ในปี 2021 นี้เป็นบริษัท Show No Limit หรือ โชว์ไร้ขีด จำกัด ต้นสังกัดของแบไต๋มีอายุครบ 21 ปีแล้ว เราจึงขอใช้โอกาสนี้สรุปไทม์ไลน์สั้นๆ ว่า 21 ปีที่ผ่านมาของบริษัทนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้างครับ

ปี 2000 แรกก่อตั้ง

พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ก่อตั้งบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เพื่อนำเสนอความรู้ด้านไอทีต่อสาธารณะ จากพื้นฐานการเป็นพิธีกรไอทีทางโทรทัศน์ (IE Show.com) ได้ตระเวนรับงานจากแบรนด์คอมพิวเตอร์เพื่อออกบูธเล็ก ๆ ในงานใหญ่ยุคแรกของวงการ อย่าง PC Expo, eExpo, IT Trade, WebFever จนได้จัดกิจกรรมเวทีใหญ่งาน Commart Thailand ซึ่งทำตลาดตื่นตัวและสร้างชื่อเสียงให้บริษัทในช่วงแรกได้อย่างมาก

ปี 2002 ลุยจัดงานอีเวนต์ไอที

Show No Limit พัฒนาซอฟต์แวร์เกมเอง เพื่อใช้สำหรับงานอีเวนต์ต่าง ๆ อาทิ ‘กดครับ’ ‘BINGO No Limit’ ‘Who Is It ?’ อีกทั้งยังนำเสนอการเปิดงานต่าง ๆ ด้วยกราฟิกแอนิเมชันบนจอ ยกเลิกการตัดริบบิ้นเปิดงาน สร้างความแตกต่างและแปลกใหม่ให้กับงานอีเวนต์ไทยในยุคนั้นอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญกว่านั้นทีม Show No Limit ไปงานไหนก็สามารถสร้างคลื่นมหาชนมาออกันหน้าเวทีนำเสนอได้เสมอ ไม่ว่าจะในห้างสรรพสินค้า หรือฮอลล์จัดแสดงงาน

เกม BINGO ที่บริษัทสร้างสรรค์ เคยถูกนำไปเล่นพร้อมกันสด ๆ กับผู้ชม 20,000 คนใน Shin Fun Fair ณ Impact Exhibition Hall เมืองทองที่ใครไปในวันนั้นก็ย่อมจดจำบรรยากาศตื่นตาตื่นใจนี้ได้ นับเป็นภาพความสำเร็จแก่ยุคทองอีเวนต์เมืองไทย

ปี 2003 กำเนิดรายการ “IT Genius”

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ผลิตรายการ ‘IT Genius’ โดยเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ให้การสนับสนุนแต่เพียงผู้เดียว ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี นับเป็นรายการเกมโชว์แนว Edutainment ด้านไอทีรายการแรกในประเทศไทย โดยเชิญนักเรียนจากทั่วประเทศในระดับมัธยมศึกษามาแข่งขันกัน นับเป็นเกมการแข่งที่สร้างสีสันได้มากในยุคนั้น มีตั้งแต่แข่งกันรัวคลิกเมาส์ “ไขว้แล้วคลิก” ให้เร็วที่สุดเพื่อได้สิทธิ์ตอบคำถาม, แข่งเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตยุคแรก

รายการดำเนินการเฟ้นหา ‘อัจฉริยะไอที’ ได้ทุกสัปดาห์ตลอด 3 ปี และรับทุนการศึกษาจากเครือซิเมนต์ไทยเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ อีกทั้งยังได้ดิจิทัลดีไวซ์ในยุคแรกอย่าง PDA, Notebook, Windows Tablet Edition และกล้องดิจิทัล เป็นที่ตื่นตาของนักเรียนมัธยมศึกษา ณ เวลานั้นเป็นอย่างมาก มี ‘อัจฉริยะไอที’ หลายคนในวันนั้นได้เติบโตขึ้นมาประสบความสำเร็จในวงการไอทีจริง ๆ เช่น ปรมินทร์ อินโสม โปรแกรมเมอร์ผู้ก่อตั้ง Satang Corporation ศูนย์แลกเปลี่ยนเหรียญ Cryptocurrency

ปี 2004 ผู้จัดงาน World Cyber Games

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด รับจัดงาน World Cyber Games (WCG2004) รอบ Thailand Preliminary จาก Samsung ออกตระเวนแข่งครบ 4 ภาคเพื่อส่งตัวแทนนักกีฬา eSport ไทยไปซานฟรานซิสโก แข่งขันเกม WarCraft, Need For Speed และ Counter Strike ผู้เล่นเด่น ๆ ณ เวลานั้น มี ‘วีรสิษฐ์ กิติวรรณกุล’ ‘ชนินทร์ ติงรัตนสุวรรณ’ และทีม NearlyGod ซึ่งปัจจุบันหลายคนเติบโตได้ดีในสายงานเกมและแพลตฟอร์ม eCommerce

ยุคนั้นเป็นครั้งแรกที่ “ผู้เข้าแข่งขัน” ถูกรับรองให้เป็น “นักกีฬาทีมชาติ” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีในเวลานั้นคือนายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ได้มาเปิดงานพร้อมให้การยอมรับ นับเป็นประวัติศาสตร์ครั้งเริ่มต้นของวงการอีสปอร์ตที่เห็นอย่างเด่นชัดในบ้านเรา

ปี 2005 คลอดเกม “ต้มยำกุ้ง”

เปิดตัวเกมคอมพิวเตอร์ ’ต้มยำกุ้ง’ Tony Jaa : Tom-Yum-Goong The Game ที่พัฒนาขึ้นโดยบริษัทลูก (โอ้~อายุยังน้อยมีลูกซะแล้ว) Game No Limit Co., Ltd. โดยมี ‘จา พนม’ เป็นตัวละครหลักในเกม ถือเป็นการบุกเบิกการทำเกมจากภาพยนตร์ไทย จัดจำหน่ายออกไปใน 6 ประเทศทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ …การเปิดตัวเกิดขึ้นในมหกรรมงาน Thailand Animation Multimedia (TAM) โดยหนุ่ย พงศ์สุข ในฐานะ Producer เกมนี้ได้พาพระเอกตัวจริงของเกมที่โด่งดังอย่างมาก ๆ ในปีนั้น มาร่ายแม่ไม้มวยไทยสไตล์ Martial Arts ตรงกับการกดปุ่ม Combo ในเกม สร้างความตื่นตัวต่อตลาดซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์เป็นอย่างมาก

ปี 2006 กำเนิด “แบไต๋ไฮเทค”

กำเนิดรายการโทรทัศน์ ‘แบไต๋ไฮเทค’ ทางสถานีดาวเทียม ‘เนชั่นชาแนล’

จากบทสนทนาคุยปรับทุกข์บนโต๊ะอาหารในงานสัมมนาของ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ โรงแรมดุสิตธานีที่ หนุ่ย พงศ์สุข ถูกเชิญไปพูดเรื่องไอทีบนเวที

ขณะนั้นบริษัทไม่ได้จัดรายการทีวีมาครึ่งปีแล้ว เนื่องจาก IT Genius หลุดผังแบบฟ้าผ่าที่ช่อง 9 ไร้วี่แววไปต่อได้

‘อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ’ ผู้อำนวยการสถานีเนชั่น ซึ่งขณะแรกพบยังไม่เปิดเผยตัวตน ได้นั่งฟังเรื่องเศร้าเคล้าความเหนื่อยยากจากปากหนุ่ยที่คุยเครียดกับแขกเหรื่อบนโต๊ะอาหารนั้น

ตอนนั้นเราเร่ขอเวลาจากสถานีโทรทัศน์ต่าง ๆ เพื่อหวังจะทำ “ความรู้ไอที” ทางหน้าจอเหมือนเดิม แต่ยังไร้คำตอบ

อดิศักดิ์จึงตอบด้วยเสียงอันดังว่า “คุณหลงทางแล้ว! ไปขอเวลาทีวีที่ผังรายการเป็นเงินเป็นทอง คุณไม่ได้เวลาเยอะหรอก … มา Nation Channel นี่เซ่! ผมให้ทำเลย 2 ชั่วโมง!! 555”

เมื่อได้เวลามามาก (22.00-เที่ยงคืนวันอาทิตย์) ก็ย่อมต้องเริ่มเร็ว (เดี๋ยวเขาเปลี่ยนใจ) … หนุ่ยรีบจับจองเวลาทันทีและขนพลพรรคที่หาได้ภายในสัปดาห์มาทำรายการใหม่นี้

ชื่อ ‘แบไต๋ไฮเทค’ มาจากคำที่ ‘ปู นวลผ่อง ณ ถลาง’ เปรยไว้ระหว่างที่เป็นพนักงานบริษัทในช่วงเวลานึง เธอว่าถ้าวันหนึ่งได้เวลาทำรายการ อยากให้ใช้ชื่อนี้นะ

โปรเจกต์เกิดจากการจับพลัดจับผลู แต่ก็น่าท้าทาย

หนุ่ยชวนอดีตโปรดิวเซอร์เบื้องหลังรายการ IE Show .com (ซึ่งขณะนั้นเลิกไปแล้ว) มาทำงานเบื้องหน้า ปั้นเป็น “จิ๊กโก๋ไอทีพี่หลาม” และนำนักดูแลระบบ Network Admin ของบริษัทมาเป็น ‘อาจารย์ศุภเดช’ …ชวนคุณลูกค้าจากบริษัทโมโตโรล่า มาเป็น “ปีเตอร์กวงควงมือถือ” อีกทั้งยังร่วมด้วย ‘ซี ฉัตรปวีณ์’ ก่อนเธอจะกลายเป็น “เจ้าหญิงไอที” ได้ด้วยตัวของเธอเองจวบจนปัจจุบัน

เราจัดรายการนี้ต่อเนื่องยาวนานหลายปี จนผังรายการสิ้นสลายกลายเป็น “สื่อออนไลน์ 100%” อย่าง beartai ในรูปโฉมที่ทุกท่านได้เห็น ณ ขณะนี้

ปี 2007 กำเนิดงาน Thailand Game Show

กำเนิดงานมหกรรมเกมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ‘Thailand Game Show’ (TGS) มหกรรมเด็กเล่นเกม ครั้งแรก ระหว่างวันที่ 12-14 มกราคม ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานปีแรกมีกิจกรรมมากมายที่คนรักเกมพลาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวเกมใหม่ ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดจนการแต่งคอสเพลย์ โดยมีคนดังอย่าง ปรัชญา ปิ่นแก้ว, โจอี้บอย และติ๊ก ชิโร่ มาร่วมโชว์ รวมทั้งน้าติง มาพากย์เกมมวยปล้ำแบบสด ๆ

งาน Thailand Game Show ยังคงจัดต่อเนื่องทุกปีจวบถึงปัจจุบัน หากแต่ในปีล่าสุดได้เปลี่ยนรูปแบบเป็นการจัดงานแบบออนไลน์เนื่องมาจากวิกฤติโควิด-19

ปี 2008 ทริปตะลุยกับหนุ่ย พงศ์สุขครั้งสุดท้าย

จัด ‘ทริปตะลุยกับหนุ่ย พงศ์สุข’ เป็นครั้งสุดท้าย พาแฟนรายการตะลุยโกลด์โคสต์ ประเทศออสเตรเลีย

ต้องเล่าก่อนว่านับตั้งแต่ปี 2006 และ 2007 ด้วยความที่เราทำงานหนักมาซักพัก เราก็ย่อมอยากเที่ยว เราใช้ช่องทางสื่อสารกับแฟนรายการที่มีอยู่ “ขายทัวร์” พาพวกเขาลัดฟ้าไปเที่ยวญี่ปุ่นแบบบ้าคลั่ง ตะลุยงาน Tokyo Game Show ขึ้น JR สาย Yamanote ตะลุยทุกย่านตามหนังสือการ์ตูน เที่ยว 3 สวนสนุกในทริปเดียวกัน จนลูกค้าที่มาร่วมทัวร์ออกปากถามทุกทริปว่า “คุณหนุ่ยขาดทุนหรือเปล่า ?”

ทริปตะลุยได้เพื่อนร่วมทริปสายโอตาคุมากมาย ยุคนั้นคืออ่านการ์ตูนมานานแล้วก็อยากทำตามฝัน อยากไปเดินย่ำในย่านที่รู้จักมาจากเกมและการ์ตูน แฟนรายการ ‘แบไต๋ไฮเทค’ และ ‘IT Genius’ ยุคนั้นนี่บอกเลยว่า “ฟิน” และตั้งความหวังเก็บเงินเก็บทองเพื่อจะร่วมทริป ในยุคที่การท่องเที่ยวเองยังยาก ยุคที่ Google Maps เพิ่งเริ่มและยังไม่เก่งเวอร์เท่าทุกวันนี้

เราตั้งธงพาแฟน ๆ รายการเที่ยวทุกปี แต่ทำได้ 3 ปี ก็เดินทางมาถึง ‘ทริปตะลุยสุดท้าย’ ในปี 2008 ที่มีแขกร่วมทริปจริง ๆ เพียงหนึ่งเดียว คือ “น้องจิงจิง” สิริสรา เจียมวงศ์แพทย์ บุตรสาวคนเดียวของครอบครัวนักวิชาการ ที่คุณพ่อคุณแม่กล้าพามาฝากพวกเราไปเที่ยวออสเตรเลียด้วย จากการที่เธอดูรายการเรามานานเลยไว้ใจมาก และทริปนั้นก็เป็นทริปที่เราดูแลจิงจิงได้อย่างดีจริง ๆ

ปี 2009 คอนเสิร์ตราชาเพลงการ์ตูนญี่ปุ่น

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด จัดคอนเสิร์ต ‘แบไต๋ไฮเทค พรีเซนต์ Hironobu Kageyama LIVE in Thailand Game Show 2009’ การแสดงสดครั้งแรกของราชาเพลงการ์ตูน ฮิโรโนบุ คาเงยามะ เจ้าของเสียงเพลง “Cha-La-Head-Cha-La” เพลงแรกที่ใช้เปิดอนิเมะชุด Dragon Ball Z ที่สำคัญคือคอนเสิร์ตครั้งนี้จัดให้ชมกันแบบฟรี ๆ โดยจัดขึ้นในงานมหกรรมเด็กเล่นเกมครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 9-11 มกราคม 2009 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

หลังจากนั้นฮิโรโนบุก็แวะเวียนมาสู่ไทยแลนด์เกมโชว์อีกหลายครั้ง จัดคอนเสิร์ต ‘Anime No Limit’ และอื่น ๆ อีกรวม 4 ครั้ง ครั้งสุดท้ายคือการนำวง JAM Project ครบทุกสมาชิกมาเปิดแสดงที่ไทยกับเพลง “Skill” ในงาน Thailand Game Show 2011 เพื่อตอบสนองแฟน ๆ กลุ่มผู้ชมกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในแวดวงคอนเสิร์ตบ้านเรา

ปี 2010 UniTV เกือบได้คลอด

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด มีความพยายามในการออกผลิตภัณฑ์ของตัวเองชื่อ ‘UniTV’ (ยูนิทีวี) เป็น Streaming Box ที่หวังจะเปลี่ยน ‘ทีวีเก่า’ ทั่วประเทศที่มีพอร์ต HDMI และ AV ให้เป็น Smart TV ด้วยระบบปฏิบัติการ Android Honeycomb ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มี Android TV ส่วน Apple TV ก็เพิ่งออกรุ่นที่ 2 หมาด ๆ

โดยหนุ่ย พงศ์สุข กรรมการผู้จัดการในเวลานั้น มองว่าหากเราสร้าง Ecosystem ของคอนเทนต์ไทยให้ใหญ่และทำได้ทันเวลา จะทำให้เราไม่เสียเปรียบแพลตฟอร์มต่างชาติมากนัก ความพยายามนี้ถูกดันไปถึงขั้นจัดประชุมใหญ่ถึง 2 รอบกับผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ทั่วฟ้าเมืองไทย ทุกคนมาเพื่ออยากฟังคอนเซ็ปต์ และหลังจากนั้นก็มักจะกล่าวว่า “เรามีแผนจะทำเองเหมือนกันอยู่พอดี”

การออกแบบ UX/UI และหน้าตากล่อง UniTV ได้รับสัญลักษณ์ Design Excellent (รางวัล DEMark Awards) มาเรียบร้อย และมีการขึ้นเวที Keynote นำเสนอผลงานอันหวือหวาบนเวทีงาน Thailand Game Show 2011 แต่ทว่าการจะออกกล่องโดย “ไม่มีคอนเทนต์ที่มากพอ” ก็เหมือนกับปัญหา “ไก่เกิดก่อนไข่” จึงทำให้บริษัทล้มเลิกแนวคิดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ Prototype หรือต้นแบบสำเร็จนานแล้ว และถูกนำไปโชว์ตามค่ายหนัง ค่ายเพลง ค่ายละครดัง ๆ จำนวนหนึ่ง ผู้บริหารค่ายหนังคนหนึ่งทึ่งกับแนวคิดนี้ แล้วกล่าวว่า “ต่อไปคุณต้องรวยมากแน่ ๆ ผมจะช่วยคุณ” แต่ปรากฎว่ายุคนั้น “ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์สำหรับ Home Video ในไทย” ส่วนใหญ่ ไม่ใช่ลิขสิทธิ์สำหรับอินเทอร์เน็ต แนวความคิดนี้จึงต้องพับเก็บไปในที่สุด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย: UniTV เป็นโปรเจกต์ที่ได้ชื่อจาก “ลูกสาวคนแรก”​ ของหนุ่ย พงศ์สุข ที่ถูกตั้งชื่อในวันแรกคลอดว่า “อยู่นี่” เธอเกิดในปี 2010 เช่นกัน และหนุ่ยก็คิดเข้าข้างตนเองว่าโปรเจกต์นี้น่าจะดีมาก สุดท้ายแม้ UniTV ไม่เกิด แต่ Uni กลายเป็นชื่อภาษาอังกฤษที่เพื่อนที่โรงเรียนเรียก ด.ญ.พีรดา หิรัญพฤกษ์ในวันนี้… ที่สำคัญเธอไม่ชอบดูทีวีเอาเสียเลย เธอดูแต่ TikTok และ YouTube

ปี 2011 ยุค Beartai Hitech Daily 5 Live

เปิดตัวรายการสด “Beartai Hitech Daily 5 LIVE” (แบไต๋ไฮเทค เดลี่ ไฟว์ไลฟ์) เริ่มออกอากาศวันแรก 3 มิถุนายน 2011 เป็นรายการไอทีที่สุดแสนบ้าพลังจัดสดจาก Digital Gateway ใจกลางสยามสแควร์ ไปยัง 5 สถานีทีวีดาวเทียม ออกอากาศ 5 วันต่อสัปดาห์ เวลา 19.00 น. ผู้ชมทางบ้านสามารถเลือกชมรายการได้จากทุกจานสีของดาวเทียม มีช่อง dude TV, Voice TV, Nation Channel, C Channel และ Gang Cartoon พร้อมเปิดให้ชาวไอทีมาชมการจัดรายการแบบสด ๆ ระดับคลุกวงในที่ “แบไต๋ดิจิตอลไลฟ์สตูดิโอ” ซึ่งพื้นที่แห่งนี้ในเวลากลางวัน ยังถูกหมุนเวียนให้มีการเปิดตัวสินค้า แถลงข่าว เวทีเสวนา จัดกิจกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

หลังจากที่ผู้ผลิตรายการ ‘แบไต๋ไฮเทค’ ออกอากาศทางช่องเนชั่นแชนแนลเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานกว่า 4 ปี หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ได้ตัดสินใจปรับรูปแบบใหม่และขยายรายการเพื่อขึ้นปีที่ 5 เป็น 5 วัน นำโดย หนุ่ย พงศ์สุข, จิ๊กโก๋ไอที พี่หลาม, อาจารย์ศุภเดช และปีเตอร์กวงควงมือถือ เสริมทัพด้วย 5 พิธีกรสาว 5 สไตล์อย่าง เอมี่ กลิ่นประทุม, ลิซ่า แซดเลอร์, มะเหมี่ยว – ชนิดา ประสมสุข, ม็อก – ณัฐนันทร์ จันทรเวช จากวง G-Twenty และสาวญี่ปุ่นฮิโรโกะ ยามากิชิ

รายการ ‘แบไต๋ไฮเทค เดลี่ ไฟว์ไลฟ์’ มีช่วงที่น่าสนใจเกี่ยวกับวงการไอทีหลายช่วง ไม่ว่าจะเป็น แบไต๋ Battle ที่นำเสนอสินค้าเทคโนโลยี, คนไทยใน YouTube ที่นำเสนอคลิปวิดีโอบนยูทูบที่โพสต์โดยคนไทย, ข่าวสั้นทันโลกไอทีและยำใหญ่ IT News, ปีเตอร์กวงควงมือถือ, หนุ่ยแนะนำทำทุกดีล และสุโค่ยแกดเจ็ต เป็นต้น

รายการจัดสดอยู่ได้ 3 ปีเต็ม แต่ก็ต้องม้วนฉากบอกลาพื้นที่ เนื่องจากตลอด 3 ปีนั้น พื้นสยามสแควร์ถูกรบเร้าด้วยม็อบหลากสีสัน แถมค่าเช่าไม่ลด และอีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านสู่ “ดิจิทัลทีวี” ที่ทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินอย่างมาก จน บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เกือบสิ้นสภาพ

ปี 2012 เปิดตัวดิจิทัลแม็กกาซีน Beartai Hitext

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ร่วมกับ Siri Media ทำ “ดิจิทัลแม็กกาซีน” ในชื่อ “Beartai Hitext” มา 1 ปีจนถึงจุดสิ้นสุด ที่ไม่สามารถผลักดันไปได้ต่อ ทั้ง ๆ ที่นิตยสารออนไลน์ที่มีระบบอินเทอร์แอ็กทีฟนี้สามารถขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งได้ตั้งแต่วันแรกเปิดตัว และให้ดาวน์โหลดผ่านแอปพลิเคชัน Newsstand บน iOS และ Samsung Appstore ฟรี

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการในเวลานั้น ได้สร้างสรรค์ Beartai Hitext Digital Magazine เพื่อหวังว่าจะปรับธุรกิจให้เข้ากับการเติบโตของเทคโนโลยี โดยเฉพาะกับแกดเจ็ตอย่าง iPad ที่ได้รับความนิยมมากในเวลานั้น โดยเริ่มต้นเปิดให้คนดาวน์โหลดมาอ่านแบบฟรี ๆ สำหรับ 4 ฉบับแรกตั้งแต่เมื่อปลายปี 2011 ซึ่งมียอดดาวน์โหลดสูงถึง 1.5 ล้านครั้งในฉบับที่ 3 และเริ่มต้นเก็บค่าบริการตั้งแต่ฉบับที่ 5 เป็นต้นไป ซึ่งนั้นคือจุดที่เริ่มเสื่อมถอยความนิยมลง

ทั้งนี้ Beartai Hitext ไม่ได้เป็นแค่นิตยสารไฟล์​ PDF แต่ใช้แพลตฟอร์มทางเลือกใหม่ “WoodWing” ที่ทำให้ผู้อ่านมีการโต้ตอบกับสิ่งที่กำลังอ่านอย่างสมบูรณ์แบบหมดจดทั้งเล่ม ทุกเนื้อหา ทุกคอลัมน์ ผู้ใช้งานสามารถแตะหน้าจอเพื่อแสดงลูกเล่นที่ซ่อนอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้พัฒนาโดยฝีมือคนไทยร้อยเปอร์เซ็นต์อย่าง Siri Media และ Show No Limit Co.,Ltd.

ความทรงจำที่ดีนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่าการ Digital Transform หาใช่การทำสิ่งเดิมให้ดีขึ้น แต่ต้อง “สร้างสิ่งใหม่มาทดแทน” จะตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างทุกวันนี้ได้ดีกว่า

ปี 2013 เริ่มรายการ “แบไต๋ไอที”

กลับมามีรายการทาง ‘ช่อง 9 อสมท’ อีกครั้งกับ ‘แบไต๋ไอที’ เริ่มต้นออกอากาศทุกคืนวันศุกร์ เวลา 00:00 – 00:30 น. ในปี 2556 ก่อนจะปรับเวลาเป็นทุกคืนวันอังคาร เวลา 23:30 – 00:00 น. ในปี 2013

รายการนี้เกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ หนุ่ย พงศ์สุข อยากปั้น ‘เฟื่องลดา สรานี’  เป็น “นางฟ้าไอที” คนใหม่ของวงการ จึงลองติดต่อ ‘ฟรีทีวี’  อีกครั้งเพื่อขอเวลาออกอากาศเพื่อให้ได้การจดจำ

โดยนอกจากมีหนุ่ยและเฟื่องลดาเป็นผู้ดำเนินรายการหลักแล้ว ยังมี ‘ครูทอม คำไทย’ หรือ จักรกฤต โยมพยอม สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สุนทรภู่มาช่วย อีกทั้งยังเสริมด้วย 4 พิธีกรหลักจากรายการ ‘แบไต๋ ไฮเทค เดลี่ ไฟว์ ไลฟ์’

รายการนี้มีมาก่อนยุค “ดิจิทัลทีวี” ไม่นาน การได้กลับมา “ช่อง9” ก็เหมือนได้ “กลับบ้าน” แต่แท้จริงแล้วเป็นกลลวงสุดท้ายให้บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เสียสภาพคล่องทางการเงินก่อนดิจิทัลทีวีจะมาถึง …เราเสีย “ค่าเวลาออกอากาศ” เท่ากับอัตรา “ดาวน์รถกระบะ” ทุกตอนเพื่อให้ได้ออกอากาศ …สุดท้ายก็ไม่ใช่ความยั่งยืนและนำพาไปสู่จุดวิกฤติของบริษัทยิ่งกว่า ในการ “ตอบรับเวลาออกอากาศ” ทาง “ดิจิทัลทีวีใหม่” ถึง 12 รายการใน 6 สถานีทีวี

ซึ่งเรื่องราวอันล้มเหลวนี้จะเล่าในวันถัดไปเพราะมันเป็นเรื่องจารึกสำคัญในปึ 2014-2015 ของบริษัท

ปี 2014 เปิดตัว 12 รายการใหม่ที่ไปไม่รอด

เปิดตัว 12 รายการใหม่ใน 6 ช่องทีวีดิจิทัล และ “เจ๊งภายในปี”​ แบบไม่ต้องรอลุ้น 15 ปีตอนหมดสัญญาใบอนุญาต! ต้องยอมรับความ “เก็บกดมานาน” ของบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ที่ “ดำผุดดำว่าย” อยู่ในแวดวงโทรทัศน์ด้วยระบบกราบกราน “ขอเวลา” มานาน พอถึงยุคดิจิทัลทีวี ก็กลายเป็นเนื้อหอม เมื่อสถานีทีวีอยากได้คอนเทนต์ไอทีจากเรา แต่นั่นกลับกลายเป็น “กับดัก”​ คำหวาน

เหตุเพราะสายป่านที่ยาวไม่พอต่อการ “ถ่างรอความนิยม” ของช่องทีวีใหม่ ที่ “หนุ่ย พงศ์สุข” ยอมรับว่า “มองผิด”​ เพราะคิดว่าด้วย “กฎ Must Carry” ที่ กสทช. ออกคำสั่งให้ ทุกจาน ทุกแพลตฟอร์ม “ต้องมี”​ ดิจิทัลทีวีใหม่ของไทย… แต่กลับกลายเป็นว่าด้วยการผ่อนปรนและไม่ชัดเจนในช่วงแรกที่ให้ “เลขช่องไม่ตรงกัน” บางกล่อง +10 บางกล่องไม่บวก 10 ช่องที่จัดได้ตามใจ… กลายเป็นความสับสนระดับมหึมาของการเข้าถึงดิจิทัลทีวีใน 2-3 ปีแรก…  แต่เรา “เจ๊งภายในปี” ด้วยการทุ่มเทเงินผลิตรายการที่แม้ไม่ใช่ฟอร์มยักษ์มากมาย แต่ก็ทำให้ขาดสภาพคล่องครั้งใหญ่ เหตุเพราะธุรกิจทีวีก็เหมือนธุรกิจการบิน… เก้าอี้ที่ว่างคือเก้าอี้ที่ขาดทุน… รายการต้องออนแอร์ แต่พอไม่มีโฆษณาก็ต้องออนแอร์ แถมอัตราค่าโฆษณาที่แข่งขันกันลด ขาย 10% จากเรตการ์ด (ช่วงทีวีมีน้อยช่องลดอย่างมาก 10-20%)

แต่พอมาช่วงแรกที่เกิดการ “เทกระจาดนาทีโฆษณาแบบลดแลกแจกแถม” ทำให้บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด จำต้อง “ทยอยปิดรายการต่าง ๆ”​ ในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ก่อนสิ้นสภาพ ต้องยุติชีวิตการเช่า ทั้งเช่าผังรายการ เช่าสตูดิโอ เช่าออฟฟิศหรูหราใจกลางเมือง และกลับบ้านไปใช้ “บ้าน” ของกรรมการผู้จัดการเป็นพื้นที่ทำงาน โดยหนุ่ยกำเงิน 2 ล้านสุดท้ายที่กู้ได้จากธนาคารมาทุบบ้านปรับปรุงให้เป็นพื้นที่ถ่ายทำ “คอนเทนต์ออนไลน์” ซึ่งถือเป็นการทำ Digital Transformation ในปี 2015 ซึ่งเราจะเล่าให้คุณฟังในวันพรุ่งนี้

ปี 2015 ปีแห่งการปรับโครงสร้าง

ปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด และเริ่มทำ Digital Transformation ให้องค์กร

ในที่สุดสิ่งที่ ‘หนุ่ย พงศ์สุข’ สื่อสารกับผู้คนต่าง ๆ มานานว่า “ต้องเปลี่ยนแปลง – ต้องก้าวข้ามโลกแอนะล็อกสู่ดิจิทัล” ก็วกมาถึงตัวเองอย่างปฏิเสธไม่ได้…  

ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในระดับที่ธุรกิจถูก “Diversify”… เขาเคยพาบริษัทเดินหน้าไปในหลายดินแดนที่ใหญ่เกินตัว ไม่ว่าจะผลิตรายการในโทรทัศน์หลายช่องพร้อมกัน ทำดิจิทัลแมกาซีน ทำเกมคอมพิวเตอร์ ทำกล่องสตรีมมิง อีกทั้งยังจัดทอล์กโชว์ใหญ่ในปี 2014 ที่ชื่อ ‘หนุ่ยโชว์ โซเชียลมีเดี่ยว’​ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้น “ตอบโจทย์ความฝัน” แต่ล้วนแล้วไม่ก่อเกิดกำไร แถมยังสร้างความเสียหายคือตัวเลขติดลบในระบบบัญชีอย่างมาก จนเขาต้องยอมเฉือนเนื้อขายหุ้นมากถึง 60% ในส่วนสมาชิกครอบครัวไปให้คุณวิชัย ทองแตง ในมูลค่า Wichai’s Price ที่โลกธุรกิจรู้จักสไตล์นี้กันดี ซึ่งถึงแม้ได้ราคาไม่ดี แต่ก็ดีที่ได้ “สภาพคล่อง” กลับมาให้บริษัทหายใจหายคอบ้างและจ้างพนักงานต่อเนื่องได้… ทั้งนี้คุณวิชัยได้สอนหนุ่ยแบบคุณลุงใจดีสอนหลานชี้ให้มองเห็นเป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจคือ “มุ่งสู่ตลาดทุน”

จึงทำให้หนุ่ยเลิกทำงานเพื่อความฝันตนเอง แต่หันมาทำเพื่อสร้างคุณค่าให้องค์กรก่อเกิดความแข็งแรง โดยเรานำ “หนึ่งในความล้มเหลวที่ดีที่สุด” ของการผลิตรายการในดิจิทัลทีวี คือรายการ ‘TheRevieWER’ ทางไทยรัฐทีวี มาแปลงโฉมทำเป็นคอนเทนต์ “รีวิว” ต่อในโลกออนไลน์ที่จริงจังกับมันเต็ม 100% แบบไม่หันหลังกลับไปหาเวลาออกอากาศในโทรทัศน์อีก… บริษัทยุติการเช่าทุกรูปแบบจากทุกคน เลิกเช่าสตูดิโอ, ผังเวลา, หรือแม้แต่ออฟฟิศหรู… แล้วใช้การพึ่งพาตนเองจากบ้าน ‘หนุ่ย พงศ์สุข’​ เป็นพิธีกร (ที่ต่อมาเรียกใหม่ว่า “ทาเลนต์”) เพียงคนเดียวของบริษัท แล้วค่อย ๆ พัฒนาคอนเทนต์ออนไลน์จากการทดลองได้ในบ้านตนเอง กับทีมงาน Show No Limit ในจำนวนที่ร่อยหรอมากที่สุดในประวัติศาสตร์บริษัท ซึ่ง ‘โปรดิวเซอร์อิกคิว’ เป็นหนึ่งในคนไม่กี่คนในวันนั้น ที่ได้ลองผิดลองถูกด้วยจนได้ ‘คลิปล้านวิว’ คลิปแรกในปี 2017 อีก 2 ปีถัดมา

ปี 2016 beartai On LINE

บริษัทแก้ปัญหาการย้ายมาทำออนไลน์แล้วไม่ปังด้วย beartai On LINE (คือเราไปอยู่บนแอปไลน์ซะเลย!)

เมื่อวานนี้ได้เล่าถึงเรื่องราวก่อนหน้าในปี 2015 ที่เป็นปีแห่งการสิ้นสภาพ จนทำให้ “จนลง” และแก้ปัญหาด้วยการย้ายข้าวของในสตูดิโอกลางเมืองกลับมาบ้านเพื่อทำงานออนไลน์… แต่การย้ายมาทำคอนเทนต์ออนไลน์ 100% ก็ดูเหมือนไม่ง่ายนักสำหรับ beartai ในช่วงแรก เมื่อ “ทรงการผลิตรายการ” เรายังคงคิดและติดแแบบแผนความเป็นโลกโทรทัศน์อยู่มากเกิน ทั้ง “ยาวไป” และไม่กระชับ ผนวกการ “ร่ายลิเก” ก่อนเริ่มมี “ไตเติลรายการ” ขัดขวางการเข้าเรื่อง… เราอัปโหลดคลิปไว้ในออนไลน์ช่วงแรก ๆ ได้ผลเพียง 3-4K ต่อคลิปเท่านั้น ไม่ได้หวือหวา และไม่สามารถเตะตาผู้ซื้อสื่อโฆษณาได้

เราจึงคิดสูตรใหม่เพื่อเร่งอัตราการถูกมองเห็น ด้วยแนวคิด ‘The Power Of Notification’ หนุ่ย พงศ์สุขมองว่า ‘LINE’ คือเครื่องมือแจ้งเตือนที่ดีที่สุด จึงไปขอความร่วมมือ “เปิด Official Account” @beartai ในวันที่มีแต่แบรนด์สินค้าใหญ่ ๆ เลือกใช้กัน (มีค่าใช้จ่ายสูง) แต่ LINE Thailand ก็ให้ความร่วมมืออย่างดีมาก ๆ  เพราะยุคนั้นทีมงานไลน์หลายคนเติบโตมากับ beartai และหาทางช่วยพี่หนุ่ยให้ก้าวข้าม Digital Transformation นี้ให้สำเร็จ

เราออก “สติกเกอร์แจกฟรี” มากวาดผู้คนเข้า Official Account นี้ แล้วยิง “ไฟล์วิดีโอ” ไปให้ทุกคนเลย ด้วยรูปแบบสั้น ๆ ไม่เกิน 5 นาที (ตามที่แอปลิมิต) สอนใช้ไลน์บ้าง ให้ข่าวสารบ้าง สลับกันไปทุกวัน โดยนำเสนอใน “แนวตั้ง” ไม่ต้องพลิกมือถือ… แม้จะนับยอดวิวไม่ได้ แต่ ‘อริยะ พนมยงค์’ กรรมการผู้จัดการ LINE ในยุคนั้น ก็ออกปากชมว่าแนวคิดนี้ถูกต้อง

beartai มีการผลิตคอนเทนต์เฉพาะแก่แอป LINE ไป 206 อีพีโดยไม่อัปโหลดไว้ในแหล่งอื่น ๆ เลย แอ็กเคานต์ @beartai ได้รับการ ‘เพิ่มเพื่อน’ บน LINE ไปกว่า 6 ล้านคน (เพราะพลังการแจกสติกเกอร์) แม้ปัจจุบันเราได้หยุดทำคอนเทนต์แบบเฉพาะไปแล้ว แต่เรายังคงส่ง ‘ลิงก์’ คอนเทนต์เสิร์ฟเพื่อนบน LINE ของเราต่อไป แม้จะไม่ใช่ ‘วิดีโอไฟล์’​ ทั้งดุ้นเหมือนในอดีตก็ตาม ขอบคุณ LINE ที่ทำเราฟื้นได้… ขอบคุณเทอรี่,​ โอ๊ค, พี่ต้อม ณัฐธร ทีมงานไลน์ยุคนั้น พี่หนุ่ยยังจำบรรยากาศการไปขอความรู้ในร้านอาหารใต้ตึกเอ็มไพร์ที่ทุก  ๆ คนให้คำแนะนำได้อย่างดี

ปี 2017 ต้อนรับกรรมการผู้จัดการคนใหม่

ปีแห่ง “นารีขี่ม้าขาว”

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด ดำเนินงานมา 17 ปีและกำลังอยู่ในช่วงทำ Digital Transformation ให้ตัวเอง ก็ย่อมถึงเวลาเปลี่ยนผ่านตำแหน่งสำคัญ

หนุ่ย พงศ์สุข ผู้ล้มลุกคลุกคลานอย่างสะบักสะบอม ยอมแล้วที่จะไม่บริหารงานด้วยตนเองลำพังอีกต่อไป เขากำลังก้าวเข้าสู่วัย 40 ในวันนั้นซึ่งตอบตัวเองได้แล้วว่า “จะทำอะไร – และจะไม่ทำอะไร”​ … เขารู้จุดแข็งของตนเองในด้านทักษะเล่าเรื่องและการเป็นพิธีกรด้านไอที แต่คงไม่ถูกต้องนักที่เขาจะตีกลองสองกระเดื่องทำบริษัทในลักษณะนักดาบที่บุกตะลุยตีรันฟันแทง แต่ปล่อยหลังบ้านเละเทะอย่างที่เป็น เขารู้ตัวแล้วว่า “ต้องทำบริษัทให้เป็นบริษัท” คือมีการสร้าง Team Building ที่ดี มีสวัสดิการชัดเจน มีผลตอบแทนที่ทำให้ทุกคนอยากมาทำงานกับบริษัทนีี้

เขาเดินหน้ากลับไปหา “อดีต GM คนแรกของบริษัท” คือคุณบุญมา รุจนบุณย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหอกบุกทะลวงฟันสายพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่ True Corporation …หนุ่ย คุกเข่า ขอความช่วยเหลือเขาด้านการหา “กรรมการผู้จัดการคนใหม่”​ มาบริหารงานแทนเขา …พี่บุญมารับปากจะหาคนให้ และหายไปไม่นานนัก ก็กลับมาพร้อมกับ วีรสตรีกู้ชีพบริษัทที่ชื่อ “ศรีตรัง สารวัตร” สัมภาษณ์งานกันครั้งแรกหนุ่ยก็รู้ว่าแกพูดน้อยมาก แต่ก็อยากลองมีคนที่บุคลิกตรงกันข้ามกับตัวเองในบริษัท

ภาพประกอบเรื่องราวนี้คือ “ภาพการทำงานวันแรก” ของ MD ใหม่ Show No Limit ที่มาไล่เรียงที่มาที่ไปขององค์กร จัดรายละเอียดกับทรัพยากรบุคคล (ซึ่งร่อยหรอเหลือเพียงจำนวนน้อยนิดดังที่เห็น) งานที่สำคัญที่สุดที่คุณศรีตรังบอกคือ “เราต้องตีมูลค่าที่ถูกต้องของผลงานของเรา”

กระบวนการนี้ได้สร้างทีมงานขายที่ทรงประสิทธิภาพในทุกวันนี้ และทำให้ทีมงานทุกคน “รู้คุณค่าของตนเอง” … มีการจ่ายผลตอบแทนที่แฟร์ต่อคนทำงาน คือ “งานเพิ่ม = เงินเพิ่ม” รายได้ไม่หยุดนิ่งแค่เงินเดือน… แต่มีการแบ่งรายได้ส่วนงานที่ขายสปอนเซอร์​ “ทุกชิ้น” ที่เพิ่มมาใหม่ให้ “ทุกคน” ในองค์กร (ยกเว้นตัวคุณศรีตรังเอง และฝ่ายบริหาร) พนักงานมีขวัญและกำลังใจมากขึ้น ตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ที่ได้ทำทุกวันเพราะเขารู้แล้วว่า “บริษัทแฟร์” กับเขาและครอบครัว

บริษัทค่อย ๆ พลิกฟื้นจากขาดทุน เป็น กำไร และมีกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี เพราะ “นารีขี่ม้าขาวคนนี้” ศรีตรัง สารวัตร ผู้รับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการคนใหม่ในปี 2017

ส่วนหนุ่ย พงศ์สุข ดำรงตำแหน่งเท่ ๆ บนนามบัตรว่า CEO แต่ก็มีหน้าที่เดิมคือถ่ายทำคอนเทนต์ตามที่ถนัดและที่บริษัทขายความสามารถนี้ต่อลูกค้าที่หลากหลายขึ้นมากในปัจจุบัน ส่วนดีที่พงศ์สุข รู้สึกสอดคล้องไปด้วยกับการ “จ่ายเพิ่ม”​ คือ “การให้มีความสุขยิ่งกว่าการรับ” จึงอนุมัติให้ในทุกข้อเสนอและมอบสวัสดิการในระดับ “ปรนเปรอ” พนักงาน เรามีความสุขกันมาก ไม่ขอลงรายละเอียดมาก เดี๋ยวเมลบ็อกซ์รับสมัครงานจะเต็ม

ภาพที่ลงให้เห็นในนี้คือ จำนวนพนักงานบริษัทในปัจจุบัน ล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2021 เรามีประชากร 58 คนประจำ (ยังคงทำงานได้ในรูปแบบ WFH และ Hybrid) ส่วนออนไลน์ 100% ที่อาศัยอยู่ทั่วประเทศอีก 50 คนในปัจจุบัน เราจึงสามารถนำเสนอคอนเทนต์สดใหม่ได้โดนใจผู้ชมในสื่อทั้งเครือได้

ปี 2018 การฟื้นตัวของบริษัท

เมื่อแผนดำเนินงาน Digital Transformation ขององค์กร Show No Limit เริ่มเวิร์ก เราก็ได้เห็นผลของการปรับทรงคอนเทนต์ทั้งหมดให้สอดคล้องกับโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มที่เราใช้หลากหลายตัวตั้งแต่ช่องทางแรกคือ LINE @beartai มีตัวเลข Friends 6 ล้านซึ่งมากพอต่อความสนใจของแบรนด์สินค้าชั้นนำ Facebook ของเราก็ตีล้านวิวแรกแตก ในขณะที่ผู้ชมบน Youtube ก็ดูถูกจริตกับวิธีรีวิวแบบเรา

เรายอมลำบากตัดวิดีโอหลายไซซ์หลายขนาดสำหรับพฤติกรรมการดูจอที่ต่างกัน LINE เราทำแนวตั้ง, Facebook เราทำไซซ์สี่เหลี่ยมจัตรัส (4 : 3) ส่วน YouTube คงสัดส่วน 16 : 9 หรือ จอกว้าง Widescreen ให้ฟิตกับ “ทีวีบ้านรุ่นใหม่ ๆ ที่มีแอป YouTube มาพร้อม” … เราให้ความสำคัญกับการอ่านค่า Data Analytics และแม่นกับ Demographics กลุ่มผู้ชมมากขึ้น เมื่อรู้ว่าผู้ชมคือใคร เราก็เลือกถูกว่าจะนำเสนอให้ได้ผลด้วยความสุภาพ แต่งกายเรียบร้อย ใช้ภาษาให้ถูกต้องแม่นยำ (อ้างอิง ราชบัณฑิต ฯ ทุกคำ) เสิร์ฟความนำสมัยให้ทันเวลาที่สังคมต้องการคำตอบ

เราวิจัยคอนเทนต์ทุกตัวที่ทำ อ่านคอมเมนต์ทุกคำ เราเล่าเรื่องให้กระชับ ตามการศึกษาโลกออนไลน์ แต่เราก็ไม่เลือกใช้ภาษาที่มีความรุนแรงหรือนำเสนอเรื่องฉาว แฉ โหดร้ายตามแบบที่สังคมหมู่มากต้องการ เรา “รู้จักคุณผู้ชมของเรา” ด้วยข้อมูล

แบรนด์สินค้าและดิจิทัลเอเจนซียุคใหม่ ก็ต่างใช้เครื่องมือวัดผลบนโลกออนไลน์กันทั้งนั้น แล้วเมื่อผลออกมาดี (ด้วยแรงกดชมของคุณผู้ชม) ในที่สุด “ชื่อ beartai” ก็ถูกบรรจุใน Media Plan ของบริษัทต่าง ๆ อย่างน่าสนใจ ถือเป็นการก้าวข้ามการถูก Disruption ได้อย่างหวุดหวิด

ปี 2019 ทอล์กโชว์ร่วมกับน้าเน็ก

‘Nui Nake Tech Talk ฮาแบบน้า สาระแบบหนุ่ย’ ทอล์กโชว์ครั้งแรกของไทยที่จับ หนุ่ย พงศ์สุข เจ้าพ่อไอทีและซีอีโอของแบไต๋ ไปปะทะคารมกับน้าเน็ก เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา อินฟลูเอนเซอร์สุดปังในโลกออนไลน์ ทั้งสองงัดฝีปากเด็ดมาสู้กันบนเวทีด้วยเรื่องราวเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน งานนี้ได้ทั้งสาระและเสียงหัวเราะ จัดขึ้นในวันที่ 19 และ 20 ตุลาคม 2019 รวม 4 รอบการแสดง ณ โรงภาพยนตร์สยามภาวลัย รอยัล แกรนด์ เธียเตอร์ ชั้น 6 สยามพารากอน

สารพันเรื่องราวไอที-เทคโนโลยีถูกถ่ายทอดออกมาในสไตล์ ‘คุยจากปากหนุ่ย ถ่มถุยจากปากเน็ก’ เต็มอิ่มยาวตลอด 3 ชั่วโมง ไล่มาตั้งแต่การเชื่อมต่อในอนาคต, รถยนต์พลังงานไฟฟ้า, วิธีเสกเงินจากโลกออนไลน์, เทคโนโลยีทางการแพทย์, การก้าวไปสู่อินเทอร์เน็ตดาวเทียม จนถึงรัฐบาล AI

น้าเน็กกล่าวว่า “ผมเองเพิ่งก้าวเข้ามาในโลกออนไลน์เมื่อปี 2018 จากคนที่ไม่เคยสนใจเรื่องไอทีหรือโซเชียลมีเดีย วันนี้กลับต้องมาทำธุรกิจในด้านนี้ จะเรียกว่าทำไปศึกษาไปก็ว่าได้ การเป็นส่วนหนึ่งของทอล์กโชว์ในครั้งนี้เหมือนได้เรียนรู้เรื่องราวของไอทีมากขึ้น ผมคงเป็นตัวแทนคนทั่วไปที่เข้าใจเรื่องไอทีอย่างผิวเผิน ผู้ชมจึงได้เห็น 2 คนที่ไม่เหมือนกันเลย คนหนึ่งเชี่ยวชาญระดับกูรู กับอีกคนที่ไม่รู้อะไรเลย แต่ใฝ่รู้แบบสุด ๆ ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีทั้งสาระและเฮฮาในคราวเดียวกัน”

ปี 2020 กำเนิด Madan.fun

เดือนตุลาคมปี 2020 บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด เปิดเว็บไซต์และเพจ Madan.fun สื่อบันเทิงออนไลน์ที่เป็นศูนย์กลางของ Boys’ Love, ศิลปิน T-Pop, K-Pop และไอดอล นำเสนอเนื้อหาบนเว็บไซต์ที่ครอบคลุม 3 ภาษา มีเนื้อหาตั้งแต่ข่าวบันเทิงทั้งไทยและเทศ ซีรีส์สายวาย แปลนิยายจีน และรีวิวการ์ตูนมังงะ

Madan (มะดัน) รวบรวมคอนเทนต์เอาใจสายวายและเป็นศูนย์กลางของ Boys’ Love Community อัปเดตข่าวคราวความเคลื่อนไหวในวงการหนังและซีรีส์ทั้งในและต่างประเทศบนเว็บไซต์ รวมทั้ง Madan Daily Update บน TikTok นอกจากนี้ยังมีไฮไลต์เป็น Madan of the Month ที่นำดาราและดาวรุ่งหน้าใหม่มาถ่ายแฟชั่น สัมภาษณ์ และถ่ายคลิปวิดีโอสนุก ๆ เอาใจแฟนด้อมเป็นประจำทุกเดือน แถมบางครั้งยังมีกิจกรรมไลฟ์เล่นเกมและพูดคุยสนุก ๆ กับศิลปินให้แฟน ๆ ได้แชตกันแบบสด ๆ อีกด้วย ติดตาม Madan ได้ทั้งทางเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ และติ๊กต็อก

ปี 2021 แตกไลน์เนื้อหาสู่พื้นที่ใหม่ๆ

บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด พยายามสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้มากกว่าเรื่องไอทีที่ทุกคนคุ้นเคยดีอยู่แล้วจากแบไต๋ ด้วยการผลิตคอนเทนต์ข่าวชื่อ beartai BRIEF ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2021 มุ่งเน้นการนำเสนอข่าวเชิงสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต ความเคลื่อนไหวในแวดวงเงินดิจิทัล การแพทย์ยุคใหม่ ไปจนถึงการเมืองโลก และข่าวในประเทศที่น่าสนใจ

beartai BRIEF จัดไลฟ์ข่าวเช้าเป็นประจำทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 7:00 น. นำทีมโดย ต๊ะ-นารากร ติยายน ผู้ประกาศข่าวมากประสบการณ์ ร่วมด้วยทาเลนต์รุ่นใหม่อย่าง ดาว – อรปรียา งามสง่า และเดือน -อรวรรยา งามสง่า โดยมีผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่จากหลากหลายแวดวงหมุนเวียนสับเปลี่ยนมาร่วมแสดงความเห็น อาทิ หนุ่ย – พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ ซีอีโอบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด, นท – ทศพล พิชญโยธิน ซีอีโอจากบริษัท กรุงเทพ อาร์ไอเอ แล็บ จำกัด ผู้คร่ำหวอดด้านไบโอเทค, แม็กซ์ – ธีระชาติ ก่อตระกูล ผู้ก่อตั้งแอปการลงทุนสมัยใหม่ StockRadars และ Radars Point และ อาร์ต – ขยล ตันติชาติวัฒน์ ซีเอ็มโอบริษัท สกาย ไอซีที จำกัด ผู้นำด้านการพัฒนานวัตกรรม เป็นต้น

นอกจากข่าวเช้าแล้ว ยังมีรายการ ‘เคลียร์ประเด็น โดย ต๊ะ นารากร’ ที่หยิบประเด็นร้อนที่กำลังพูดถึงในสังคมมาคุยกับแขกรับเชิญของแต่ละสัปดาห์ในช่วงเวลาเย็น ทั้งนี้ beartai BRIEF ไม่ได้มุ่งเน้นคอนเทนต์ข่าวเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับบทเรียนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนแนวคิดต่าง ๆ ในการทำงานและพัฒนาตนเอง เพื่อกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่ต้องการหาแรงบันดาลใจ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส