เมื่อวันที่ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นวันแม่ในไทยแล้ว ยังเป็นวันที่ยานสำรวจดาวอังคาร ‘มาร์ส รีคอนเนเซนต์’ (Mars Reconnaissance Orbiter: MRO) ยานโคจรสำรวจที่เก่าแก่ที่สุดลำหนึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ครบรอบ 15 ปีพอดี นาซาจึงได้ปล่อยภาพน่าทึ่งมากมายที่ได้จากยานมาให้เราได้ยลกัน

ยาน Mars Reconnaissance เป็นยานอวกาศรุ่นเก๋า ที่ให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศที่เบาบางของดาวอังคาร ศึกษาลึกลงไปในใต้ดินด้วยเรดาร์ รวมทั้งตรวจจับแร่ธาตุบนพื้นผิวดาว แต่ที่เหนือกว่านั้นคือภาพที่สวยงามน่าทึ่ง ที่เกิดจากกล้อง 3 ตัวบนยาน

ภาพจำลองยาน Mars Reconnaissance Orbiter (MRO) เหนือพื้นผิวดาวอังคาร
Credit: NASA

กล้องตัวแรกคือ Mars Colour Imager (MARCI) มันมีเลนส์ฟิชอายที่ให้มุมมองโดยรวมของดาวเคราะห์ส่งกลับมายังโลกทุกวัน กล้องตัวต่อมาคือ Context Camera (CTX) ด้วยมุมมองภาพที่กว้างถึง 30 กิโลเมตร (19 ไมล์) ทำให้มันช่วยให้ภาพภูมิประเทศขาวดำแก่เรา ในขณะที่กล้องตัวที่สาม High-Resolution Imaging Science Experiment (HiRISE) ให้มุมมองที่โดดเด่นคมชัดที่สุด

ด้วยคุณสมบัติที่สามารถซูมไปยังพื้นผิวด้วยความละเอียดสูงสุด ทำให้ HiRISE จับภาพธรรมชาติที่มีรายละเอียดและสีสันที่น่าทึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นดินถล่ม ฝุ่นมหาศาลที่กลืนกินพื้นผิว และการเปลี่ยนแปลงไปของภูมิทัศน์ กล้องยังจับภาพยานอวกาศอื่น ๆ บนดาวอังคารตามคำสั่ง และยังมีการหมุนยาน Mars Reconnaissance เพื่อหันกล้อง HiRISE ไปที่โลกและโฟบอส (หนึ่งในสองดวงจันทร์ของดาวอังคาร) เพื่อบันทึกภาพอีกด้วย

จากการทำงานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 จนถึงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา HiRISE เพียงกล้องเดียว ก็ถ่ายภาพไปถึง 6,882,204 ภาพ ส่งข้อมูลจำนวน 194 เทระไบต์จากดาวอังคารมายังโลก และภาพต่อไปนี้เป็นเพียงภาพตัวอย่างที่ได้จากกล้องทั้ง 3 ตัวบนยาน Mars Reconnaissance โดยศูนย์ JPL (Jet Propulsion Laboratory) ของนาซาเป็นผู้นำมาประมวลและเผยแพร่

พายุฝุ่นแห่งทศวรรษบนดาวอังคาร

ภาพก่อน (ซ้าย) และหลัง (ขวา) การเกิดพายุฝุ่นครั้งใหญ่
Credits: NASA/JPL-Caltech/MSSS
เมื่อนำภาพดาวอังคารที่ถ่ายเปรียบเทียบมาจัดทำเป็นภาพเคลื่อนไหว
Credits: NASA/JPL-Caltech/MSSS

พายุฝุ่นเป็นเรื่องปกติบนดาวอังคาร แต่ส่วนใหญ่พายุจะก่อตัวในบริเวณไม่กว้างนัก ทว่า ในหนึ่งทศวรรษ อาจเกิดปรากฏการณ์พิเศษขึ้นสักหนึ่งหรือสองครั้ง พายุที่เกิดขึ้นกระจัดกระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ได้สร้างผลกระทบต่อเนื่อง (A domino effect) ทำให้เกิดการยกตัวขึ้นของฝุ่นจำนวนมหาศาลพัดพาไปกับสายลมจนปกคลุมพื้นผิวดาวไปทั่ว เป็นปราฏการณ์ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ฝุ่นล้อมรอบดาวเคราะห์ (Planet-encircling dust event)”

