นับตั้งแต่มีการประกาศลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (President) ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ในนามบริษัท บีอีซีเวิล์ด จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา โดยได้ทำหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยซึ่งมีผลตั้งแต่ 20 มิถุนายน 2563 นี้เป็นต้นไปก็ได้สร้างเสียงเกรียวกราวในแวดวงธุรกิจและผู้ที่สนใจติดตาม “อริยะ พนมยงค์” ในการทำหน้าที่เป็น “เบอร์หนึ่ง” คนแรกของช่อง 3 ที่ไม่ได้อยู่ในตระกูลมาลีนนท์หลายคนมองว่า นี่อาจเป็นมิติใหม่ของช่อง 3 ที่อยากจะเปลี่ยนทิศทางการบริหารงานแบบเดิม ๆ สู่โลกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าต้องเป็นคนในตระกูลเดียวกันเท่านั้น ภายใต้สถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานของวงการทีวีที่โดน Disrupt ทางธุรกิจและเทคโนโลยีอย่างแรงจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ

อริยะ พนมยงค์ กับลุคผู้บริหารสบาย ๆ สไตล์คนรุ่นใหม่ ในวันแรก ๆ ที่มาบริหารช่อง 3

อริยะ พนมยงค์ กับลุคผู้บริหารสบาย ๆ สไตล์คนรุ่นใหม่ ในวันแรก ๆ ที่มาบริหารช่อง 3

ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วที่เพิ่งครบรอบ 1 ปีเต็มพอดีเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 “บี๋-อริยะ พนมยงค์” อายุ 45 ปี ตัวจริงเสียงจริงที่ผ่านงานบริหารจาก Tech Company ชั้นนำมากมาย ทั้ง TRUE, Google (Country Head คนแรกของไทย), LINE (Thailand) (กรรมการผู้จัดการคนแรกของไทย) ได้ตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางสื่อเก่าที่อยู่บนวิถีทางใหม่ ๆ ในสงครามทีวีดิจิทัลที่เป็นที่รู้กันว่ามีจำนวนช่องมากเกินที่คนไทยจะตามดูได้หมด (จาก 24 ช่องในตอนแรกเหลือ 15 ช่องในปัจจุบัน) ก้อนเค้กของของเรตติ้งและเม็ดเงินโฆษณาในสนามรบนี้ก็ถูกแบ่งซอยย่อยจนแทบไม่พอเลี้ยงให้แต่ละช่องอยู่รอดมาตั้งแต่ปี 2557 กับช่อง 3 ที่เป็นเบอร์ต้น ๆ ของช่องโทรทัศน์ไทยมาตลอดจนมีอายุครบ 50 ปีในปีนี้ หลายคนมองว่า ช่อง 3 อาจจะเปลี่ยนรูปแบบรายการและละครเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น โดยใช้ความรู้ความสามารถของอริยะมาเปลี่ยนน้ำครั้งใหญ่

“การสละเรือ” ของทีมบริหารคนในและคนนอกที่ชวนกันมา

สัญญาณการสละเรือของผู้นำทัพช่อง 3 เกิดขึ้นแบบติด ๆ กัน ซึ่งคนที่ลาออกจากตำแหน่งไปก่อนล้วนเกี่ยวข้องและเป็นผู้ชักชวนให้อริยะเข้ามาเป็นเบอร์หนึ่งของช่อง 3 ทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่ “ประชุม มาลีนนท์” จากตำแหน่ง รองประธานกรรมการ, ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้อำนวยการลงนาม โดยขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากปัญหาสุขภาพ มีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563  ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปีช่อง 3

โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าประชุม (รับไม้ต่อจาก “ประวิทย์ มาลีนนท์” ที่ลาออกไปสร้างอาณาจักรใหม่ที่ช่อง PPTV) คือบุคคลที่ชวนอริยะสู่การบริหารธุรกิจของตระกูล ตามมาด้วยกลางเดือนเมษายน กับการ ลาออกของ “สุชาติ ภวสิริพร” รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักทรัพยากรบุคคล (EVP Human Resources) ที่เข้ามาทำงานที่ BEC ก่อน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 ประสบการณ์ก่อนหน้านี้ก็คือ การบริหารทรัพยากรบุคคลของบริษัท LINE (Thailand)

ส่วนอีกคนนั้นคือ “วัชรี  ศิริเวชวิวัฒน์”  รองกรรมการผู้อำนวยการ สำนักงานพาณิชย์  (EVP Commercial)  ดูแลสายงานการตลาด ที่เข้ามาทำงานที่ BEC เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 ประสบการณ์ก่อนหน้านี้ เคยบริหารทีมขาย การตลาดและการขายสื่อโฆษณาของ GMM Media (มือทำการตลาดให้กับค่ายหนัง GDH) มาก่อน หันมามองที่ฝั่งของคนที่อริยะชวนมาทำงานแบบตามหลังกันมาติด ๆ มีตั้งแต่ “กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์” มือขวาของอริยะที่ร่วมกันขับเคลื่อน LINE TV จนประสบความสำเร็จด้วยกันมาแล้ว เข้ามารับตำแหน่งวางกลยุทธ์ให้ช่อง 3 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562

“รอยร้าว” จากการปลดคนข่าวกว่า 100 คน ตอนคืนช่อง

อริยะ พนมยงค์ ในวันที่ตัดสินใจคืนช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่องของช่อง 3 ที่ กสทช.

อริยะ พนมยงค์ ในวันที่ตัดสินใจคืนช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่องของช่อง 3 ที่ กสทช.

หากมองย้อนไปในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จและผลงานที่จับต้องได้อย่าง “น้อยไปหน่อย” ของอริยะ ที่พูดได้ว่ายังไม่สามารถกู้วิกฤตให้ช่อง 3 ได้อย่างเต็มรูปแบบ มีเพียงผลงานที่การคืนสัมปทานช่อง 3 SD และช่อง 3 Family เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 หลังจากที่ กสทช. มีมาตรการช่วยผู้ประกอบการธุรกิจทีวี ซึ่งก็เป็นงานที่คาดเดาได้ว่าช่อง 3 จะคืน 2ช่องที่ไม่ทำกำไรอย่างแน่นอน ปัญหาหนักอกที่ตามมากคือการเลิกจ้างพนักงาน ปลดฝ่ายข่าวซึ่งเป็น “คนเก่า” ของช่อง 3 กว่า 100 คน ล้างน้ำเพื่อให้เหมาะกับขนาดองค์กรใหม่ตามแนวการจะเป็น “คอนเทนต์ แพลตฟอร์ม” แต่การปลดคนเก่าและรับคนใหม่ด้านดิจิทัลเข้ามาเพิ่ม ก็แน่นอนว่าจะสร้างรอยร้าวให้เกิดขึ้นภายในคนทำงาน

ทำลายสถิติ ขาดทุน 397 ล้านบาท มากที่สุดที่เคยมีมาของช่อง 3 ดิจิทัล

รายได้ ในปี 2562 ที่ผ่านมา บีอีซี เวิลด์ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 8,310.2 ล้านบาท ลดลง 17.9% จากปี 2561 (รายได้จากโฆษณาลดลง 22.0%, รายได้จากสิขสิทธิ์และบริการอื่นลดลง 8.4%, รายได้จากคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ลดลง 51.1% และรายได้จากการขายสินค้า 56.4 ล้านบาท ลดลง 23.3% (ที่มา จากรายงานประจำปีของบริษัทฯ)) และทำรายได้ไป 11,354 ล้านบาท ขาดทุน 397 ล้านบาท มากที่สุดของช่อง 3 ตั้งแต่เข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล มีการคาดการว่า การลดลงของรายได้มาจากการแข่งขันในธุรกิจทีวีอย่างช่อง 7 ที่ยังคงครองความเป็นเบอร์หนึ่งด้านเรตติ้งไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

กลยุทธ์ 6 เสาหลักที่ไม่ได้อยู่สานต่อ

ภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ที่อริยะวางไว้ว่าจะใช้ขับเคลื่อนช่อง 3 ในปี 2563 ด้วยการเป็น “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย” ให้เป็นองค์กรคล่องตัว (Lean Organization) ใช้เทคโนโลยีนำเสนอนวัตกรรมและสื่อในทุกหน้าจอให้ไปไกลกว่าประเทศไทย ด้วยกลยุทธ์ชื่อ 6 เสาหลัก มีใจความสำคัญอยู่ที่หัวข้อ Digital กับการปรับปรุงและเปลี่ยนโฉมแพลตฟอร์มออนไลน์ของช่อง 3 ให้เป็น 3 Plus (3+) โดยรวมคอนเทนต์ทั้งหมดของช่อง 3 มาไว้ที่แอปพลิเคชันเดียว ทั้ง ละคร ข่าว วาไรตี้ ภาพยนตร์ และออริจินัลคอนเทนต์

และในหัวข้อ Content โดยจะมีการปรับผังรายการช่วงไพรม์ไทม์ใหม่ เริ่มตั้งแต่เวลา 18.00-22.30 น. มี 3 ช่วงหลัก คือ เวลา 18.00-19.00 น. กับรายการวาไรตี้ใหม่แทนละครรีรัน เวลา 19.00-20.00 น. ละครใหม่ทั้งหมด เจาะตลาดผู้ชมกลุ่มแมสหรือกลุ่มทั่วไปในเมืองและต่างจังหวัด และเวลา 20.10-22.30 น. ละครซูเปอร์ไพรม์ไทม์ เจาะกลุ่มผู้ชมหัวเมือง เนื้อหาหลากหลาย ทั้งดราม่า แฟนตาซี แอ็กชัน ซึ่งหลังจากการลาออกในครั้งนี้ก็ต้องมาติดตามว่า ผู้บริหารคนใหม่ของช่อง 3 ยังจะเดินตามกลยุทธ์ของอริยะต่อหรือไม่

อริยะ พนมยงค์ในวันแถลง“ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย”

อริยะ พนมยงค์ในวันแถลงกลยุทธ์ช่อง 3 ในการมุ่งสู่ “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย”

สารลาออก

การประกาศลาออกด้วยเหตุผลส่วนตัว อริยะได้ส่งสารถึงเพื่อนพนักงาน BEC และช่อง 3 ในการก้าวลงจากตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการครั้งนี้ ขอบคุณเพื่อนพนักงานทุกคนที่ให้ความไว้วางใจ และขอบคุณสำหรับความทุ่มเทในการทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้วยกันมาตลอด

“ที่ผ่านมาหลายคนต้องปรับเปลี่ยนการทำงานเพื่อเข้ากับสถานการณ์และการแข่งขันในธุรกิจที่รุนแรงมากขึ้น รับรู้ได้ถึงพลังบวกจากเพื่อนพนักงานทุกคนที่ตั้งใจจะนำพาบริษัทให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ต่อจากนี้อยากให้เพื่อนพนักงานยังคงยึดมั่นในสปิริตของการทำงานเพื่อบริษัท และมีความกล้าที่จะเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กรต่อไป” ซึ่งก็คงต้องจับตาก้าวต่อไปของอริยะว่า จะกลับสู่ Tech Company ที่คุ้นเคย หรือไปเป็นผู้บริหารบริษัทไหนต่อไป

อริยะ พนมยงค์ในวันแถลงกลยุทธ์ช่อง 3 ในการมุ่งสู่ “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย”

อริยะ พนมยงค์ในวันแถลงกลยุทธ์ช่อง 3 ในการมุ่งสู่ “ผู้นำด้านคอนเทนต์และธุรกิจบันเทิงของประเทศไทย”

ธุรกิจกลับสู่มือ “4 นายหญิง” ของมาลีนนท์

เมื่อประชุม” ที่พยายามพลิกภาพธุรกิจครอบครัว เปิดทางให้คนนอกมืออาชีพหลายคนเข้ามาทำงาน แต่คนแล้วคนเล่าต้องลาออกด้วยเหตุผลต่าง ๆ อย่างที่คาดเดาไม่ยากว่าเป็นเพราะวิถีการทำงานที่ไม่เข้ากัน เพราะแม้ช่อง 3 จะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ แต่คณะกรรมการบริษัทก็ยังคงเต็มไปด้วยพี่น้องตระกูลมาลีนนท์ นำโดย “รัตนาอัมพร-รัชนี-นิภา มาลีนนท์” 4 นายหญิง ทำให้เสียงคนในตระกูลมีพลังอย่างมากที่จะต้านแนวทางการบริหารของคนนอก และอาจเป็นจุดอ่อนขับเคลื่อนธุรกิจในยุคนี้ที่เคยได้ผลมาตลอด 50 ปี ซึ่งผู้ที่จะมารับไม้ต่อหลังการลาออกของอริยะก็คือ “รัตนา มาลีนนท์” อายุ 70 ปี เคยดำรงตำแหน่ง CFO มาตั้งแต่ปี 2531 จะดูแลกลุ่มงานสนับสนุนทั้งหมด “อัมพร มาลีนนท์” อายุ 65 ปี เคยดำรงตำแหน่ง COO ตั้งแต่ปี 2560 จะดูแลกลุ่มงานผลิต งานข่าว งานรายการ และการออกอากาศ ส่วนกลุ่มงานขาย การตลาด และ “รัชนี (มาลีนนท์) นิพัทธสกุล” อายุ 62 ปี ดูแลในธุรกิจดิจิทัล และ “นิภา มาลีนนท์” อายุ 68 ปี ต้องจับตาดูว่าจะมีบทบาทสำคัญอย่างไรต่อไป

เรียบเรียงจากเว็บไซต์ www.brandbuffet.in.th

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส