“เล่นเกม” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกแล้ว เพราะปัจจุบันมูลค่าตลาดเกมในเมืองไทยสูงเกือบ 10,000 ล้านบาท แถมยังเติบโตแบบติดจรวดอัตราเฉลี่ยปีละ 15-20% เลยทีเดียว

เรื่องของเรื่องคือคุณอยู่ตรงไหนของธุรกิจนี้ อยู่ในฝั่ง Consumer ที่มีแต่จ่าย จ่าย และจ่ายเพื่อการบริโภคเกม หรืออยู่ในฝั่ง Producer ที่ผลิตเกมขายให้ตลาด ถ้าคุณอยู่ฝั่งผู้ผลิต คุณมาถูกทางแล้ว เพราะตลาดไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในเมืองไทย แต่เป็นตลาดใหญ่ในระดับโลก

“เกม” เป็นสินค้าแห่งยุคที่ตลาดโตขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับฝั่งผู้เล่นหรือ Consumer ที่รักการเล่นเกมแบบเข้าเส้น อยากให้ลองก้าวข้ามไปยังฝั่งผู้ผลิตหรือ Producer ดูบ้าง ด้วยการมอง “เกม” ให้ออก นั่นคือต้องมองมุมใหม่ว่า “เกม” เป็นสินค้าแห่งยุคที่ตลาดโตขึ้นเรื่อยๆ และต้องการการพัฒนาโดยใช้ความรู้บวกจินตนาการในการผลิต ที่สำคัญคือเกมสามารถเป็นอาชีพที่สร้างรายได้อย่างมั่นคง เพราะเป็นหนึ่งในอาชีพทำเงินแห่งยุคดิจิทัล

ด้วยเหตุนี้ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จึงได้ฤกษ์ดีชวนคนชอบเล่นเกม มาเพิ่มพูนทักษะ เติมความรู้รอบด้าน ให้สามารถพัฒนาตัวเองจากเกมเมอร์มาเป็นครีเอเตอร์ ผู้สร้างเกม สร้างเป็นอาชีพที่ใช่จากความชอบสุดๆ ของตัวเองได้ กับ หลักสูตรเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ  ที่ปั้นคนพันธุ์เกมป้อนตลาดทั้งในและต่างประเทศ ตำแหน่งงานมีรออยู่อย่างเหลือเฟือ เรียนจบไปแล้วสามารถเข้าทำงานตำแหน่งใดก็ได้ในอุตสาหกรรมเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ เพราะหลักสูตรปริญญาตรีของที่นี่มีของดีเป็นองค์ประกอบสำคัญ เสริมให้นักศึกษาพัฒนาสู่การเป็นบุคลากรคุณภาพในตลาดงาน

หนึ่งคือ เครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีแล็บดิจิทัลมีเดียที่ทันสมัย มหาวิทยาลัยลงทุนสูงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเวิลด์คลาส สมรรถนะเร็ว แรง ไม่สะดุด และสร้างสรรค์ภาพได้ละเอียดสมจริงกว่าคอมพิวเตอร์ทั่วไป อีกหนึ่งคือ ฝีไม้ลายมือในการสอนของคณาจารย์ดีกรีดอกเตอร์สาขานี้โดยตรงหลายท่าน และที่ดีสุดๆ คือมีพันธมิตรมาร่วมร่างหลักสูตรและเตรียมส่งวิทยากรที่ทำงานในอุตสาหกรรมจริงมาช่วยฝึกฝีมือและแบ่งปันประสบการณ์ให้นักศึกษา

อยากทำงานป้อนตลาดโลก ก็ต้องชวนคนระดับโลกมาร่วมกันปั้นคนพันธุ์เกม

มหาวิทยาลัยกรุงเทพจึงทำความร่วมมือกับ Full Sail University มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านเกมและดีไซน์จากสหรัฐอเมริกา และยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดเกมออนไลน์ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเกมชั้นแนวหน้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

เรียนที่นี่ได้ครบทั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์และวิธีสร้างธุรกิจของตัวเอง
จริงๆ แล้ว หลักสูตรไม่เพียงแต่จะปั้นนักศึกษาให้เป็นผู้ผลิตเกมที่มีจรรยาบรรณในการสร้างสรรค์เกมดีๆ สู่ตลาด หากยังครอบคลุมไปถึงการเป็นผู้ผลิตสื่ออินเทอร์แอคทีฟอื่นๆ ด้วย เช่น เทคโนโลยีจำลองภาพเสมือนจริงหรือ VR (Virtual Reality) และเทคโนโลยีการรวมสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือนหรือ AR (Augmented Reality) ซึ่งปัจจุบันถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการฝึกฝนทักษะต่างๆ รวมทั้งใช้ในแวดวงการสาธารณสุข เช่น การสร้างภาพจำลองให้นักศึกษาแพทย์ฝึกการผ่าตัด และการสร้างภาพจำลองเพื่อรักษาโรคกลัวความสูง เป็นต้น

มีตัวอย่างผลงานของอาจารย์ที่สอนอยู่ที่นี่ด้วย เป็นเทคโนโลยี VR สำหรับการฝึกภาคปฏิบัติของทันตแพทย์ พัฒนาโดย ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม แบบนี้มั่นใจได้ว่าจบปุ๊บได้เป็นคนพันธุ์เกมที่ธุรกิจเกมระดับโลกต้องการตัวแน่นอน

รองคณบดียังบอกว่า เรียนที่นี่ได้ครบทั้งการใช้ความคิดสร้างสรรค์และวิธีสร้างธุรกิจของตัวเอง ผลิตเกมได้ต้องขายเกมเป็น รู้วิธีนำเข้าเกมมาจำหน่ายในเมืองไทย รู้วิธีสร้างธุรกิจเกี่ยวกับเกม รวมถึงการจัดแข่งขัน eSports หรือกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่เตรียมบรรจุอยู่ในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ

ดร.พัฒนพล เหรียญโมรา รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม

สำหรับเรื่อง eSports มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็เดินหน้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งสนับสนุนให้นักศึกษาพัฒนาตนเองเป็นนักกีฬา และการร่วมผลักดันวงการ eSports ในไทยด้วย เริ่มจากการเป็นเจ้าภาพการแข่งขัน U-League 2017 ซึ่งกำหนดจัดรอบชิงชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้

ก็บอกแล้วไงว่า “เล่นเกม” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ อีกแล้ว!