piezoelectric-organ-powerplant

ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือเสี่ยงต่อหัวใจวาย แพทย์จะทำการเยียวยาด้วยการผ่าตัดติด pacemaker หรือ เครื่องควบคุมการเต้นของหัวใจ ไว้ในทรวงอก เพื่อตรวจจับและกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นได้ตามปกติเมื่อโรคกำเริบขึ้นนะครับ

แน่นอนว่า pacemaker ก็เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิก ต้องใช้แบตเตอรี่ครับ คือต้องผ่าตัดเปลี่ยนแบตก้อนใหม่ทุกๆ 4-6 ปี ถึงแม้จะมี pacemaker แบบที่ตัวควบคุมและแบตเตอรี่ติดอยู่นอกร่างกาย เปลี่ยนแบตได้ง่าย แต่ก็ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวไม่สะดวก ต้องคอยระวัง และอาจเกิดอันตรายได้ครับ

ล่าสุดปัญหานี้กำลังจะหมดไป เมื่อนักวิจัยร่วมจากหลายสถาบันในสหรัฐอเมริกาและจีน คิดค้นวิธีชาร์จไฟเครื่องนี้ได้ด้วยร่างกายของเราเองสำเร็จแล้ว ตัวเครื่อง pacemaker จะเป็นชิพขนาดเล็กติดอยู่กับหัวใจของผู้ป่วย ส่วนตัวชาร์จไฟเป็นลักษณะคล้ายสายแพร์ หรือ สายที่เชื่อมไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปสู่ชิ้นส่วนต่างๆในอุปกรณ์อิเล็คทรอนิก แต่จะเล็กและบางกว่านั้นมากครับ เรียกว่า นาโนริบบิ้น ทำจากสารชื่อ หลีด เซอร์โคเนต ไททาเนต (Lead Zirconate Titanate) หรือ สารประกอบสังเคราะห์เฉพาะของ ตะกั่ว, ธาตุเซอร์โคเนียม และ แร่ไทเทเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติสร้างไฟฟ้าได้ในตัว และหุ้มด้วยพลาสติกชีวภาพชนิดพิเศษที่มีความยืดหยุ่นสูง รองรับระบบในร่างกายได้ดี

เมื่อติดกับอวัยวะที่เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา อย่าง หัวใจ, ปอด หรือ กะบังลม สายนี้จะสามารถผลิตไฟฟ้า และชาร์จไฟไปยังแบตเตอรี่ในเครื่อง pacemaker ได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่อีกเลย (แต่ก็ต้องคอยมาตรวจกับคุณหมออยู่เรื่อยๆ นะ)

ทีมวิจัยกำลังทดลองจริงเพื่อดูผลการใช้งานในระยะยาวอยู่ แต่ทีมนานาชาติใหญ่ขนาดนี้ รับรองว่าอีกไม่นานเกินรอ ผู้ป่วยโรคหัวใจทั่วโลกก็จะได้ใช้กันแล้วคร้าบ

ที่มา: Engadget