หลังจากที่ LINE ประเทศไทยประกาศเข้าซื้อกิจการ DGM59 ซอฟต์แวร์เฮาส์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเชื่อมโยงลูกค้าของไลน์ (BCRM) เข้าเป็นทีมพัฒนาของไทย วันนี้ไลน์ประเทศไทยได้เชิญทีมงานเว็บแบไต๋และผู้สื่อข่าวเข้าพูดคุยกับผู้บริหารและทีมงาน DGM59 ถึงความเป็นมาของดีลที่น่าสนใจนี้ครับ

 

จุดเริ่มต้นของการคว้า DGM59 มาร่วมทีม

คุณอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า เมื่อราวหนึ่งปีก่อน LINE ประกาศตั้งทีมนักพัฒนาประจำประเทศไทย แต่ก็เจอปัญหาคลาสสิคของวงการคือหาคนมาร่วมทีมยากมาก ซึ่งตอนนั้น DGM59 ก็เป็นพาร์ทเนอร์นักพัฒนาของไลน์อยู่แล้ว คอยช่วยลูกค้าทำโซลูชั่นร่วมกับไลน์มาตลอด ลูกค้าใหญ่ๆ ของไลน์หลายเจ้าก็ใช้บริการ DGM59 เพื่อทำ LINE Business Connect เชื่อมกับ Official Account จึงเห็นฝีมือกันอยู่

แถม DGM59 ยังเป็นทีมที่ชนะการแข่งขัน LINE Hack โดยนำเสนอไอเดียการทำธุรกิจ M-Commerce แบบครบวงจรผ่าน LINE ที่สำคัญคือคุยกับทีมกันก็ลงตัวกันดี จึงมีความคิดที่จะใช้ทีมนี้เป็นทีมนักพัฒนาของไลน์ประเทศไทยเลย ถือเป็น short-cut ในการสร้างทีมพัฒนาของไลน์ประเทศไทย

ซึ่งหลังจากตกลงดีลกันเรียบร้อย (ไม่ระบุมูลค่าการซื้อกิจการในครั้งนี้ แต่ DGM59 เคยได้รับเงินลงทุนจาก Angel Investor ก็แบ่งสัดส่วนไปตามทุน) จึงได้ทีมพัฒนากว่า 20 คนของ DGM59 มาร่วมทีมกับไลน์ประเทศไทย

ทีมพัฒนาชุดนี้จะทำให้รับนักพัฒนาเพิ่มได้ง่ายขึ้น

ซึ่งคุณอริยะก็กล่าวว่าการที่ไลน์ประเทศไทยมีทีมพัฒนาของตัวเอง จะทำให้ดึงดูดนักพัฒนาหน้าใหม่มาร่วมทีมได้ง่ายขึ้น เพราะมีคนที่คุยภาษาเดียวกันอยู่ในองค์กร ซึ่งไลน์ประเทศไทยก็ยังรับนักพัฒนาเพิ่มตลอด อยากจะขยายทีมให้ได้ 2 เท่า 3 เท่าจากทีมเดิมที่มีอยู่ตอนนี้

ความคาดหวังของ DGM59 กับ LINE ประเทศไทย

หัวเรือของ DGM59 คือ ซินหมิง จ้าว, ภูมิพัฒน์ เตชะพูลผล และวิเชาวน์ แสงหิรัญวัฒนา ซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง DGM59 และเพื่อนสมัยเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึง ณัชพล ไตรวงศ์วรนาถ ทีมงานหลักที่ร่วมงานตั้งแต่ปี 2556 กล่าวว่า DGM59 ก่อตั้งมา 7 ปีแล้ว ซึ่งเป้าหมายของบริษัทคือสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคนใช้มากๆ ที่ผ่านมาบริษัทก็มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งการสร้างเว็บ สร้างแอป ทำอินเทอร์แอคทีฟสำหรับอีเวนท์ และที่เด่นมากคือ marketing tool โดยเฉพาะการทำ Business Connect ของไลน์

ซึ่งเมื่อมาร่วมทีมกับไลน์ประเทศไทย โจทย์ของทีมก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ทำให้คนใช้เยอะที่สุด เปลี่ยนเป็นแก้ปัญหาของผู้ใช้ได้เยอะที่สุด ตอนแรกตั้งบริษัท start-up เองเพราะไม่อยากทำตัวเป็นแค่เฟืองตัวเล็กๆ ในองค์กร อยากมีอิสระในการคิด แต่การร่วมงานกับไลน์ก็เหมือนเป็น startup เหมือนกัน มีความท้าทายที่ต้องรองรับคนจำนวนมหาศาลของผู้ใช้ไลน์ได้ ซึ่งการทำงานกับ LINE จะส่งผลกระทบกับคนไทยมากที่สุด เพราะผู้ใช้ไลน์มี 94% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทย ซึ่งผู้ใช้อินเทอร์เน็ตไทยมี 44 ล้านคน ผู้ใช้ไลน์ก็คิดเป็น 41 ล้านคนเข้าไปแล้ว

ซึ่งคุณอริยะก็กล่าวเสริมว่าความคาดหวังของการสร้างทีมพัฒนาในไทย ก็เพื่อพัฒนาบริการใหม่ๆ สำหรับลูกค้าคนไทยโดยเฉพาะ และช่วยพัฒนาบริการปัจจุบันของไลน์ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้ทีม DGM59 จะเน้นพัฒนาบริการของไลน์ในฐานะนักพัฒนาตัวหลักของไลน์ประเทศไทย งานสนับสนุนลูกค้าที่ทีม DGM59 เคยทำ จะถูกส่งต่อให้พาร์ทเนอร์อื่นๆ ของไลน์ (Business connect partner) รับช่วงดูแลต่อ ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 10 – 15 ทีม

ความแตกต่างของไทย ที่ต้องมีทีมพัฒนาของตัวเอง

คุณอริยะเล่าให้ฟังว่าตลาดไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ อยู่หลายจุด เช่น ใช้บัตรเครดิตชำระเงินน้อยกว่าช่องทางอื่นๆ และการค้าขายผ่าน social commence (ซื้อขายผ่าน facebook, instagram, line) โตมาก ไม่ได้เน้นเว็บแบบ Marketplace เหมือนประเทศอื่นๆ จึงทำให้เราต้องมีบริการหลายอย่างที่สร้างมาให้เหมาะกับคนไทย เช่น ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีบริการ LINE Man (บริการส่งของ, ซื้ออาหาร, ส่งไปรษณีย์) ซึ่งเกิดมาจากการศึกษาพฤติกรรมผู้ใช้ไทยว่าต้องการอะไร

ซึ่งก็น่าจะเริ่มเห็นโปรเจกของทีมพัฒนาไทยออกมาในครึ่งปีหลังนี้ หลังจากเริ่มทำงานจริงวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา (แต่ยังไม่ได้ย้ายมาประจำที่ออฟฟิศไลน์ทุกคน เพราะออฟฟิศจุไม่พอ) ซึ่งจะเน้นการพัฒนาบริการปัจจุบันก่อน และจะเริ่มพัฒนาโปรเจกใหม่ๆ ในภายหลัง

จำนวนโปรเจกที่กำลังทำ น่าจะเกินจำนวนคนทำ

ลำดับการสร้างบริการใหม่ของ LINE
  1. ค้นหาและสร้างบริการที่ตอบโจทย์ผู้ใช้
  2. เมื่อเริ่มให้บริการ ให้เน้นขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น (LINE Man อยู่ขั้นนี้)
  3. พอมีผู้ใช้จำนวนมากพอ โมเดลหาเงินต่างๆ ค่อยตามมา (LINE today อยู่ขั้นนี้ เพิ่งเริ่มสร้างรายได้เดือนที่แล้ว)

เว็บแบไต๋ก็ขอแสดงความยินดีกับ LINE ประเทศไทยและทีม DGM59 ทุกคนนะครับ ในฐานะผู้ใช้ LINE มาโดยตลอด ก็หวังว่าจะได้เห็นบริการดีๆ ที่เหมาะสำหรับคนไทยต่อไปครับ