เพราะข่าวลือ ข่าวลวง และความเชื่อผิด ๆ หลายอย่างเกี่ยวกับโควิด อาจเป็นเหตุให้เกิดผู้เสียชีวิตเพิ่มได้ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องออกมาสู้กับข้อมูลเหล่านี้ ด้วยการเผยแพร่วิธีที่จะช่วยให้คนแยกแยะข้อเท็จจริงได้ ! 

เมื่อการระบาดของเชื้อโรค หนักหน่วงพอ ๆ กับการแพร่กระจายของข่าวลือ

การกินผักกาดหอมทะเลหรือการฉีดยาฆ่าเชื้อโรคไม่ใช่การป้องกัน COVID-19
การกลั้นหายใจสิบวินาทีก็ไม่ใช่การทดสอบว่าติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไม่
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ไม่ได้ปล่อยสิงโต 500 ตัวในมอสโกเพื่อให้ชาวเมืองอยู่ในบ้าน ต่อสู้กับโรคระบาด
และการสวมหน้ากากนั้นไร้ประโยชน์ไม่ช่วยอะไร มันไม่ใช่แน่ ๆ !

ตัวอย่างภาพข่าวปลอมที่เคยว่อนไปทั่วอินเทอร์เน็ต ในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา

การแพร่กระจายของโควิดไปทั่วโลกที่มาพร้อมกับเสียงลือเสียงเล่าอ้างเหล่านี้ เป็นสิ่งที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) อธิบายไว้ว่า เกิดขึ้นจากความ ‘โหยหา’ ข้อมูลเกี่ยวกับโรคอย่างหนักหน่วง (Massive infodemic) 

ตั้งแต่การพบเชื้อโควิด-19 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ก็มีคำถามมากมายเกี่ยวกับไวรัสที่ยังไม่มีคำตอบ ความไม่รู้นี้ช่วยบ่มเพาะให้เกิดเรื่องเล่า ข่าวลวง และทฤษฎีสมคบคิดเป็นอย่างดี บางกรณีอาจถูกเพิกเฉยไม่ได้รับความสนใจไปเอง เพราะฟังดูไร้สาระและไม่เป็นอันตราย แต่การเชื่อข้อมูลบางเรื่องก็อาจมีค่าเท่ากับชีวิต!

จุดยืนของนักวิทยาศาสตร์ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ที่สังคมคาดหวังให้ช่วยระงับกระแสข้อมูลที่ผิดจาก COVID-19 – แต่พวกเขาควรมีส่วนร่วมเพื่อการณ์นั้นหรือ หรือจริง ๆ ควรจะใช้เวลาไปกับการทำวิจัยจะดีกว่า? นักวิทยาศาสตร์ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงสาขาอื่น นอกจากสาขาที่เชี่ยวชาญหรือไม่? การตอบโต้ข้อความเท็จเกี่ยวกับการระบาดใหญ่นั้น ถือเป็นการทำประโยชน์เพื่อสาธารณะอย่างแท้จริง หรืออาจมีประโยชน์ทางวิชาชีพแฝง?

“ผมคิดว่า นักวิทยาศาสตร์ควรออกมาเป็นแนวหน้า ถ้าเขาสะดวกใจที่จะทำเช่นนั้น เพราะการเผชิญหน้ากับข้อมูลผิด ๆ เกี่ยวกับโควิด จะช่วยให้ผู้ที่มีอำนาจดำเนินนโยบายได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังช่วยให้สาธารณะชนเข้าใจการแพร่ระบาดในมุมมองที่ถูกต้อง และลดจำนวนผู้ติดเชื้อตลอดจนช่วยชีวิตคนได้ด้วย” เจวิน เวสต์ (Jevin West) นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ในซีแอตเทิลกล่าว 

ผลการสำรวจ 13 ประเทศในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยบริษัท GlobalWebIndex พบว่า 67% ของกลุ่มตัวอย่างดูข่าวเพิ่มขึ้น และครึ่งหนึ่งในนั้นใช้เวลามากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในการทำเช่นนั้น “พวกเราพยายามรีเฟรชหน้าเว็บไซต์ ค้นหาข่าวดีหรือข้อมูลล้วงลึกเกี่ยวกับ COVID-19 เพราะมันส่งผลต่อสุขภาพและชีวิตของเราและคนรอบ ๆ ตัวเรา และนั่นทำให้เราโดนหลอกง่ายขึ้น” เวสต์กล่าว

เพื่อยับยั้งความเข้าใจผิดที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ เวสต์ได้ร้วมสร้างคอร์ส “Calling Bullshit” โดยมีหลักสูตร ว่าด้วยการสังเกตและรับมือกับข้อมูลที่ผิดไปจากหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงสถิติ ซึ่งต่อมา เขาได้กลายเป็นผู้อำนวยการศูนย์รวบรวมข้อมูลเพื่อสาธารณะในมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ การวิจัยเกี่ยวกับข่าวลือและข้อมูลผิด ๆ ในช่วงวิกฤตนี้ ซึ่งเขาได้อธิบายว่ามันใช้เวลามหาศาล และยากเข็ญเหมือนการพยายามสร้างเรือขณะที่กำลังลอยอยู่ในทะเลเลยเชียวแหละ

โลกแห่งความเข้าใจผิด

การอ้างถึงสรรพคุณทางยาเพื่อการรักษาโควิด เป็นประเด็นหลักที่บรรดาผู้หาข้อมูลต้องการเพื่อให้เกิดความอุ่นใจ นักวิจัยที่ศูนย์ตรวจสอบข้อมูลเซี่ยงไฮ้ (Taiwan FactCheck Center) ต้องใช้เวลามหาศาลตั้งแต่เดือนมกราคม เพื่อหักล้างข้อมูลแนวนี้ ข้อมูลผิด ๆ ในประเด็นนี้ ได้แก่  การสูดดมกลิ่นไอน้ำมันงาหรือน้ำมันพืชอื่น ๆ หรือ การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือสามารถฆ่าเชื้อ SARS-CoV-2 ได้ ก่อนที่มันจะเข้าสู่ปอด เป็นต้น

ซัมเมอร์ เฉิน (Summer Chen) หัวหน้าบรรณาธิการของศูนย์ดังกล่าวที่ก่อตั้งขึ้นในปี  2018 โดยสองหน่วยงานอย่างศูนย์จับตาสื่อไต้หวัน (Taiwan Media Watch) และ องค์กรเพื่อข่าวคุณภาพ (Association for Quality Journalism) ซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรในไต้หวันแสดงความคิดเห็นว่า “ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงยาหรือการฆ่าเชื้อโควิดเหล่านี้ เป็นผลพวงจากช่องว่างของความรู้เรื่องโควิด”

บางคนเชื่อและแชร์ข้อมูลเนื่องจากเข้าใจผิด แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยทำไปเพื่อผลประโยชน์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (US Food and Drug Administration) ได้เตือนบริษัทและผู้ประกอบการทั้งหลายว่า ให้หยุดการเผยแพร่ข่าวลือ และข่าวปลอมต่าง ๆ เสีย โดยการเตือนครั้งนี้รวมไปถึง อเล็กซ์ โจนส์ (Alex Jones) เจ้าของเว็บไซต์ข่าวลวง ‘Infowars’ และผู้เผยแพร่ศาสนาทางโทรทัศน์อย่าง จิม แบกเกอร์ (Jim Bakker) ด้วย โดยคนทั้งสองพยายามประชาสัมพันธ์และขายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของอนุภาคเงินขนาดเล็กที่แขวนลอยในของเหลวเพื่อช่วยต่อต้านและป้องกันโควิด ทั้งที่ยังไม่มีการยืนยันหรือหลักฐานว่า มันใช้ได้ผล 

อเล็กซ์ โจนส์ (Alex Jones) ในรายการ ‘Infowars’

จิโอวานนี แซกนี (Giovanni Zagni) ผู้สร้างเว็บไซต์ ‘Facta’ เว็บไซต์เช็กความถูกต้องของข้อมูลในอิตาลี กล่าวว่า ในบรรดาครึ่งหนึ่งของข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้ เราจะเห็นผู้คนพยายามสร้างข้อมูลออกมาเพื่อเรียกยอดไลก์ยอดวิว และนำผู้คนไปยังเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยโฆษณาของกูเกิล “ตั้งแต่เปิดเว็บไซต์ขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ผมก็พบว่า ข้อมูลในเว็บไซต์เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเรื่องราวของโควิดถึง 90%” 

หลายข่าวลวงยังเกิดจากมุมมองที่มีต่อการเมืองด้วย ตัวอย่างเช่นรายงานที่บอกว่า เชื้อนี้ถูกผลิตขึ้นและหลุดออกจากห้องปฏิบัติการของสถาบันไวรัสวิทยาในอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Virology) หรือเป็นอาวุธชีวภาพที่ถูกสร้างขึ้นมา (รู้นะว่าเคยแอบคิดถึงความเป็นไปได้แบบนี้กันมาบ้าง ก็สถานการณ์มันชวนให้นึกถึงเกมหรือภาพยนตร์อย่าง Resident Evil หรือ World War Z ขนาดนี้ มันก็ต้องมีแอบโยงกันบ้างแหละ) 

ผลการสำรวจหนึ่งในสหรัฐฯ ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า มีคนถึง 6% คิดว่าไวรัสถูกสร้างขึ้นโดยบังเอิญในห้องปฏิบัติการและ 23% คิดว่ามันถูกสร้างขึ้นอย่างตั้งใจ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า อเมริกาเป็นผู้นำเชื้อไวรัสเข้าไปแพร่ในจีน 

ด้วยเหตุที่เกี่ยวข้องกับการเมืองน้อยกว่า คำเตือนจากนักวิทยาศาสตร์จึงน่าจะเป็นผลมากกว่าออกจากฝั่งรัฐบาล และนี่คือเหตุผลที่เวสต์ลุกขึ้นมาช่วยให้งานของนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย เป็นที่เข้าถึงของสื่อมวลชนและเหล่าผู้ตรวจสอบความถูกต้องทั้งหลาย 

“เราควรจะออกมาจากเส้นทางของเรา (หมายถึงการมุ่งเน้นทำแต่งานวิจัย) โดยเฉพาะในห้วงเวลาวิกฤตของโลกเช่นนี้”  เวสต์กล่าว

(ฮ่านต่อหน้าถัดไป คลิกด้านล่างเลย)

การให้ข้อมูลอย่างจริงใจและเป็นมิตร

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เคอร์รี คาโตนา (Kerry Katona) นักร้องชาวอังกฤษได้แชร์โพสในอินสตาแกรมว่า เด็กที่ติดเชิ้อโควิดควรถูกแยกจากพ่อแม่ไปอยู่ที่โรงพยาบาลเพียงลำพัง นายแพทย์ แรนจิตต์ ซิงค์ จึงรีบออกมาโพสต์โต้ตอบว่า มันไม่เป็นความจริง และโพสต์สรุปข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานกุมารเวชศาสตร์และสุขภาพเด็ก วิทยาลัยหลวงแห่งสหราชอาณาจักร (UK Royal College of Paediatrics & Child Health) ซึ่งคาโตนาได้ขอบคุณเขาสำหรับการให้ข้อมูลนี้ 

แซกนีกล่าวว่า การหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าหรือสนับสนุนข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะให้ผู้คนเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนความคิด “เราต้องพยายามอธิบายข้อมูลด้วยความจริงใจ แต่อย่าพูดให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่ หรือทำเหมือนกับว่าเขาเป็นคนโง่ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ต้องการหาความจริงกันทั้งนั้น” 

กอร์ดอน เพนนีคุก นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเรจินา (University of Regina) ในแคนาดา แสดงผลการศึกษาการประเมินพาดหัวข่าวเกี่ยวกับโควิดของกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มในสหรัฐฯ   โดยครึ่งหนึ่งเป็นพาดหัวข่าวที่ถูกต้องและอีกครึ่งคือที่ผิดแผกจากความเป็นจริงไป พบว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองไม่สามารถตอบได้ว่า อันไหนเป็นเรื่องจริงหรือข่าวปลอม ค่าเฉลี่ยของกลุ่มแรก คนจำนวน 47% จะแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง และ 43% จะแชร์ข้อมูลที่ผิด ส่วนกลุ่มที่สอง จะต้องประเมินความถูกต้องของพาดหัวข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับโควิดก่อนการประเมินความถูกต้องของข้อมูลในแบบเดียวกัน การทำแบบนี้เหมือนจะทำให้ผู้คนฉุกคิดมากขึ้นอีกนิด เพราะมีจำนวน 50% ที่จะแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง และ 40% จะแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั่วไปยังแยกความถูกผิดของข้อมูลได้ยากอยู่ดี

แซกนี อ้างถึงตัวอย่างของโรแบร์โต้ บูริโอนี (Roberto Burioni) แพทย์และนักจุลชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยซาน ราเฟลเอเล (San Raffaele University) ซึ่งสร้างชื่อให้ตัวเองด้วยการยืนหยัดต่อสู้กับผู้ที่ไม่สนับสนุนการฉีดวัคซีนป้องกันโรค “หากนักวิทยาศาสตร์ให้ความใส่ใจกับการสื่อสาร พวกเขาก็สามารถสร้างชื่อของตนให้เป็นที่รู้จักยอมรับในสังคมได้” 

ภาพของโรแบร์โต้ บูริโอนี (Roberto Burioni) ประกอบบทความ
‘นักวิทยาศาสตร์อิตาเลียนผู้กลายเป็นคนดัง ด้วยการตอบโต้ผู้ต่อต้านการใช้วัคซีนเพื่อป้องกันโรค’
(This Italian scientist has become a celebrity by fighting vaccine skeptics) ที่เป็นที่กล่าวขานกันเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
Credit: TANIA/CONTRASTO/REDUX

อย่างไรก็ตาม แม้การออกมายืนหยัดทางความคิดอาจเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางวิชาชีพ แต่เวสต์ก็ยังคงยืนยันว่า การออกมาแสดงจุดยืนหรือข้อมูลต่อสาธารณะในช่วงเวลานี้เป็นสิ่งจำเป็น “นักวิจัยไม่ควรปล่อยให้เรื่องของความเป็นมืออาชีพเข้ามาขวางทางการช่วยเหลือสังคมด้วยการต่อสู้กับข้อมูลผิด ๆ ในวิกฤตโควิดนี้”  และนี่เองจึงเป็นที่มาของวิธีการจับผิดข้อมูลลวงเบื้องต้นที่นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาแนะนำในบทความของวารสาร NATURE ให้พวกเราได้รับรู้

8 วิธีช่วยให้สะดุดหยุดคิดก่อนเชื่อ

ครั้นจะให้ชาวบ้านทั่วไปมานั่งไล่ตามอ่านงานวิจัย เพื่อพิสูจน์แยกแยะข่าวจริงข่าวปลอมก็ดูจะเป็นงานที่ยากและเฉพาะทางไปสักหน่อย จะรอให้นักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกมาชี้แจงแถลงไขทีละเรื่อง ข่าวลือก็แพร่ไปทั่วเสียแล้ว นักวิทยาศาสตร์เลยสรุป 8 วิธีง่าย ๆ ให้คนทั่วไปลองใช้แยกแยะความจริงความเท็จกัน ดังนี้

  1. ความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล คำพูดคลุมเครือประเภท ‘เพื่อนของหมอบอกว่า’ “ฉันมีเพื่อนเป็นหมอเขาบอกว่า” ‘นักวิทยาศาสตร์อ้างว่า’ หรือ ‘หมอในจีนระบุ’ ที่ไม่แน่ชัดว่า คน ๆ นั้นเป็นใครกันแน่ เป็นสัญญาณแรกที่บ่งบอกแล้วว่าข้อมูลนี้ไม่น่าเชื่อถือเอาซะเลย
  2. ภาษาแย่ ๆ แหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือส่วนใหญ่จะมาจากนักสื่อสารมวลชนที่สังกัดสื่อเจ้าใหญ่ ข้อความหรือข่าวที่เขาเขียนจะผ่านกระบวนการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงการใช้ภาษาให้ถูกต้อง ดังนั้นให้พึงระวังข่าวที่มีการใช้คำผิด ๆ มีความหมายกำกวม การสะกดแย่ ๆ หรือใช้รูปประโยคผิดคำไวยากรณ์ ก็ช่วยให้จับไต๋พวกนักต้มตุ๋น หรือคนที่หวังโพสต์สร้างกระแสได้
  3. การติดต่อทางอารมณ์ ถ้ามีบางสิ่งที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธเคืองหรือสุขใจมาก ๆ โปรดจงระวังไว้ เพราะผู้ที่สร้างข้อมูลลวงรู้ดีว่า การใช้ถ้อยคำ หรือเรื่องราวหวือหวาเพื่อดึงดูดอารมณ์ กระตุ้นให้เกิดการแชร์ต่อมากที่สุด
  4. ข่าวหายากหรือข่าวลวง บทความดี ๆ นั้นหายาก หากข้อมูลนั้นมีที่มาจากแหล่งข่าวเพียงแหล่งเดียว หรือเป็นสื่อเจ้าเดียวที่มีข้อมูล โปรดระวังไว้ โดยเฉพาะอันที่อ่านไปแล้วมีบางส่วนบางตอนซ่อนเร้น ชวนให้สงสัยต่อยิ่งต้องระวังไว้ให้ดี
  5. การใช้แอคเคานต์ปลอม การใช้แอคเคานต์ปลอมที่ดูคล้ายของจริง เช่น  @BBCNewsTonight เป็นกลวิธียอดนิยมที่ใช้หลอกลวงให้ผู้คนหลงเชื่ออยู่เสมอ การใช้รูปภาพประกอบที่ชวนให้เข้าใจผิดหรือเว็บปลอมก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ต้องระวังด้วย
  6. การแชร์ที่มากเกินไป หากมีคนกระตุ้นให้คุณส่งต่อข้อความหรือข่าวนั้น ๆ พวกเขาอาจต้องการรายได้จากการโฆษณาหรือการแชร์ต่อที่เกิดขึ้น หาใช่เป็นเรื่องจริงอย่างที่กล่าวอ้าง (โอโห้ เคสนี้ในไทยมีเยอะมาก แต่บางกรณีอาจไม่ใช่ผลของรายได้โดยตรง อาจต้องการเป็นกระแส หรือต้องการเผยแพร่ความเชื่อ ความศรัทธาอื่น ๆ ต่อไป เช่น แชร์โพสต์นี้ต่อจะมีโชคลาภ ร่ำรวย โชคดีตลอดปี หรือ แชร์ต่อแล้วจะมีความสุข พ้นจากเคราะห์กรรม หรือ หากไม่แชร์คนรอบตัวจะต้องมีอันเป็นไป บลา ๆๆ)
  7. ติดตามวิเคราะห์ผู้ได้ผลประโยชน์ ลองคิดพิจารณาดูว่าใครจะเป็นผู้ได้ผลประโยชน์จริง ๆ จากการที่คุณเชื่อถือข้อมูลนี้ ตัวคุณเองหรือใครกันแน่
  8. ตรวจสอบข้อเท็จจริง คุณต้องอ่านข่าวตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ใช่แค่อ่านหัวข้อข่าวผ่าน ๆ (โอโห้ ข้อนี้ก็โดนกันไปอีก) หากมีข้อมูลส่วนใดน่าสงสัยให้ลองเช็กเว็บไซต์ต้นทาง ตรวจดูว่ามีการลบเว็บไซต์ หรือข้อมูลบางส่วนไปหรือไม่ หรือจะหาข่าวทำนองเดียวกันจากสื่ออื่น ๆ ดู ว่าอธิบายให้ความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร ก็จะช่วยให้พิจารณาข้อมูลได้เฉียบคมขึ้นเช่นกัน

เอาล่ะ จำไว้ให้ดีก่อนอ่านข่าวหรือข้อมูลแล้วแชร์กันต่อไป ยิ่งเข้าสู่ช่วงวันหยุดยาวแบบนี้ ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบอกเทคนิคดังกล่าวกับคนใกล้ตัวอย่างพ่อแม่พี่ป้าน้าอา ให้คอยระวังและน่าจะช่วยลดการแชร์ข่าวลวงในแช9 ในไลน์ไปได้มากโข (เอ๊ะ นี่เราก็ชวนให้แชร์ต่อเหมือนกันนิ แต่เราทำไปเพื่อช่วยทุกคนคัดแยกข่าวจริงจากข่าวลวง ไม่ได้หลอกหรอก จริง ๆ นะ  ^^)  และช่วยลดความตื่นตระหนกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส