ที่ประชุมกสทช. เมื่อวานนี้ มีมติให้บริการ OTT หรือ Over the Top เป็นส่วนหนึ่งของการกำกับดูแลของกสท. โดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ควบคุม และดูแลคอนเทนท์ออนไลน์ แต่ยังไม่สรุปว่า Facebook Live, YouTube และอื่นๆ จะเข้าข่าย OTT หรือไม่

พันเอก นที ศุกลรัตน์ กรรมการกสทช. ในฐานะประธานคณะกรรมการกสท. ได้เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวว่า กำลังมีการผลักดันมาตรการในการกำกับดูแลกิจการ Over the Top หรือ OTT ซึ่งเป็นบริการบรอดคาสต์คอนเทนท์ทางอินเทอร์เน็ต โดยเรื่องดังกล่าวนี้จะถูกบรรจุลงไปในพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ฉบับใหม่ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้มีการปรับปรุงเนื้อหาให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบันและสอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่

โดยการจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องดังกล่าวนี้ มีทั้งสิ้น 11 คน (รวมประธานแล้ว) มีระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 1 ปี ซึ่งเรื่องคอนเทนท์แบบ OTT ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่ผู้คนต่างให้ความสนใจอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการเข้าถึงที่ง่ายขึ้น รับชมในช่วงเวลาใดก็ได้ และจากเหตุผลที่กล่าวมานั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน ในระบบดิจิทัล (ทีวีดิจิทัล) จนมีการร้องเรียนเข้ามาถึงหลายราย ส่งผลให้การแข่งขันเกิดความไม่เป็นธรรม

แน่นอนว่าแพลตฟอร์มยูทูป, ไลน์ทีวี รวมไปถึงเฟซบุ๊กไลฟ์ ยังไม่ถูกจัดให้อยู่ในคอนเทนท์ประเภท OTT และการกำกับดูแลจะเป็นอย่างไร ประธานกสท. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตอนนี้ยังไม่ขอยกตัวอย่างใดๆ ทั้งสิ้น จนกว่าจะมีคำจำกัดความออกมาเสียก่อน

ถึงแม้ว่ายังไม่มีการจัดประเภทออกมาอย่างชัดเจนตามที่ประธานกสท. ได้กล่าวออกมานั้น  แต่เมื่อสืบค้นข้อมูลดูจะพบว่า สำนักข่าวประชาชาติธุรกิจ ได้มีการจัดประเภทคอนเทนท์ประเภท OTT ในเมืองไทย โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่

  1. ฟรีแพลตฟอร์มที่สามารถชมได้ฟรี โดยได้รายได้หลักจากการโฆษณาโดยอิสระ เช่น ไลน์ทีวี, ยูทูป รวมถึงผู้ประกอบการทีวีที่ทำคอนเทนท์ OTT (ออกอากาศแบบคู่ขนานกับตอนออนแอร์นั่นแหละ…) เช่น ข่อง 3, ช่องเวิร์คพ้อยท์ รวมไปถึงผู้ให้บริการ Pay TV ในรูปแบบ OTT
  2. เปย์แพลตฟอร์ม หรือแพลตฟอร์มการออกอากาศแบบจ่ายค่าสมาชิกเพื่อรับชม เช่น iFlix, Netflix, Primetime รวมถึง AIS Play และ TrueVisions Anywhere ซึ่งให้บริการเปย์ทีวีในรูปแบบ OTT ด้วยเช่นกัน
  3. ผู้ให้บริการแบบผสม มีทั้งคอนเทนท์ที่สามารถรับชมได้ฟรี และบางคอนเทน์ที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้รับชม

ทางด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช. ก้ได้ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ด้วยว่า เนื้อหารายการที่เผยแพร่ในโลกออนไลน์ ตอนนี้ยังไม่มีอำนาจในการกำกับและดูแล แต่จะเร่งออกกฎหมายมาควบคุมเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ซึ่งอาจจะใช้เวลประมาณ  1 – 2 ปี ในการออกกฎหมายกำกับและดูแล

ในมุมของผู้เขียนมองว่า การที่กสท. ออกมากำกับและดูแลคอนเทนท์ประเภท OTT นี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศในทีวี และสามารถควบคุมคอนเทนท์ประเภทไลฟ์ให้มีความรัดกุมต่อเนื้อหาที่จะนำเสนอมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการไลฟ์เหตุการณ์กระโดดเสาโทรคมนาคมเพื่อฆ่าตัวตาย หรือการปิดล้อมจับกุมอาจารย์ท่านหนึ่ง จนท้ายที่สุดเลือกที่จะปลิดชีพตัวเอง ต่อหน้าตำรวจและสื่อที่ไปทำข่าวในขณะนั้น

ส่วนข้อเสียคือ การผลิตคอนเทนท์บางรายการ จะถูกพิจารณาจากทางกสท. ก่อน เสมือนกสท. เป็นหน่วยงานเซ็นเซอร์เนื้อหาก่อนนำเสนอ และตัวพรบ. จัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะมีผลต่อผู้ผลิตคอนเทนท์ประเภท OTT นั้น ยังไม่มีความชัดเจนในปัจจุบัน และยังไม่มีใครทราบรายละเอียดที่ประกาศภายในพรบ. ฉบับดังกล่าว จึงยากต่อการติดตามผลและการตรวจสอบจากผู้ที่ทำงานด้านสื่อ และผู้ผลิตคอนเทนท์

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังต้องจับตามองกันต่อไป ถึงการกระโดดลงมาควบคุมเนื้อหาของกสท. ว่าจะส่งผลดี หรือผลเสีย ต่อผู้ผลิตคอนเทนท์มากน้องเพียงใด และทิศทางจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม

ที่มา: Post Today, ประชาชาติธุรกิจ, ไทยโพสต์