ปี 2020 นับเป็นปีที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญกับเรื่องราวร้าย ๆ ในวิกฤตอยู่หลากหลายเรื่อง ทั้งโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนไปเกินล้าน และส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ ที่ศึกเลือกตั้งนั้นก็ลุ้นกันจนรดต้นคอทั้งคนเก่า (ที่อาจนับเป็นวิกฤตชนิดหนึ่ง) และคนใหม่ สงครามการค้าที่แทบจะเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ระหว่างมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐและจีน ไปจนถึงภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนและอุบัติเหตุครั้งใหญ่

ถึงอย่างนั้นข่าวดีก็มีอยู่ (แม้จะมีน้อย) และถึงจะมีเรื่องร้าย ๆ มากขนาดไหน วันหนึ่งเรื่องเหล่านี้ก็จะผ่านไปเหมือนกับทุกเรื่องและทุกปี ที่พวกเราจะร่วมเรียนรู้และผ่านไปได้ด้วยกัน วันนี้ Beartai ขอชวนย้อน 10 เหตุการณ์สำคัญของโลกในปีที่ผ่านมา เพื่อจดจำไว้เป็นบทเรียนว่ามีอะไรผ่านเข้ามาในประวัติศาสตร์หน้านี้

โควิด-19

เมืองอู่ฮั่นและอีกหลายเมืองของประเทศจีนโกลาหลตลอดช่วงต้นปี เพราะผู้คนแห่หนีตายจากเมืองต้นตอการระบาด (ภาพจาก CNN)

วิกฤตการณ์สั่นสะเทือนโลกชนิดที่หลาย ๆ คนก็ไม่เคยได้ประสบพบเจอในชั่วชีวิตของตัวเอง เพราะนอกจากชาวโลกทุกพื้นที่จะต้องเสี่ยงอันตรายกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 แล้ว ความล่มสลายทางเศรษฐกิจก็ตามมาเป็นเงาตามตัวอย่างที่หลายคนพูดว่า ระหว่างตายเพราะเชื้อไวรัสกับตายเพราะไม่มีจะกิน ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ถูกนิยามว่าเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) หมายถึงโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ที่โลกไม่เคยรู้จักมาก่อน

การแพร่ระบาดของ “โควิด-19” ได้รับการบันทึกว่า เป็นสถานการณ์โรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่วิทยาการทางการแพทย์ทันสมัย (หากเทียบกับโรคระบาดใหญ่ในอดีตที่การแพทย์ยังไม่เจริญมากนัก อย่างกาฬโรค (มีผู้เสียชีวิต 75-200 ล้านคนทั่วโลก) ฝีดาษ (มีผู้เสียชีวิต 5 ล้านคนทั่วโลก) และไข้หวัดสเปน (มีผู้เสียชีวิต 20-40 ล้านคนทั่วโลก ก็จะเห็นว่าความรุนแรงยังน้อยกว่ามาก และจะไปใกล้เคียงกับยอดผู้เสียชีวิตขากโรคไข้หวัดฮ่องกงเมื่อปี 1968 มากกว่า) หากไปดูสถิติล่าสุด (ณ 25 ธันวาคม) มีผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกรวมแล้วเกือบ 80 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1.7 ล้านคน

การระบาดเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 จากตลาดขายของป่าที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน มีรายงานว่า พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสปริศนาที่ติดต่อจากคนสู่คนอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงแรกของการระบาดประเทศที่มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากที่สุดเริ่มจากจีน อิตาลี สเปน เยอรมนี ก่อนจะเป็นสหรัฐอเมริกา บราซิล อินเดีย และรัสเซีย ปัจจุบันประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ สหรัฐฯ ที่มียอดเกือบ 340,000 ราย และผู้ติดเชื้อสะสมใกล้ 20 ล้านคนเข้าไปทุกที

ภาพหลุมฝั่งศพผู้เสียชีวิตในประเทศบราซิล (ภาพจาก The Guardian)

ช่วงเดือนมกราคม 2020 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ พร้อมประกาศตั้งชื่ออย่างเป็นทางการว่าเชื้อไวรัส “โควิด-19” และต่อมาก็ยกระดับให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นโรคระบาดใหญ่ (Pandemic) ส่งผลให้รัฐบาลหลายประเทศรวมถึงไทย ออกมาตรการล็อกดาวน์ปิดประเทศ ระงับเที่ยวบินและการเดินทางระหว่างประเทศทุกรูปแบบ รวมถึงสั่งให้ประชาชนอยู่บ้าน มนุษยชาติจึงได้รู้จักกับการสวมหน้ากากอนามัยไปทั่วทุกหัวระแหง คำว่ารักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ (New Normal) เช่น การทำงานจากที่บ้าน หรือ Work From Home และธุรกิจการสั่งอาหารออนไลน์ที่บูมทุกประเทศ

ผลกระทบของเชื้อไวรัสมรณะครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของผู้คนทั่วโลก รวมไปถึงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ ธุรกิจสายการบินและธุรกิจท่องเที่ยวของทุกประเทศแทบล่มสลาย บริษัททั้งขนาดเล็กใหญ่พากันล้มละลาย ปิดกิจการ ผู้คนตกงานจำนวนมากไปจนถึงฆ่าตัวตาย ถึงขั้นที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF เผยว่าเหตุการณ์แพร่ระบาดครั้งนี้จะทำให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลวงนับจากการตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ Great Depression ในปี 1929-1930 และถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศมหาอำนาจก็เข้าสู่ภาวะนี้พร้อมกันหมด

บุคลากรทางการแพทย์กลายเป็นด่านหน้าที่ต้องเผชิญกับเชื้อไวรัสและความเหนื่อยยากในการทำงาน (ภาพจาก The Guardian)

จนกระทั่งช่วงปลายปีที่เริ่มมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนที่จะใช้ฉีดเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยบริษัทยาแห่งแรกที่ผลิตวัคซีนได้สำเร็จและผ่านการรับรองจากหน่วยงานสาธารณสุขก็คือ วัคซีนของบริษัท Pfizer/BioNtech สัญชาติอเมริกัน ตามมาด้วยวัคซีนของบริษัท Moderna ซึ่งหลายประเทศได้สั่งซื้อและ เริ่มแจกจ่ายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เริ่มจากสหราชอาณาจักรที่ฉีดให้ประชาชนก่อนเป็นประเทศแรก ตามมาด้วยสหรัฐฯ และสิงคโปร์ที่เป็นประเทศแรกของเอเชีย การสร้างภูมิต้านทานหมู่ในประชากรทั่วโลกจะสัมฤทธิ์ผลเมื่อมีผู้ได้รับวัคซีน 70% ทำให้หลายประเทศและองค์กรระดับโลกพยายามส่งวัคซีนไปให้กับประเทศยากจน

Joe Biden ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ

Joe Biden ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐฯ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีของชาติมหาอำนาจอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบันซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้นำโลกด้วย นับเป็นวาระสำคัญเสมอในทุก ๆ 4 ปี โดยเฉพาะกับปีนี้ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ก็มีวาระพิเศษและเหตุการณ์แวดล้อมต่าง ๆ มากมายให้คอข่าวการเมืองระหว่างประเทศได้ติดตามกันอย่างสนุกสนาน เริ่มตั้งแต่เป็นการจัดการเลือกตั้งในช่วงของแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชาชนอเมริกันส่วนใหญ่ ตัดสินใจลงคะแนนเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งก็เป็นตัวแปรหนึ่งที่สำคัญในชัยชนะของ Joe Biden ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เพราะฐานเสียงของเขาไม่ต้องการเสี่ยงต่อไวรัส คะแนนช่วงท้ายที่ทำให้ Biden ตีตื้นชนะ Trump

วาระพิเศษเรื่องที่สองก็คือการขับเคี่ยวกันชนิดรดต้นคอของ Donald Trump ที่อาจกลับมาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 เขาสร้างความช็อกและสีสันในทางลบ (บางเรื่องถึงกับเป็นหายนะ) ให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ และชาวอเมริกันสมกับที่หลายคนคาดการเอาไว้ตลอด 4 ปี ส่วน Joe Biden ที่เคยเป็นรองประธานาธิบดีสมัย Barack Obama ก็มาในมาดของผู้อาวุโสแห่งโลกเสรีขี่ม้าขาวปราบยุคเข็ญให้กับประเทศ พ่วงด้วยผู้ท้าชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี Kamala Harris ที่จะเป็นผู้หญิงผิวดำเชื้อสายเอเชียคนแรก (คนแรกที่ทุกการจัดประเภททั้งเชื้อชาติ เพศ และสีผิว) ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนี้

ผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในช่วง 2 วันแรกที่มีการนับไป 90% ผลปรากฏว่า Biden ได้สร้างสถิติใหม่กลายเป็นผู้ที่ได้รับเสียงโหวตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกันถึง 72,125,883 เสียง คิดเป็น 50.35% ของจำนวนบัตรเลือกตั้งที่มีการนับ ทำลายสถิติเดิมของอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่เคยได้รับคะแนนเสียงมากถึง 69,498,516 เสียงจากการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 ขณะที่ Trump เองก็ได้คะแนนเสียงไปสูสี อยู่ที่ 68,780,928 เสียง หรือคิดเป็น 48.02%

ขณะเดียวกัน Donald Trump ไม่ยอมรับผลการนับคะแนนเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยเฉพาะคะแนนจากบัตรเลือกตั้งผ่านระบบไปรษณีย์ และสร้างความปั่นป่วนด้วยการทวีตข้อความให้ “หยุดนับคะแนน!” ในหลายรัฐ Swing State ที่ทั้งสองพรรคไม่มีใครเป็นเจ้าของคะแนนของประชาชนอย่างชัดเจน ผ่านมาเกือบ 2 เดือนตัวแทนพรรครีพับลิกันได้เดินหน้าฟ้องศาลในหลายรัฐรวมทั้งศาลสูงเพื่อล้มผลการเลือกตั้ง แต่ศาลสูงก็ไม่ได้คล้อยตามแนวความคิดของฝ่าย Trump แม้ในองค์คณะ 9 คนจะมีผู้พิพากษาฝั่งรีพับลิกันถึง 6 คน และ 3 คนหลังสุดก็เป็น Trump ที่แต่งตั้งเข้าไปเองในช่วงวาระ 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เขาก็เคยคุยโวตั้งแต่ก่อนวันเลือกตั้งว่า ถ้าหาก Biden เกิดชนะขึ้นมาจริง ๆ การเปลี่ยนผ่านตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ จะไม่ราบรื่นอย่างแน่นอน

คณะรัฐบาลและดรีมทีมคณะรัฐมนตรีของ Biden ที่จะเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดในวันเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งนั้น จะเต็มไปด้วยผู้ที่มีความหลากหลายทั้งเพศ เชื้อชาติ และสีผิว อีกทั้งยังมีคนรุ่นใหม่ที่เป็นเพศทางเลือก LGBTQ และผู้ทุพพลภาพ โดยจะมีดาวเด่นเช่นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางของสหรัฐฯ Janet Yellen ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และ Adewale Adeyemo ผู้ช่วยรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เป็นผิวดำสัญชาติไนจีเรียเป็นคนแรก นอกจากนี้สิ่งที่น่าติดตามอีกด้านก็คือ ข่าวด้านลบของ Hunter Biden ลูกชายของ Biden ที่ถูกสอบสวนเรื่องคอรัปชั่นจากการทำธุรกิจในจีนและต้องตามดูกันว่า Biden จะแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อช่วยลูกหรือไม่

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน

ประธานาธิบดี Donald Trump และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เมื่อปี 2019

โลกอาจได้ผ่านสงครามโลกและสงครามตัวแทนไปแล้ว แต่สงครามการค้าเพื่อแย่งชิงอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯ และจีนยังคงดุเดือดอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะท่าทีแข็งกร้าวของประธานาธิบดี Donald Trump ที่มีนโยบายเศรษฐกิจต่อต้านจีนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ซึ่งเหตุการณ์ “ถูกแบน” ต่าง ๆ ของบริษัทเทคของจีนและแอปพลิเคชันสัญชาติจีนตลอดทั้งปีก็สะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีนผลัดกันเปิดเกมรุกและเกมรับบนกระดานเศรษฐกิจตลอดทั้งปี 2020

เริ่มตั้งแต่แอปพลิเคชัน TikTok ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกช่วงประชาชนล็อกดาวน์โควิด แอปพลิเคชันของบริษัท ByteDance สัญชาติจีนนี้ เปิดตัวเมื่อราวปี 2017 และในปี 2020 มีบัญชีผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านบัญชีทั่วโลก โดยสหรัฐฯ มีผู้ใช้งาน TikTok กว่า 30 ล้านคน ต่อมา Trump ได้ออกคำสั่งเมื่อ 7 สิงหาคม แบนการใช้งานแอปในประเทศ เพราะกังวลว่า TikTok อาจจะนำข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐไปมอบให้กับรัฐบาลจีนเพื่อใช้ในการสอดแนมหน่วยงานและประชาชนอเมริกัน ภายหลัง ByteDance ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

ปธน.สหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งห้ามบุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ ByteDance และ Tencent เจ้าของแอปพลิเคชัน WeChat โดยคำสั่งดังกล่าวจะมีผลภายในระยะเวลา 45 วัน ยกเว้นว่า ทั้ง 2 บริษัทจีนจะขายกิจการให้กับบริษัทอื่นของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทเทคยักษ์ใหญ่หลายรายในสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอเพื่อซื้อกิจการแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ว่าจะเป็น Microsoft, Twitter, Private Equity และ Oracle ต่อมาภายหลังศาลมีคำสั่งเลื่อนวันครบรอบกำหนดไปเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน และมีคำสั่งว่า ByteDance ต้องจัดการทำลายข้อมูลผู้ใช้งานของชาวอเมริกันที่บันทึกไว้ทั้งหมด จนกระทั่ง 20 กันยายน ByteDance ตัดสินใจเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ทางเทคโนโลยีระหว่าง Tiktok, Oracle และ Walmart

นอกจากนี้เมื่อช่วงต้นปี สหรัฐฯ ก็ริเริ่มในโครงการ 5G Clean Path ซึ่งมีจุดประสงค์ในการนำฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์โครงข่ายของจีนอย่าง Huawei และ ZTE ออกไปจากระบบเครือข่าย 5G ของสหรัฐฯ และโครงการ Clean Network ที่ตั้งใจจะล้างบางบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคม, บริการคลาวด์, สายเคเบิลใต้ทะเล, แอปและร้านค้าแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งหมายความว่าสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการคือ ไม่ให้มีเทคโนโลยีของจีนอยู่ในสหรัฐฯ แม้แต่อย่างเดียว

ทางด้านจีนก็ตอบโต้กลับเมื่อหน่วยงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China (CAC) ได้ลบ 105 แอปพลิเคชันที่อ้างว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม แต่ที่น่าประหลาดใจคือรวมแอป TripAdvisor แอปท่องเที่ยวออนไลน์สัญชาติอเมริกันที่ใช้สำหรับจองโรงแรม การเดินทางและร้านอาหารเข้าไปด้วย ซึ่งเหตุผลที่มีการแบนไม่มีการเปิดเผยที่แน่ชัดว่าแอป TripAdvisor โดนแบนด้วยเหตุผลอะไร แต่หลายฝ่ายเชื่อมโยงว่า อาจจะมาจากการที่สหรัฐฯ สั่งแบน TikTok ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจีนเคยกล่าวว่าสหรัฐฯ ตั้งใจกลั่นแกล้งและจีนจำเป็นจะต้องใช้มาตรการตอบโต้กลับเพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทจีนเช่นกัน

และในข่าวที่เกี่ยวเนื่องกันกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจโลก ในแวดวงการจารกรรมข้อมูลและการโจมตีทางไซเบอร์ก็มีเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานกันไปด้วยเช่นกัน เมื่อกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ได้ทำการจับกุมแฮกเกอร์ชาวจีนสองคนที่ลอบขโมยความลับของบริษัทรวมถึงงานวิจัยที่เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสโคโรนาด้วย โดยก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสสะเทือนโลก ทั้งสองคนมีหน้าที่แฮกเข้าโปรแกรมของธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ซอฟต์แวร์เกม, ข้อมูลทางเภสัชกรรมและบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อมีอยู่ในหลายประเทศ

FBI กล่าวในแถลงการณ์อย่างชัดเจนว่า การแฮกในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน ส่วนรัฐมนตรียุติธรรมก็ได้ออกมาโจมตีจีนว่า ได้เข้ามาแทนที่ประเทศอย่างรัสเซีย อิหร่าน และเกาหลีเหนือ ในการเป็นชาติที่ให้แหล่งหลบซ่อนสำหรับเหล่าอาชญากรทางไซเบอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

(อ่านต่อหนัาถัดไป)

สงคราม (โลก) ครั้งที่ 3 สหรัฐฯ-อิหร่านยังไม่เกิด

ภาพพิธีศพของพลตรี Qassem Soleimani ที่ถูกลอบสังหารโดยสหรัฐฯ (ภาพจาก Iran Front Page)

เปิดปีใหม่มาแค่ 3 วัน เมื่อวันที่ 3 มกราคม ก็เกิดเหตุการณ์ระดับโลกขึ้น เมื่อพลตรี Qassem Soleimani นายทหารระดับสูงของอิหร่านและผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการพิเศษของประเทศอิหร่าน ถูกกองกำลังสหรัฐฯ ลอบสังหารด้วยโดรนติดอาวุธที่สนามบินนานาชาติแบกแดดในประเทศอิรัก สร้างความโกรธแค้นให้กับชาวอิหร่านเป็นอย่างมากถึงขนาดประกาศพร้อมรบล้างแค้นในทันที ในตอนนั้นทั่วโลกต่างก็วิตกกังวลว่าการต่อสู้ระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน จะกลายเป็นสงครามโลกครั้งที่ 3

และไม่กี่วันหลังจากนั้น เมื่อวันที่ 8 มกราคม ก็เกิดเหตุเครื่องบินโบอิง 737-800 ของสายการบินยูเครน อินเตอร์เนชันแนล แอร์ไลน์ ตกใกล้กับสนามบินนานาชาติเตหะราน ในอิหร่าน จนเป็นเหตุให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตยกลำ 176 คนโดยมีคลิปวิดีโอชัดเจนว่าเครื่องบินดังกล่าวถูกยิงตกอย่างชัดเจน ต่อมาทางการอิหร่านก็ออกมาแถลงยอมรับว่า เป็นความผิดพลาดของกองทัพอิหร่านเอง เพราะเครื่องบินดันบินเข้าไปท่ามกลางการยิงถล่มฐานทัพของทหารอเมริกัน 2 แห่งในประเทศอิรักพอดี และเข้าใจไปว่าเครื่องบินดังกล่าว เป็นเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ จึงตัดสินใจยิงเครื่องบินดังกล่าวให้ตก


เมื่อเกิดเหตุเครื่องบินตกจนมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตมากมาย กลายเป็นว่าสถานการณ์นี้กลับพลิกมาทำร้ายฝั่งอิหร่านเสียงเอง เพราะประชาชนชาวอิหร่านหลายพันคนได้ออกมาเดินขบวนประท้วงกลางกรุงเตหะราน เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์เครื่องบินยูเครนตก และเลิกเรียกร้องให้มีก่อสงครามแก้แค้นเพื่อนายพล Qasem Soleimani ไปเสียอย่างนั้น และเมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงในอิหร่าน สถานการณ์ที่กลัวกันว่าจะเกิดสงครามก็ถูกเบนความสนใจไปจนหมด

การลอบสังหารบุคคลสำคัญของอิหร่านไม่ได้เกิดขึ้นครั้งเดียวในปีนี้ เพราะเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พลจัตวา Mohsen Fakhrizadeh เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของอิหร่าน ผู้ได้รับการขนานนามว่า “บิดาแห่งนิวเคลียร์อิหร่าน” ถูกลอบสังหารด้วยฝีมือของสายลับ เหตุเกิดนอกกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และรัฐบาลอิหร่านเชื่อว่าเป็นฝีมือของอิสราเอลที่มีสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง สำนักข่าว Fars News Agency สื่อของอิหร่านเปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่า Fakhrizadeh ถูกลอบสังหารด้วยปืนอัตโนมัติที่ควบคุมด้วยรีโมตคอนโทรลจากระยะไกล โดยกลุ่มคนร้ายที่อยู่ในรถยนต์อีกคัน ซึ่งก็ต้องรอดูว่าท่าทีระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ จะเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อ Biden ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ปธน.สหรัฐฯ

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ออกแรงขัดขวางอิหร่านอย่างเต็มที่ตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศคู่สงครามการค้าเพื่อไม่ให้อิหร่านสามารถซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด -19 ให้กับประชาชนในประเทศผ่านโครงการ COVAX  โครงการระดับโลกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ โดยหัวหน้าธนาคารกลางของอิหร่านได้เปิดเผยกับสื่อว่า จนถึงขณะนี้วิธีการในการชำระเงินและการโอนสกุลเงินต่าง ๆ เพื่อที่จะซื้อวัคซีนโควิดของอิหร่านต้องเผชิญกับอุปสรรคเนื่องจากการคว่ำบาตรที่ไร้มนุษยธรรมของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยเขายกตัวอย่างว่า อิหร่านพยายามซื้อวัคซีนด้วยการจ่ายเงินในสกุลของประเทศเกาหลีใต้แต่ก็ถูกบริษัทสหรัฐฯ ปฏิเสธ

อิหร่านได้ประกาศเมื่อหลายเดือนก่อนว่า พวกเขาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ COVAX เพื่อให้ได้ใช้วัคซีนที่มีความปลอดภัยและในราคาที่ประเทศสามารถจ่ายไว้ โดยองค์การอนามัยโลกยกย่องให้ COVAX เป็นความหวังของประเทศด้อยโอกาส เพราะโครงการนี้จะสามารถบริหารจัดการเพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนสำหรับประชาชนในทุกประเทศได้อย่างรวดเร็ว เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน ระหว่างนี้ อิหร่านกำลังหาทุกวิถีทางเพื่อจ่ายค่าวัคซีน และอยู่ระหว่างการหาทางเจรจากับประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่สหรัฐฯ รวมถึงความอิหร่านยังอาจตัดสินใจผลิตวัคซีนเองในประเทศ

ประธานาธิบดีรัสเซีย (อาจ) วางยาพิษลอบสังหารฝ่ายค้าน

Alexei Navalny และ Yulia ภรรยาของเขา

Alexei Navalny วัย 44 ปี นักการเมืองดาวเด่นจากพรรคฝ่ายค้านของรัสเซีย เป็นตัวตั้งตัวตีในการโจมตีนโยบาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซียในสภาโดยเฉพาะเรื่องปัญหาคอรัปชันมาแล้วหลายครั้ง ถูกลอบวางยาพิษขณะที่เขากำลังโดยสารเครื่องบินออกจากไซบีเรียมุ่งหน้าไปมอสโคว เขาถูกพบว่า เกิดอาการช็อกจนหมดสติบนเครื่องจนนักบินต้องตัดสินใจบินกลับฉุกเฉิน เพื่อส่งเขาเข้าโรงพยาบาลในเมืองไซบีเรีย ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 สิงหาคม แพทย์โรงพยาบาลไซบีเรียได้ยืนยันถึงการพบสารเคมีบางอย่างที่ยังไม่มีการเปิดเผยที่บริเวณนิ้วมือและเสื้อผ้าของเขา

อาการของ Nalvany ยังอยู่ในขั้นโคม่าและยังไม่พ้นขีดอันตรายจนจนเช้าวันที่ 21 สิงหาคม Yulia Navalnaya ภรรยาของ Nalvany จึงขอให้แพทย์จากไซบีเรียส่งตัวเขาไปรักษาต่อที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในทีแรกโรงพยาบาลในไซบีเรียยินยอมมีการส่งตัวเกิดขึ้น แต่ต่อมาก็เกิดกลับกลับลำกะทันหัน อ้างว่าอาการของเขาไม่พร้อมจะเคลื่อนย้ายและอาจเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลมาขัดขวางไม่ให้ภรรยาได้พบกับทีมหมอที่เดินทางรับตัวจากเยอรมนีอีกด้วย เธอจึงตัดสินใจส่งจดหมายตรงถึง Putin ร้องขอให้ปล่อยตัวสามีของเธอไปรักษาเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม

จนกระทั่งวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคม ทางการรัสเซียได้อนุญาตให้ส่งตัว Nalvany ไปรักษาที่โรงพยาบาลในเยอรมัน ต่อมาในเดือนกันยายน Angela Merkel นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า Nalvany นั้นถูกลอบสังหารด้วยวิธีการวางยาพิษจากสารพิษทำลายระบบประสาท ชื่อ “โนวีช็อก” ที่คิดค้นโดยสหภาพโซเวียต ในปี 1971 ภายใต้โครงการลับที่มีชื่อรหัสว่า FOLIANT สารพิษโนวีช็อกมีลักษณะเป็นผง สามารถเข้าสู่ร่างกายได้เพียงแค่สูดดม หรือสัมผัส โดยถ้าสูดดมเข้าไปตรง ๆ จะแสดงอาการผิดปกติเร็วมากเพียงแค่ไม่ถึง 3 นาที สารพิษโนวีช็อกจะทำลายระบบประสาทสั่งการในร่างกาย ทำให้เกิดอาการ ชักกระตุก เกร็ง หัวใจเต้นแรง หายใจลำบาก หมดสติทันทีเป็นเวลาหลายวันจนถึงขั้นเสียชีวิต

ภาพแรกของ Nalvany ที่โรงพยาบาลในเยอรมนี หลังได้รับการเปิดเผยว่าพ้นขีดอันตรายแล้ว

ต่อมา Nalvany ได้รับการรักษาจนหายเกือบเป็นปกติราวปาฏิหาริย์ และในเดือนธันวาคมนี้เอง เขาออกมาประกาศว่า ข้อสรุปที่ได้จากคณะสืบสวนของเขาร่วมกับของสื่อมวลชนระบุว่า ทีมสายลับลอบสังหารเป็นคนจากหน่วยความมั่นคงกลาง FSB ของรัฐบาลรัสเซีย โดยคนร้ายได้นำสารพิษใส่ไว้ในกางเกงในของเขา Nalvany ได้โพสต์คลิปวิดีโอลงบนเว็บไซต์ส่วนตัวของเขาเมื่อวัน 21 ธันวาคม โดยเป็นคลิปบันทึกเหตุการณ์ขณะที่เขากำลังพูดคุยหลอกล่อเอาข้อมูลทางโทรศัพท์กับทีมสังหาร โดยหลอกว่าตนเองเป็นผู้ช่วยเลขานุการสภาความมั่นคงแห่งชาติรัสเซีย เจ้าหน้าที่คนนั้นได้พูดคุยกับเขานานถึง 49 นาที และ Nalvany ได้นำทั้งเทปบันทึกเสียงมาเผยแพร่

รัฐบาลเครมลินตอบโต้ว่าคลิปเสียงที่ไม่ได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ FSB จริง ๆ และบอกให้สังเกตดี ๆ จะเห็นว่า Nalvany ถามนำและชักจูงคำตอบของผู้พูดให้เป็นไปตามการชี้นำของเขา ขณะเดียวกัน Putin ก็ได้ปฏิเสธรายงานของสื่อเกี่ยวกับแผนลอบวางยาพิษ Nalvany โดยระบุว่าแผนการทั้งหมดนี้ เป็นแผนของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ที่เจตนาใส่ร้ายป้ายสีตน และทำให้ Nalvany ดูมีความสำคัญเกินจริง ปัจจุบันนี้ Nalvany ยังอยู่ระหว่างพักฟื้นในเยอรมนี และยืนยันว่าจะเดินทางกลับรัสเซียแน่นอนในอนาคตแต่ยังไม่ระบุวันเวลา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ Navalny ถูกลอบสังหาร เพราะปี 2017 เขาเคยถูกมือดีสาดสารพิษใส่หน้า เข้าเบ้าตาขวาจนเกือบบอด แต่โชคดีที่เข้ารับการรักษาได้ทันเวลา ส่วนช่วงปีที่แล้ว 2019 ขณะที่ถูกจำคุกในข้อหาก่อความไม่สงบอยู่นั้น เขาเคยถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเพราะสงสัยว่าจะถูกวางยาพิษ แต่หลังจากพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 วันก็ถูกส่งตัวกลับเรือนจำเหมือนเดิม

ระเบิดครั้งใหญ่ในเลบานอน

4 สิงหาคมได้เกิดเหตุระเบิดอย่างรุนแรงบริเวณท่าเรือที่กรุงเบรุต เมืองหลวงของประเทศเลบานอน โดยผลจากแรงระเบิดครั้งมโหฬาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 220 รายและบาดเจ็บมากกว่า 6,000 คน ประชาชนราว 300,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัยเพราะบ้านเรือนเสียหายจากแรงระเบิด คลิปภาพเคลื่อนไหวในช่วงที่เกิดระเบิดของผู้อยู่ในเหตุการณ์จำนวนมากถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วบนโลกออนไลน์ เผยให้เห็นแรงระเบิดพวยพุ่งอย่างน่าหวาดกลัว แรงสั่นสะเทือนกระจายเป็นวงกว้าง รวมทั้งโรงพยาบาลเซนต์จอร์จซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเบรุตก็เสียหายหนักเช่นกัน ส่วนโรงพยาบาลหลายแห่งในกรุงเบรุตก็มีผู้เข้ารับการรักษาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนแทบรับไม่ไหวแต่เดิมอยู่แล้ว

https://twitter.com/KhaledBeydoun/status/1290775838296858626?ref_src=twsrc%5Etfw%7Ctwcamp%5Etweetembed%7Ctwterm%5E1290775838296858626%7Ctwgr%5E%7Ctwcon%5Es1_&ref_url=https%3A%2F%2Fwww.beartai.com%2Fnews%2Fsci-news%2F462974

ทางการเลบานอนระบุออกมายอมรับว่า เหตุเกิดจากการเก็บแอมโมเนียมไนเตรตจำนวน 2,750 ตัน อย่างไม่ได้มาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งสารแอมโมเนียมไนเตรตทั้งหมดเป็นของกลางที่ทางการยึดไว้ และถูกเก็บไว้ในคลังบริเวณท่าเรือมานานถึง 6 ปีแล้ว ต่อมาประชาชนได้ออกมาประท้วงรัฐบาลด้วยความโกรธแค้นส่งผลให้นายกรัฐมนตรี Hassan Diab ในเวลานั้น ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

CNN ก็ได้สืบเสาะหาแหล่งที่มาของสารแอมโมเนียมไนเตรตจำนวน 2,750 ตัน แล้วก็พบว่า โฆษกบริษัท Fábrica de Explosivos Moçambique (FEM) ผู้ผลิตวัตถุระเบิดของประเทศโมซัมบิก เปิดเผยว่า บริษัทเป็นผู้สั่งซื้อสารแอมโมเนียมไนเตรต 2,750 ตัน ที่เก็บไว้ที่คลังสินค้าของท่าเรือกรุงเบรุตนานเกือบ 7 ปีแล้วตั้งใจนำสารเคมีเหล่านี้ไปใช้ผลิตวัตถุระเบิดสำหรับขายให้แก่บริษัทเหมืองแร่ เดิมสารนี้ถูกบรรทุกมากับเรือสินค้า MV Rhosus สัญชาติมอลโดวา โดยออกเดินทางจากประเทศจอร์เจียซึ่งเป็นแหล่งผลิตเมื่อเดือนกันยายน ปี 2013 และมีจุดหมายปลายทางที่ประเทศโมซัมบิก

แต่ระหว่างเดินทางเรือเกิดเครื่องยนต์ขัดข้องจนต้องจอดเทียบท่าที่กรุงเบรุต และทางการเลบานอนตรวจสอบแล้วพบว่า เรือไม่พร้อมออกทะเลจึงสั่งห้ามเดินเรือ ทางการเลบานอนพยายามติดต่อชาวรัสเซียเจ้าของเรือแต่ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้ต้องรับภาระเก็บสารแอมโมเนียมไนเตรตทั้งหมดไว้ในคลังสินค้าท่าเรือหมายเลข 12 กระทั่งเกิดเหตุระเบิดดังกล่าว

ความเสียหายจากระเบิดครั้งนี้สูงกว่า 15,000 ล้านเหรียญฯ และส่งผลกระทบซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่โดนมาหนักแล้วจากสถานการณ์โควิด โดยนานาชาติได้ระดมทุนให้ความช่วยเหลือไปแล้วราว 300 ล้านเหรียญฯ ขณะที่หน่วยงานรัฐทั้งฝ่ายรัฐบาลและตุลาการที่มีอำนาจตัดสินใจและเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต่างไม่แสดงความรับผิดชอบใด ๆ สื่อของรัฐบาลเลบานอนยังเปิดเผยในภายหลังว่า มีเจ้าหน้าที่ 16 คนถูกควบคุมตัวไปแล้วเพื่อทำการสอบสวน

รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการของเลบานอนออกมาบอก ว่ากระทรวงโยธาธิการนั้นทำหนังสืออย่างน้อย 18 ฉบับส่งถึงผู้พิพากษากรุงเบรุตที่ดูแลกรณีเรื่องเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2014 ขอให้ดำเนินการจัดการสารเคมีดังกล่าว แต่ไม่มีการตัดสินใจหรือการดำเนินการใดๆ เกิดขึ้นจากฝ่ายผู้พิพากษา ส่วนผู้อำนวยการกรมศุลกากรเลบานอนก็อ้างว่า ได้ทำหนังสืออย่างน้อย 6 ฉบับส่งถึงผู้พิพากษากรุงเบรุต ตั้งแต่ปี 2014-2017 ให้มีคำสั่งจัดการสารแอมโมเนียมไนเตรตทั้งหมดออกจากท่าเรือ โดยเสนอทางเลือกให้ส่งออก มอบให้กองทัพ หรือขายให้บริษัทเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับวัตถุระเบิด แต่ปรากฏว่าหนังสือก็ก็ไม่ได้รับความสนใจเช่นกัน

การประท้วงของคนผิวดำ #BlackLivesMatter

(ภาพจาก Britannica)

จุดเริ่มต้นของการชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนแอฟริกัน-อเมริกันและผู้สนับสนุนที่เป็นคนเชื้อชาติอื่นครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายปีของสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นจากการเสียชีวิตของ George Floyd วัย 46 ปีโดยการกระทำของ Derek Chauvin เจ้าหน้าที่ตำรวจและเพื่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจของเขาอีก 3 คนที่เข้าจับกุม Floyd โดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ และทำให้ Floyd ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิต เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมดถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมหรือ 1 วัน หลังจากที่ Floyd เสียชีวิตแล้ว

ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน ได้มีตั้งข้อหาเพิ่มกับอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 3 นาย คือ J. Alexander Kueng , Tou Nmn Thao ตำรวจอเมริกันเชื้อสายม้ง และ Thomas Lane ในข้อหาสนับสนุนการฆาตกรรม George Floyd การเสียชีวิตของ Floyd ได้จุดชนวนการประท้วงทั่วสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังรุนแรงเกินสมควรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายใต้ #Blacklivematter และ #JusticeforGeorgefloyd ผู้ประท้วงบางกลุ่มได้ก่อความรุนแรงตลอดจนก่อการจลาจลและปล้มสะดมสินค้าในบางพื้นที่ นอกจากนี้ก็ยังมีนักแสดงและบุคคลผู้มีชื่อเสียงหลายคนออกมาให้การสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ด้วย เช่น Michael B. Jordan และ John Boyega

จากการประท้วงครั้งนี้ ทำให้มีการหันมาสนใจปัญหาการเหยียดคนผิวดำมากขึ้น จากสถิติพบว่าในจำนวนผู้ต้องหา 1,000 คน คนผิวดำคุณมีแนวโน้มว่าจะถูกวิสามัญหรือจับตาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่าคนผิวขาวถึง 2.5 เท่า และหมายความรวมถึงแม้ผู้ต้องสงสัยจะไม่มีอาวุธอยู่ในมือเลยก็ตาม การประท้วงได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งพ่นสีสเปรย์ใส่กำแพงสถานีและรถตำรวจ หลายพื้นที่ตำรวจต้องสลายการชุมนุมโดยใช้น้ำผสมกับสารเคมีฉีดเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนผู้ว่าการรัฐมินิโซตาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และร้องขอกองกำลังแห่งชาติ (National Guard) 600 คน เข้าควบคุมสถานการณ์

https://www.youtube.com/watch?v=RdmujU6NL9E

ต่อมาการชุมนุมประท้วงเริ่มขยายวงไปในหลายเมืองใหญ่ทั่วประเทศสหรัฐฯ ทั้งเดนเวอร์, เมมฟิส, โคลัมบัส, ฟีนิกซ์, พอร์ตแลนด์ และแอลบูเคอร์กี รวมถึงเมืองใหญ่ลอสแอนเจลิสและนิวยอร์ก ที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นมาก แต่ก็มีผู้คนบางส่วนที่ก่อความรุนแรงสร้างความเสียหายแก่อาคารบ้านเรือนอีกด้วย อย่างไรก็ตามการออกมาชุมนุมประท้วงก็ค่อย ๆ เงียบและซาไป หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นและตำรวจผู้กระทำผิดก็เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ปัญหาเหยียดผิวจะยังไม่จบลงง่าย ๆ อย่างน้อยก็จนกว่าจะมีรายต่อไป

(อ่านต่อหน้าถัดไป)

ไฟป่าออสเตรเลียและแคลิฟอร์เนีย

(ภาพจาก CNN)

ไม่ใช่แค่เหตุร้ายเรื่องโรคระบาดและเหตุเภทภัยจากสถานการณ์การเมืองเท่านั้น ปี 2020 ก็เป็นปีที่โลกและมนุษย์เผชิญศึกษาการภัยร้ายทางธรรมชาติอย่างไฟป่าที่หนักหน่วงในหลายพื้นที่ทั่วโลก เริ่มตั้งไฟไหม้ป่าครั้งประวัติศาสตร์ในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐวิกตอเรีย ของประเทศออสเตรเลีย ที่เริ่มลุกโหมมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 ก่อนจะสามารถควบคุมไฟได้ก็ผ่านไปถึงเดือนมีนาคม ซึ่งเท่ากับว่าไฟได้เผาผลาญป่าและสิ่งมีชีวิตอยู่ร่วม 4 เดือนเต็ม


ความเสียหายครั้งนี้กินพื้นที่ราว 78 ล้านไร่ คร่าชีวิตสัตว์ป่าไปนับพันล้านตัว รวมถึงที่พักอาศัยและทรัพย์สินของผู้คนหลายพันหลังคาเรือนก็ถูกเผาไหม้ไปกับไฟป่าด้วย ชาวออสเตรเลีย 57% ได้รับผลกระทบจากควันพิษที่ปกคลุมไปหลายพื้นที่ซึ่งประเทศออสเตรเลียนั้นไม่ใช่เล็ก ๆ แต่ควันไฟก็ปกคลุมเป็นบริเวณกว้าง
ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงหรือวิกฤตโลกร้อนเป็นปัจจับสำคัญที่ทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนและแห้งต่อเนื่องมาจนทำให้เกิดไฟป่าถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

Scott Morrison นายกรัฐมนตรีของออสเตรเลียเองก็ถูกโจมตีจากเหตุการณ์นี้ว่าให้ความสำคัญกับนโยบายทางเศรษฐกิจมากกว่าจะเห็นความสำคัญต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม เขามุ่งผลักดันให้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกถ่านหินมากที่สุดในโลก สวนทางข้อตกลงปารีสที่ออสเตรเลียต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ร้อยละ 26-28% ภายในปี 2030 ภายหลังประชาชนออสเตรเลียจึงออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง

ผู้นำอีกคนหนึ่งที่แหกข้อตกลงปารีสและพาสหรัฐฯ ออกจากประเทศที่เข้าร่วมข้อตกลงก็คือ Donald Trump เมื่อปี 2017 หลังจาก Trump ขึ้นดำรงตำแหน่งสมัยแรกไม่นาน เขาก็ประกาศนโยบายให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยการถอนตัวดังกล่าวเพิ่งจะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 5 พฤศจิกายนปีนี้ (ให้หลัง 3 ปี) และยังถือเป็นประเทศแรกในโลกที่ถอนตัวออกจากความตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตามขั้นตอนในการถอนตัวยังต้องกินเวลาอีกนานหลายเดือน และหลายฝ่ายเชื่อว่า เมื่อ Joe Biden ขึ้นรับตำแหน่ง เขาจะพาประเทศกลับเข้าสู่ความตกลงอีกครั้ง

นอกจากนี้ในช่วงเดือนกันยายนท้องฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาก็ปกคลุมไปด้วยสีส้มเช่นกัน นี่คือภาพวิกฤตไฟป่าครั้งรุนแรง เนื่องจากคลื่นความร้อนที่เข้าปกคลุมในหลายพื้นที่ นักดับเพลิงกว่า 14,000 นายได้เข้าควบคุมสถานการณ์เพื่อจำกัดไม่ให้ไฟป่ากว่า 28 จุดทั่วทั้งรัฐลุกลามและขยายตัวเป็นวงกว้าง

ไฟป่าได้เผาทำลายพื้นที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียไปแล้วกว่า 2.5 ล้านเอเคอร์ (ราว 6.3 ล้านไร่) มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 8 ราย กองป้องกันป่าไม้และไฟป่ารัฐแคลิฟอร์เนียแจ้งว่า ไฟป่าในพื้นที่เมืองเฟรสโน ที่เรียกว่า “ครีคไฟร์” (Creek Fire) ทำให้ต้องอพยพประชาชนกว่า 200 คนออกจากพื้นที่ ที่พักอาศัยและทรัพย์สินจำนวนไม่น้อยได้รับความเสียหาย ประชาชนชาวอเมริกันในรัฐดังกล่าวต่างต้องใช้ชีวิตประจำวัน ท่ามกลางบรรยากาศหม่นมืดไปด้วยแสงสลัวเพราะแสงจากดวงอาทิตย์ลอดผ่านชั้นฝุ่นควันของไฟป่าลงมาไม่ได้

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศกำลังก่อให้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่และทำให้สถานการณ์ไฟป่ายืดเยื้อนานขึ้นในพื้นที่ตะวันตกของสหรัฐฯ ส่วน Gavin Newsom ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกแถลงการณ์ว่า แคลิฟอร์เนียเป็นแหล่งผลิตถ่านหินที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด และปัญหาไฟป่านี้ก็ตอกย้ำถึงต้นเหตุจากการผลิตถ่านหินนั้น และเขาจะไม่ทนต่อผู้ที่ปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องจริงอีกต่อไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี Trump ก็ได้ลงพื้นที่อุทยานแมคคลีแลนในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อลงพื้นที่ที่เกิดไฟป่าครั้งมโหฬาร เขาได้พบและหารือกับ Newsom และให้สัมภาษณ์สวนทางกับผู้ว่าการรัฐโดยกล่าวว่า “เดี๋ยวมันก็เย็นขึ้น คุณรอดู…ผมว่าวิทยาศาสตร์ไม่รู้อะไรจริงในเรื่องนี้” ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวคิดของเขา

SpaceX และความคืบหน้าของวิทยาการอวกาศโลก

ท่ามกลางข่าวร้าย ๆ ก็ยังมีข่าวดีในปีนี้และเป็นความก้าวหน้าทางวิทยาการอวกาศที่ห่างหายจะความสำเร็จระดับโลกไปหลายปี โดยหัวแถวของบริษัทที่ประสบความสำเร็จในปีนี้ก็คือ SpaceX ของมหาเศรษฐีอันดับที่ 2 ของโลกในปีนี้ (เพิ่งได้รับการจัดอันดับความรวยขึ้นมาสูงที่สุดในปีนี้เช่นกัน) โดย SpaceX ได้กลายเป็นบริษัทเอกชนเจ้าแรกที่พามนุษย์ขึ้นไปบนอวกาศ และยังได้รับใบอนุญาตให้มีสายการบินขึ้นไปบนอวกาศในเชิงพาณิชย์อีกด้วย

จรวด Falcon 9 คือได้พา 2 นักบินอวกาศ Doug Hurley และ Bob Behnken ไปในภารกิจครั้งนี้ โดย Falcon 9 เป็นจรวดที่ถูกออกแบบมาให้มีการลงจอดในแนวตั้งซึ่งไม่เคยมีจรวดทำได้มาก่อนในอดีตและยังบินซ้ำได้ ทำให้ประหยัดเงินในการเดินทางไปอวกาศได้อย่างมหาศาล โดย Falcon 9 ได้ทำการบินซ้ำไปแล้วทั้งสิ้น 43 ครั้งด้วยกัน

นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์จากความสำเร็จครั้งนี้เต็ม ๆ ก็คือ องค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ สหรัฐฯ หรือ NASA เพราะก่อนหน้านี้การส่งนักบินขึ้นไปสู่อวกาศในแต่ละครั้ง NASA ต้องบากหน้าใช้กระสวยอวกาศ โซยุสของรัสเซีย ด้วยเหตุนี้ NASA จึงเตรียมที่จะเป็นลูกค้ารายใหญ่ของ SpaceX และจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 30 ล้านเหรียญฯ ต่อนักบินอวกาศ 1 คน เพราะใช้วิทยาการสมัยใหม่ของ SpaceX นี่เอง

นอกจากนี้ ปี 2020 ก็ยังเป็นปีแห่งความรุ่งเรืองของ SpaceX ที่สามารถปล่อยภารกิจอวกาศได้ถึง 26 ครั้งจากเป้าหมายทั้งหมดที่กำหนดไว้ 39 ครั้ง และแต่ละครั้งก็เป็นความสำเร็จที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์วงการอวกาศของโลก แม้ว่าจะมีจำนวนภารกิจเป็นรองจากการปล่อยจรวดในกลุ่ม Long March ของประเทศจีนที่มากถึง 30 ครั้ง แต่อย่าลืมว่า SpaceX ในฐานะบริษัทเอกชนเมื่อเทียบกับองค์การบริหารอวกาศแห่งชาติของจีนแล้ว ทำได้ขนาดนี้ถือว่าแน่มาก

ความสำเร็จของวงการอวกาศยังไม่ได้เป็นของชาติสหรัฐฯ แค่เพียงชาติเดียว เพราะในปีนี้ชาติจากเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จไปอีกขึ้นเช่นกันเมื่อ องค์การอวกาศแห่งชาติของจีน (CNSA) รายงานว่า แคปซูลบรรทุกตัวอย่างหินจากดวงจันทร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยานฉางเอ๋อ 5 เดินทางกลับสู่โลกบริเวณมองโกเลียอย่างปลอดภัยเมื่อวัน 17 ธันวาคมที่ผ่านมา กลายเป็นความสำเร็จครั้งใหม่ของวิทยาการอวกาศของจีน หลังจากเก็บตัวอย่างดินและหินหนัก 2 กิโลกรัมจากบริเวณแอ่งมหาสมุทรพายุบนดวงจันทร์ที่ยังไม่เคยถูกเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาทำการสำรวจมาก่อน โดยภารกิจนี้เป็นการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวดวงจันทร์อีกครั้งในรอบ 40 ปีของมนุษย์ชาติ และทำให้จีนเป็นประเทศที่ 3 ที่ทำได้ต่อจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต

ส่วนญี่ปุ่นนั้น องค์กรสำรวจอวกาศแห่งญี่ปุ่น (JAXA) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ภารกิจสำรวจอวกาศ ของยานฮายาบูสะ2 (Hayabusa2) ได้ประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างของดาวเคราะห์น้อยริวกุ (Ryugu) ที่อยู่ห่างไกลจากโลก 300 ล้านกิโลเมตร รวมถึงตัวอย่างก๊าซจากอวกาศกลับมายังโลกเป็นครั้งแรก โดยแคปซูลได้ลงจอดบริเวณประเทศออสเตรเลียตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม ทีมนักวิจัยได้เริ่มตรวจสอบอนุภาคทรายสีดำจำนวนหนึ่งที่จัดเก็บมาในแคปซูลแล้ว ยานฮายาบูสะ2 ถูกปล่อยขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากศูนย์อวกาศทาเนกาชิมะเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2014 และเดินทางไปโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยริวกุในเดือนมิถุนายนปี 2018 ก่อนจะเก็บตัวอย่างมาในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019

Parasite หนัง “เกาหลีใต้” และ “เอเชีย” เรื่องแรกที่คว้าออสการ์หนังยอดเยี่ยม

ความสำเร็จของบงจุนโฮที่กลายเป็นความสำเร็จของประเทศเกาหลีใต้และชาวเอเชียทั้งมวลไปพร้อมกัน เมื่อ Parasite ผลงานลำดับที่ 7 ของเขาที่ไปชนะรางวัลปาล์มทองคำ ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ฝรั่งเศสในปี 2019 มาแล้ว และยังคงยืนระยะกระแสความชื่นชมต่อมาได้อีกเกือบ 1 ปีเต็ม และมาคว้ารางวัลสูงสุดของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดของชาวอเมริกันที่แทบไม่เปิดรับวัฒนธรรมต่างชาติ จนพูดได้เลยว่าไม่มีใครคาดคิดว่า Parasite จะได้รางวัลนี้ (หลายฝ่ายคาดว่าได้รางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมก็นับว่ามาไกลมากแล้ว)

Parasite ภาพยนตร์ที่เสียดสีการต่างชั้นวรรณของกลุ่มคนสองชนชั้นในเกาหลีใต้ที่ต้องจับพลัดจับผลูมาอาศัยอยู่ในชายคนบ้านหลังเดียวกันและกลายเป็นโศกนาฎกรรมชวนหัวในตอนท้ายเรื่อง นอกจากจะคว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แล้วก็ยังได้มีอีก 3 รางวัลใหญ่ของงาน ได้แก่ รางวัลบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, รางวัลผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม

บงจุนโฮ เกิดที่เมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1969 (ปัจจุบันอายุ 51 ปี) มักจะใช้ช่วงเวลาหลังจากที่คนในครอบครัวนอนหลับไปกับการดูภาพยนตร์ผ่านทางโทรทัศน์ (คุณแม่ไม่ค่อยยอมพาเขาไปดูในโรงภาพยนตร์เพราะกลัวติดเชื้อโรค) โดยเฉพาะในคืนวันศุกร์และเสาร์ เขาค่อยๆ สะสมความคลั่งในโลกภาพยนตร์ของเขามาเรื่อย ๆ ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มต้นก้าวแรกในฐานะนักทำหนังจากผลงานภาพยนตร์สั้นถึง 3 เรื่อง เก็บประสบการณ์จากการเป็นคนเขียนบทและผู้ช่วยผู้กำกับเป็นเวลา 6 ปี นอกจากนั้นการคลุกคลีและใช้ชีวิตอยู่กับนักกิจกรรมทางสังคมและการเมืองก็หล่อหลอมทัศนคติและมุมมองทางสังคม ด้านความไม่เท่าเทียมและปัญหาชนชั้นวรรณะ จนกระทั่งได้มาแจ้งเกิดกับ Memories of Murder (2003) และภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรกอย่าง Snowpiercer (2013)

ประเทศเกาหลีใต้ได้โอกาสเฉลิมฉลองกับรางวัลนี้ในโอกาสที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีครบรอบ 100 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1919 ต้องยอมรับว่า อุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากภาครัฐและประชาชนเกาหลีมาโดยตลอด รัฐบาลเกาหลีใต้สนับสนุนทั้งแหล่งเงินทุน งบประมาณ หรือการสรรหาบริษัทยักษ์ใหญ่มาเป็นสปอนเซอร์ให้กับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ ผู้ผลิตภาพยนตร์และวงการศิลปิน นักร้อง นักดนตรี ไปจนถึงการแก้กฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการผลิตอุตสาหกรรมบันเทิง จึงไม่น่าแปลกใจที่ความสำเร็จของ Parasite คือดอกผลที่งดงามหลังหว่านเมล็ดมานานปีและไม่เคยหยุดรดน้ำพรวนดิน

อย่างไรก็ตาม ก็มีเรื่องชวนหัวเราะในความไร้เดียงสาสำหรับ Donald Trump ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาได้แสดงความคิดเห็นล้อเลียน Parasite ว่า การประกาศรางวัลออสการ์ในปีนี้นั้นแย่มากเพราะผู้ชนะรางวัลออสการ์ดันเป็นภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ “มันเกิดบ้าอะไรขึ้น? เราปวดหัวกับปัญหาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเกาหลีใต้มากพอแล้ว แต่หนังของเกาหลีใต้ดันได้รางวัลที่ดีที่สุดเนี่ยนะ” นั่นคือถ้อยคำของผู้นำประเทศที่เก่งในการดูถูกคนอื่นมาเสมอ นอกจากนั้น Trump ยังบอกว่า หนังดีสำหรับเขานั้นต้องเป็นอย่าง Gone with the Wind (1939) หรือ Sunset Boulevard (1950) เท่านั้น

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส