เราทุกคนต่างชื่นอกชื่นใจเวลาที่ได้รับของขวัญจากใครสักคน ดูอย่างความเชื่อแห่งเทศกาลคริสต์มาสนั่นสิ ความเชื่อว่าเป็นของขวัญจากชานต้า ชายชราที่ไม่เคยเห็นหน้าค่าตา ก็ยังทำให้เด็ก ๆ ต่างลุ้นรอตั้งตาของขวัญเหล่านั้นมาหลายศตวรรษแล้ว แต่เรื่องราวที่น่าประทับใจนั้น ใช้ไม่ได้กับพัสดุประหลาดที่ส่งว่อนไปทั่วโลกอยู่ ณ ขณะนี้ 

หากคุณเป็นคนรักต้นไม้และชอบการปลูกต้นไม้ การได้เมล็ดพันธุ์มาฟรี ๆ อาจดูน่าตื่นเต้น แต่ตอนนี้หน่วยงานรัฐจากนานาชาติ ต่างพร้อมใจกันออกมาเตือนเลยว่า อย่าเพิ่งหลงเชื่อนำไปปลูกเด็ดขาด เพราะไม่รู้ว่าเมล็ดพันธ์ุลึกลับเหล่านี้จะเป็นภัยกับสภาพแวดล้อมอย่างไร

เมื่อเมล็ดพันธุ์ลึกลับส่งตรงถึงบ้าน!?

แจน เกาเวิร์ด (Jan Goward) หนึ่งในผู้รักการปลูกต้นไม้และปลูกทุกอย่างที่ขวางหน้า ผู้อาศัยในเมืองอีสบอร์น (Eastbourne) ประเทศอังกฤษ เล่าว่า มีพัสดุลึกลับส่งมาถึงเธอในสัปดาห์นี้ มันระบุว่ามาจากสิงคโปร์และของข้างในคือต่างหู แต่เมื่อเปิดออกดูก็ต้องประหลาดใจว่า มันคือเป็นเมล็ดพืช

“ฉันไม่รู้ว่ามันคือเมล็ดอะไรและมาจากไหน และฉันจะไม่ปลูกในสิ่งที่ไม่รู้ว่าคืออะไรเด็ดขาด” เธอตั้งใจที่จะเผาเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ทิ้งเสียเพื่อตัดโอกาสและความเสี่ยงที่มันจะงอกเงยในหลุมขยะ “เอาจริง ๆ นะ เมล็ดสีดำเล็กๆ เหล่านี้ ดูเหมือนเมล็ดคอร์เจตต์ (Courgette หรืออีกชื่อหนึ่งคือซูกินี) เลย” เธอกล่าวเสริม

นอกจากเกาเวิร์ดและผู้คนในอังกฤษอีกร้อยกว่าราย ยังมีรายงานว่า มีผู้คนอีกหลายคนทั่วโลก ทั้งที่สหรัฐอเมริกา แคนาดา  นิวซีแลนด์ และในยุโรปได้รับพัสดุประหลาดนี้กันทั่วหน้าเช่นเดียวกัน 

ภาพจำลองกล่องพัสดุปริศนา
Credit: Fortune VDO

การรับมือกับเมล็ดพันธุ์ไร้ที่มา

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แค่ในสหรัฐอเมริกามีรายงานจากพื้นที่ต่าง ๆ มากกว่า 20 รัฐ รัฐฟลอริด้านั้นมีรายงานมากกว่าที่ไหน ๆ ชายคนหนึ่งอ้างว่าได้รับพัสดุลึกลับนี้ถึงสามครั้งในหนึ่งสัปดาห์ หญิงคนหนึ่งในเท็กซัส ได้รับเมล็ดนี้เมื่อเดือนเมษายนและเข้าใจว่าเป็นของขวัญ เธอจึงนำมันไปปลูกและก็ไม่มีอะไรงอกออกมา 

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (US Department of Agriculture: USDA) จึงออกโรงเตือนผู้ที่ได้รับพัสดุทั้งหลายว่า อย่าเพิ่งนำเมล็ดเหล่านี้ไปปลูก 

กรมวิชาการเกษตรของรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาเตือนผู้คนผ่านทวิตเตอร์ว่า อย่านำเมล็ดพันธุ์ไร้ที่มาเหล่านี้ไปปลูก
ภาพจากทวิตเตอร์ @WSDAgov

นอกจากอเมริกา พัสดุดังกล่าวได้ทำให้นานาประเทศเกิดความกังวลด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และเริ่มการสืบสวนระหว่างประเทศเกี่ยวกับที่มาที่ไปของมันเช่นกัน

หน่วยงานด้านสุขภาพสัตว์และพืช (Animal Plant Health Agency: Apha) ของอังกฤษ กำลังเร่งสอบสวนเหตุการณ์นี้ โดยโฆษกของหน่วยงานได้ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบพัสดุที่น่าสงสัยทั้งหมดรวมถึงการขายพืชออนไลน์ หากใครได้รับเมล็ดพันธุ์ดังกล่าว อย่าเพิ่งนำไปปลูกแต่ในแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพราะความปลอดภัยทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างยิ่ง

นอกจากสองประเทศข้างต้น หน่วยงานผู้รับผิดชอบในออสเตรเลียเองก็กำลังเร่งสืบหาที่มาของเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวเช่นกัน และระหว่างที่อะไร ๆ ก็ยังไม่แน่ชัดนี้ ก็ขอให้คนที่ได้รับเมล็ดพันธุ์อย่าเพิ่งนำเมล็ดไปปลูก และงดการสัมผัสเมล็ดด้วย 

นอกจากคำระบุบนพัสดุว่าเป็นต่างหูแล้ว พัสดุที่ส่งว่อนไปทั่วโลกนี้ยังมีข้อความระบุถึงของข้างในหลากหลาย ทั้งเครื่องประดับ อัญมณี หรือแม้กระทั่งของเล่น (แต่ส่วนใหญ่แล้วจะระบุว่าเป็นเครื่องประดับ) 

นอกจากสิ่งที่กล่าวอ้างจะมีหลากหลาย ต้นทางที่ส่งมาก็มาจากหลายที่ด้วยเช่น แต่โดยมากมันจะมาจากประเทศจีน ที่มาจากประเทศอื่น ๆ ก็ได้แก่ โปรตุเกส ไต้หวัน สิงคโปร์ อุซเบกิสถาน และคีร์กีซสถาน แต่จากลักษณะแล้วคาดกันว่า ประเทศอื่น ๆ น่าจะเป็นประเทศทางผ่านมากกว่า

กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาโชว์ป้ายฉลากที่อยู่บนพัสดุเมล็ดพันธุ์ แสดงให้เห็นข้อความเป็นภาษาจีน
ภาพจากทวิตเตอร์ @USDA_APHIS

เมื่อโดนพุ่งเป้าเช่นนี้ หวัง เวินบิน (Wang Wenbin) โฆษกกระทรวงต่างประเทศของจีนจึงออกมาแถลงว่า มีการปลอมแปลงข้อความระบุบนพัสดุดังกล่าว และอ้างว่า ไปรษณีย์จีนมี ‘ข้อห้าม’ ไม่ให้เมล็ดผ่านทางทางไปรษณีย์ และได้ขอให้ไปรษณีย์ของสหรัฐอเมริกาส่งพัสดุปลอมเหล่านั้นไปยังประเทศจีนเพื่อตรวจสอบ

(อ่านต่อหน้า 2 ไขคำตอบว่าคือเมล็ดอะไรกันแน่)

ทำไมจึงเป็นเมล็ดพันธุ์?

พัสดุเมล็ดลึกลับนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมากกว่าปกติ อาจเพราะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกาที่นับวันดูจะแย่ลงทุกที ผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยว่า การส่งเมล็ดพันธุ์อาจเป็นการกระทำของพวกผู้ก่อการร้ายที่ใช้เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้าง (Eco-terrorism) หรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า พัสดุนั้นเป็นสิ่งอื่นนอกเหนือจาก “การเพิ่มยอดขายด้วยการหลอกลวง (Brushing scam)”

เทคนิคดังกล่าวคือ เมื่อผู้ค้าขายบนเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ต้องการเพิ่มอันดับของพวกเขาในเว็บ เขาเหล่านั้นจะทำการปลอมแปลงบทวิจารณ์และทำการสั่งซื้อลวง ๆ ทำให้เกิดยอดขายจำนวนมากที่ดูน่าเชื่อถือ เมื่อมียอดสั่งซื้อก็ต้องมีการส่งของที่ยืนยันได้ว่ามันเกิดขึ้นจริง จึงเกิดการส่งสินค้าราคาถูกไปยังลูกค้า (ที่จู่ๆ ได้รับเกียรติให้เป็น) ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในแวดวงการค้าขายออนไลน์ในจีน

สุดท้ายแล้วเมล็ดพันธุ์เหล่านั้นคืออะไรบ้าง

หลังจากตรวจสอบอย่างเข้มข้น ในที่สุด หน่วยงานให้บริการการตรวจสอบสุขภาพสัตว์และพันธุ์พืชสหรัฐฯ (U.S. Department of Agriculture’s Animal and Plant Health Inspection Service: APHIS) ก็ได้ระบุเมล็ดพันธุ์ลึกลับ ว่ามันคือพืช 14 สายพันธุ์ที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ โรสแมรี่ เสจ มินต์ ชบา และสมุนไพรทั่วไปที่แทบจะไม่เป็นภัยคุกคามใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ทางหน่วยงานยังคงรักษาคำเตือนเดิมอยู่ โดยย้ำว่า ผู้ได้รับเมล็ดดังกล่าว ยังไม่ควรปลูกพืชเหล่านี้อยู่ดี

“หลักๆ แล้วเรากังวลว่า เมล็ดพันธุ์เหล่านี้จะนำมาซึ่งศัตรูพืชหรือโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อการเกษตรในประเทศได้” 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าวยังกล่าวว่าเมล็ด 14 เมล็ดเป็นเพียง ‘กลุ่มตัวอย่างที่เก็บรวบรวมมาเท่านั้น นั่นแสดงว่ายังมีเมล็ดพันธุ์ลึกลับอยู่อีกเป็นจำนวนมาก และมันอาจจะอยู่ในพัสดุอันถัดไปที่คุณจะได้รับก็ได้

ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย หากใครได้รับพัสดุเหล่านี้ก็อย่าเพิ่งดีใจ รีบเอาเมล็ดไปปลูกล่ะ ลองแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร สังกัดกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เขาเข้ามาตรวจสอบก่อนจะดีกว่านะ

อ้างอิง

The Guardian

Crosscut

Reuters

Fortune

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส