เอกภพของเราหน้าตาเป็นอย่างไร? มีสีสันไหม? 

น่าเสียดายเหลือเกินว่า การมองเห็นของมนุษย์เรามีขีดจำกัดอย่างยิ่ง ดวงตาของมนุษย์เราสามารถมองเห็นได้เพียงช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้เท่านั้น วิสัยทัศน์ของเราจึงไม่อาจมองทะลุม่านหมอกละอองแห่งดวงดาวที่มีอยู่ทั่วทั้งจักรวาลได้

แต่ถ้าหากเราสามารถมองเห็นคลื่นในช่วงรังสีเอกซเรย์ได้ล่ะ เราคงได้เห็นเอกภพมีแสงเรืองรองงดงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยนานาสีสัน ความรู้สึกที่ได้เห็นก็คงคล้ายกับภาพที่นักวิทยาศาสตร์แต่งแต้มเติมสีให้เราได้ทึ่งกันเช่นนี้แหละ 

ภาพแสดงช่วงคลื่นที่ตามนุษย์มองเห็น จะเห็นว่ามีเพียงช่วงคลื่นแคบ ๆ ที่เป็นแถบสีรุ้งเท่านั้น
Credit: http://www.rmutphysics.com/

ภาพที่เห็นนี้ไม่ใช่ภาพจำลองจากจินตนาการแต่อย่างใด แต่เป็นภาพที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ข้อมูลจากการตรวจจับรังสีเอกซเรย์ด้วยกล้องโทรทรรศน์ eROSITA (Extended Roentgen Survey with an Imaging Telescope Array) ซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งในภารกิจดาวเทียมเยอรมัน – รัสเซีย Spectrum-Röntgen-Gamma หรือ Spektr-RG มาประมวลผล แล้วเติมสีสันลงไป

หลังสอดส่องไปทั่วท้องฟ้านานหกเดือน กล้องโทรทรรศน์ eROSITA ก็ค้นพบแหล่งกำเนิดรังสีเอกซเรย์มากกว่าล้านจุด ซึ่งรวมไปถึง หลุมดำใหญ่ยักษ์ บรรดากระจุกกาแล็กซี เศษซากที่หลงเหลือของระเบิดซูเปอร์โนวา และวัตถุอื่น ๆ อีกมากที่ยังไม่เคยพบมาก่อน

ตามแถลงการณ์ของสถาบันฟิสิกส์นอกโลกมักซ์พลังค์ (Max Planck Institute for Extraterrestrial Physics ) ในเยอรมัน จำนวนแหล่งเอกซเรย์ที่ค้นพบในครั้งนี้ นับเป็นปริมาณทวีคูณเมื่อเทียบกับจำนวนแหล่งรังสีเอกซเรย์ที่เราเคยค้นพบมาตลอดในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์ของการศึกษาดาราศาสตร์ด้วยรังสีเอกซ์เรย์

ข้อมูลมหาศาลในแผนที่นี้ เผยให้นักวิทยาศาสตร์เห็นรายละเอียดต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่วิธีการใหม่ในการติดตามการขยายตัวของเอกภพได้ และด้วยระยะเวลาสำรวจน่านฟ้าของกล้องโทรทรรศน์ eROSITAที่ยังเหลืออีกถึง 3 ปีครึ่ง นักวิทยาศาสตร์ก็หวังว่า มันจะช่วยไขปริศนาพลังงานลี้ลับอย่างพลังงานมืดได้ด้วย

“ eROSITA ได้ปฏิวัติการศึกษาดาราศาสตร์ด้วยรังสีเอกซเรย์แล้ว” เคอร์พาล์ เนนดรา (Kirpal Nandra) หัวหน้านักฟิสิกส์พลังงานสูงจากสถาบันฟิสิกส์นอกโลกมักซ์พลังค์ กล่าวและเน้นย้ำว่า นี่เป็นเพียงปฐมบทของสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

“ภาพท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยความละเอียดและความงดงามที่น่าทึ่งนี้ จะเปลี่ยนแปลงวิธีที่เรามองเอกภพไปอย่างสิ้นเชิง” ปีเตอร์ พรีดีฮ์ล (Peter Predehl) ผู้ตรวจการณ์ของ eROSITA กล่าว

เนนดราอธิบายเพิ่มเติมว่า การรวมกันของข้อมูลพื้นที่และความลึกของน่านฟ้านั้นสร้างการเปลี่ยแปลง และเราได้ศึกษาบางส่วนของเอกภพที่ใหญ่และกว้างกว่าที่เคย อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจจะรู้ก็ได้ว่า โครงสร้างชิ้นส่วนของเอกภพชิ้นแรก ๆ และหลุมดำมวลมหาศาลก่อตัวขึ้นที่ใด

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส