ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือตอบรับนายก “ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤต เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย ทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563) นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤตในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา เช่นเดียวกับวิกฤตในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผมและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท พร้อมเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป

ปัจจุบัน เครือซีพีและบริษัทในเครือได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน พนักงาน และอีกหลายภาคส่วน อยู่แล้วหลายโครงการ ซึ่งจะยังคงดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้งบประมาณรวมในโครงการที่ได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมดคิดเป็นมูลค่าประมาณ 701.6 ล้านบาท

ส่วนที่ 1 : ระยะแรก

1. การให้ความช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์

  • ดำเนินการสร้าง “โรงงานงานซีพีหน้ากากอนามัยฟรีเพื่อบุคลากรทางการแพทย์” ใช้งบประมาณ 175 ล้านบาท เพื่อบรรเทาปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยผลิตและส่งมอบหน้ากากอนามัยฟรี 3,000,000 ชิ้นต่อเดือน โดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นผู้จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และโรงพยาบาลทั่วประเทศ
  • บริจาคชุดป้องกัน Tyvek 400 Tychem 2000 หน้ากาก N95 แว่นตานิรภัย ถุงคลุมเท้า ชุดคลุมป้องกันเชื้อชนิดคลุมทั้งตัว (Coverall) และ หน้ากากป้องกันเชื้อ (Face shield) ให้บุคลากรทางการแพทย์
  • สนับสนุน Antibody test kit จำนวน 110,000 ชิ้น มูลค่ารวม 20 ล้านบาท ให้โรงพยาบาลรามาธิบดี
  • บริจาคห้อง Conference System จำนวน 2 ชุด มูลค่า 3.5 ล้านบาท ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  • มอบเงินสนับสนุนมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
  • มอบเงิน 77 ล้าน ให้กับ 77 โรงพยาบาล ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “คนไทยไม่ทิ้งกัน” (ถึงปัจจุบันขยายเพิ่มอีก 5 โรงพยาบาล)
  • มอบชุด PPE จำนวน 94,830 ชุด หน้ากากอนามัย KN95 จำนวน 75,480 ชิ้น แอลกอฮอล์ 3,670 ลิตร และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค (เครื่องช่วยหายใจ เครื่อง Monitor หัวใจ เครื่อง Monitor สำหรับผู้ป่วย เตียง และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่นๆ) ดำเนินการโดยซีพี ออลล์
  • สนับสนุนอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 120 แห่งทั่วประเทศ (เริ่ม 1 มีนาคม 2563) และยังคงส่งมอบให้กับทุกโรงพยาบาลในโครงการอย่างต่อเนื่อง ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนอาหารให้ครอบครัวบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 30,000 ครอบครัว (เริ่ม 9 เมษายน 2563 และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง) โดยส่งอาหารถึงบ้านให้กับบุคลากรทางการแพทย์ของรัฐ ที่มีส่วนช่วยดูแลสถานการณ์ โควิด-19 ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • สนับสนุนแท็บเล็ต และโทรศัพท์วิทยุสื่อสาร จำนวนกว่า 500 เครื่อง พร้อมซิมทรูมูฟ เอช ที่ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน แก่โรงพยาบาลที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รวม 50 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบซิมแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่จำกัด พร้อมโทรฟรีทุกเครือข่าย นาน 90 วัน จำนวน 2,000 ซิม ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • มอบข้าวสารสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ โดยข้าวตราฉัตร

2. การให้ความช่วยเหลือแก่พี่น้องประชาชน และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ

  • ดูแลผู้เฝ้าระวังตนที่กลับจากต่างประเทศ ผ่านโครงการ “มอบอาหารจากใจ ต้านภัย COVID ส่งอาหารถึงบ้าน” ให้กับผู้เฝ้าระวังตนที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ เพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19
    โดยมอบให้กว่า 20,000 ราย (จบโครงการแล้ว) ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • มอบไข่ไก่เพื่อทำอาหารปรุงสุกพร้อมทาน แจกจ่ายผู้ยากไร้และว่างงาน ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการลดจริง…ไม่ทิ้งกัน” โดยช่วยแบ่งเบาค่าครองชีพประชาชนในช่วงโควิด-19 โดยจำหน่ายอาหารพร้อมทานในราคา 20 บาท จำนวน 1,000,000 ถาด ที่ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ดำเนินการโดยซีพีเอฟ
  • “โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ร่วมด้วยช่วยค่าครองชีพ” สนับสนุนข้าวกล่องจำนวน 13 ล้านกล่อง จำหน่ายในราคา 20 บาท ดำเนินการโดยซีพี ออลล์

3. การให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชน จากปัญหาการตกงาน หรือ ขาดรายได้

  • เครือเจริญโภคภัณฑ์ประกาศนโยบายไม่ปลดพนักงานจากผลกระทบโควิด-19 เพื่อรักษางาน นอกจากนี้ ยังสร้างงานเพิ่มโดย ซีพี ออลล์ มีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 20,000 อัตรา และซีพีเอฟมีการประกาศจ้างงานเพิ่ม 5,000 อัตรา เริ่มตั้งแต่ มีนาคม 2563

4. การให้ความช่วยเหลือพนักงานกว่า 300,000 คนในประเทศไทย

  • ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 เครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความมั่นใจแก่เพื่อนพนักงานทุกคนว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัทในเครือฯ ไม่มีนโยบายเลิกจ้างอันเนื่องมาจากผลกระทบของสถานการณ์นี้ สร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน และการดำรงชีพและปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อไป
  • หากพนักงานได้รับเชื้อโควิด-19 เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีนโยบายดูแลพนักงานโดยรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล
  • สำหรับบุคคลในครอบครัวของพนักงาน ได้แก่ คู่สมรสและบุตร ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เช่น ถูกเลิกจ้าง หรือ ไม่ได้รับค่าจ้างอันเนื่องจากการปิดงาน หรือปิดกิจการร้านค้าของตนเอง จนไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ไหว เครือเจริญโภคภัณฑ์จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการมอบคูปองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำไปซื้ออาหารและเครื่องดื่ม
  • ให้ความช่วยเหลือด้านค่าเล่าเรียนของบุตรธิดาของพนักงานที่เดือดร้อน เช่น การขอกู้ยืมเงินฉุกเฉินระยะสั้น การติดต่อกับสถาบันการเงิน เป็นต้น โดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณีไป

5. การให้ความต่อเนื่องกับภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการรายย่อย และภาคการศึกษา

  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร SME นำร่องกว่า 50 ร้านค้าพันธมิตรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผลักดันเข้าสู่ตลาดออนไลน์ และสนับสนุนพื้นที่สื่อโฆษณาทุกช่องทาง ให้กับร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ โดยในอนาคต มีแผนจะขยายพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารให้ครอบคลุมกว้างขวางมากขึ้น ดำเนินการโดยซีพีอินเตอร์เทรด
  • มอบ “ซิมสามัญประจำบ้าน แจกฟรีที่ 7-Eleven ทั่วประเทศ” โดยสามารถใช้แพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อเรียนทางไกลและทำงานที่บ้าน โดยไม่เสียค่าอินเทอร์เน็ต โทรฟรีสายด่วนสำคัญช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดำเนินการโดยกลุ่มทรู
  • ให้ความช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาในการเข้าถึงองค์ความรู้ โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม True Virtual World เพื่อสนับสนุนการเรียนทางไกล ดำเนินการโดยกลุ่มทรู

6. การให้ความช่วยเหลือพระสงฆ์

  • ถวายปัจจัยสมทบทุนช่วยเหลือพระสงฆ์ทั่วประเทศที่ไม่สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้ในช่วงวิกฤตโควิด-19 จำนวน 500 วัด ผ่านทางสำนักเลขาฯ สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่พระสงฆ์ สามเณร ที่ไม่สามารถออกมารับอาหารบิณฑบาตและกิจนิมนต์ต่างๆ ของประชาชนได้ ดำเนินการโดยซีพี ออลล์

7. การให้ความช่วยเหลือชุมชน

  • “โครงการกองทัพภาคที่ 1 ร่วมกับ CPF ส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” ดำเนินการส่งมอบอาหารให้กับชาวชุมชนคลองเตยกว่า 8,499 หลังคาเรือน
  • “โครงการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกทม. ร่วมกับ CPF ส่งอาหารจากใจสู่ชุมชน” (จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 2563) ส่งมอบอาหารมื้อกลางวัน เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับชาวชุมชนแออัดต่างๆ
    ใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 2 เดือน

Play video

นอกจากนี้ เจ้าสัวธนินท์ ยังระบุว่า ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และ ยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพ อาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทย กล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว

นอกจากนี้ ซีพีได้นำเสนอโครงการที่ซีพีจะดำเนินการในระยะต่อไป ประกอบด้วย

  1. โครงการปลูกน้ำ เพื่อนำพื้นที่ที่ปกติน้ำท่วมทุกปี มาพัฒนาเป็นแหล่งแก้มลิง เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่เกษตรกรโดยรอบ เพิ่มความมั่นคงทางการเกษตรและ เพื่อการเข้าถึงแหล่งน้ำของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
  2. โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนต้นแบบเพื่อยกระดับรายได้ที่มั่นคงให้กับเกษตรกรให้มีรายได้อย่างพอเพียง โดยใช้ภาคการเกษตรเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ในรูปแบบ “4 ประสาน” หรือ “Four in One” ซึ่งเป็นรูปแบบความร่วมมือ 4 ฝ่าย ได้แก่ รัฐบาล บริษัทเอกชน สถาบันการเงิน และเกษตรกร เพื่อรองรับการพัฒนาเกษตรกรรมทันสมัย ยกระดับรายได้และพลิกชีวิตความเป็นอยู่เกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบ โดยจะคัดเลือกพื้นที่ต้นแบบใน 3-4 จังหวัด โดยอาศัยหลักการ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งแก่เศรษฐกิจฐานราก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยในอาหารในระยะยาวให้กับประเทศไทย
  3. สร้างความต่อเนื่องให้กับระบบการเรียนของนักเรียน นักศึกษา ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้พัฒนาแพลตฟอร์มวีเลิร์น (VLEARN) เพื่อรองรับการเรียนรู้ได้จากทุกที่ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้และการเรียนระบบออนไลน์ สนับสนุนองค์กรสถาบันการศึกษาทุกระดับ ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาลัยอาชีวศึกษา และโรงเรียน และ พัฒนาแอปพลิเคชันแพทย์ทางไกล Teleclinic ช่วยคัดกรองผู้สงสัยติดเชื้อโรคโควิด-19 เบื้องต้น นำเทคโนโลยีแชตบอตช่วยสอบถามและให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้มีอาการต้องสงสัยติดเชื้อและคนทั่วไป อำนวยความสะดวก และ การสื่อสารผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ และช่วยลดความเสี่ยงติดเชื้อจากการเดินทางไปโรงพยาบาล
  4. การให้ความสำคัญกับการสนับสนุนทุนวิจัย และสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนากับสถาบันทางการแพทย์ และศูนย์วิจัยทั้งในและต่างประเทศ เพื่อการค้นคว้าอุปกรณ์ตรวจเชื้อ วัคซีนและยารักษา

ทั้งนี้ธนินท์ทิ้งท้ายทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกหลายมาตรการที่ดี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤตโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องและเห็นผล จึงถือได้ว่า โครงการที่เสนอมานี้เป็นเพียงส่วนเสริม ในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน นอกจากนี้ ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ในเอกสารฉบับนี้ เป็นมุมมองของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ยินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป