คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด มหาชน (AIS) เปิดตัวต้นแบบนวัตกรรม UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ (Moving UV-C Radiation Source) สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99.99% ให้พร้อมรับมือ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้น และการเปิดประเทศ

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์

รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เพื่อรับมือกับ ความปกติถัดไป (The Next Normal) และ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ รวมไปถึงโรดแมป (Roadmap) เปิดประเทศไทย ที่จะเริ่มต้นช่วงไตรมาส 2 (เม.ย. – มิ.ย. 21) โดยรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว และต่อด้วยไตรมาส 3 (ก.ค. – ก.ย. 21) รับนักท่องเที่ยวแบบไม่มีการกักตัว เฉพาะจังหวัด ภูเก็ต

จึงเป็นที่มาของการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม UVC Moving CoBot โดยทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ผนึกพลังกับบริษัท เอไอเอส ผู้นำเทคโนโลยีการสื่อสาร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับทั้งประเทศไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่ปลอดไวรัสประสิทธิภาพสูง พร้อมทั้งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมอีกด้วย

นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล

นอกจากนี้ นพ.สมชาย ดุษฎีเวทกุล รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก ยังกล่าวเสริมอีกว่า ถึงแม้ว่าช่วงไตรมาส 2 ที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะว่าการได้รับวัคซีนเป็นเพียงการช่วยลดอาการรุนแรง และการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ ซึ่งแปลว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อไวรัส โควิด-19 เป็นรอบที่สองได้อยู่ ดังนั้นนวัตกรรม CoBot น่าจะช่วยป้องกันเรื่องนี้ได้มาก

อราคิน รักษ์จิตตาโภค

อราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท เอไอเอส กล่าวถึงพื้นที่ที่จะเริ่มตันใช้หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อเป็นที่แรกว่า คาดว่าจะทดสอบพื้นที่แรกที่สนามบินก่อน แล้วเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำไปพัฒนาต่อยอดกันต่อไป ซึ่งถ้าประสบผลสำเร็จ ก็ค่อยกระจายบริการนี้ให้ทั่งถึงทุกภาคส่วน โดยรูปแบบการเช่า และพยายามลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด

หลักการทำงาน UV-C

ดร.เอกชัย วารินศิริรักษ์ หัวหน้าทีมวิจัย และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยมหิดล ออกมาอธิบายหลักการใช้รังสี UV-C ในการฆ่าเชื้อไวรัสว่า การใช้รังสี UV-C จำเป็นที่มีความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร จึงจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่อยู่บนพื้นผิวต่าง ๆ ได้ 99.99% รวมไปถึงการออกแบบทางวิศวกรรมด้วยเช่นกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ค่าความเข้มของหลอด (Power Density)
  2. ระยะห่างของพื้นผิวที่ต้องการฉายเพื่อฆ่าเชื้อ (Distance)
  3. ระยะเวลาของการฉายรังสี (Time)

โดยเฉพาะระยะห่างจำเป็นที่จะต้องฉายรังสีใกล้กับตัวพื้นผิวเพื่อกำจัดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และต้องทำให้ครอบคลุมทั่วถึงพื้นผิวทั้งหมดด้วย (ระยะห่างขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ ตามหลักวิศวกรรม)

คุณสมบัติ UVC Moving CoBot

UVC Moving CoBot ระบบหุ่นยนต์ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซีแบบเคลื่อนที่ มีส่วนประกอบหลัก 6 ส่วน

  • แหล่งกำเนิดรังสียูวีซี ขนาดกำลังอย่างน้อย 16 วัตต์ ขนาดหลอดยาว 25 – 35 เซนติเมตร ติดตั้งบนปลายแขนของหุ่นยนต์แขนกล
  • หุ่นยนต์แขนกลอัจฉริยะ แขนทั้ง 2 ข้างของหุ่นยนต์ติดตั้งแหล่งกำเนิดรังสียูวีซี และฐานของหุ่นยนต์ ติดตั้งเข้ากับ AGV รถนำทางอัตโนมัติ สามารถครอบคลุมการฉายรังสีในระยะ 65 – 75 ตารางเซนติเมตร เคลื่อนไหวได้ความเร็วต่ำสุด 2 เซนติเมตร/5 นาที และความเร็วสูงสุด 110 เซนติเมตร/นาที ยกโหลดน้ำหนักวัตถุได้ 5 กิโลกรัม
  • รถนำทางอัตโนมัติ (Automated Guide Vehicle : AGV) สามารถเคลื่อนที่ไปตามเส้นทางที่มีแถบแม่เหล็กกำหนดไว้ ตัวรถมีความเร็วในการเดินทางไม่ต่ำกว่า 8 เมตร/นาที สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 500 กิโลกรัม ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่เป็นระบบขับเคลื่อน
  • ระบบเครื่องจักรมองเห็น (Machine Vision) ทำหน้าที่ค้นหาสัญลักษณ์เพื่อประเมินผลคุณลักษณะของวัตถุภายในพื้นที่ โดยระบบจะจดจำวัตถุและออกคำสั่งการเคลื่อนที่ตามที่บันทึกไว้หรือรหัสบาร์โค้ด
  • LiDAR Scanner เทคโนโลยีที่คอยสแกนวัตถุรอบตัวเครื่อง CoBot เพื่อวาดแผนผังให้ CoBot ทำงานตามพื้นที่ทั้งหมดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ควบคุมผ่านระบบ 5G ทำงานร่วมกับ คลาวด์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และซอฟต์แวร์ โดยใช้เว็บไซต์ที่ทางทีมวิจัยได้ร่วมพัฒนากับ เอไอเอส

จุดเด่น UVC Moving CoBot

  1. ด้วยแขนกลสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ จึงสามารถทำความสะอาดโต๊ะ ตู้ เตียง ให้กำจัดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียได้อย่างทั่วถึง โดยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์
  2. มีฟีเจอร์อัจฉริยะอย่าง Virtual Mapping ที่ช่วยกำหนดแผนที่เส้นทางเดินของหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่เข้าหาวัตถุหรือสถานที่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ และยังสามารถบังคับหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้ตามต้องการผ่าน 5G
  3. สามารถทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยลดภาระบุคลากรได้มากขึ้น
  4. ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ของบุคลากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส