ในที่สุด พร้อมเพย์ ที่เปิดตัวกันไปเมื่อกลางปี 2559 ก็พร้อมให้ใช้บริการกันได้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา โดยในช่วงแรกนี้จะเปิดให้บุคคลทั่วไปสามารถใช้โอนเงินผ่านระบบของธนาคารต่างๆ ได้แล้ว ส่วนภาคนิติบุคคลจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2560

ตอนนี้เมื่อเข้าไปยังระบบ iBanking หรือ mBanking ของธนาคารต่างๆ จะเห็นคำสั่งโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์กันเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสามารถป้อนเบอร์โทรศัพท์มือถือหรือเลขที่ประจำตัวประชาชนที่ลงทะเบียนกับพร้อมเพย์ไว้เพื่อโอนเงินระหว่างกันได้ทันที

ข้อดีของ PromptPay คือมีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินถูกมาก แม้จะโอนต่างธนาคาร ถ้าจำนวนเงินไม่ถึง 5,000 บาทก็ไม่เสียค่าโอน

  • โอนเงินครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท – โอนฟรี
  • โอนเงิน 5,000 – ไม่เกิน 30,000 บาท – คิดค่าธรรมเนียมการโอน 2 บาท
  • โอนเงิน 30,000 – ไม่เกิน 100,000 บาท – คิดค่าธรรมเนียมการโอน 5 บาท
  • 100,000 บาทขึ้นไป – คิดค่าธรรมเนียม 10 บาท
  • ซึ่งธนาคารอาจมีการแข่งขันให้ค่าธรรมเนียมถูกลงได้อีก

พร้อมเพย์จึงมีประโยชน์มากสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน เช่นระบบ e-commerce แบบไทยๆ ผู้ซื้อเพียงรู้เบอร์โทรติดต่อของผู้ขายที่ผูกกับระบบพร้อมเพย์เอาไว้ ก็สามารถโอนเงินซื้อสินค้าได้ทันที ไม่ต้องจำเลขบัญชีธนาคารอีกชุดเวลาโอน แถมโอนไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วย

อยากรู้เรื่อง PromptPay ละเอียดๆ คลิกเลย

ความปลอดภัยของพร้อมเพย์

ตั้งแต่มีข่าวเรื่องพร้อมเพย์ ก็มีผู้ตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยของระบบโดยตลอด เรื่องนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ให้คำอธิบายในจุดต่างๆ ดังนี้

  1. ลงทะเบียนรัดกุม : ธนาคารจะมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าและความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถืออย่างรัดกุม และมีการตรวจสอบเป็นการเฉพาะตามแนวทางปฏิบัติของธนาคารแห่งประเทศไทย
  2. ระบบกลางปลอดภัย : เพราะพัฒนาจากระบบโอนเงินในปัจจุบันที่ให้บริการโดยบริษัท NITMX มาตั้งแต่ปี 2536 (เราก็ยังไม่เคยได้ยินข่าวมีใครแฮกระบบโอนเงินของธนาคารได้) ซึ่งระบบนี้เป็นระบบปิด แยกตัวเป็นเอกเทศจากเครือข่ายอื่นๆ จึงไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ นอกจากนี้ระบบของพร้อมเพย์ยังออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบชำระเงิน ที่พัฒนาระบบแบบนี้ในประเทศอื่นๆ ด้วย พร้อมมีแผนรับมือยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ
  3. มีการยืนยันผู้ใช้อีกครั้งในการใช้งาน จะโอนได้ก็ต้องมี Username, Password เพื่อเข้าระบบไปโอนเงิน ส่วนผู้รับเงินผ่าน PromptPay จะเอาเงินออกมาใช้ ก็เหมือนการใช้เงินในธนาคารตามปกติ

Play video

ปัญหาธนาคารส่วนใหญ่เกิดจากผู้ใช้

ธปท. ระบุว่าที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของผู้ใช้ ไม่ใช่จากระบบการเงิน จึงขอให้ผู้ใช้ระบบธนาคารอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพร้อมเพย์ระมัดระวังประเด็นต่อไปนี้

  1. ระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Device ที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์เป็นอย่างดี มีการตั้งรหัสล็อกเครื่อง เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาไปใช้งาน เช่นเดียวกับการดูแลบัตรเครดิตหรือบัตร ATM
  2. ผู้โอนเงินควรศึกษาวิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการยืนยันการโอนเงิน
  3. ระมัดระวังในการตั้งรหัส Username / Password ให้คาดเดาได้ยาก และไม่บอกรหัส Username / Password กับผู้อื่น หรือเขียนเอาไว้ในที่เปิดเผย

พร้อมเพย์จึงเป็นเหมือนบทเริ่มต้นของระบบการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งจะทำให้ระบบกระเป่าเงินดิจิทัลแพร่หลายในไทย ซึ่งในอนาคตเราอาจไม่ต้องพกเงินสด แต่สามารถใช้จ่ายผ่านแอปได้เลย (เช่นซื้อก๋วยเตี๋ยวข้างทาง ก็จ่ายเงินผ่านพร้อมเพย์ไป เพราะไม่เสียค่าธรรมเนียมอยู่แล้วนิ) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้นในอนาคต

Play video

โฆษณานี้บันเทิงสุด แนะนำให้ดู 555

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ กระเป๋าเงินดิจิทัล ทำไมถึงสำคัญในกับคนไทยในอนาคต

อ้างอิง: ธนาคารแห่งประเทศไทย

Play video