เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2021 ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีประกาศที่ กธ. 18/2564 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล (ฉบับที่ 11) กล่าวถึงการห้ามศูนย์ซื้อขายให้บริการ “Utility Token พร้อมใช้” หรือคริปโทเคอร์เรนซี ที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้มาซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย สร้างความวุ่นวายและสับสนแก่คนในโลกดิจิทัลเป็นอย่างมาก #หนุ่ยทอล์ก จึงได้ชวนคุณวรัชญา ศรีมาจันทร์ รองเลขาธิการก.ล.ต. มาช่วยไขข้อสงสัย ร่วมกับคุณโดม เจริญยศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โดมคลาวด์ จำกัด (DomeCloud)

เนื้อหาในประกาศที่ กธ. 18/2564 อธิบายถึงการห้ามศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนำเหรียญที่มีลักษณะต่อไปนี้มาซื้อขาย (listed)

(1) Meme Token – ไม่มีวัตถุประสงค์หรือสาระชัดเจนหรือไม่มีสิ่งใดรองรับโดยมีราคาขึ้นอยู่กับกระแสในโลกโซเชียล
ก.ล.ต. มองว่าเหรียญ Meme Token เป็นเพียงส่วนน้อยในสินทรัพย์ดิจิทัล และทำขึ้นเพื่อความสนุกของผู้สร้าง ไม่ได้มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ฉะนั้นจึงไม่ควรนำเหรียญประเภทนี้มาซื้อขาย ทว่าก็มีคำถามจากทางฝั่งคุณโดมเรื่องการนิยามคำว่า Meme Token ยกตัวอย่างเช่น เหรียญ Dogecoin ที่มี blockchain เป็นของตัวเอง สามารถขุดได้ หรือเหรียญ Shiba coin ที่ไม่มี chain ของตัวเอง แล้วจะนิยามคำว่า Meme Token อย่างไร ซึ่งก็คงจะต้องไปปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดต่อไป

(2)  Fan Token – เกิดจากกระแสความชื่นชอบส่วนบุคคล
แม้ Fan Token จะมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเหล่าเด็ก ๆ ที่เข้ามาชมวิดีโอของเหล่ายูทูบเบอร์ อาทิ เก๋ไก๋สไลเดอร์ (Kaykai Salaider) หรือบี้ เดอะสกา (Bie The Ska) ไปจนถึง VRZO แต่ทางก.ล.ต. มองว่าเหรียญประเภท Fan Token มีผลต่อความรู้สึกของผู้ซื้อมากเกินไป เช่น เมื่อยูทูบเบอร์ทำอะไรก็มีผลไปถึงราคาของเหรียญนั้น ๆ จึงไม่เหมาะที่จะนำมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่หากผู้ซื้อจะนำเหรียญ Fan Token ไปทำอะไรอย่างอื่นที่อยู่นอกเหนือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลย่อมสามารถทำได้

(3)  Non-Fungible Token : NFT – โทเคนดิจิทัลที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่เฉพาะเจาะจง โดยไม่สามารถใช้โทเคนดิจิทัลประเภทและชนิดเดียวกัน และจำนวนเท่ากันแทนกันได้
ก.ล.ต. มองว่าเหรียญ NFT นั้นมีระบบการซื้อขายอยู่แล้วกันมาระหว่างผู้ใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งรูปแบบการซื้อขายนั้นไม่เหมาะกับลักษณะการซื้อขายของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่รับรองโดยก.ล.ต. ทั้งนี้ทางก.ล.ต. เองจะพยายามสนับสนุนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ NFT ในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

(4)  โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายเองหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายเพื่อวัตถุประสงค์ ในการใช้ประโยชน์สำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้นบนบล็อกเชน (blockchain) 
โทเคนที่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลออกด้วยตัวเองไม่สามารถนำมาซื้อขายได้ เนื่องจากหากศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีกิจกรรมใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบถึงราคาของเหรียญนั้น ๆ จึงไม่ควรมีใครที่สามารถควบคุมราคาของเหรียญและเอาเปรียบคนอื่นด้วยนั่นเอง

อย่างไรก็ตามหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์คือการทำยังไงก็ได้ให้ราคาของเหรียญมีความเป็นธรรม ผู้ลงทุนได้รับการคุ้มครอง และทำให้ช่องทางสินทรัพย์ดิจิทัลไม่กลายเป็นช่องทางทำธุรกิจผิดกฎหมาย จึงเกิดความพยายามกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลขึ้นมา และขอย้ำอีกครั้งว่าประกาศนี้ไม่มีผลย้อนหลัง ไม่สามารถลบเหรียญเดิมที่มีอยู่ได้ รวมถึงก.ล.ต. ไม่ได้มีเจตนาที่จะกีดกันผู้ซื้อขายแต่อย่างไร แต่ประกาศนี้มีผลให้ทุก ๆ Exchange ต้องไปแก้ไข Listing Rule ของตัวเองเพื่อไม่ให้นำเหรียญที่กล่าวมาเข้ามาซื้อขายกันต่อไปนั่นเอง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส