กลับมาอีกครั้ง ‘ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก’ ชาวกรุงเทพฯ เตรียมตัวไร้เงา 15 สิงหาคม นี้ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ติดตามช่วงวันเวลาไร้เงากันได้ในตารางด้านล่างได้เลยยย

อะไรคือดวงอาทิตย์ตั้งฉาก และมันทำให้ไร้เงาได้อย่างไร

นายศุภฤกษ์  คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT อธิบายว่า ปกติแล้ว ดวงอาทิตย์จะโคจรเปลี่ยนตำแหน่งขึ้น-ตกอยู่เสมอ โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี ดวงอาทิตย์มาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทยเป็นครั้งที่ 2 ของปี โดยเริ่มจากเหนือสุดของประเทศและเปลี่ยนตำแหน่งเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ

สำหรับชาวกรุงเทพฯ ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 12:22 น. หากยืนกลางแดดช่วงเวลาดังกล่าว เงาของร่างกายจะตกอยู่ใต้เท้าพอดี

สำหรับภูมิภาคอื่น ๆ ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากเริ่มตั้งแต่บริเวณเหนือสุดของประเทศ ณ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนเปลี่ยนตำแหน่งมาตั้งฉากกับพื้นที่ทางใต้ลงมาเรื่อยๆ  และจะตั้งฉากกับพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทย ณ อ.เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 7 กันยายน 2563 สามารถตรวจสอบวันเวลาที่ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากได้จากภาพกราฟิกด้านล่าง  

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน ระหว่างแนวละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปีดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะถึง 2 ครั้ง และในแต่ละจังหวัดของประเทศไทยดวงอาทิตย์จะผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน 

สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้พื้นโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามอุณหภูมิพื้นที่บริเวณที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจะสูงที่สุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ ดังนั้นวันดังกล่าวจังไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด

วิธีสังเกตการณ์และพิสูจน์สภาวะไร้เงา

เพราะดวงอาทิตย์ตั้งฉากพอดี จึงทำให้วัตถุทั้งหลายที่มีลักษณะตั้งเป็นแนวตรงเกิดเงาในลักษณะตรงดิ่ง ไม่มีเงาตกทอดไปยังด้านใดด้านหนึ่ง ทำให้ดูเหมือนไม่มีเงา ดังนั้นหากเราอยากลองพิสูจน์ว่า ดวงอาทิตย์ตั้งฉากจริงหรือไม่ วิธีง่ายที่สุดคือสังเกตที่ร่างกายของเราเอง ถ้าเรายืนตัวตรงไม่ยื่นแขนขาออกจากตัว หรือทำท่าชูแขนขึ้นเหยียดตรงเหนือศีรษะ ในช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก เพียงแค่นี้ก็จะเห็นแล้วว่า ร่างกายของเราแทบจะไม่มีเงาตกทอดลงบนพื้นเลย

นอกจากการสังเกตด้วยร่างกายตนเองแล้ว ยังมีการใช้วัตถุอื่น ๆ อาทิ กระป๋อง ขวดน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุทรงกระบอก ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าไม่มีเงาเกิดขึ้นจริง ๆ หรือจะเป็นวัตถุอื่น ๆ ที่มีรูปร่างของฐานวัตถุใหญ่กว่ายอดด้านบนก็จะทำให้เราไม่มีเงาเช่นกัน หรือจะพลิกแพลงใช้กระดาษเจาะรูเป็นลวดลายต่างๆ ดูลักษณะเงาที่ตกกระทบก็ได้

ถ้ายังไงพรุ่งนี้ก็ลองสังเกตกันดูว่าลักษณะไร้เงานั้นเกิดขึ้นจริงหรือไม่ แล้วลองถ่ายรูปมาอวดบ้างนะคะ

ขอบคุณภาพประกอบและข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส