กลายเป็นประเด็นถกเถียงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อ dtac โพสต์ตัวอย่างภาพถ่ายจาก dtac phone X3 ลงในหน้าเฟซบุ๊กของดีแทค และมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าภาพถ่ายทั้งหมดไม่มีทางที่สมาร์ทโฟนจะถ่ายได้แน่นอน ซึ่งต่อมาดีแทคได้ลบโพสต์ไป พร้อมคำอธิบายว่าบริษัทผู้รับจ้างไม่ทำตามสัญญา

รูปต้นฉบับจากโพสต์เฟซบุ๊ก

ภาพต้นฉบับเหล่านี้มีลักษณะหลายอย่างที่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันไม่มีทางถ่ายได้คือ

  1. ทัศนมิติ (Perspective) ของภาพไม่ใช่ลักษณะภาพจากเลนส์ 28 mm ที่สมาร์ทโฟนใช้ ที่จะเห็นฉากหลังกว้างกว่านี้ ใบหน้าคนจะบวมกว่านี้ แต่เป็นเลนส์ 50 mm – 85 mm ที่กล้องใหญ่ใช้เพื่อถ่ายภาพเน้นบุคคลเป็นหลัก
  2. ความละลายของฉากหลัง ปัจจุบันยังไม่มีสมาร์ทโฟนรุ่นใดทำโบเก้และกำหนดจุดเบลอได้แม่นยำขนาดนี้ ภาพแบบนี้ต้องเป็นเลนส์ของกล้องใหญ่ที่มี f-stop กว้างพอจึงจะทำได้
  3. ความคมของรายละเอียด ทั้งเลนส์ผม และรายละเอียดภาพ ไม่ใช่มาจากเซนเซอร์ตัวเล็กๆ ของมือถือแน่ๆ

คำอธิบายจาก dtac

จากกรณีที่ดีแทคได้โพสต์รูปประชาสัมพันธ์ dtac phone เมื่อเย็นวานนี้ (11 เม.ย. 2560) ซึ่งได้มีข้อแนะนำท้วงติงมายังดีเแทคว่ารูปดังกล่าวไม่น่าจะใช่รูปที่ถ่ายมาจากเครื่องโทรศัพท์ dtac phone นั้น

ทางดีแทคได้เร่งทำการตรวจสอบกับผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้แล้ว ปรากฎว่ากรณีดังกล่าวเกิดจากการที่บริษัทผู้รับจ้างจัดทำสื่อโฆษณาและรูปตัวอย่างให้กับดีแทคได้ดำเนินการผิดขั้นตอนและนำรูปที่ไม่ถูกต้องมาใช้ซึ่งไม่เป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้กับบริษัทและผิดไปจากความตั้งใจจริงของดีแทคที่ประสงค์จะประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าได้ทราบคุณลักษณะอย่างแท้จริงของ dtac phone

ในการนี้ ดีแทคได้กำชับทีมงานภายในของดีแทคให้ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตรวจสอบการสร้างสรรค์รูปของบริษัทภายนอกและต้องทำการตรวจสอบรูปซ้ำให้ละเอียดก่อนโพสต์รูป ซึ่งดีแทคต้องขอน้อมรับคำท้วงติงในข้อนี้

ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการแก่ลูกค้า มีความมุ่งมั่นที่จะให้บริการแก่ลูกค้าด้วยความสุจริต ซื่อตรง ดีแทคจึงขอน้อมรับคำติติงและคำทักท้วงไว้ทั้งหมด โดยพนักงานดีแทคทุกคนรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อกรณีดังกล่าวและดีแทคต้องขออภัยต่อทุกท่านมา ณ ที่นี้เป็นอย่างสูงสำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และดีแทคขอขอบคุณทุกข้อท้วงติงมา ณ ที่นี้

บทเรียนของผู้ทำเนื้อหา

เส้นแบ่งสุดท้ายที่ผู้สร้างเนื้อหาสามารถทำได้คือนำเสนอความจริงส่วนหนึ่ง ไม่ได้นำเสนอความจริงทั้งหมด แต่หากข้ามเส้นแบ่งนี้ นำเสนอเนื้อหาที่ไม่เป็นจริง แล้วความแตกขึ้นมา จะเกิดผลกระทบที่รุนแรงทันทีในยุคสื่ออินเทอร์เน็ตกระจายข่าวสารอย่างรวดเร็ว เสื่อมเสียความเชื่อมั่น เสียความน่าเชื่อถือทันที

เรื่องนี้จึงเป็นประเด็นละเอียดอ่อนที่ผู้ดูแลเนื้อหาต้องแยกและสกรีนเนื้อหาปลอมให้ออก ก่อนที่จะนำเสนอเนื้อหาออกไป

อ้างอิง: Pantip