ในงานร่วมรับประทานอาหารกลางวันและพบปะสื่อมวลชนของ Xiaomi ประเทศไทย คุณจอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยวมี่ ได้เปิดเผยกลยุทธ์การตลาดที่เสี่ยวมี่จะใช้รุกไทยในปีนี้ พร้อมเผยข้อมูลคร่าวๆ ของสมาร์ทโฟนสุดคุ้มในตระกูล Redmi 5 (รวมถึง Redmi 5A และ Redmi 5 Plus) ที่เตรียมจะวางจำหน่ายในไทยเร็วๆ นี้ด้วย

Xiaomi Redmi 5 สมาร์ทโฟนสุดคุ้มจากเสี่ยวมี

(ซ้าย) Redmi 5, Redmi 5 Plus, Redmi 5A

หลายคนที่ติดตามสมาร์ทโฟนจากเสี่ยวมี่น่าจะคุ้นเคยกับตระกูล Redmi เป็นอย่างดี ซึ่งตระกูลล่าสุดคือ Redmi 5 ก็มีรุ่นย่อย 3 รุ่นคือ

  • Redmi 5A น้องเล็กสุด ใช้ Snapdragon 425, แรม 2 GB, รอม 16 GB, หน้าจอ 5 นิ้วความละเอียดระดับ HD พร้อมกล้องหลัง 13 ล้านพิกเซล และกล้องหน้า 5 ล้านพิกเซล จะวางขายในไทยในราคาราว 3,000 บาท (ซึ่งคุณจอห์นบอกว่าสเปกแบบ Redmi 5A ถ้าเป็นแบรนด์อื่นจะขายราวๆ 5,000 บาทนะ)
  • Redmi 5 รุ่นกลาง ใช้ Snapdragon 450, แรม 2/3 GB, รอม 16/32 GB, หน้าจอ 5.7 นิ้ว ความละเอียด HD แบบ Full View สัดส่วน 18:9 กล้อง 12 ล้านใช้เซนเซอร์ sony พร้อมรูรับแสงกว้าง มีเซนเซอร์ลายนิ้วมือ ราคาไทยราวๆ 5,000 บาท แต่ยังไม่บอกว่าเป็นรุ่น RAM/ROM เท่าไหร่
  • Redmi 5 Plus รุ่นท็อปของตระกูลนี้ ใช้ Snapdragon 625, แรม 3/4 GB, รอม 32/64 GB หน้าจอ 5.99 นิ้วแบบ Full HD+ สัดส่วน 18:9 กล้องเหมือน Redmi 5 ราคาไทยราวๆ 7,000 บาท แต่เช่นเดิม ยังไม่รู้ว่าเป็นรุ่น ROM/Ram เท่าไหร่

(ซ้าย) Redmi 5, Redmi 5 Plus

Xiaomi Redmi 5 ทั้ง 3 รุ่นก็เตรียมวางจำหน่ายในไทยเร็วๆ นี้ ซึ่งคุณจอห์นก็แย้มว่า ไม่น่าเกินเดือนกุมภาพันธ์

ภาพรวม Xiaomi ในไทย

จอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยวมี่

เสี่ยวมี่ถือเป็นแบรนด์น้องใหม่มากๆ ในไทยเพราะเพิ่งทำตลาดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 นี่เอง โดยปัจจุบัน Xiaomi ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ไทยหลายราย เช่น

  • บริษัท VST ECS (ประเทศไทย) เป็นผู้แทนจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสี่ยวมี่อย่างเป็นทางการในไทย ดูแลงานหลังการขายด้วย โดยมีศูนย์บริการ 10 แห่งทั่วประเทศ
  • บริษัท Fanslink Communication ก็เป็นผู้แทนค้าปลีกในไทยอย่างเป็นทางการ ดำเนินงานร้าน Authorized Mi Store ที่ปัจจุบันมี 4 สาขา คือที่อิมพีเรียล เวิลด์ สำโรง, ซีคอน บางแค, พันธุ์ทิพย์ และเมกาบางนา
  • เสี่ยวมี่ในไทยไม่มีเว็บจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่จับมือกับแพลทฟอร์มค้าขายออนไลน์อย่าง Lazada, Shopee, 11Street

และตอนนี้เสี่ยวมี่กำลังจดทะเบียนบริษัท Xiaomi (ประเทศไทย) ซึ่งน่าจะได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างเร็วๆ นี้

กลยุทธ์ Xiaomi รุกตลาดไทย

คุณจอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยวมี่ รับบทบาทดูแลตลาด 5 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือ ไทย ฟิลิปปินส์ พม่า ลาว กัมพูชา โดยจุดเด่นของเสี่ยวมี่ที่คุณจอห์นภูมิใจคือ สมาร์ทโฟนของมี่มีราคาถูกกว่าคู่แข่งที่มีสเปกในระดับเดียวกันมากๆ ซึ่งประเมินแล้วน่าจะถูกกว่าราว 35% เลยทีเดียว เป้าหมายของเสี่ยวมี่จึง อยากให้ทุกคนได้สนุกกับเทคโนโลยีชั้นยอด นวัตกรรมชั้นเยี่ยม ในราคาที่รับได้

3 กลยุทธ์ของเสี่ยวมี่ในไทย

  1. สร้างสังคมของ Xiaomi ขึ้นมา แบรนด์จะเป็นเพื่อนกับผู้ใช้เสี่ยวมี่ ซึ่งที่ผ่านมามีการรับฟังความเห็นของแฟนๆ ผู้ใช้สามารถติดต่อกับทีมพัฒนาของเสี่ยวมี่ได้ง่าย (เว็บบอร์ดเสี่ยวมี่มีภาษาไทย เข้าไปแจ้งปัญหาและหาทางแก้ไขได้สบายๆ)
  2. เจาะตลาดผ่าน e-commerce เพราะสามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้าสูง ตอนนี้มีบางรุ่นที่ขายเฉพาะช่องทางออนไลน์เท่านั้น
  3. ไม่ลืมร้านค้าออฟไลน์ เพราะประสบการณ์ของผู้ซื้อยังสำคัญ ผู้ซื้อหลายคนต้องได้จับของ ทดลองเล่นก่อน โดยตอนนี้ในไทยมีร้านขาย Xiaomi โดยตรง 4 ร้านแล้ว ซึ่งปีนี้จะขยายเพิ่มอีก โดยตั้งเป้าเปิดร้านอย่างเป็นทางการที่ขายเสี่ยวมี่แบรนด์เดียวอีก 25 ร้านทั่วประเทศ ร้านพาร์ทเนอร์เล็กๆ ที่ขายหลายแบรนด์อีก 70-80 ร้าน และมีอีกส่วนที่ขายใน Jaymart ซึ่งตอนนี้มีเสี่ยวมี่ขาย 20 สาขาแล้ว และจะเพิ่มจุดหน่ายเสี่ยวมี่ใน Jaymart เป็น 60 ร้านปีนี้ นอกจากนี้ก็มีขายผ่าน TG Fone อีก 5 สาขา

และปีนี้เสี่ยวมี่จะเริ่มขายผ่านค่ายมือถือด้วย ซึ่งคุณจอห์นบอกว่าอาจจะมีรุ่นพิเศษที่วางขายผ่านค่ายโดยเฉพาะ

เมื่อเราตั้งคำถามว่าทำไมเสี่ยวมี่ถึงเลือกเปิดร้านขายโดยตรงของตัวเองในพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพก่อน คุณจอห์นก็ให้คำตอบที่เบสิกมากๆ คือ พื้นที่รอบนอกมีราคาค่าเช่าที่ถูกกว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ ถูกกว่า ทำให้มีประสิทธิภาพต่อต้นทุนสูงกว่า ตอนนี้ทุกร้านที่เปิดก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ส่วนพื้นที่ชั้นใน ก็มีในห้างพันธุ์ทิพย์ และใช้พื้นที่ของพาร์ทเนอร์แทนที่จะเปิดร้านเอง

เมื่อถามถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของเสี่ยวมี่ (ที่เรียกว่า Xiaomi Ecosystem Product) คุณจอห์นตอบว่าแฟนๆ ในไทยถามมาที่เสี่ยวมี่เยอะมาก ว่าเห็นของชิ้นนั้น ชิ้นนี้ขายในจีน แล้วมีโอกาสจะเข้าไทยไหม ก็ต้องบอกว่าเงื่อนไขของสินค้าแต่ละชิ้นนั้นไม่เหมือนกัน เช่น Mi NoteBook ก็มีสัญญากับไมโครซอฟท์ว่าจะขายในจีนเท่านั้น จึงยังไม่ทำตลาดนอกประเทศ หรือผลิตภัณฑ์กลุ่ม Smart Home ก็ติดปัญหาแอป Mi Home เป็นภาษาจีน ซึ่งตอนนี้ก็กำลังแปลแอปให้เป็นภาษาไทยอยู่ เพื่อตอบสนองตลาดไทยมากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ขายดีก็คือกำไลข้อมือ

จอห์น เฉิน ผู้อำนวยการฝ่ายประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสี่ยวมี่