สำหรับภาพเปรียบเทียบนี้บันทึกโดยกล้อง MARCI ในปี พ.ศ. 2561 จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์พิเศษดังกล่าวทำให้พื้นที่ด้านบนเหนือยานสำรวจออเพอร์ทูนิตี (Opportunity) เต็มไปด้วยฝุ่น ส่งผลให้ท้องฟ้ามืดลง แสงแดดส่งไปไม่ถึงแผงโซลาร์เซลล์ของยาน และนำไปสู่การปิดฉากของภารกิจในที่สุด

หางพายุหมุน

Credits: NASA/JPL-Caltech/Univ. of Arizon

ขณะที่กล้อง HiRISE อยู่เหนือพื้นผิวดาวอังคาร บางครั้งก็ค้นพบสิ่งที่น่าประหลาด เช่น ภาพพายุฝุ่นมหึมาที่ถูกถ่ายไว้ที่ความสูง 297 กิโลเมตร (185 ไมล์) นี้ ความยาวของเงาพายุหมุนบ่งชี้ว่า พายุลูกนี้มีความสูงมากกว่า 800 เมตร (ครึ่งไมล์) ซึ่งมีขนาดเท่ากับตึกเบิร์จคาลิฟา (Burj Khalifa) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดในโลก

ดินถล่มบนดาวเคราะห์แดง

Credits: NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

กล้อง HiRISE จับภาพชั่ววินาทีที่ดินถล่มได้ เมื่อน้ำแข็งตามฤดูกาลละลายระเหยกลายเป็นไอในฤดูใบไม้ผลิ ทำให้หน้าผาสูง 500 เมตร (1,640 ฟุต) ที่ขั้วเหนือของดาวอังคารเริ่มแตกร้าวและถล่มลงมาในที่สุด เผยให้เห็นร่องรอยแห่งอดีต ผ่านชั้นน้ำแข็งและฝุ่นที่ทับถมก่อตัวขึ้นในยุคที่แตกต่างกัน เช่นเดียวกับวงแหวนต้นไม้ ที่แต่ละชั้นจะชี้ให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นว่าสภาพแวดล้อมรอบต้นไม้ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นไร

หลุมอุกกาบาตยักษ์

Credits: NASA/JPL-Caltech/Univ. of Arizona

ดาวอังคารมีชั้นบรรยากาศเบาบาง มีความหนาแน่นเพียง 1% ของโลก ด้วยเหตุนี้ การเผาไหม้ของวัตถุที่พุ่งเข้าไปในดาวจึงเกิดขึ้นน้อยกว่าบนโลก อุกกาบาตขนาดใหญ่จึงผ่านเข้าสู่ดาวเคราะห์แดงได้มากกว่าโลก กล้อง CTX ตรวจพบหลุมอุกกาบาตใหม่กว่า 800 แห่ง และหลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ก็ถ่ายภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้นด้วยกล้อง HiRISE

หลุมอุกกาบาตนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เมตร (100 ฟุต) ล้อมรอบด้วยรัศมีของการระเบิดครั้งใหญ่ การตรวจสอบการกระจายตัวออกของเศษดินและหินโดยรอบจะทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการพุ่งชนของอุกกาบาตเพิ่มเติม อย่างการระเบิดในภาพนี้ ทำให้เศษดินกระเด็นพุ่งออกไปได้ไกลถึง 15 กิโลเมตร (9.3 ไมล์)

(อ่านต่อหน้า 2 คลิกที่นี่เลย)

ริ้วรอยบนผืนดิน

Credits: NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

เลสลี เทมพ์พารี (Leslie Tamppari) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลภารกิจสำรวจดาวอังคารของยาน Mars Reconnaissance กล่าวว่า “ก่อนหน้าที่จะมีภารกิจนี้ มันไม่แน่ชัดว่าบนดาวอังคารมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เราคิดว่าชั้นบรรยากาศที่บางมาก คงทำให้แทบไม่มีการเคลื่อนไหวของทราย การเคลื่อนตัวของเนินทรายส่วนใหญ่นั้นน่าจะเกิดขึ้นในอดีต แต่ยิ่งเรามองมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งค้นพบเรื่องราวใหม่ ๆ มากขึ้นเท่านั้น”

ตอนนี้ เรารู้แล้วว่า มันไม่ได้เป็นอย่างที่นักวิทยาศาสตร์เคยคาดการณ์ไว้ อย่างในภาพนี้ มีการย้อม ‘สี’ ลงไปในภาพเพื่อเน้นรายละเอียดบางอย่าง เช่น ยอดเนินทรายและริ้วคลื่น ธรณีสัณฐานจำนวนมากนี้กำลังเคลื่อนที่ไปมาเช่นเดียวกันกับพื้นดินบนโลก เม็ดทรายเหล่านี้ถูกพัดพาโดยลมและย้ายที่ไปทั่วดาวในช่วงหลายล้านปี

และในภารกิจนี้ นอกจากภาพของดาวอังคารแล้ว กล้อง HiRISE ยังบันทึกภาพของโลกและดวงจันทร์ของเราเอาไว้ด้วย

Credits: NASA/JPL-Caltech/Univ. of Arizona

ดวงจันทร์บริวาร

Credits: NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

‘โฟบอส(Phobos)’ คือดวงจันทร์ ดาวบริวารของดาวอังคารดวงหนึ่ง มันได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าแห่งความกลัวของกรีก (Greek god of fear) ส่วน ‘เดมอส (Deimos)’ คือดวงจันทร์อีกดวง ซึ่งก็ได้รับการตั้งชื่อตามเทพเจ้าแห่งความหวาดกลัว (god of terror) เช่นกัน

ภาพนี้คือโฟบอส ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 21 กิโลเมตร (13 ไมล์) ด้วยความละเอียดของกล้อง HiRISE ทำให้เราเห็นหลุมอุกกาบาตสติกนี (Stickney Crater) ที่อยู่ด้านขวาล่างของดวงจันทร์ มันมีขนาดกว้างประมาณ 9 กิโลเมตร (5.6ไมล์) แม้โฟบอสมีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์มากมาย

หลายคนสงสัยว่ามันเป็นดาวเคราะห์น้อยที่โคจรอยู่ด้วยแรงดึงดูด หรือส่วนหนึ่งของดาวอังคารที่แตกออกหลังจากเกิดการพุ่งชนของอุกกาบาตครั้งใหญ่กันแน่ และนั่นจึงทำให้ญี่ปุ่นมีภารกิจส่งยานไปยังโฟบอสในอนาคตอันใกล้เช่นกัน นอกจากนี้ ดวงจันทร์โฟบอสยังถูกเสนอให้เป็นพื้นที่จุดแวะพักสำหรับนักบินอวกาศก่อนที่จะไปยังดาวอังคารอีกด้วย

ยานสำรวจอื่น ๆ บนพื้นผิวของดาวอังคาร

Credits: NASA/JPL-Caltech/University of Arizona

นอกจากภาพพื้นผิว กล้อง HiRISE ยังมักถูกใช้ถ่ายภาพยานสำรวจของนาซาบนพื้นผิวของดาวอังคารด้วย ทั้งยานสำรวจภาคพื้นดินอย่างยานสปิริต (Spirit) คิวริออซิตี (Curiosity) และออเพอร์ทูนิตี (Opportunity) ตลอดจนอุปกรณ์ที่อยู่กับที่อย่างยานฟินิกซ์ (Phoenix) และอินไซต์ (InSight) และคาดว่า เราคงจะได้ชมภาพของรถสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) ยานล่าสุดของนาซาที่เดินทางไปดาวอังคารเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หลังวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่ยานมีกำหนดเดินทางไปถึงดาวอังคารเช่นกัน

แม้จะจัดเต็มเผยภาพมาขนาดนี้ แต่นาซาก็มีทิ้งท้ายว่า ใครอยากชมภาพพิเศษของกล้องเหล่านี้เพื่อศึกษาเพิ่มเติมก็เข้าไปขอภาพเฉพาะกันได้ที่ลิงก์นี้

สำหรับบุคคลทั่วไปก็สามารถติดตามภาพจากภารกิจของยานที่คัดสรรมาแล้วได้จากหมวดภารกิจ MRO ของนาซากันได้เลย

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส