วนมาอีกครั้งกับวันแห่งการเปลี่ยนผ่านฤดู ‘ศารทวิษุวัต’ กลางวันยาวเท่ากลางคืน 22 กันยายนนี้ หากอยากพิสูจน์ให้ลองสังเกตทิศที่ดวงอาทิตย์ขึ้นตกดู

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) กล่าวว่า วันที่ 22 กันยายนนี้ เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน สำหรับประเทศไทย วันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06:07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18:14 น. นับเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วงของประเทศทางซีกโลกเหนือ และเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิของประเทศในซีกโลกใต้

คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” โดยวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันนี้จะเกิดขึ้นเพียง 2 ครั้งต่อปี คือในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) และในช่วงเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง เรียกว่า วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox)

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่ต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดเหนือสุดลงมาทางใต้  เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ทำให้ ‘ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี’

ดังนั้น หากเรายืนอยู่ในจุดเดิมทุกวัน เราก็จะเห็นตำแหน่งขึ้นตกของดวงอาทิตย์ต่างไป ความแตกต่างของตำแหน่งดวงอาทิตย์นี่เอง ที่นำไปสู่การออกแบบแผนผังหรือสิ่งปลูกสร้างบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในอดีตหลายแห่ง ช่วยให้เราสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น

ถ้าใครได้ไปเยือนพุทธมณฑลช่วงนี้ให้ลองสังเกตดูว่า หากยืนอยู่ในตำแหน่งตรงกลางหน้าฐานพระพุทธรูป ดวงอาทิตย์จะตกในตำแหน่งหลังองค์พระพุทธรูปพอดี ทำให้เกิดภาพที่เสมือนเป็นรังสีออกมาจากพระเศียร
ภาพนี้บันทึกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563 เวลาประมาณ 16.19 น.
Credit: Wattana.k

จากนั้นดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ในวันเหมายัน”  (Winter Solstice) ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม 2563 และหลังจากวันนั้น ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ เคลื่อนกลับไปขึ้นตกเฉียงไปทางเหนืออีกครั้ง

สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว เกิดจากแกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว ไม่เกี่ยวกับระยะห่างของโลกจากดวงอาทิตย์

ขอบคุณข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส