นี่เป็นบทความชุดรวมการคาดการณ์ที่ถูกพูดถึงปี 2021 ในหัวข้อ เราคาดหวังว่าจะเจออะไรได้บ้าง และนี่คือหัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่กัดกินชีวิตอันปกติสุขของโลกเรามาตลอดปี 2020 ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

  • สถานการณ์โควิด-19 (อาจ) ดีขึ้น แต่ยังต้องเสี่ยงเผชิญการระบาดอีกหลายระลอก ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในเดือนกันยายน (บางประเทศ)
  • วัคซีนแห่งความหวัง อัปเดตสุดท้ายก่อนเข้าปี 2021
  • จุดวัดใจ วัคซีนคือทางรอด หรือซ้ำเติมสถานการณ์ ที่ชัวร์คือยังคงต้องใส่หน้ากากล้างมือต่อไปไม่รู้จบ

สถานการณ์โควิด-19 (อาจ) ดีขึ้น แต่ยังต้องเสี่ยงเผชิญการระบาดอีกหลายระลอก ก่อนจะกลับมาเป็นปกติในเดือนกันยายน (บางประเทศ)

เว็บไซต์ japantimes ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคโควิด -19 ว่าในปี 2021 จะต่างจากปีก่อนอย่างไร และนั่นก็ยังมาพร้อมความไม่แน่นอนที่ว่า อาจจะดีขึ้น แบบไม่เต็มปาก เพราะขณะนี้ ยุโรปกำลังเผชิญการระบาดระลอกที่ 2 อเมริกาเผชิญระลอกที่ 3 และฮ่องกงก็เจอระลอกที่ 4 เข้าไปแล้ว ด้านสภานักวิทยาศาสตร์ของฝรั่งเศสประเมินให้รัฐบาลทราบว่า โลกจะเผชิญการระบาดอีกหลายระลอกต่อเนื่อง ในช่วงฤดูหนาวยาวไปทั้งปี 2021 แม้ว่าจะมีวัคซีนออกมาแล้วก็ตาม

ฟลาวิโอ ท็อกเซิร์ด อาจารย์เศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ มองว่ามีหลายปัจจัยที่จะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ และยังตอบยากว่าจะเจอการระบาดกี่ระลอก สิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการระหว่างมาตรการเว้นระยะห่างทางกายภาพของประชาชน (หนักสุดคือล็อกดาวน์) กับการกระจายวัคซีน ซึ่งปัจจัยหลังยังเป็นไปได้ยากที่จะจ่ายวัคซีนให้คนทั้งโลกพอจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในช่วงปีนี้ จึงต้องกลับมามองว่ารัฐบาลแต่ละประเทศจะใช้มาตรการเว้นระยะห่างคนได้หนักเพียงพอ โดยไม่ทำการล็อกดาวน์เมืองที่กระทบเศรษฐกิจได้ดีแค่ไหน

สอดคล้องกับการประเมินของนักระบาดวิทยา อาร์โนด์ ฟอนเตเน ที่เชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาปกติราว ๆ ช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน ซึ่งน่าจะมีประชากรที่ได้รับวัคซีนแล้วร้อยละ 80-90 สอดคล้องกับความเห็นของ มอนซีฟ สลาวี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของโครงการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ที่ประเมินว่าคนจะได้รับวัคซีนถึงร้อยละ 70 ของประชากรเพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งไม่มีทางสำเร็จทันก่อนเดือนพฤษภาคมนี้แน่

ซึ่งต้องย้ำว่านั่นเป็นการประเมินในประเทศฝั่งยุโรป และอเมริกา สำหรับในประเทศไทยยังไม่เห็นที่ใดกล้าประเมินว่าสถานการณ์จะยุติเมื่อใด แต่เชื่อมั่นว่าจะดีขึ้นแน่ ๆ ในปีนี้

ีมีรายงานข่าวชิ้นใหม่เปิดเผยว่า ชุดตรวจเชื้อไวรัส Covid-19 ในสหรัฐฯ มีไม่เพียงพอแล้วในขณะนี้

วัคซีนแห่งความหวัง อัปเดตสุดท้ายก่อนเข้าปี 2021

จุดผ่อนคลายของสถานการณ์นั้นต้องยอมรับว่าวัคซีนมาได้ไวกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งเคยประเมิน วัคซีนถูกทดลองถึงขั้นผ่านการรับรองสำเร็จภายในปี 2020 โดยมีวัคซีนที่ผ่านการรับรองในบางประเทศแล้ว 3 ตัว อันได้แก่

Comirnaty ของบริษัทอเมริกัน Pfizer และบริษัทเยอรมนี BioNTech ซึ่งเป็นตัวที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดที่ร้อยละ 95 ผ่านการรับรองใช้งานทั่วไปแล้วใน แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ บาห์เรน และซาอุดิอาระเบีย ซึ่งถือว่าผ่านการรับรองจากหลายประเทศที่สุดในขณะนี้ และกำลังอยู่ในขั้นสุดท้ายก่อนใช้วงกว้างในประเทศสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้และอาหรับบางส่วน รวมถึงยุโรป และสิงคโปร์ด้วย นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเรียบร้อยจากทั้งญี่ปุ่น และจีน ซึ่งทำให้มันเป็นวัคซีนจากตะวันตกตัวเดียวที่สามารถวางขายในจีนได้ในขณะนี้ โดยทั้ง 2 บริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ราว 1,300 ล้านโดสในปี 2021 นี้ จุดอ่อนของวัคซีนตัวนี้คงมีแค่การเก็บรักษาที่ต้องเก็บที่อุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียสเท่านั้น

mRNA-1273 ของบริษัทอเมริกัน Moderna ที่ร่วมมือกับ National Institutes of Health (NIH) ที่ตัววัคซีนมีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 94.5 และผ่านการรับรองแล้วในแคนาดาประเทศเดียวเท่านั้น ทั้งยังเข้าสู่ระยะสุดท้ายก่อนใช้วงกว้างในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีคำสั่งซื้อมาแล้วจากทั้ง ญี่ปุ่น กาตาร์ และเกาหลีใต้ ด้วย โดยจุดเด่นที่ดีกว่าวัคซีนตัวแรกคือการเก็บรักษาที่เก็บในตู้เย็นได้นาน 30 วัน และที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสนานถึง 6 เดือนด้วย ทำให้การกระจายวัคซีนเป็นไปได้ง่ายกว่ามาก

ส่วนตัวสุดท้ายที่ผ่านการรับรองแล้ว คือ BBIBP-CorV ของบริษัท Sinopharm ของรัฐบาลจีน โดยได้รับการรับรองจากจีน บาห์เรน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่มีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 79.34 เท่านั้น (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รับรองผลว่าได้ร้อยละ 86) โดยถึงตอนนี้จีนมีแผนจะฉีดวัคซีนตัวนี้ให้ประชาชนชาวจีน 50 ล้านคนให้ได้ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้

covid-19 vaccine

นอกจาก 3 ตัวที่มีบางประเทศรับรองแล้ว ยังมีวัคซีนถึงอีก 6 ตัวที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายก่อนใช้วงกว้าง โดยยังทดลองใช้ในวงจำกัดและใช้เพื่อกรณีฉุกเฉินเท่านั้นอยู่ รอเวลาได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ โดยตัวที่ผ่านการประเมินประสิทธิภาพการใช้แล้ว 2 ตัว คือ Sputnik V ของสถาบันวิจัย Gamaleya ภายใต้กระทรวงสาธารณสุขของรัสเซีย ที่มีประสิทธิภาพถึงร้อยละ 91.4 และ AZD1222 ของ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ร่วมกับบริษัทอังกฤษ-สวีเดน AstraZeneca ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าร้อยละ 90 (แต่บางการทดสอบมีประสิทธิภาพที่ร้อยละ 70 หรือร้อยละ 80 เท่านั้น) และเก็บรักษาในตู้เย็นธรรมดาได้นานถึง 6 เดือน ดูจากการเก็บรักษาตัวนี้ถือว่าดูดีสุดในการใช้งานจริงเลยด้วย

นอกจากนี้ยังมีวัคซีนจากทีมวิจัยอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนแรกซึ่งทดสอบปริมาณการใช้ที่ปลอดภัยอีก 44 ตัว อยู่ในขั้นที่ 2 ซึ่งทดลองความปลอดภัยในการใช้งานอีก 20 ตัว และอยู่ในขั้นที่ 3 ซึ่งทดลองในวงกว้างและกำลังทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนก่อนการรับรองใช้วงกว้างอีก 19 ตัว

ประเทศไทยล่ะ?

สำหรับประเทศไทยนั้นเดิมได้สิทธิ์ในการจองวัคซีนของทางบริษัท AstraZeneca ไว้แล้วกว่า 26 ล้านโดส สำหรับคนไทย 13 ล้านคน (1 คนต้องฉีด 2 ครั้ง) โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับ บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ราว ๆ มิถุนายนปีนี้

ในขณะที่วันสุดท้ายของปี 2020 ที่ผ่านมา ก็มีอัปเดตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของไทยว่าสามารถซื้อวัคซีนล็อตแรกราว 2 ล้านโดส จะได้ในช่วงกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนี้ ในราคาโดสละ 17 เหรียญสหรัฐ (ราว 510 บาท) ซึ่งข่าวไม่ได้เผยว่ามาจากเจ้าใด โดยจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ก่อน ในขณะเดียวกันก็ยังแจ้งว่าสามารถจองวัคซีนจาก AstraZeneca เพิ่มมาได้อีก 26 ล้านโดสด้วย

จุดวัดความสำเร็จไทย – รวมทั้งหมดตอนนี้ไทยน่าจะมีวัคซีนที่จะมาในอนาคตรวม 54 ล้านโดส สำหรับประชากร 27 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 38.5 ของประชากรทั้งประเทศ 70 ล้านคน ซึ่งยังขาดวัคซีนอีก 44 ล้านโดส สำหรับประชากรอีก 22 ล้านคน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้สำเร็จที่ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด

ด้านยาและวัคซีนที่ไทยพัฒนาเอง ก็มีการเปิดโครงการ วัคซีนเพื่อคนไทย ของ มูลนิธิซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งยังได้เปิดตัว ทีมไทยแลนด์ ที่มีทีมวิจัยจากหลาย ๆ ทีมในไทยต่างกำลังสร้างวัคซีนของตนเอง คาดพร้อมใช้ปลายปี 2564 ซึ่งมีการพัฒนาวัคซีนจากต่างทีมอยู่ราว ๆ 7 ตัวด้วยกัน แต่ที่ว่ามาทั้งหมดคือยังคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร กว่าจะเอามาชดเชยจำนวนวัคซีนที่เพียงพอกับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้ทันในปีนี้

ซึ่งก็ยังต้องดูสถานการณ์จากทางรัฐบาลในปีนี้ด้วยว่าจะมีนโยบายอะไรเพิ่มเร่งด่วนเช่นการต่อรองหาซื้อวัคซีนมาได้เพิ่มอีกหรือไม่ นอกจากให้ องค์การอาหารและยาทำการรับรองวัคซีนนำเข้าของเอกชน เพิ่มช่องทางการแจกจ่ายวัคซีนโดยไม่ต้องรอรัฐบาลได้มากขึ้น

แต่อะไร ๆ ก็คงไม่ง่าย เพียงแค่ฉีดวัคซีนครบยอดแล้วจบไป >>

จุดวัดใจ วัคซีนคือทางรอด หรือซ้ำเติมสถานการณ์ ที่ชัวร์คือยังคงต้องใส่หน้ากากล้างมือต่อไปไม่รู้จบ

แม้วัคซีนจะเป็นความหวังที่เรารอคอย แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังคงจับตามองสถานการณ์หลังจากนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 สามารถกลับมาติดซ้ำได้ในบางกรณี ต้องลุ้นว่าวัคซีนจะให้ผลป้องกันได้ตลอดชีวิตเลย หรือจะต้องคอยกระตุ้นภูมิ หรือฉีดวัคซีนกันทุกปี เช่นเดียวกับไข้หวัดใหญ่บางสายพันธุ์ ซึ่งแนวโน้มสำหรับโรคโควิด-19 เองก็อาจจะเป็นคล้ายอย่างหลัง

อาร์โนด์ ฟอนเตเน นักระบาดวิทยาคนเดิมยังสำทับว่า วัคซีนที่ใช้งานดีสุดยอดก็ยังไม่ใช่ไม้กายสิทธิ์ในการยุติโรค มันจะยังมีคนที่ยังป่วยเป็นโควิด-19 อยู่ แม้จะรับวัคซีนไปแล้ว เพราะวัคซีนที่สร้างกันมาจะไปสร้างภูมิคุ้มกันช่วยลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลง

จุดที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างในมุมของฟอนเตเน คืออุปสรรคในการฉีดวัคซีน ต้องยอมรับว่าลัทธิความเชื่อที่ปฏิเสธการฉีดวัคซีนทุกชนิดนั่นก็เรื่องหนึ่ง แต่การสร้างความมั่นใจ หรือจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีนนั่นเป็นจุดชี้ความสำเร็จของวัคซีนที่แท้จริง ฟอนเตเนเชื่อจากประสบการณ์ว่าการบังคับประชาชนให้ต้องฉีดวัคซีนจะเป็นแรงต้าน ให้คนที่กลัวหรือเกลียดวัคซีนแอบซ่อนกลายเป้นจุดอ่อนให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ แนวทางการบังคับโดยอ้อมเช่นหากไม่ผ่านการฉีดวัคซีนจะไม่สามารถขึ้นเครื่องบิน หรือใช้บริการส่วนรวมบางอย่างได้ น่าจะเป็นแรงขับทางอ้อมที่ดีกว่า

และแน่นอน ส่วนสำคัญที่สุดคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือจุดสำคัญมากเช่นกัน ในภาวะที่เศรษฐกิจฝืดทั่วโลก คนที่มีกำลังจ่ายอาจหาวัคซีนได้เองด้วยซ้ำ แต่จะจูงใจคนที่ฐานะเศรษฐกิจขัดสนซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เช่นกันให้มาแีดวัคซีนได้อย่างไร หากมันมีค่าใช้จ่ายที่มากพอประมาณ

จุดอันตรายที่สุดในเรื่องนี้สำหรับ ฟอนเตเน คือโอกาสในการที่เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่นี้จะเกิดการดื้อยา หากกระบวนการฉีดวัคซีนกับประชากรกลุ่มใหญ่เกิดติดขัดตามที่ได้กล่าวมา

สุดท้ายจากข้อมูลไม่ว่าจะแหล่งใด ต่างยืนยันเช่นเดียวกันว่า มาตรการที่ดีที่สุดคือ การสวมหน้ากาก และล้างมือบ่อย ๆ พยายามเว้นระยะห่างทางกายภาพกับคนอื่น ๆ ให้มากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป แม้จะมีการฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายแล้วก็ตาม

ที่มา ที่มา2 ที่มา3 ที่มา4

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส