป็นกระเป๋ารถเมล์เขาท้องแล้วพอคลอดลูกก็กลับไปเรียนจนจบเขาก็สามารถเลี้ยงดูครอบครัวของเขาได้เป็นกระเป๋ารถเมล์ด้วยกันมีลูกด้วยกันต่อมาอีกหลายคนชีวิตก็มีความสุข เราเลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงน่ะเลยไม่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องต้องปกปิด

เนื่องจากเวอร์ชันซีรีส์ใช้นักแสดงคนละชุดกับเวอร์ชันภาพยนตร์ ทำไมถึงเลือกพัตเตอร์ กุ๊งกิ๊งและพร้อมมารับบทนำใน ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’

ทีวีธันเดอร์ตระหนักดีค่ะว่าหากเราจะพัฒนาคอนเทนต์ไทยให้มีคุณภาพต้องเลือกคนที่อยากเล่นมากกว่าคนที่อยากดัง ดังนั้นซีรีส์ทุกเรื่องของเราจึงให้ผู้กำกับมีส่วนร่วมในการแคสติงเสมอ อย่างซีรีส์เรื่องนี้ก็เหมือนกันมันเป็นซีรีส์อีสานหากมีนักแสดงภาคกลางที่พร้อมจะพูดภาษาอีสานได้เราก็ไม่ติดใจอะไรเหมือนกัน อย่างสวรรค์เนี่ยเป็นตัวละครที่เราหาอยู่่นานมากซึ่งพัตเตอร์เนี่ยเขาเล่นกับเรามาตั้งแต่เรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ เขามีทุกอย่างที่จะเป็นสวรรค์ได้เลยยกเว้นเรื่องพูดภาษาอีสาน เราเลยให้เขามาเจอผู้กำกับและลองพูดอีสานดูและถามว่าเสียงแบบนี้ได้ไหม ผู้กำกับก็บอกว่่าได้ถ้าเสียงแบบนี้ได้คือโอเค

เราก็บอกพัตเตอร์เลยว่านี่งานยากนะ แต่คนเป็นนักแสดงยังไงก็ต้องพัฒนาตัวเองและรับได้ทุกบทบาทเหมือนทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) ที่เล่นเป็นคนชาติอื่นแล้วไปติดอยู่ในสนามบินแถมต้องพูดภาษาอื่นอีกคนเป็นนักแสดงก็ต้องทำให้ได้ (พูดถึงหนัง ‘The Terminal’) ส่วนพร้อม (ราชพัฒน์) นี่เหมาะกับเรื่องราวนอกจากเขาจะเป็นคนอีสานแล้ว เขาเข้าใจความเป็นหน่าฮ่านซึ่งแม้ยุคสมัยเปลี่ยนไปแต่หน่าฮ่านยังเป็นจิตวิญญาณวัยรุ่นเสมอ

บริบทของเด็กอีสานในซีรีส์ที่เราเรียกว่าเป็นอีสานดิจิทัลเนทีฟ (Digital Native-เกิดมากับยุคดิจิทัล) คือเป็นพลังของอุตสาหกรรมเป็นพลังของประเทศ มีน้องนักแสดงคนนึงตั้งเป้าจะลงเลือกตั้งเป็น สจ. เพราะอยู่กับการหาเสียงกับครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก แต่อย่างที่บอกว่านักแสดงทุกคนต้องเต้นได้และเข้่าใจในจิตวิญญาณวัยรุ่นของหน่าฮ่านที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง.

ทีนี้มาที่หัวใจของเรื่องอย่างกุ๊งกิ๊ง ปฏิมา ฉ่ำฟ้าที่มารับบทยุพินกันบ้าง ทำไมถึงเลือกเธอมารับบทสำคัญที่สุดในเวอร์ชันซีรีส์

วันที่กุ๊งกิ๊งมาแคสติงเราให้มาพร้อมนักแสดงคนอื่นเพราะเราได้บทอื่นหมดแล้ว ดังนั้น 1.เราเลยต้องการดูว่่าเคมีเข้ากับนักแสดงคนอื่นได้ไหม 2.การพูดภาษาอีสาน 3.การเข้าใจในคาแรกเตอร์ของนางเอก ยุพินเป็นผู้หญิงที่เราเรียกกันในเรื่องว่าแบบ ‘พอกะเทิน’ ถามว่าสวยมากมั้ยก็คงไม่ แต่ผู้หญิงแบบนี้จะกล้า วันที่กุ๊งกิ๊งมาแคสต์ก็มีความเป็นเด็กพอกะเทินให้เต้นอะไรก็เต้นไม่ได้รู้สึกว่าแบบหนูสวยมากทำไม่ได้ ไม่มีเลย เราว่ากุ๊งกิ๊งเป็นยุพินในแบบที่บทเรียกร้องเลย

ในฐานะคนทำงานที่กล้าหยิบเนื้อหาที่แปลกใหม่มาผลิตเป็นซีรีส์ กลัวมั้ยว่าคนดูทั่วไปจะเข้าไม่ถึง ‘หน่าฮ่าน เดอะซีรีส์’

ก็ต้องยอมรับว่่ากลัวนะคะ บางทีทำซีรีส์ขึ้นมาเรื่องนึงก็ถามกันตลอดว่ามันแมสรึยัง ถ้าไม่มีแมสก็โดนแปลได้ว่ามันยังไม่ดีมั้ง จริง ๆ ตั้งแต่ ‘พฤติการณ์ที่ตาย’ ก็มีแต่คนบอกว่าเรื่องดีจังเลยแต่กลับไม่แมส เออเราก็อยากทำเรื่องดีแล้วแมสบ้างนะ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเราอยากทำเรื่องที่มันไม่มี แล้วเราทำให้ดี ทำให้คนชอบ เราอยากทำเรื่องแบบนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าถามว่า ‘หน่าฮ่าน’ เป็นความกังวลมั้ยก็คงต้องบอกว่ากังวล ถ้าตอบไม่กังวลก็คงไม่ได้. กังวลว่าจังหวะที่คนเลือกเราอ่านถูกไหมนะ แต่เราไม่กังวลเรื่องความตั้งใจที่จะทำเพราะเราอยากทำเรื่องนี้จริง ๆ เราอยากให้ตลาดมีเรื่องแบบนี้แล้ว AIS เห็นเหมือนเราอันนี้สำคัญ นักแสดงอยากเล่น ผู้กำกับตั้งใจมาก ผู้จัดมองเห็นโอกาสแม้ผู้กำกับจะบอกว่าหนังมันฟอร์มเล็กมากนะพี่ พี่มองเห็นอะไร แต่เราอยากทำ แพลตฟอร์มเข้าใจว่าเราต้องการสื่ออะไรแล้วทั้งหมดจับมือไปด้วยกันอุตสาหกรรมถึงจะโตค่ะ

ไม่งั้นเรานึกไม่ออกว่าถ้าแต่ละส่วนไม่ได้เข้าใจเรื่องนี้เอาง่าย ๆ ถ้านายทุนไม่เข้าใจอุตสาหกรรมมันจะโตได้ไงถ้าเราไม่ได้มองเห็นภาพเดียวกัน และจุดยืนอย่างหนึ่งของเราคืออยากทำเรื่องราวที่มันร่วมสมัย (Contemporary Drama) หมายความว่ามันมีเรื่องเล่าแนวอื่นอีกที่ควรหยิบยกมาเล่า มันไม่ได้มีเรื่องเล่าแค่ประเภทเดียว อย่างวัยรุ่นอีสานอย่างเนี้ยก็ไม่เข้าใจทำไมเราไม่ทำเรื่องเล่าของวัยรุ่นอีสาน อะไรที่เป็นเรื่องเล่าร่วมสมัยเราก็อยากจะทำหมด

ในฐานะคนที่มีส่วนผลักดันคอนเทนต์อย่าง ‘หน่าฮ่านเดอะซีรีส์’ อยากบอกอะไรกับคนดู

ทุกวันนี้โอกาสที่ดีของอุตสาหกรรมคือมีแพลตฟอร์มเยอะทุกส่วนกำลังพยายามทำให้อุตสาหกรรมมันโตขึ้น ดังนั้นการพยายามหาคอนเทนต์ใหม่ ๆ คือหนึ่งในสิ่งที่เรากำลังร่วมกันพัฒนาอย่างน้อยก็ทำให้เรื่องราวของเด็กวัยรุ่นจริง ๆ มันมีพื้นที่ออกมาบ้าง

อีกเรื่องนึงคือโอกาสในการเรียนรู้ของเด็กมันเยอะ แต่ยุคสมัยกำลังสั่งสมและบอกว่าเด็กที่ดีคือเด็กที่เรียนให้ได้ดีในระบบการศึกษาภาคบังคับโดยไม่ได้สนใจว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่ในการศึกษาภาคบังคับมันจะทำอย่างอื่นให้ได้ดีไม่ได้เลยเหรอ ซึ่งความจริงเราว่าไม่ใช่ซึ่งซีรีส์ของเราทำให้เห็นความฝันจริง ๆ ของเด็กยุคนี้ อยากให้ได้ดู มันเป็นความฝันของเด็กอีสานลูกชาวนา มันเป็นความฝันของเราที่อยากทำเรื่องที่แปลกใหม่ และสิ่งที่น่าภูมิใจคือเราขายให้ญี่ปุ่นได้ ญี่ปุ่นก็พร้อมจะผลักดันเรื่องที่มีกลิ่นอายแบบอื่น เรากำลังดันอีสานให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยไปบนตลาดโลก อยากให้ทุกคนได้ดูผลงานของคนรุ่นใหม่ที่กำลังเป็นพลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไปค่ะ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส